ชาวบ้านบ่อแก้ว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และนักศึกษากว่ายี่สิบคนจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชบูรณ์ ร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “กำแพงมนุษย์ หยุดไล่รื้อที่ทำกิน” พร้อมทั้งร่วมกันอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนและจัดตั้ง “เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากแผนแม่บท ป่าไม้ และที่ดิน”
ภาพจาก : เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบแผนแม่บท ป่าไม้ และที่ดิน
แถลงการณ์เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบ
จากแผนแม่บทที่ดินและป่าไม้
นับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ายึดอำนาจการปกครองของประเทศไปจากประชาชน ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ด้วยคำประกาศใหญ่โตว่า “จะจัดการความขัดแย้งทางการเมืองและคืนความสุขให้กับประชาชนในชาติ” บัดนี้ ภายใต้กฎอัยการศึกอำนาจเผด็จการทหารปกคลุมทั่วท้องฟ้า แสงสว่างแห่งสิทธิ เสรีภาพของประชาชนมืดมิดลง ประชาชนผู้รักความเป็นธรรมถูกจองจำในกรงราวกับนกพิราบที่ถูกขังให้ไร้เสรี ประชาธิปไตยของประชาชนคือสิ่งต้องห้ามที่น่ารังเกียจ สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบสันติและปราศจากอาวุธของประชาชนต้องหยุดชะงัก ทั้งจากฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งถูกตามจับกวาดล้างอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง(ต่างกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งยืนเคารพต่ออำนาจเผด็จการ) สิทธิในการชุมนุมเรียกร้องสิทธิความเป็นธรรมในประเด็นปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กรรมกร ชาวนาชาวไร่ พลังงาน เหมืองแร่ เขื่อน ป่าไม้ที่ดิน ของขบวนการภาคประชาชนเงียบสงัดจนไม่มีใครได้ยินเสียงพวกเขา และมืดมิดจนไม่มีใครมองเห็น หรือแม้แต่การชุมนุมทางวิชาการของนักศึกษา ปัญญาชน ทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่การทำหน้าที่ตามสามัญสำนึกคือ สอนหนังสือและเรียนหนังสือ ก็ยังถูกปิดกั้นขัดขวาง และภายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ระบบการรับน้องแบบ SOTUS หรือ เศษซากของอำนาจนิยมกลับดังคำรามอย่างน่าหวาดหวั่น
ประชาชนแบกรับความทุกข์ยากลำบากเสมอมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ที่พวกเขาสร้างประเทศนี้มาด้วยเลือดเนื้อ และชีวิตของพวกเขา และประชาชนได้รับการคืนความสุขตามคำโฆษณาจริงๆ หรือ ? ใครกันที่ขโมยความสุขของพวกเขาไป
ภายใต้คำสั่งคสช. ฉบับที่64/2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งกำหนดให้มีการไล่รื้อผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ป่า แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้ละเลยไม่คำนึงถึงคำสั่งที่66/2557 “การกระทำใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่ง คสช. ที่66/2557 มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้บุกรุกใหม่จะต้องดำเนินการสอบสวนและพิสูจน์ทราบ เพื่อกำหนดวิธีการที่เหมาะสมและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป” ซึ่งโดยแท้จริงแล้วประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกนั้นพวกเขาคือ “ผู้บุกเบิก” พวกเขาได้ลงแรงบุกเบิกแผ้วถางที่ดินเพื่อทำกินและอยู่อาศัยมาก่อนที่กฎหมายจะประกาศให้เป็นพื้นที่หวงห้าม และส่วนใหญ่พวกเขาคือผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ไม่ได้มีเจตนาบุกรุก กฎหมายต่างหากคือ ผู้บุกรุกตัวจริง! บุกรุกสิทธิในการมีชีวิตอยู่โดยปกติสุข บุกรุกที่ดินทำกินที่บรรพบุรุษบุกเบิกไว้ให้ บุกรุกที่อยู่อาศัยจนพวกเขาแทบไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีที่หลับนอน ไม่มีที่ดินทำกิน และไม่มีแม้ที่ยืนอย่างมั่นคงเพื่อพวกเขาจะได้ประกาศศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง
จากแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดิน และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. มีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าและทวงคืนพื้นป่าจากผู้บุกรุกและเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้สมบูรณ์ขึ้นให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศภายใต้ 10ปี โดยเน้นดูแลประชาชนในพื้นที่ป่าและรอบพื้นที่ป่าให้มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แต่ทว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพียง 4 เดือน ภายใต้คำสั่งคสช. ฉบับที่64/2557 ทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนผู้ยากกไร้ในพื้นที่ดินพาทต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ที่ดินทำกินในชุมชนทางภาคเหนือถูกทวงคืนผืนป่า ไปแล้วกว่า 90,877 ไร่ และชาวบ้านก็ถูกจับกุมข้อหาบุกรุกกว่า 200 ราย ที่ อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน