อยู่ดีมีแฮง : ลดพื้นที่ปลูกอ้อยแปลงใหญ่ ทำเกษตรหลากหลาย สร้างความสุขเพิ่ม

อยู่ดีมีแฮง : ลดพื้นที่ปลูกอ้อยแปลงใหญ่ ทำเกษตรหลากหลาย สร้างความสุขเพิ่ม

มุกดาหาร เป็นอีกแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่หลากหลาย อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย การทำปศุสัตว์ ประมง ผัก ไม้ผลและพืชสมุนไพรอื่น ๆ ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปี 2559 ระบุว่า จ.มุกดาหารมีพื้นที่การทำเกษตรกรรม คิดเป็นร้อยละ 52.22 ของพื้นที่จังหวัด มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมทั้งหมด 1,416,321 ไร่ โดยเป็นพื้นที่นามากที่สุด 474,966 ไร่ ได้ผลผลิตข้าว 183,486 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 386 กิโลกรัมต่อไร่ รองลงมาคือพื้นที่อ้อยโรงงาน 188,271 ไร่ ได้ผลผลิต 1,888,361 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 10,030 กิโลกรัมต่อไร่ และเป็นพื้นที่ปลูกพืชสวนและสมุนไพร 42,917 ไร่ ซึ่งสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังพบว่าเป็นเกษตรกรรมขั้นพื้นฐานที่ยังไม่มีการเพิ่มมูลค่าสูง เป็นรูปแบบการขายผลผลิตโดยตรงให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและตลาดในจังหวัด เช่น ผลิตข้าวส่งโรงสี ผลิตอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล

จากข้อมูลเบื้องต้นจะเห็นได้ว่าพื้นที่ทำการเกษตรของ จ.มุกดาหาร มีพื้นที่ทำเกษตรกรรมจำนวนมากเพราะด้วยสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม และมีภูเขาสลับซับซ้อน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รายได้หลักจะมาจากการทำนาข้าว และพืชเชิงเดี่ยว

ผู้เขียนในนาม “อยู่ดีมีแฮงออนไลน์” วันนี้ได้มีโอกาสเดินทางไปที่ บ้านหนองแวง ต.โคก อ.เมือง จ.มุกดาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่มีการปลูกอ้อยส่งโรงงานน้ำตาลในปริมาณที่มากมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องตลอด 50-60 ปี ซึ่งการปลูกอ้อยถือเป็นรายได้หลักของชาวบ้านที่นี่

“พื้นที่มีเท่าไหร่ปลูกอ้อยหมดทั้งพื้นที่สวน พื้นที่ดอน ไม่เว้นแม้แต่ที่ทำนาข้าวก็ลงไปปลูกอ้อย เมื่อก่อนทำไร่อ้อยประมาณ 10 กว่าไร่ ชาวบ้านที่นี่จะปลูกอ้อยกันเยอะเกือบทั้งหมู่บ้าน เพราะมีหน่วยงานเข้ามาส่งเสริมให้ปลูกอ้อยในนาข้าวได้ไร่ละ 200 บาท เวลาไปที่ไหนตามงานบุญ งานบวช ก็จะมีคนพูดแต่เรื่องปลูกอ้อย เพราะมันสนุกและได้เงินเยอะ”

ประมวล บำบัตร์ ชาวบ้านหนองแวง ต.โคก อ.เมือง จ.มุกดาหาร ผู้เคยอยู่ในวงการอ้อยมายาวนาน เล่าให้กับทีมงานอยู่ดีมีแฮงฟังถึงประสบการณ์ในการปลูกอ้อยที่ผ่านมาด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม สลับกับเสียงหัวเราะเป็นระยะ

