อยู่ดีมีแฮง : สวนผักหลังบ้านกับตลาด Social Commerce ทางรอดสู้ภัยโควิด -19

อยู่ดีมีแฮง : สวนผักหลังบ้านกับตลาด Social Commerce ทางรอดสู้ภัยโควิด -19

แม้ตลาดสดหลายแห่งจะยังคงเปิดขายสินค้าตามปกติอยู่  แต่มีบางคนได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ไปเดินตลาดให้ต้องเสี่ยงติดเชื้อไวรัสเพื่อผักแค่กำเดียว   แล้วจะทำอย่างไรให้มีผักหรืออาหารกินตามปกติ  หากเป็นชาวบ้านระดับรากหญ้ารากมะม่วงทั่วไป  นี่คงไม่ใช่ปัญหา  เดินยังไม่ทันรอบบ้านคงได้ผักมาเต็มมือแล้ว  แต่สำหรับคนทำงานนั่งเก้าอี้หมุนทั้งวัน  นี่แหละปัญหาใหญ่เมื่อเลิกงานแล้วจะเอาอะไรกิน  

เช่นเดียวกับกลุ่มบุคลากรในคณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  ที่บางคนต้องประสบภัยขาดแคลนผัก  แต่วันนี้พวกเขาค้นพบวิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์นี้แล้วโดยการหันมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าและลูกค้าเสียเอง  ซึ่งระบบการค้าขายของพวกเขานั้นไม่มีอะไรซับซ้อน  เพียงแค่หาอะไรที่กินได้รอบ ๆ บ้าน  รอบ ๆห้องพัก ถ่ายรูปแล้วลงในกลุ่มไลน์ของคณะ  จากนั้นรอคำสั่งซื้อ  เอาของมาส่งแล้วรับตังค์  นี่คือหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายและตรงจุดที่สุดแล้ว

อุษณีย์  ชูรัตน์  หรือ เช  หนึ่งในสมาชิกกลุ่มที่มีสินค้ามาขายเป็นประจำ  นั่นเพราะเธอมีแปลงผักเล็ก ๆ อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยมากนัก  โดยสวนแห่งนี้ได้รับการดูแลโดยพ่อแม่สามี  เชมีหน้าที่นำผลผลิตมาขาย   ซึ่งเมื่อก่อนจะเก็บไปขายที่ตลาดเป็นหลัก  แต่พอเจอสถานการณ์โรคระบาดนี้เธอก็ไม่อยากเสี่ยงแล้ว  เลยลองโพสต์ลงในกลุ่มไลน์คณะที่มีสมาชิกอยู่เกือบร้อยคน  ปรากฏว่ามีสมาชิกต้องการซื้อจึงเก็บขายเรื่อยมาโดยไม่ต้องไปเสี่ยงติดเชื้อจากการสัมผัสในตลาดอีกต่อไป 

อุษณีย์  ชูรัตน์ 

สำหรับวิธีการซื้อขายของกลุ่มนั้นหากสมาชิกมีวัตถุดิบอะไรที่จะขายก็ให้ถ่ายรูปลงกลุ่ม  ระบุราคา  เมื่อมีคนแจ้งความประสงค์ว่าจะซื้อหรือที่พวกเขาเรียกกันว่า “เอฟ” คนขายก็จะเอาสินค้านั้นไปวางที่จุดนัดพบซึ่งปกติก็คือโต๊ะเล็ก ๆ ข้างห้อง รปภ.ของคณะ  เมื่อวางเสร็จก็แจ้งคนซื้อว่าเอาของมาวางแล้ว  จากนั้นคนซื้อก็จะมาหยิบสินค้าที่ตัวเองสั่งจองไว้โดยคนซื้อกับคนขายไม่ได้สัมผัสกันเลย  แม้แต่ตอนจ่ายเงินยังใช้วิธีโอนทางมือถือ  ตอบโจทย์ทั้งการลดความเสี่ยงจากการสัมผัสและแก้ปัญหาเลิกงานแล้วจะเอาอะไรกินได้

