อยู่ดีมีแฮง : เลิกเลี้ยงหมูขุน หันหน้ามาเลี้ยงหมูขายลูก

อยู่ดีมีแฮง : เลิกเลี้ยงหมูขุน หันหน้ามาเลี้ยงหมูขายลูก

“เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา หมูประสบปัญหาเรื่องการขาดทุนตอนนั้นเราเลี้ยงหมูขุนขายประมาณ 3-4 ร้อยตัว ขาดทุนไปเยอะมาก ก็เลยปรับวิธีคิดใหม่ ทำให้ยอดจองลูกหมูเราตอนนี้ คิวยาวถึงปลายปี 2565 เลย”

นี่คือคำบอกเล่าจาก ดร.อัดชา เหมันต์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เล่าให้ผมฟังถึงการประสบความสำเร็จในการเลี้ยงหมู จนผมเองจึงอยากจะกลับไปเปิดฟาร์มเลี้ยงหมูเล็ก ๆ สักหนึ่งฟาร์มเลย

วันนี้ทีมอยู่ดีมีแฮง มีโอกาสพานักอ่านทุกท่านเดินทางไปที่ศูนย์วิจัยและอบรมภูสิงห์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เพื่อพบกับ อาจารย์อัดชา เหมันต์ ซึ่งเป็นผู้บริหารศูนย์อบรมแห่งนี้ และไปคุยกับอาจารย์มะเหมี่ยวหรือ ทิพย์สุดา บุญมาทัน คนที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การเลี้ยงหมูในศูนย์วิจัยแห่งนี้ ก้าวพ้นคำว่า รายได้ติดลบมามากถึง 3 ปี และอีกคนที่สำคัญคือ อาจารย์เมธาวี จันทะโสตถิ์ นักวิชาการสัตวบาลที่พร้อมจะดูแลหมูทุกตัวในฟาร์มให้แข็งแรง และแบ่งปันความรู้ให้กับให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและคนที่สนใจที่เข้ามาเรียนรู้ผมจึงขออาสาพาเรื่องราวที่ไปพบและสัมผัสในศูนย์วิจัยและอบรมภูสิงห์ มาแบ่งปันความอยู่ดีมีแฮงให้กับทุกคนครับ

เลี้ยงหมู ไม่ใช่เรื่องหมู ๆ แม้ฟังดูแล้วจะหมู ๆ

“เมื่อหลายปีก่อนเราเลี้ยงหมูขุนมากถึง 3-4 ร้อยตัว แต่ช่วงหลัง เราขาดทุนต่อเนื่องติดกันมาหลายปีเหมือนกัน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากอยู่ แต่ไม่ขอบอกนะครับ กลัวพ่อแม่พี่น้องฟังแล้วตกใจ”

อาจารย์อัดชาเริ่มต้นบอกเล่าถึงสภาพปัญหาที่เคยเจอมาในอดีต เนื่องจากการเลี้ยงหมูขุนในตอนนั้นประสบปัญหาจากสภาพการผันผวนในเรื่องของราคาที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกวันพระ ซึ่งทางผู้เลี้ยงเองก็ไม่สามารถที่จะกำหนดราคาดังกล่าวได้ สิ่งที่ทำได้ในตอนนั้นคือภาวนาให้ตอนที่ถึงอายุจับขายนั้น ขอให้ราคามันสูงขึ้น แต่ก็แทบจะพบความโชคดีไม่กี่ครั้ง ตลอดการเลี้ยงหมูขุนในหลายปีที่ผ่านมา

เมื่อเราเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้ เราจะเลี้ยงหมูแล้วขาดทุนไม่ได้

เป็นนโยบายเริ่มต้นจากทางอาจารย์อัดชาร่วมกับทีมบริหาร ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเข้ามาช่วยงานเลี้ยงหมูของอาจารย์มะเหมี่ยว อาจารย์สาวที่มากประสบการณ์เลี้ยงหมูในฟาร์มใหญ่ ๆ มาก่อน เล่าให้ผมฟังว่า

