อยู่ดีมีแฮง : “หอยเชอรี่” จากวายร้ายแห่งท้องทุ่ง มุ่งสู่เงินได้รายวัน

อยู่ดีมีแฮง : “หอยเชอรี่” จากวายร้ายแห่งท้องทุ่ง มุ่งสู่เงินได้รายวัน

เดชา  คำเบ้าเมือง  เขียน

มิ่งขวัญ  ถือเหมาะ  ภาพ

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านชอบกินส้มตำรสเด็ด แซ่บ เผ็ด นัว ไม่ว่าจะเป็น ตำป่า ตำมั่ว ตำถาด ที่มีส่วนผสมและเครื่องเคียงมากมายหลายอย่างจนแทบจะจำไม่ได้ว่ามันคืออะไรบ้าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่หลายคนได้สัมผัสจากการเคี้ยวกรุบ ๆ ในถาดส้มตำแล้วทำให้เกิดความฉงน จนต้องสอบถามกับเจ้าของร้าน ก่อนจะได้ความกระจ่างว่ามันคือเนื้อของ “หอยเชอรี่”

ใช่แล้วครับนับตั้งแต่บรรทัดนี้ไป “อยู่ดีมีแฮง” จะนำพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับหอยเชอรี่ให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการนำมาเลี้ยงขายสร้างรายได้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดโดยเฉพาะแม่ค้าส้มตำ นอกจากนี้คนก็นิยมเอามาเปิบเมนูอาหาร ทั้ง ลาบ ก้อย นึ่ง ย่าง ยำ ผัด ต้มยำ และเมี่ยงคำ แล้วแต่จะสรรค์สร้าง อนึ่ง หารู้ไม่ว่าเมื่อก่อนเจ้าหอยนี้ คือ ศัตรูตัวฉกาจในนาข้าว ที่ทำให้เกษตรกรต้องปวดเศียรเวียนเกล้าเพื่อคิดหาวิธีจัดการ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวนาต้องใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดกับบรรดาเอเลี่ยนสปีชีส์เหล่านี้

หอยเชอรี่ ทีมงานได้ลองค้นคว้าข้อมูลจากสารานุกรมออนไลน์ วิกีพิเดีย ที่หาได้ทั่วไปมาเรียบเรียงให้ได้อ่านอีกครั้ง เพื่อหวังให้เราต่างรู้จักกันมากขึ้น หอยเชอรี่  เป็นหอยน้ำจืดซึ่งมีถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมในแหล่งน้ำทวีปอเมริกาใต้ โดยประเทศไทยมีการนำเข้ามาครั้งแรกจากประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน เอามาเพื่อกำจัดตะไคร่น้ำและเศษอาหารในตู้ปลา ซึ่งนิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายราวก่อนปี 2530 ต่อมาได้มีผู้คิดจะเลี้ยงเพาะขยายพันธุ์เป็นสัตว์เศรษฐกิจเพื่อการบริโภค แต่ทว่าไม่ได้รับความนิยมจึงปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ จนกลายเป็นปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในปัจจุบัน

หอยเชอรี่ เป็นหอยน้ำจืดจำพวกหอยฝาเดียว ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 2 พวก คือ พวกที่มีเปลือกสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อและหนวดสีเหลือง และพวกมีเปลือกสีเขียวเข้มปนดำ และมีสีดำจาง ๆ พาดตามความยาว เนื้อและหนวดสีน้ำตาลอ่อน

หอยเชอรี่เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ลูกหอยอายุเพียง 2 – 3 เดือน จะจับคู่ผสมพันธุ์ได้ตลอดเวลา หลังจากผสมพันธุ์ได้ 1 – 2 วัน ตัวเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยคลานไปวางไข่ตามที่แห้งเหนือน้ำ เช่น ตามกิ่งไม้ ต้นหญ้าริมน้ำ โคนต้นไม้ริมน้ำ ข้างคันนา และตามต้นข้าวในนา ไข่มีสีชมพูเกาะติดกันเป็นกลุ่มยาว 2 – 3 นิ้ว แต่ละกลุ่มประกอบด้วยไข่เป็นฟองเล็กๆ เรียงตัวเป็นระเบียบสวยงาม ประมาณ 388 – 3,000 ฟอง ไข่จะฟักออกเป็นตัวหอยภายใน 7 – 12 วัน หลังวางไข่

แทบไม่น่าเชื่อว่าหอยเชอรี่ มีประโยชน์มากมายหลายอย่าง โดยมีโปรตีนสูงถึง 34 – 53 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 1.66 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้สถาบันหัวใจและปอดแห่งชาติของแคนาดา ได้ระบุว่า หอยเชอรี่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร คือเป็นแหล่งของวิตามินเอ วิตามินบี 1 (ไทอามีน) วิตามินบี 2 (ไรโบเฟลวิน) วิตามินบี 3 (ไนอาซิน) วิตามินซี (กรดแอสคอร์บิค) และวิตามินดี (แคลซิฟีรอล) การบริโภคหอยเชอรี่ช่วยให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุประเภท แร่เหล็ก ทองแดง ไอโอดีน แมกนีเซียม แคลเซียม สังกะสี แมงกานีส และฟอสฟอรัส แต่อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคหอยเชอรี่ดิบเพราะอาจมีพยาธิและแบคทีเรีย

นอกจากใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่างแล้ว หอยเชอรี่ ยังใช้ทำเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง เช่น เป็ด ไก่ สุกร เป็นต้น เปลือกก็สามารถปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินได้ ตัวหอยทั้งเปลือกถ้านำไปฝังบริเวณทรงพุ่มไม้ผล เมื่อเน่าเปื่อยก็จะเป็นปุ๋ยทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตเร็ว และได้ผลผลิตดี ปัจจุบันหอยชนิดนี้เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยมอย่างสูง

“อยู่ดีมีแฮง” จะชวนมาพูดคุยกับ คุณภานุส์  ศรีไตรเรือง ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชน เทศบาลตำบลบ้านจั่น เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยเชอรี่ ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเขาบอกว่าตัวเองคือเกษตรกรวันหยุด เนื่องจากจะใช้เวลาว่างก่อนไปทำงาน หลังเลิกงาน และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ มาทำเกษตรและเลี้ยงหอยเชอรี่

มีจุดเริ่มต้นอย่างไรถึงได้มาเลี้ยงหอยเชอรี่

ผมเกิดในครอบครัวใหญ่พ่อแม่มีลูก 12 คน หรือ 1 โหลพอดี ผมเป็นคนที่ 11 ด้วยสมัยก่อนมีลูกเยอะ ข้าวปลาอาหารก็หากินลำบาก แม่ของผมก็จะออกไปหากุ้ง หอย ปู ปลา ตามห้วย หนอง แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเฉพาะหอย ซึ่งมันจะหาได้มากกว่าอย่างอื่น เพื่อเอามาทำอาหารเลี้ยงลูก ๆ ตั้งแต่นั้นผมก็เลยชอบกินหอยไปโดยปริยาย และวันหนึ่งแม่ผมได้ไปซื้อหอยเชอรี่ที่ตลาดมา 1 ถัง เอามาปล่อยลงในบ่อปลา เลี้ยงไว้เพื่อประกอบอาหาร แต่ปรากฏว่าในเวลาไม่นานเจ้าวายร้ายเหล่านี้ได้แพร่กระจาย และขยายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญมันกลายเป็นศัตรูพืชรุกรานไปที่นาของคนอื่นด้วย จนชาวบ้านเขามาโวยถึงที่บ้านผม

หลังจากนั้นคนก็นิยมเอามันมากินมากขึ้น ๆ จำนวนหอยเชอรี่ก็ค่อย ๆ ลดลงและหายาก อีกทั้งในน้ำก็มีสารเคมีปนเปื้อนเยอะ และด้วยความที่เป็นคนชอบกินหอยอยู่แล้ว ผมก็เลยมีความคิดว่าอยากเลี้ยงหอย จึงทดลองเอาหอยเชอรี่มาเลี้ยงในน้ำสะอาดคือเลี้ยงในบ่อซีเมนต์