ปาริชาติ  สุรมาตย์  หรือนก  หนึ่งในสมาชิกกลุ่มที่ซื้อสินค้าเป็นประจำบอกว่าเมื่อก่อนเธอถึงขั้นต่อต้านการซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านทางออนไลน์  เพราะมันไม่ได้เห็นของ  ไม่มั่นใจในสินค้าว่าจะปลอดภัยหรือไม่  หรือเขาเอาสินค้าจากที่ไหนมาขายก็ไม่รู้  แต่เมื่อได้มีโอกาสลองสั่งซื้อปรากฏว่าวิธีการนี้สะดวกต่อวิถีชีวิตของตัวเองมาก  และกลายเป็นว่ามีความมั่นใจในสินค้ามากกว่าไปซื้อที่ตลาด  เพราะรู้จักกับคนขายจึงรู้เส้นทางการมาของพืชผักที่จะซื้อ

ปาริชาติ สุรมาตย์

ผศ.มงคล  ปุษยตานนท์  คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  กล่าวว่า  จริง ๆ กลุ่มซื้อขายสินค้าของคณะก่อตั้งมา 4-5 ปีแล้ว ก่อนเกิดวิกฤติโควิด ซึ่งซื้อขายกันในลักษณะแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์แบบพี่ ๆ น้อง ๆ มากกว่าการค้าขายแบบจริงจัง  เพราะแต่ละคนไม่ได้เป็นเกษตรกรมืออาชีพ  เพียงแค่ปลูกผักสวนครัวเล็ก ๆ น้อย ๆ  หรือมีผลไม้ตามฤดูกาลก็เอามาโพสต์ขาย  ซึ่งช่วยได้มากในภาวะวิกฤตินี้และคิดว่ากิจกรรมนี้น่าจะทำไปได้อีกนานเพราะคนซื้อกับคนขายก็เป็นคนกันเอง

การค้าขายสินค้าผ่านกลุ่มไลน์ไม่ได้มีแค่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น  แต่ในระดับมหาวิทยาลัยเองก็มีกลุ่มประเภทนี้เช่นกัน  อย่างกลุ่ม UBU Green Market  เป็นกลุ่มขายสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ  แต่ที่แตกต่างกันคือคนขายในนี้เป็นเกษตรกรที่อยู่รอบ ๆ มหาวิทยาลัยจึงทำให้มีสินค้าที่หลากหลายและมีปริมาณที่มากกว่า

แต่ใช่ว่าใครที่เป็นเกษตรกรจะเอาสินค้ามาขายในนี้ก็ได้  เพราะจริง ๆ แล้วพวกเขาคือเกษตรกรในโครงการบูรณาการความรู้สู่ชุมชนเพื่อพัฒนาอาชีพและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก  ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีกับชุมชน  โดยมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ให้ชาวบ้าน  รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการตลาดและเทคนิคการขายสินค้าด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ  ซึ่งแต่เดิมนั้นทางมหาวิทยาลัยจะมีตลาดนัดสีเขียวในมหาวิทยาลัยสัปดาห์ละ 4 วันโดยนำสินค้าเกษตรอินทรีย์จากโครงการนี้มาวางขาย  แต่จนแล้วจนรอดก็รู้ถึงหูโควิด -19 และตามมารังควาญจนพวกเขาไม่สามารถเปิดตลาดได้  ทำให้กลุ่มคิดหาวิธีการขายใหม่ผ่านระบบออนไลน์แล้วส่งสินค้าแบบเดลิเวอรี

สามัคคี  นิคมรักษ์  ประธานวิสาหกิจชุมชนศรีไคออร์แกนิกบอกว่า  จริง ๆ แล้วกลุ่มซื้อขายสินค้าออนไลน์นี้ตั้งมาก่อนโควิด 19 ระบาดแล้วเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน  เป็นรูปแบบการขายที่ทำควบคู่กับระบบตลาดจริง  แต่เมื่อไม่สามารถเปิดตลาดนัดได้ก็ยังเหลือช่องทางออนไลน์อยู่  ซึ่งข้อดีของระบบตลาดออนไลน์คือเกษตรกรสามารถวางแผนในฟาร์มได้ง่ายกว่า  เพราะรู้ว่าพรุ่งนี้จะขายอะไร  ขายปริมาณเท่าไหร่โดยมันคือระบบสมาร์ตฟาร์มนั่นเอง 