“ถึงแม้ว่าที่นี่จะเลี้ยงหมูขุน3-4 ร้อยตัว เหมือนจะดูเยอะ แต่มันก็ยังไม่เยอะมากพอที่จะสร้างกำไรและความมั่นคงเรื่องกำไรและราคาได้ และทางเราเองก็คงไม่ทั้งทุน และกำลังคนที่มากพอที่จะมาดูแลไหว ดังนั้น ถ้าอยากเลี้ยงหมูให้ได้กำไร เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีเลี้ยงใหม่”

เลิกเลี้ยงหมูขุน หันมาเลี้ยงลูกหมูหย่านมส่งขายแทน

การเลี้ยงลูกหมูหย่านมขายจึงเป็นแนวทางการเลี้ยงหมูของที่นี่

“แม่หมูที่นี่ตอนนี้มีอยู่ 40 ตัวครับ และมีพ่อพันธุ์หมูอยู่ถึง 4 สายพันธุ์ ซึ่งมีพันธุ์แลนด์เรซ

พันธุ์ลาร์จไวต์ พันธุ์ดูร๊อก และพันธุ์เปียแตรง ส่วนแม่หมูเองมีแค่ 2 สายพันธุ์ จริง ๆ แล้วพ่อหมูของเราเลี้ยงไว้แค่ 2 สายพันธุ์ก็เพียงพอต่อการผสมพันธุ์ทั้ง 40 ตัว เพราะเราเองใช้วิธีการรีดนำเชื้อเอา และเองก็ต้องการไว้ให้เป็นที่ศึกษากับเกษตรหรือคนที่สนใจด้วย จึงเอาว่าเลี้ยงไว้สำหรับการศึกษา”

นี่เป็นคำบอกเล่าจากอาจารย์เมธาวี จันทะโสตถิ์ นักวิชาการสัตวบาล ที่คอยดูแลหมูให้สุขภาพดีทุกวัน

ปัจจัยเสี่ยงน้อย กำไรเพิ่มขึ้น

ตอนเราเลี้ยงหมูขุน เราแทบจะควบคุมปัจจัยเกี่ยวกับราคาหมูไม่ได้เลย ยิ่งการใช้เวลาเลี้ยงต่อรอบที่ยาวเท่าไหร่ ความเสี่ยงยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ทั้งเรื่องสุขภาพหมู ต้นทุนเรื่องอาหาร และราคาหมูขุนจะเปลี่ยนขึ้น ๆ ลง ๆ ทุก ๆ วันพระ ดังนั้นการหันมาเลี้ยงลูกหมูหย่านมจำหน่ายจึงช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวลงไปได้ดี

“เลี้ยงลูกหมูหย่านมเราใช้เวลลาเลี้ยงสั้น แค่ลูกหมูมีอายุได้แค่ 1 เดือน ก็สามารถจับขายได้แล้ว”

 อาจารย์อัดชาช่วยเน้นย้ำถึงแนวคิดการจัดการความเสี่ยง ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องของเวลาเท่านั้นนะ ค่าอาหารต่าง ๆ ก็ใช้น้อย กินน้อยลง ที่สำคัญ ราคาจะไม่ขึ้นลงในทุกวันพระเหมือนกับหมูขุน ถึงแม้จะมีเปลี่ยนอยู่บ้าง แต่ไม่มากและไม่บ่อย

ต้นทุนหลักร้อย กำไรหลักพัน

“จริง ๆแล้วต้นทุนของการเลี้ยงลูกหมูหย่านมต่อตัวมันแค่ 600 กว่าบาท แต่มันทำให้ได้กำไรสูงถึง 1,000 บาท เพราะว่า เราขายลูกหมู 1 ตัว ราคาอยู่ที่ 1,700 บาท”

