อยู่ดีมีแฮง : สะเดาทวาย สร้างรายได้ตลอดปี

อยู่ดีมีแฮง : สะเดาทวาย สร้างรายได้ตลอดปี

“ตอนนี้เดือนมิถุนายน ก็ยังมีดอกให้เราเก็บกินอยู่นะ แต่ปกติเขาจะออกดอกช่วงเดือนกันยายน ยาวไปถึงเดือนมีนาคม ในช่วงเวลานั้น จะเป็นช่วงที่เขาออกดอกเยอะมากที่สุด แต่หากเลยช่วงเวลานั้นไป เขาก็ยังออกดอกให้ได้กินอยู่เรื่อย ๆ ”

นี่คือคำบอกเล่าจากครูสุวิทย์ ไชยมีสุข ครูสอนวิชาเกษตรสำหรับชั้นมัธยมของโรงเรียนบ้านเขวาทุ่ง ต.เขวาทุ่ง อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด ที่ใช้ความสนใจส่วนตัวหันมาปลูกสะเดาทวายในที่นา 3 ไร่ ในชื่อ สวนสะเดาครูสุวิทย์ S. 90 จนสร้างรายได้ปีละหลักแสนบาท ซึ่งครูสุวิทย์เองได้วางเป้าหมายว่า สะเดาทวายสวนนี้จะเป็นอาชีพใหม่ในวัยเกษียณ ของเดือนกันยายนที่จะมาถึงนี้

ถ้าจะพูดถึงจุดเริ่มต้น ต้องพาย้อนกลับไปเมื่อปี 2538

ในปีนั้นไม่มีโซเซียลมีเดีย ไม่มีไลน์ ไม่มีเฟซบุ๊ก หรือแม้กระทั้งพูดคำว่าอินเตอร์เน็ตหลายคนก็ยังไม่คุ้นหูเลยแต่สิ่งที่เข้าถึงผู้คนมากที่สุดในยุคนั้นก็คือวารสาร นิตยาสาร หนังสือพิมพ์ ซึ่งเรื่องสะเดาทวายก็ถูกตีพิมพ์ในวาระสาร จนเป็นแรงบันดาลใจครูสุวิทย์มาปลูกสะเดา

“ประมาณปี พ.ศ. 2538 ผมไปเจอเรื่องสะเดาทวายพันธุ์ขาวผ่องในวารสารฉบับหนึ่ง ซึ่งมันทำให้สะดุดใจเพราะเราเองก็ชอบเรื่องราวแบบนี้อยู่แล้ว ผมก็เลยคิดว่า ในเมื่อมันออกนอกฤดู เราก็น่าจะมาทำเป็นอาชีพเสริมของเราได้ ผมก็เลยลองเอาความรู้เก่าที่ได้ตอนเรียนเกษตรมา ใช้ขยายพันธุ์ ซึ่งทำเหมือนที่เขาทำมา คือการเสียบยอด”

135 ต้น บนพื้นที่ 3 ไร่ รายได้หลักแสน

“นาแปลงนั้นผมมีอยู่ 8 ไร่ ผมก็ไปปลูกริมขอบสระซึ่งปลูกได้ฝั่งละ 2 แถว ซึ่งระยะปลูกก็เอาตามที่อาจารย์วชิระ ขาวผ่อง ท่านแนะนำมาซึ่งระยะมาตรฐาน คือ 5*5 เมตร พื้นที่ปลูก 3 ไร่ ปลูกได้ 135 ต้น ลองขายข้าวกับขายสะเดา  เอามาเปรียบเทียบกันต่างกันเยอะมากปลูกข้าว 5 ไร่ ขายข้าวได้อย่างมาก 2 หมื่นกว่าบาทแต่ปลูกสะเดา 3 ไร่ เฉลี่ยต่อต้น อยู่ที่ประมาณ 6-7 ร้อยบาท”