ขั้นตอนและวิธีการดูแลหอยเชอรี่ก่อนที่จะตัวโต

ที่ผมเลี้ยงอยู่นี้คือหอยเชอรี่สีทอง ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นกระแสที่ได้รับความนิยม มันมีโปรตีนสูงและต้นทุนต่ำ เราสามารถเลี้ยงกินเอง เลี้ยงง่าย กินง่าย มันกินทุกอย่าง เลี้ยงไม่ยากครับ ถ้าเรามีความเข้าใจ คือขั้นตอนแรกเราต้องเตรียมบ่อ เตรียมน้ำ อันนี้สำคัญ ถ้าเป็นบ่อซีเมนต์ก่อใหม่เราต้องขังน้ำให้มันจืดเสียก่อนสัก 7 วัน โดยเอาต้นกล้วยมาแช่ไว้ เพื่อให้มันดูดความเค็มจากซีเมนต์ หลังจากนั้นก็ปล่อยน้ำทิ้งแล้วเติมน้ำลงไปใหม่ ถ้าเป็นน้ำฝนหรือน้ำจากสระธรรมชาติก็สามารถปล่อยหอยเลี้ยงได้เลย แต่ถ้าเป็นน้ำประปา หรือน้ำบาดาลสูบขึ้นมาก็ควรพักไว้ก่อนประมาณ 3 วัน ปกติเราเลี้ยงในบ่อซีเมนต์น้ำจะเสียบ่อย ผมก็มีเทคนิคว่าทำอย่างไรไม่ให้น้ำเสีย คือใช้แหนแดงในการบำบัดน้ำ เพราะมันช่วยเพิ่มไนโตรเจน และออกซิเจนในน้ำ รวมทั้งเป็นอาหารของหอยด้วย และอีกอย่างซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ได้จากพ่อของผม คือคนแก่สมัยก่อนจะตัดท่อนอ้อยลงแช่น้ำ เพราะว่าอ้อยมีความหวาน และจุลินทรีย์มันจะกินความหวานเป็นอาหาร ซึ่งจะทำให้น้ำไม่เสีย

ขั้นตอนต่อมา ก็เอาไข่หอยมาลง ใช้เวลาประมาณ 7 – 15 วัน มันจะฟักเป็นตัว พอฟักเป็นตัวหมดแล้วเราจะเอามาอนุบาลลงในน้ำ อนุบาลไว้ประมาณ 2 เดือน หรือเราจะปล่อยไว้ในบ่อประมาณ 3 เดือนก็เอามากินได้ เขาเรียกว่าหอยหนุ่มสาวเนื้อจะไม่เหนียว แต่ถ้าอายุ 4 เดือน จะเริ่มเป็นพ่อแม่พันธุ์ หอยจะเริ่มขึ้นวางไข่ได้แล้ว เราก็จะคัดออกมาไว้อีกบ่อ เพื่อง่ายต่อการดูแล ส่วนอาหารของหอยหลัก ๆ คือแหนแดงซึ่งเราเอาลงในบ่อไว้แล้ว เขาก็จะหากินเอง

