ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
เส้นทางการต่อสู้สู่การทวงคืนผืนดินของผู้ทุกข์ยาก ภายหลังองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้รับสัมปทานปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส ในปี 2521 ในพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ส่งผลให้หลายร้อยครอบครัวถูกขับออกจากที่ดินทำกิน บนทางเดินจากวันนั้น เสียงเรียกร้องสิทธิของผู้ได้รับปัญหาผลกระทบ ต้องดิ้นรนต่อสู้มายาวกว่า 3 ทศวรรษ กระทั่งสามารถทวงคืนผืนดินทำกินกลับคืนมาได้ในวันที่ 17 ก.ค.52 พร้อมจัดตั้งชุมชนบ่อแก้วขึ้นมาอย่างมีระบบแบบแผน ร่วมกันพลิกฟื้นทั้งชีวิตและผืนดินให้เกิดความสมบูรณ์และเพื่อให้เกิดความปกติสุขในการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง
การเดินทางเพื่อเรียกร้องสิทธิ ผ่านความเหนื่อยล้าอย่างหนักหน่วงอีกครั้ง ภายหลังรัฐประหาร โดยคณะ คสช. ส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพชีวิตและจิตใจที่สุด นับแต่วันที่ 26 ส.ค.57 โดยเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 เข้ามาปิดประกาศให้ชุมชนบ่อแก้ว รื้อถอนสิ่งก่อสร้าง ออกจากพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ภายใน 30 วัน หลายครั้งที่พวกเขาต้องเดินทางไปยื่นหนังสือชี้แจ้งข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งมีมติให้ชะลอการดำเนินการใดๆ จนกว่าจะมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาในทางนโยบาย ที่ถูกต้อง และเป็นธรรมต่อไป
แน่นอนว่าต่างคน หรือต่างกลุ่มคณะ ย่อมมีจุดหมายการเดินทางเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ต่างกัน อย่างเช่น การเดินทางของชุมชนบ่อแก้ว ที่ร่วมเท้ากันเพื่อทวงคืนสิทธิในที่ดินทำกินให้กลับคืนมาสู่อ้อมกอดอันอบอุ่นเหมือนดังเดิม เช่นเดียวกับการเดินทางของนักศึกษาจากชมรมค่ายสิงห์น้ำตาลอาสา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กว่า 60 ชีวิต ที่ต่างร่วมเดินทางมาออกค่ายเพื่อสร้างสุข มอบไออุ่นสู่ชุมชน ที่ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 23 – 25 ต.ค.58 สาระสำคัญที่สุดในหัวใจของการออกค่ายคือ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน และศึกษาปัญหาของชุมชนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องที่ดินทำกิน และแนวทางแก้ไขเพื่อความยั่งยืนของชุมชน
ณัฐพล ขอยืมกลาง นิสิตชั้นปีที่ 3 เอกการเมืองการปกครอง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประธานชมรมค่ายสิงห์น้ำตาลอาสา ชี้ถึงวัตถุประสงค์การออกค่ายครั้งนี้ว่า เพื่อให้นิสิตผู้เข้าร่วมโครงการเกิดจิตสำนึก มีจิตอาสา ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสังคม และเพื่อให้เข้าใจถึงประเด็นสภาพปัญหา และได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชุมชนบ่อแก้ว ที่ได้รับความไม่เป็นธรรมจากนโยบายภาครัฐ อีกทั้งเพื่อให้นิสิตมีศักยภาพในความเป็นผู้นำทั้งในด้านสิทธิมนุษยชน และสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่ด้านข้อมูล ข่าวสาร สะท้อนสภาพปัญหาของชุมชน ให้สังคมภายนอกรับรู้ และเข้าใจ เพื่อเป็นแนวทางไปสู่การแก้ไขปัญหาที่จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อวิถีการดำเนินชีวิตอันปกติสุขของชุมชน
ประธานชมรมค่ายสิงห์น้ำตาลอาสา บอกอีกว่า การศึกษาในห้องเรียนนั้น สิ่งที่ได้รับจากการถ่ายทอด เป็นเพียงแค่ได้รับรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่หรือรู้เพียงแค่ปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้เข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของผู้ที่ได้รับผลกระทบชุมชนในแต่ละหลายพื้นที่ เช่น ชุมชนบ่อแก้ว เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบด้านที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย จากปัญหาที่ได้ติดตามและรับรู้ถึงสภาพจิตใจที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ร่วมกันมาออกค่ายเพื่อสร้างสุข และด้วยความสนใจอยากลงมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์นอกเหนือจากสิ่งที่ได้รับเพียงแต่ในห้องเรียน พร้อมทั้งต้องการให้นักศึกษาเข้ามาสัมผัสในชีวิตชุมชนโดยตรงว่าปัญหา และความเป็นอยู่ของชาวบ้าน แท้จริงเป็นอย่างไร
“นักศึกษาที่มาออกค่าย ประกอบด้วยคณะวิทยาลัยการเมืองการปกครอง คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะบัญชีและการจัดการ จากการร่วมแลกเปลี่ยนถึงสภาพปัญหาของคนในชุมชน นิสิตต่างสะท้อนถึงความเป็นห่วงที่สุดคือ ด้านสุขสภาวะ รวมทั้งเรื่องสุขภาพทางใจ เนื่องจากชุมชนบ่อแก้วผ่านความยากลำยาก พร้อมทั้งร่วมเดินทางเพื่อไปชี้แจงข้อเท็จจริง และทุกข์ทนมามาก แม้ภายนอกชาวบ้านจะไม่แสดงออกออกถึงความเหนื่อยล้า แต่ภายในจากการได้ร่วมพูดคุย ด้วยสีหน้า แววตาที่ฉายออกมา นักศึกษาต่างรู้สึกถึงสภาพที่อิดโรยและสุขภาพที่ย่ำแย่อยู่ภายใน โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ ต่างมีความเห็นร่วมกันว่า จะร่วมมาออกค่ายเพื่อฟื้นฟูสภาวะทางจิตใจชาวบ้านอีกครั้ง รวมทั้งจะขอความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลเพื่อจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น จัดหาเครื่องวัดความดัน หรือจัดให้พยาบาลมาตรวจสุขภาพชาวบ้านบ่อแก้ว เป็นการต่อไป” ประธานชมรมฯ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านอนงค์ เทียนเมาะ หรือหยง นิสิตชั้นปีที่ 3 เอกการเมืองการปกครอง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เผยความในว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเคยผูกพันอยู่กับเด็กๆ ใกล้ชิดอยู่กับโรงเรียนที่ได้ไปออกค่ายแต่เฉพาะสร้างอาคารเรียน ครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์แรก ที่ได้มาออกค่ายเรียนรู้ถึงชีวิตและสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยปกติไม่คิดว่าจะมีการต่อสู้แบบนี้หลงเหลืออยู่ ครั้นออกมาสัมผัสโดยตรง พบว่ายังมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นอยู่จริง ทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นบางครั้งก็ถูกละเลยจากสังคม หากไม่ใช่เป็นผู้ที่ประสบกับปัญหาด้วยตัวเอง ก็ไม่มีทางเข้าถึงปัญหาเหล่านี้ นอกจากได้ศึกษาอยู่ในเฉพาะห้องเรียน ซึ่งไม่สามารถสัมผัสถึงปัญหาที่แท้จริงได้มากนัก
อนงค์ เผยถึงความรู้สึกอีกว่า ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มาลงพื้นที่ในครั้งนี้ เห็นถึงความเชื่อมั่นและศรัทธาในอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อเรียกร้องในเรื่องสิทธิความเป็นมนุษย์ที่ถูกกดขี่ กลายเป็นความอยากรู้ อยากเห็น ใคร่ติดตามในสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งนี้แม้อาจไม่สามารถช่วยอย่างไรได้มากนัก อย่างน้อยก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เข้ามารับรู้ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น คาดหวังว่าในอนาคตจะได้นำประสบการณ์จริงนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สุขต่อชาวบ้านได้บ้าง
“สิ่งที่ขบคิดอยู่ในใจว่า ภายหลังนักศึกษาเสร็จสิ้นกระบวนการออกค่ายไปจากชุมชนกันหมดแล้ว ชาวบ้านจะเกิดความรู้สึกคิดถึงเหมือนกันบ้างหรือไม่ แต่สิ่งสำคัญสุดของหัวใจในการเดินทางมาออกค่ายครั้งนี้ เชื่อมั่นว่านักศึกษาจะเกิดความรู้สึกคล้ายกัน นั่นคือความผูกพัน แน่นอนว่าบางคนอาจผูกพันกับสถานที่ อีกคนอาจจะผูกพันทั้งสถานที่และผู้คน อย่างไรก็ตาม ใครที่เกิดความรู้สึกเช่นนั้น ย่อมเกิดอารมณ์เศร้า เมื่อยามจาก เพราะเมื่อจากไปแล้ว การที่พวกเรามาออกค่ายสร้างสุขให้กับชุมชน หลายคำตอบที่ได้รับรู้จากพ่อเฒ่าแม่แก่ว่า นานมากแล้วที่พวกเขาไม่ได้สัมผัสกับบรรยากาศที่โชยมาพร้อมกับความรัก และความอบอบอุ่น ดั่งเช่นที่ลูกหลานๆ นักศึกษามามอบให้ในครั้งนี้เลย จากนี้ยังกังวลอยู่ว่า ชุมชนที่นี่จะเป็นอย่างไร จะมีโครงการต่างๆ เข้ามาขับไล่ชาวบ้านออกไปอีกหรือไม่” หยง กล่าวถึงความรู้สึกที่แววตาแฝงไปด้วยความกังวลใจ
ส่วนมัฌฌิมา นุกาศรัมย์ (จุฬา) นิสิตชั้นปีที่ 3 เอกวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สะท้อนความรู้สึกืกมาว่า ตลอดช่วง 3 วัน ที่ได้มาร่วมกิน และอาศัยอยู่กับชาวบ้าน แม้เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นยาวนานกว่านั้น ความประทับใจเริ่มแรกต่างจากลงมาสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมออกค่ายในครั้งก่อน คราวนี้ได้มาสัมผัสถึงวิถีชีวิตชาวบ้านโดยตรง ได้รับรู้ข้อมูล ได้เรียนรู้ถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ สามารถบอกได้เลยว่าประสบการณ์ที่ได้สัมผัส มีทั้งรอยยิ้ม คราบน้ำตา รวมทั้งเสียงหัวเราะ เพราะการเรียนรู้ที่มาพร้อมกับความสุข และการเรียนรู้ที่ได้สัมผัสถึงความรักและความอบอุ่น ในขณะเดียวกันการเรียนรู้ก็ได้มาพร้อมกับการรับรู้ถึงความเจ็บปวดของชุมชนที่มักถูกเจ้าหน้าที่ฉวยโอกาสเข้ามาไล่รื้อให้ออกจากชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ใครจะรู้มากน้อยแค่ไหนบ้างว่า แม้วันนี้ผลกระทบที่ชาวบ้านบอกว่า จะลดความกังวลใจลงไปได้บ้าง หลังจากมีคำสั่งให้ชะลอไล่รื้อ และยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนออกไปก่อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการสอบถาม แม้ชาวบ้านหลายคนไม่เผยออกมา แต่ลึกๆ สัมผัสได้ว่าชาวบ้านยังคงรู้สึกไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต หวั่นเกรงภัยจะถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาไล่รื้อ เพราะปัญหาที่สั่งสมมานาน จะถูกแก้ไขเพื่อความปกติสุขของชาวบ้านจะคืนกลับมาดังเดิม ยังไม่สามารถหาคำยืนยันจากคำตอบของรัฐบาลได้
มัฌฌิมา สะท้อนอีกว่า สิ่งที่ได้สัมผัสจากการลงพื้นที่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชีวิตของชาวบ้านที่เดือดร้อนโดยตรงนั้น มากมายเกินกว่าที่วาดหวังไว้ เป็นบทเรียนที่หาอ่านไม่ได้ในตำราเรียนเล่มใด ในฐานะนักศึกษาที่ได้มีโอกาสได้เข้ามาเห็น ได้สัมผัสกับพื้นที่ที่เกิดปัญหาจริงๆ มีความรู้สึกภูมิใจที่สุด เหมือนเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กลับคืนสู่ชุมชน
“ทั้งนี้การเรียนรู้หาใช่สิ้นสุดแค่เพียงประสบการณ์เท่านั้น แต่ในทางข้างหน้า พร้อมที่จะก้าวออกมาเรียนรู้กับปัญหา และจะนำข้อมูลของการที่ชุมชนถูกละเมิดในด้านสิทธิมนุษยชน นำไปเผยแพร่ต่อ พร้อมระลึกเสมอว่า เพราะเหตุใดชาวบ้านเขาต้องทุกข์ทนแบบนั้น จะพยายามไม่ให้ชาวบ้านรู้สึกโดดเดี่ยว และจะไม่เกิดความรู้สึกที่เดียวดายเลย ฟันเฟืองเล็กๆ มีส่วนสำคัญอย่างดีที่สุด ที่สามารถทำให้กิจกรรมต่างๆ นี้ ดำเนินไปอย่างราบรื่นเพราะต่อแต่นี้จะพยายามมาร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยอีกบ่อยครั้ง และพร้อมหยัดยืนเคียงข้างอยู่โดยเสมอ” มัฌฌิมาเผยทิ้งท้าย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า บนเส้นทางเดินของการเรียนรู้บางครั้งก็มาพร้อมกับความสุข การเรียนรู้บางครั้งก็มาพร้อมกับความอบอุ่น ในขณะเดียวกันการเรียนรู้ก็ได้มาพร้อมกับการรับรู้ถึงความเจ็บปวดของชุมชนที่มักถูกเจ้าหน้าที่ฉวยโอกาสเข้ามาไล่รื้อให้ออกจากชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง
ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า ต่างคนย่อมมีจุดหมายการเดินทางต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่อาจบังเกิดความรู้สึกเหมือนกัน นั่นคือความผูกพัน บางคนอาจผูกพันกับสถานที่ อีกคนอาจจะผูกพันทั้งสถานที่และผู้คน อย่างไรก็ตาม ใครที่เกิดความรู้สึกเช่นนั้น ย่อมเกิดอารมณ์เศร้า เมื่อยามจาก…ครั้งเดียวคงไม่พอ อีกสักครั้งคงยังไม่พอเช่นกัน
ขอบคุณนักศึกษาชมรมค่ายสิงห์น้ำตาลอาสา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับการเดินทางออกค่ายสร้างสุข เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านบ่อแก้ว