เมื่อฟังดูสะเดา 1 ต้นเก็บดอกขาย เดือนกันยายนถึงเดือนมีนาคม เฉลี่ยรายได้ต้นละ 6-7 ร้อยบาทอาจจะไม่เท่าไหร่ แต่เอาตัวเลข 700*135 ต้น ผลที่ออกมาคือ 94,500 บาท แต่หลายคนคงคิดว่ามันคงไม่ใช่ตัวเลขเป๊ะอะไรขนาดนี้หรอก ใช่ครับ มันคือตัวเลขประมาณการ ซึ่งอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ขึ้นอยู่กับการออกดอกในแต่ละปี แต่นี่แค่รายได้จากการเก็บดอกขายอย่างเดียวนะครับ ยังไม่รวมกิ่งพันธุ์ที่เสียบยอดขาย ซึ่งปีนี้เสียบยอดไว้อยู่รอขายจำนวน 1,500 ยอด ซึ่งทางสวนครูสุวิทย์ขายอยู่ที่ 120 บาทต่อต้น ซึ่งมียอดสั่งซื้อทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ฟังดูแล้วอยากเอาเครื่องคิดเลขมากดดูเลยใช่ไหมละครับ ว่าจะมียอดเงินที่เป็นรายได้เท่าไร

ใช้ต้นทุนที่มี ขยายความรู้ ต่อยอดทางธุรกิจ “เสียบยอดขาย”

หลังจากสะเดาทวายสวนครูสุวิทย์ S.90 มีลำต้นใหญ่ ใครที่ผ่านไปผ่านมาก็สนใจที่จะอยากได้ไปปลูก จึงเป็นอีกแรงบันดาลใจที่ทำให้ครูสุวิทย์หันมาทำต้นพันธุ์ เริ่มต้นแต่แจก จนขายเป็นอีกรายได้หลักในสวน ซึ่งวิธีการเสียบยอดนั้นไม่ยากเท่าไหร่นัก เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลารออยู่พักหนึ่งเหมือนกัน กว่าจะเอาต้นพันธุ์ที่เสียบยอด ลงไปปลูกในพื้นดินได้

“การเสียบยอด เริ่มจากหากิ่งพันธุ์ที่มีลำตรงมาก่อน ต่อมาหาต้นสำหรับทำตอพันธ์ต้นตอ ที่เหมาะควรมีอายุประมาณ 1 ปีครึ่ง ตัดให้เหลือตอยาวประมาณ 5 นิ้ว วัดขึ้นมากจากโคนต้น แล้วผ่าต้นต่อ คือต้องผ่าตรงกลางต้นลึกประมาณ 1 นิ้วกว่า ๆ เลือกยอดพันธุ์ที่มีขนาดเท่ากับลำต้นของต่อพันธุ์ แล้วเฉือนให้เป็นลิ่มเสียบลงไปแล้วใช้เทปพันธุ์กิ่ง พันจากข้างล่างขึ้นมาข้างบนพันให้เลยแผลที่เราสอบยอดขึ้นมา จากนั้นค่อยเอาไปลงถุงพลาสติกใบใหญ่ แล้วมันปากถุงให้สนิท ป้องกันการคายความชื้นของดินและใบพืช ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ค่อยเอาออกมาจากถึง พักไว้ในที่ร่ม แล้วดูแลต่ออีก 3 เดือนค่อยเอาไปปลูกได้ ”

ตอนนี้ยอดสั่งจอง สั่งซื้อสะเดาทวาย ก็ยังมีมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการสั่งจองทางออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางการขายแบบใหม่ของที่นี่ หลังจากลูกชายของครูกลับมาอยู่บ้าน เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้งานประจำที่เคยทำอยู่ต้องหยุดชั่วคราว การชวนลูกชายที่ทักษะทางโลกออนไลน์สูงมาเติมเต็มกำลังงานในสวน จึงเป็นสิ่งที่ครูสุวิทย์เลือกทำ