ช่องทางการตลาด โอกาสสร้างรายได้จากการขายหอยเชอรี่

ปกติผมจะขายแบบออนไลน์ ขายทางช่องยูทูบของตัวเองแล้วคนก็เข้ามาดู ขายอยู่ในเพจเฟซบุ๊ก เพจเกษตรวันหยุดภานุส์ จะมีลูกค้าสั่งเข้ามาเราก็ส่งให้ เริ่มต้นจากไข่หอยจะขายเป็นขีด ๆ ละ 300 บาท ซึ่งสามารถฟักเป็นตัวออกมาได้ประมาณ 2 – 3 หมื่นตัว แต่ตอนนี้คิวจองไข่หอยยาวไปถึงเดือนกันยายนแล้ว จนเก็บไม่ทันส่งขายเลยครับ ส่วนราคา ถ้าเป็นตัวขนาดเท่านิ้วก้อยมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 5 บาท ขนาดใหญ่ขึ้นก็ตัวละ 15 บาท หรือ 20 บาท แล้วแต่ไซส์ นอกจากนี้เราก็มีขนาดพ่อแม่พันธุ์ขาย โดยพ่อแม่พันธุ์ตอนนี้ราคากลางอยู่ที่คู่ละ 100 บาท ก็ถือว่ามีรายได้อย่างน้อย 2,500 บาทต่อวัน บางวันได้มากถึง 1-2 หมื่นบาท เรียกว่าเป็นรายได้หลักมากกว่าทำงานข้าราชการแล้วครับตอนนี้ (หัวเราะ)

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้รับผลกระทบไหม

ถือว่าช่วงโควิด-19 วิกฤติเป็นโอกาส เพราะว่าเกษตรกรจะใช้ช่วงโควิด-19 เป็นโอกาสของการทำเกษตร อย่างคนได้รู้จักว่าผมเลี้ยงหอยเชอรี่สีทอง ก็เพราะช่วงโควิด-19 ซึ่งเราสามารถทำได้และขายได้จริง นอกจากนี้คนที่ตกงานไม่มีงานทำเขาก็แสวงหาว่าจะทำอะไรดี ขอยกตัวอย่าง มีน้องอยู่ที่จังหวัดระยอง เขาโทรมาคุยกับผมบอกว่าพี่ผมตกงาน ผมอยากเลี้ยงหอยเหมือนพี่ เขาก็เดินทางจากระยองมาเอาหอยไปเลี้ยง เขาเลี้ยงมาได้ประมาณ 4 เดือน ตอนนี้เขามีรายได้ หลายหมื่นบาทแล้วครับ

ข้อท้าทายใหม่ จากวายร้ายแห่งท้องทุ่ง มุ่งสู่เงินได้รายวัน

หอยเชอรี่ เมื่อก่อนบางคนอาจจะบอกว่ามันเป็นศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายในนาข้าว แต่ตอนนี้มันกลายเป็นหอยเงินล้านนะครับ ในอนาคตเป็นหอยเงินล้านแน่นอน ดังนั้น สำหรับผู้ที่สนใจในการเลี้ยง ก็ต้องมี หนึ่งอย่าคิดว่าตัวเองไม่มีเวลา ไม่ใช่ว่าวันนี้ค่อยทำ วันนั้นค่อยเอา ถ้าจะทำก็คือลงมือทำเลย ลงมือทำ ทำทีละนิด เริ่มต้นจากสิ่งที่เรามี และก็หาองค์ความรู้ให้ได้ ไม่ใช่ว่าหอยตายแล้วท้อ มันมีวิธี วิธีศึกษาเรียนรู้ ถ้าไม่เข้าใจก็โทรมาปรึกษาผมได้ ผมจะมีฝากข้อความอยู่ใน ช่องยูทูบเกษตรวันหยุดภานุส์ครับ

ตลอดบทสนทนา นอกจากความฉงนสงสัยเจ้าวายร้ายที่กลายเป็นแหล่งรายได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจน คือความมานุ อดทน ความไม่ยอมท้อถอย และการทดลองสิ่งใหม่ ไม่ยอมแพ้ จากคนทำงานประจำสู่เกษตรกรวันหยุด ที่มุ่งมั่นสร้างงาน สร้างรายได้จากต้นทุนมุมมองความคิดพลังบวก และพร้อมส่งต่อแบ่งปันแก่ผู้ที่สนใจ เพื่อหวังเป็นกำลังใจให้ใครหลายคน ที่กำลังผจญความทุกข์ยากลำบากใจจากวิกฤตป่วยไข้ของโควิด-19 ได้มีความหวังอีกครั้ง “หอยเชอรี่” นาทีนี้ อาจเป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจให้เกษตรกรพี่น้องชาวอีสานได้ทดลองลงมือ “ทำ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