ประชาชนไปต่อ : ห้องเรียนทะลุฟ้า ออกนอกตำรา ที่บ้านเลโคะ

ประชาชนไปต่อ : ห้องเรียนทะลุฟ้า ออกนอกตำรา ที่บ้านเลโคะ

วัยเด็กเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ช่างคิด ช่างฝัน แหล่งเรียนรู้หลักคงหนีไม่พ้นโรงเรียน แต่ในช่วงสถานการณ์วิกฤต หลายฝ่ายกำลังพยายามแก้โจทย์ เมื่อการเรียนรู้ของนักเรียนไม่สามารถเกิดขึ้นในห้องเรียนตามปกติได้ และออนไลน์อาจจะไม่ใช่คำตอบของทุกพื้นที่ จึงเกิดการออกแบบห้องเรียนในหลายลักษณะ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน และตำราเรียนเท่านั้น เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่การระบาดระดับสีส้ม

แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองในหุบเขา ชุมชนกระจายตัวตามภูเขา แต่ละดอยก็จะมีชุมชนและโรงเรียนอยู่ด้วยกัน การมีโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กอยู่ในชุมชน คือ โอกาสที่เด็กในพื้นที่ห่างไกลได้เปรียบคือพวกเขายังสามารถเรียนรู้ได้ตามปกติ ยิ่งบ้านเลโคะ ตำบลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แทบจะไม่พบการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ นี่จึงเป็นข้อได้เปรียบของชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งที่นี่ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนกว่า 200 กิโลเมตร และยังไม่พบคลัสเตอร์การระบาด ทำให้โรงเรียนบ้านเลโคะ ยังสามารถจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนได้ตามปกติรวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมให้ชาวบ้านในพื้นที่เติมความรู้และทักษะต่าง ๆ ให้กับนักเรียน

แม้การระบาดของ โควิด19 จะเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ของนักเรียนหลายโรงเรียน แต่สำหรับโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล อย่างที่แม่ฮ่องสอนพวกเขาไม่ได้ขาดโอกาสในการเรียนรู้ ยังสามารถเรียนแบบออนไซต์ได้ตามปกติ และยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์การระบาด

ครูเคน หนึ่งในครูที่เป็นแกนนำของน้อง ๆ เยาวชนแกนนำบ้านเลโคะ บอกว่า จากประสบการณ์การทำงาน และได้ร่วม ออกแบบด้านการศึกษากับเด็ก ๆ ในพื้นที่ ครูเข้าไปช่วยเสริมการเรียนรู้ของเด็กในห้องเรียนเชื่อมกับนอกห้องเรียน ก่อนหน้าที่โควิดตัวร้ายจะเข้ามาเสียอีก ส่วนการพัฒนาคนรุ่นใหม่ในยุคต่อไป ครูเคนมองว่าหัวใจสำคัญจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการที่จะนำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อเท่าทันกับสถานการณ์ เพราะการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น การทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกห้องเรียน ก็เป็นการช่วยเสริมทักษะและประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่มีในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นการลงมือทำ การออกไปเรียนรู้วิถีชุมชน ทำนา ทำสวน ทำอาหารง่าย ๆ การฝึกเล่นดนตรี หรือทำงานศิลปะ เป็นต้น 

ตอนนี้ทางโรงเรียนเชื่อมกับวิชาการเรียนการสอนในห้องเรียน แม้ว่าสถานการณ์โควิดของที่นี่แต่ยังไม่มาก และยังพอเรียน ออนไซต์ ในห้องเรียนได้ แต่ที่นี่คุณครูมีความพยายามออกแบบเผื่อไว้เช่นกัน โดยบริบทของพื้นที่ที่เรารู้กันดีว่า เด็กที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กชาติพันธุ์ และพ่อแม่ทำงานทำไร่ทำสวน หรือค้าขาย อยู่ตามหย่อมบ้าน จึงออกแบบให้เข้ากับตัวผู้เรียนและตามความสนใจ

เช่นกิจกรรมครั้งนี้ ออกไปเรียนรู้ทะลุฟ้า เรียนนอกตำราจากที่นาผืนสุดท้ายของชุมชน ออกไปเรียนกับลุง ๆ ป้า ๆ ชาวนาเป็นผู้สอนตามวิถีของคนกะเหรี่ยง การลงนา ก็จับคู่กับวิชาสังคมศึกษา จึงทำให้มีเวลาต่อเนื่อง 3 ชั่วโมง ที่เราสามารถจัดกิจกรรมแบบบูรณาการวิชาร่วมกันได้ยาวขึ้น ส่วนการประเมินผลการเรียนรู้แบบในห้องเรียนก็วัดไปตามนั้น แต่สิ่งที่เด็กได้เพิ่มขึ้น คือได้ค้นพบตัวตนชอบหรือไม่ชอบอะไร และรู้เส้นทางต่อยอด

หรือจับคู่กับวิชาแนะแนว ที่เรียนสัปดาห์ละ 1 คาบ ซึ่งการออกไปข้างนอกขึ้นอยู่กับโอกาสและเนื้อหาในแต่ละครั้ง  ด้วยธรรมชาติของวิชาแนะแนวต้องการให้นักเรียนกล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ ภายใต้ข้อมูลที่ตนมีเพียงพอ

ดังนั้นการจะออกไปแต่ละครั้งต้องสอดคล้องกับเนื้อหา เช่น การค้นพบตัวตนด้านอาชีพ ก็จะมีหัวข้อ…โตก่อนโต Go ahead คือ เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนโตจริง เกี่ยวกับอาชีพ โดยการออกไปพูดคุยกับหมอ จนท.สาธารณสุข และทันตแพทย์ ใน รพ.สต.ใกล้ ๆ โรงเรียน หรือคุยกับผู้นำชุมชน  กำนัน นายก อบต. ส.อบต. อสม. เผื่อว่าตัวเองจะเลือกทำอาชีพเหล่านี้

น้อง ๆ และคุณครู บอกนะคะว่าไม่ได้มีแค่เรียนห้องเรียนวิชาบนผืนนา เพียงอย่างเดียว ตอนนี้น้อง ๆ กำลังออกแบบห้องเรียนอื่น ๆ เพิ่มกับคุณครู เช่น การฝึกทำงาน Handmade ของในชุมชน เรียนรู้กับครูชุมชน ฝึกการเรียนรู้พร้อมกระบวนการสร้างรายได้ไปด้วย

ผู้เขียนมองเห็นงานนี้ผ่านสายตาตัวเองได้ว่า ความรู้ในห้องเรียนยังมีความสำคัญอยู่แต่การเรียนรู้นอกห้องเรียนก็สำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ด้านการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ พัฒนาทักษะ จากการที่เขาค้นหาคำตอบด้วยตนเอง  เป็นความพยามยามทั้ง คุณครู นักเรียน และคนในพื้นที่ ที่ออกแบบห้องเรียนทะลุฟ้าผ่านวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ โรงเรียนบ้านเลโคะ ถือเป็นโรงเรียนขนาดกลางนะคะ มีนักเรียน 138 คน ครูอีก 12 คน ร่วมแล้ว 150 คน นับว่าเป็นอีกมุมหนึ่งที่เราเห็นว่า โรงเรียนขนาดเล็กยังตอบโจทย์สามารถจัดการเรียนรู้ท่ามกลางการระบาด

เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เยาวชนได้เรียนรู้และเกิดความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ได้อย่างลึกซึ้ง นี่อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คุณครูยุคใหม่ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง เปลี่ยนความเชื่อเดิม ๆ จากการหาความรู้ที่อยู่มีในตำราเรียน สู่การเรียนรู้ในรูปแบบการเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตของคนในยุคอนาคต

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