อ้อยคือพืชที่ได้รับความนิยมสูงสุดของชาวบ้านที่นี่ ช่วงนั้นราคาอ้อยสูง 1,200 บาทต่อตัน รัฐบาลเพิ่มเงินให้อีกตันละ 160 บาท เป็นแรงจูงใจอย่างดี และยังมีค่าความหวานของอ้อย และค่าอ้อยสดเพิ่มให้อีก อ้อยมีราคาสูงสุดประมาณปี 2554-2555 พอมาปี 2556 ราคาเริ่มต่ำลงเรื่อย ๆ คนปลูกอ้อยก็เหนื่อยลงเพราะการปลูกอ้อยต้องใช้ทุนเยอะ ทั้งค่าไถเตรียมดิน ค่าพันธุ์อ้อย ค่าปุ๋ย แรงงานก็ไม่เพียงพอ เวลาตัดก็ต้องหาแรงงาน และช่วงนี้ก็ห้ามเผาอ้อย เมื่อก่อนเผาอ้อยได้ แต่ตอนนี้ทำไม่ได้ ทำไปเรื่อย ๆ เริ่มที่จะขาดทุน เลยต้องลดปริมาณการปลูกลง

ลดพื้นที่ปลูกอ้อย แก้ปัญหาต้นทุนสูง

ประมวล บำบัตร์ เล่าให้ทีมงานอยู่ดีมีแฮงออนไลน์ ฟังต่ออีกว่า “ราคาอ้อยต่ำลง ถ้ายังทำต่อไปเรื่อย ๆ ก็มีแต่จะขาดทุนถ้าไม่ปรับเปลี่ยนทำอาชีพใหม่ ก็ต้องเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น ก็เลยรวมกลุ่มกันมีประมาณ 60 ราย คนที่เคยปลูกอ้อยคุยถึงแนวทางหาทางออกร่วมกัน เพราะมีผลผลิตอ้อยในประเทศเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ต้นทุนในการผลิตสูงแต่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องจนเกิดหนี้สิน และมีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมจากการใช้สารพิษสารเคมีในแปลงเกษตร เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยจึงมีแนวคิดร่วมกันเพื่อต้องการสร้างทางเลือกด้านอาชีพใหม่  มีหลายคนที่เปลี่ยนอาชีพ เมื่อก่อนบริเวณแนวนี้จะลูกอ้อยกันหมด แต่เดี๋ยวนี้เริ่มลดลง ของผมเองก็ลดลงเกือบหมด จากที่เคยทำไร่อ้อยประมาร 10 กว่าไร่ ตอนนี้ลดลงเหลือแค่ 2 ไร่”

รวมกลุ่มสร้างอาชีพทางเลือกหลากหลาย

เมื่อเจอปัญหาทางด้านราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี เกษตรกรไร่อ้อยที่นี่จึงรวมกลุ่มกันเพื่อทบทวนการทำงานที่ผ่านมา และหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยทำการปรับ ลด พื้นที่การปลูกอ้อย เพื่อที่จะมาเป็นเกษตรผสมผสาน เป็นเกษตรทางเลือก ให้เกษตรกรมีรายได้ มีอาชีพ สร้างมูลค่าจากสิ่งที่มีในชุมชนให้เพิ่มขึ้นทดแทนการทำไร่อ้อยที่ผ่านมา ซึ่งมีโมเดลใหญ่ ๆ ที่ทางกลุ่มได้ทำอยู่ 7 โมเดล คือ “โมเดลที่ 1 การทำอ้อยคั้นน้ำ โมเดลที่ 2 การปลูกดอกดาวเรือง และทำชาจากดอกดาวเรือง โมเดลที่ 3 เลี้ยงหนูนา โมเดลที่ 4 เลี้ยงหมู โมเดลที่ 5 เลี้ยงแพะ โมเดลที่ 6 ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ และโมเดลที่ 7 ปลูกผักหวานป่า” ซึ่งแต่ละโมเดลเกษตรกรที่รวมกลุ่มก็จะเลือกทำตามที่ตนเองมีความถนัด และสามารถสร้างรายได้จากสิ่งที่ทำ เพื่อทดแทนรายได้จากการทำไร่อ้อย