สะเดาทวายจากสวน สู่โลกออนไลน์ เติมความรู้จากคนรุ่นใหม่ ในครอบครัว

“ช่วงนั้นลูกเขาไม่ได้ไปทำงานเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ประจวบกับว่า ลูกชายเองเขาเก่งด้านโลกออนไลน์ การติดต่อสื่อสาร ก็เลยคิดว่าเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสก่อนดีกว่า ด้วยการชวนลูกชายกลับมาอยู่บ้าน โดยให้เขาช่วยเป็นคนที่ติดต่อกับลูกค้า”

การตัดสินใจของครูสุวิทย์ในวันนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ อรรถโกวิท ไชยมีสุข ลูกชายคนเล็กที่เดินทางเข้าไรเรียนและทำงานในกรุงเทพหลายปี ได้หอบเอาความรู้และความถนัดบางอย่างกลับมาช่วยงานสวนสะเดาทวายที่บ้าน

“พากลับมาอยู่ที่บ้าน ตัวเองก็เหมือนคนที่คอยดูแลกิจการครับ เป็นทั้งคนสวน เป็นคนงาน รดต้นไม้ ดูแลสวนเช็คของ แพ็คของช่วยพ่อ แต่ว่าขั้นตอนการผลิตยังต้องให้พ่อเป็นคนทำ เพราะท่านมีประสบการณ์มากกว่า ตัวเองยังไม่มีประสบการณ์ก็เลยต้องยกหน้าที่ตรงนั้นเป็นหน้าที่หลักของพ่อไป ตัวเองก็ดูงานออนไลน์ และภาพรวมของสวนไปครับ ว่าต้องทำอะไร ตรงไหน อย่างไรบ้าง ในวัน ๆ หนึ่ง ตัวเองก็ต้องคอยถือมือเช็คยอดคำสั่งซื้ออยู่ตลอดเวลาครับ เวลามันเด้งขึ้นมาเราก็ต้องคอยเช็ค ซึ่งเราจะมีเพจและกลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการเกษตร การท่องเที่ยว ซึ่งตรงนี้พ่อกับแม่ ไม่ค่อยมีข้อมูลต่าง ๆ ทางออนไลน์”

สร้างพื้นที่อาชีพ จากวิถีเกษตรกร รองรับคนรุ่นใหม่กลับบ้าน รองรับตัวเองในวัยเกษียณ

“บ้านไม่ได้เช่า ข้าวไม่ต้องซื้อเมื่อกลับมาอยู่ที่บ้าน ถึงอาจจะได้เงินไม่เยอะ แต่ก็มีความสุขเมื่อมาอยู่กับครอบครัว กับพ่อกับแม่กับพี่กับน้อง ทำงานไปเจอปัญหาทำอย่างไร ถึงจะเกิดรายได้เพิ่มขึ้น ก็อาศัยจากธรรมชาตินี่แหละผมคิดว่า เอาวิกฤติตรงนี้แหละ มาสร้างเป็นทางเลือกให้กับลูกอีสาน คนในท้องถิ่นบ้านเรา”

สวนสะเดาครูสุวิทย์ S.90 ไม่เพียงแต่จะเป็นพื้นที่รองรับการกลับมาบ้านของลูกชาย แต่ก็กลายเป็นพื้นที่รองอาชีพใหม่ในวัยเกษียณ ที่กำลังจะถึงในปลายเดือนกันยายนของตัวเองอีกด้วย การกลับมาบ้านของคนรุ่นใหม่และการเติมเต็มความรู้จากคนรุ่นพ่อทำให้บ้านที่เงียบเหงามาหลายปี กลับมีชีวิตชีวาและคำว่าครอบครัวที่พร้อมหน้าพร้อมตากันอีกครั้ง แม้ว่าสะเดาทวายสวนครูสุวิทย์จะมีรสขม ๆ มัน ๆ แต่มันอยู่ช่วยเติมคำว่า “อยู่ดีมีแฮง” ให้เกิดกับคนในครอบครัวและคนที่ได้กินมัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