ซึ่งแม่หมู 1 ตัว ในช่วงตั้งท้องจะกินอาหารแค่วันละ 2 กิโลกรัม เช้า 1 กิโลกรัม และบ่าย 3 อีก 1 กิโลกรัมต่อตัว กิโลกรัมประมาณ 15 บาท ซึ่งจะใช้เวลาเลี้ยงหมูไม่เกิน 120 วัน แต่ในช่วงหมูคลอดลูกจะเพิ่มให้เป็น 5 กิโลกรัมเพราะเป็นช่วงเร่งน้ำนมและเสริมร่างกายใช้แข็งแรง ให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น ต้นทุนจึงตกอยู่แต่ 6 ร้อยกว่าบาท เหลือกำไรมากถึง 1,000 บาท นั้นเอง

ขายดีจนยอดจองลูกหมู ยาวถึงปลายปี 2565

อาจารย์อัดชาเล่าให้ผมฟังว่า ผลสะท้อนกลับจากเขียงหมูที่ผ่านมาพบว่า ถ้าเลี้ยงหมูที่ได้ลูกหมูจากฟาร์มเราไปเลี้ยง เขียงหมูจะรีบซื้อเลยและให้ราคาดี จนทำให้ยอดจองลูกหมูเรายาวไปจนถึงปลายปี 2565 เลย แต่ที่เป็นแบบนั้นได้ก็เพราะ เราต้องสร้างคุณภาพของลูกหมูให้มีสุขภาพที่ดี ดูแลอย่างดี แถมยังเรายังติดตามผลหลังการขายเสมอ โอกาสที่เกษตรเอาลูกหมูที่เราไปเลี้ยงแล้วตาย จึงมีน้อยมาก เมื่อลูกหมูเราโอกาสตายน้อยแล้ว การเจริญเติบโตยังดีอีกด้วย คนที่นำหมูเราไปเลี้ยงต่อ ทำให้ประหยัดทั้งต้นทุน ปะหยัดทั้งรายได้ 

เราเลี้ยงหมู เพื่อแบ่งปัน

ที่เราต้องลงทุนทำอย่างนี้บ้าง ทำอย่างนั้นบ้าง ขาดทุนบ้างได้กำไรบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อเราจะรวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้คืนสู่สังคม คนสู่เกษตรกร และลูกหลานของเขา เพื่อว่าเขาจะได้เอาองค์ความรู้เหล่านี้ที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้ว นำไปใช้ได้เลยโดยที่เกิดข้อผิดพลาดได้น้อยที่สุด เพราะบางครั้งเกษตรกรหลายคนก็ไม่ได้มีต้นทุนที่มาก ที่จะสามารถมาลองผิดลองถูกแบบเราได้ ช่วงหลังนี้เราเองก็ปรับหลักสูตรการเรียนรู้ให้สั้นลงเพียง3-4 วันมาเรียนก็เอาไปทำได้เลย แบบว่าจับมือพาทำ สอนเฉพาะส่วนที่จำเป็นและสำคัญ เพื่อว่าคนที่มาเรียนเองจะเอาองค์ความรู้เหล่านี้กลัไปทำต่อที่บ้านได้ และเพิ่มรายได้ให้กับเขาได้โดยกิดข้อผิดพลาดที่น้อยที่สุด

นี่คือเรื่องราวที่ทีมอยู่ดีมีแฮงออกไปสัมผัส เรียนรู้ และมาแลกเปลี่ยนสู่เพื่อนนักอ่านฟัง ถึงสิ่งที่นักการศึกษากลุ่มหนึ่งกำลังปรับตัวเพื่อเสิร์ฟความอยู่ดีมีแฮงให้เกิดขึ้นกับคนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ เพื่อเขาจะกลับไปสร้างความอยู่ดีมีแฮงในพื้นที่ชุมชนเขาต่อ และเพื่อจะเกิดความอยู่ดีมีแฮงขึ้นในภาคอีสานและสังคมไทยต่อไปครับ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