เลี้ยงแพะขาย คืออีกหนึ่งอาชีพที่เข้ามาทดแทนการทำไร่อ้อย

ประมวล บำบัตร์ พาทีมอยู่ดีมีแฮง เดินชมคอกแพะที่เลี้ยงไว้ซึ่งมีแพะอยู่จำนวนมากประมาณ 200-300 ตัว หลังจากที่ราคาอ้อยต่ำลงอย่างต่อเนื้อง ประมาณช่วงต้นปี 2558 สนใจการเลี้ยงแพะเพราะมองว่าในพื้นที่ยังไม่มีคนเลี้ยงเยอะ และแพะก็เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย กินใบไม้ได้หลากหลายชนิด จึ่งเริ่มหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แพะมาเลี้ยงเริ่มแรกเลี้ยงเพียงแค่ 6 ตัว และขยายพันธุ์มาเรื่อย ๆ

ประมวลเล่าให้กับทีม งานอยู่ดีมีแฮง ฟังต่อว่า “ในรอบปีนี้ขายแพะได้ตัวละ 3,000 กว่าบาท เฉพาะแพะตัวผู้ที่นำมาเลี้ยงขุนเวลาขายก็จะดูความสมบูรณ์ บางตัวขายตัวละ 10,000 บาท ดูความแข็งแรง โครงสร้างร่างกาย ปีนี้จะขายให้ได้ 100 ตัว ตั้งเป้าเอาไว้ว่าให้ได้ปีละ 300,000 บาท ที่ตั้งเป้าเอาไว่สูงเพราะว่ามีแม่พันธุ์แพะหลายตัว”

“ต่างจากช่วงที่ทำไร่อ้อย ช่วงที่ทำไร่อ้อยก็เหนื่อยใจ เพราะช่วงที่ตัดอ้อยจะหาแรงงานยากเพราะต่างคนก็อยากตัดอ้อยของตัวเอง ทำให้แรงงานไม่เพียงพอ ถ้าตัดอ้อยทิ้งไว้เยอะ ๆ รถบรรทุกขนไปโรงงานไม่ทันก็จะทำให้อ้อยแห้ง น้ำหนักลดลง ราคาก็ตก แต่พอลดพื้นที่ปลูกอ้อยลงก็มีเวลาทำอย่างอื่นมากขึ้น ไปหาหญ้ามาให้แพะก็มีความสุข ได้เจอคนโน้นคนนี้ ได้ทักทายแลกเปรี่ยนความรู้กันก็มีความสุข กลับมาก็มาพูดคุยกันในกลุ่ม  ดูราคาแพะกับเพื่อน ๆ ในกลุ่ม อวดแพะ อวดโคที่เลี้ยงกัน ก็มีความสุข”  

การปรับลดพื้นที่จากเดิมที่เคยทำพืชเชิงเดี่ยวมานาน หันมาทำเกษตรผสมผสานเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่ไม่ใช่แค่ทางเลือกแต่คือทางรอดของเกษตรกร ถ้าหากวิ่งตามระบบทุนนิยมมาก ก็ต้องพบเจอกับคำว่าเป็นหนี้ไม่สิ้นสุด การสร้างอาชีพทางเลือกหลากหลายเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ทดลองทำ ปรับ เปลี่ยน หมุนเวียน เรียนรู้ไปเรื่อย จากเกษตรกรไร่อ้อยที่คุ้นเคยมานานตามวิถีชุมชนกว่า 50-60 ปี นาทีคนในชุมชนก็ถึงเวลาปรับเปลี่ยน เพื่อหาทางรอด ทางไป ในท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง อ้อยแปลงใหญ่ที่กว่าจะได้กินได้ใช้ต้องผ่านการปลูก ตัด บรรทุก และส่งขายให้โรงงาน ชาวบ้านก็หันมาปรับใหม่ โดยอย่างน้อยมีโมเดลหลากหลายถึง 7 โมเดลเพื่อเป็นทางเลือก ซึ่งนี่คือวิถีนักสู้ชาวอีสาน กล้าล้ม กล้าลุก ทดลองเรียนรู้ เพื่อให้ทุกคนอยู่และรอดไปพร้อมกัน เพื่อความ “มั่นยืน” และอยู่ดีมีแฮงบนถิ่นฐานบ้านเฮาครับ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