สามัคคี นิคมรักษ์

วิธีการซื้อขายของกลุ่มนี้แตกต่างจากกลุ่มแรกเล็กน้อย  คือของคณะวิศวกรรมศาสตร์จะเก็บผลผลิตมาก่อนแล้วค่อยโพสต์ขาย  แต่ของกลุ่มเกษตรกรจะโพสต์ขายก่อนแล้วค่อยไปเก็บผลผลิต  ส่วนการส่งสินค้าก็คล้ายคลึงกัน  โดยคุณสามัคคีจะเป็นผู้รวบรวมสินค้าของสมาชิกแล้วเอาไปตระเวนส่งตามจุดนัดหมายต่าง ๆ  ที่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นป้อมยาม  เมื่อวางแล้วก็ถ่ายรูปแจ้งผู้ซื้อว่าเอาของมาส่งแล้ว  หลังจากที่ลูกค้ามารับสินค้าไปแล้วถึงจะโอนเงินให้  ซึ่งกระบวนการซื้อขายแต่ละรอบนี้ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งวันก็เสร็จแล้ว

นอกจากนั้นภายในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานียังมีกลุ่มซื้อขายที่ใหญ่ขึ้นมาอีก  คือกลุ่ม ตลาดออนไลน์ชาวกันเกรา -​ UBU Online Mall เป็นกลุ่มสาธารณะในเฟซบุ๊ก  มีสมาชิกกว่า 1.4 หมื่นคน  ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นมาในช่วงการระบาดของโควิด 19 ระลอกแรก  โดยสมาชิกภายในกลุ่มจะมีทั้งนักศึกษาปัจจุบัน ศิษย์เก่าที่จบไปแล้ว  บุคลากรทางการศึกษา และคณาจารย์  เพื่อเป็นพื้นที่กลางในการซื้อขายสินค้าแทบทุกประเภท  เพราะบางคนเรียนจบไปยังไม่มีงานทำแถมต้องมาเผชิญกับภาวะล็อกดาวน์  พื้นที่ตรงนี้ก็จะสามารถช่วยเพิ่มรายได้สำหรับพวกเขา

รศ.ดร. ชวลิต  ถิ่นวงศ์พิทักษ์  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและบริการวิชาการ  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  กล่าวว่า  สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นการสร้างสังคมผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี  นอกจากหลายคนจะมีรายได้จริงแล้ว  ยังเป็นการฝึกฝนประสบการณ์ด้านการค้าขายของนักศึกษาแบบเสมือนจริง  นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท)  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและบริษัท ดิจิแอดไวซ์ จำกัด เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มจับคู่ทางการค้าระหว่างผู้ผลิตพืชผักอินทรีย์กับผู้ซื้อที่ต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ  ปัจจุบันนี้อยู่ในระหว่างการทดลองใช้ 2-3 แอปพลิเคชัน  ซึ่งให้บริการทั้งกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย  และบางแพลตฟอร์มที่จับคู่การค้าในระดับจังหวัดคือศรีสะเกษกับอุบลราชธานี

อย่างไรก็ตาม อาจารย์เชาวลิต  ยังไม่ได้ทิ้งรูปแบบการค้าขายดั้งเดิม  ซึ่งการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ยังคงต้องทำควบคู่กันไป  ถึงแม้ว่าช่วงนี้รูปแบบออนไลน์จะขยายตัวมากกว่าก็ตาม  แต่แบบออฟไลน์ก็ยังจำเป็นต้องมีอยู่เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นว่าผู้ผลิตสินค้านั้นมีตัวตนอยู่จริง

การขายผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook หรือ Line ที่เรียกว่า Social Commerce  ซึ่งไทยเคยเป็นประเทศที่ใช้วิธีการค้าขายรูปแบบนี้มากที่สุดในโลก ( ที่มา : Paypal Asia Social commerce report 2018) อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับใครหลายคน  แต่สำหรับมนุษย์ยุคร้องเพลงจีบสาวแล้ว  อาจเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะย้ายร้านค้ามาไว้ในมือถือ  ตลาดตั้งแผงนั่งขาย  ยังคงเป็นตัวเลือกแรกสำหรับพวกเขาอยู่  แต่เมื่อถึงยุคที่ห้ามผู้คนอยู่ใกล้กันเกิน 2 เมตรเช่นนี้  หากใครยังปรับตัวไม่ได้ปรับตัวไม่ทันก็คงจะต้องเจอกับความยากลำบากในการทำมาหากินโดยเฉพาะกับการค้าขาย  เพราะเราไม่รู้ว่าโรคระบาดชาติล่มจมนี้  จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