และที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านถูกฟ้องขึ้นศาลคดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน จำนวน 6ราย ส่วนทางภาคใต้พื้นที่นับแสนไร่ ในจังหวัดสุราษฏร์ธานี ถูกยึดครองโดยนายทุนสวนปาล์มมายาวนานร่วม 30 ปี แบบผิดกฎหมาย ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง มีการข่มขู่คุกคาม และลอบสังหารเกษตรกร ทั้งหญิงและชายเสียชีวิตไปแล้ว 3 คน ในภาคอีสานได้ทวงคืนผืนป่าไปแล้วกว่า 50,000ไร่ ที่ชุมชนเก้าบาตร จังหวัดบุรีรัมย์ มีการสนธิกำลังระหว่างทหาร เจ้าหน้าที่กรมอุทยาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เข้าไปที่ชุมชนด้วยอาวุธครบมือ บางชุมชนถูกจับ ถูกข่มขู่ ให้รื้อถอนบ้านเรือนพืชผลออกจากพื้นที่ อีกทั้ง แกนนำบางหมู่บ้านก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไป และที่ชุมชนบ่อแก้ว จังหวัดชัยภูมิ วันที่ 25 ก.ย. 2557 นี้ครบกำหนด 30 วัน ตามประกาศของจังหวัดชัยภูมิ โดยอาศัยอำนาจคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าจังหวัดชัยภูมิ และคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ซึ่งชาวบ้านได้ผ่านการพิสูจน์สิทธิ และพูดคุยถึงระดับนโยบายมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
อำนาจที่ไม่มีความชอบธรรมย่อมนำมาซึ่งการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เหมือนกับต้นไม้พิษผลที่ออกมาย่อมเป็นพิษ การไล่รื้อที่ดินทำกินของชาวบ้าน ทำลายบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ทำลายพืชผลการเกษตร การใช้กำลังและอาวุธ การบีบบังคับข่มขู่ จะไม่เกิดขึ้นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย สังคมที่ยอมให้มีความเห็นที่แตกต่าง ถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่สิ่งใหม่ เป็นสังคมที่สิทธิ เสรีภาพของประชาชนได้รับการเคารพและเชิดชู เป็นสังคมที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจและผู้ปกครองมีหน้าที่รับใช้ตามเจตจำนงของประชาชน
ความไม่เป็นธรรมในสังคมยังคงถูกตั้งคำถามต่อไปว่า ที่ดินในประเทศนี้ประชาชน 80% ถือครองที่ดิน20% แต่คนกลุ่มน้อยเพียง 20% กลับถือครองที่ดินมากถึง 80% แท้จริงแล้วที่ดินเป็นของใคร? มิใช่ของผู้ถือคันไถดอกหรือ? ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐถึงได้เร่งรัดเอากับประชาชนตัวเล็กตัวน้อยนัก ซึ่งส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่มาก่อนการประกาศเขตสงวนหรือเขตอุทยาน ทำไมถึงไม่จัดการเอากับพวกนายทุน นักการเมือง และพวกข้าราชการ ที่ถือครองที่ดินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันและอิ่มหนำสำราญจากการแสวงหาผลประโยชน์ทั้งบนเขา ตีนเขา ทั้งในน้ำและในป่า ปล่อยให้ประชาชนอดตายไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีที่อยู่อาศัย ที่ดินที่มีอยู่อย่างน้อยนิดก็กำลังจะถูกยึดไป พวกเราประชาชนมีชีวิตอยู่ไม่สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เลย ถึงเวลาแล้วที่พวกเราขอประกาศว่า ”พอกันที!”
“ถึงไล่เราเราก็ไม่ไป เราไม่มีที่จะไป เรามันคนจน” นี่คือเสียงหนึ่งจากชาวบ้านที่บ่อแก้ว และเป็นเสียงที่ดังมาจากใจของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสิทธิการทำกินในที่ดิน และได้หลอมรวมเข้าเป็นจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ร่วมกัน พร้อมกับประกาศก้องว่า “ที่ดินต้องเป็นของประชาชน”
ณ สวนป่าคอนสาร 25 กันยายน 2557
เครือข่ายนักศึกษาติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากแผนแม่บทที่ดินและป่าไม้
- กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา
- กลุ่มสันติภาพเพชรบูรณ์
- ชมรมนักศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ชมรมอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบูรณ์
- กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม(ดาวดิน)
- กลุ่มปุกฮัก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- กลุ่มเถียงนาประชาคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- กลุ่มเพื่อนสังคม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- กลุ่มเทียนไข มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- กลุ่มรัฐศาสตร์สัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด
- กลุ่มบ้านสันติภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด
- กลุ่มนกกุญแจ มหาวิทยาลัยราชภัฎร้อยเอ็ด
- กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- กลุ่มอิสระกล้าเทียนหิน มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา
- เครือข่ายนักศึกษาภาคเหนือ
- ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
- กลุ่มลูกชาวบ้าน ม.บูรพา
- กลุ่มเพื่อนรักษ์ Friend For Save (FFS) ชุมชนกระท่อมเพื่อประชาชน บางแสน
- ชมรมนกเสรีเพื่อโรงเรียนในชนบท มหาวิทยาลัยแม่โจ้
- กลุ่มสะพานสูง ม.ธรรมศาสตร์
- โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม