อยู่ดีมีแฮง : “โนนแย้” หมู่บ้านของคนตีเหล็ก

อยู่ดีมีแฮง : “โนนแย้” หมู่บ้านของคนตีเหล็ก

เสียงตีเหล็กดัง “โป๊ก เป๊ก ๆ “ เมื่อก้าวแรกที่ผมก้าวเข้าสู่หมู่บ้านโน้นแย้ หมู่ 7 ต.หญ้าปล้อง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ จังหวะตีราวกับ 20 ชายหนุ่มที่ยกค้อนปอนขนาดใหญ่แล้วฟาดลงเหล็กที่ร้อนฉ่า สะเก็ดไฟแตกกระจายยังกะดอกไม้ไฟ แต่สุดปลายสายตาของผมคือหนุ่มใหญ่วัย 60 ต้น ๆ ราว4-5 คน พร้อมกับหนุ่มวัย 40 กลาง อีก 1 พร้อมด้วยเครื่องจักรสำหรับตีเหล็กแบบครบมือ และที่นี่คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ตีเหล็กช่างวัน

อยู่ดีมีแฮงออนไลน์พาเราเดินทางไปหลายพื้นที่ ไปพบ รู้จักและเรียนรู้วิถีชีวิตของคนอีสาน เพื่อค้นหาปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนอีสานเกิดความอยู่ดีมีแฮงและสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่อยู่ดีมีแฮง และวันนี้เราจะพาทุกท่านเดินทางไปสัมผัสอาวุธที่มีคมของคู่กายเกษตรกรที่เกิดจากหยาดเหงื่อแรงกายของชาวบ้านโน้นแย้ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ

มีด จอบ เสียม และพร้า คือผลผลิตที่เกิดขึ้นจากแรงงานในหมู่บ้าน ซึ่งเป็นมรดกทางฝีมือและความอดทนที่ส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น

“ผมเริ่มตีมาตั้งแต่อายุ 15-16 ปี ช่วงนั้นเรายังใช้ค้อนตีกันอยู่เลย ซึ่งตีเหล็กครั้งหนึ่งต้องใช้คนถึง 3 คน ถึงจะตีได้”

นายวัน ทองวัน ปานคำ ประธานกลุ่มผลิตภัณฑ์ตีเหล็กช่างวัน บอกกับผมถึงจุดเริ่มต้นที่หันเข้าสู่วงการตีเหล็กเมื่อตอนสมัยเป็นวัยรุ่น ซึ่งเดิมทีหมู่บ้านนี้ได้มีการตีเหล็กนานนับร้อยปี 2-3 ช่วงชีวิตคนได้ โดยเริ่มต้นจากการตีเหล็กด้วยมือจากไม่กี่หลังคาเรือน สู่การยกระดับเป็นอาชีพหลักของชุมชน

“ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพตีเหล็กกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ครับ มีโรงตีเหล็กราว 20-30 โรง ซึ่งสร้างรายได้ให้ชาวบ้านเราปีละหลายสิบล้านบาท” เสียงของผู้ใหญ่ รุ่ง ทองทิพย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 เล่าถึงรายได้ที่ดึงเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนจำนวนมหาศาล ซึ่งนั้นทำให้ผมเกิดความสนใจอย่างยิ่งมากวว่าร้อยปี กว่าบ้านที่นี่ยกระดับอาชีพและรายได้ของชุมชนได้อย่างไร

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง

เครื่องตีเหล็กขนาดใหญ่หลายกิโลตัน กำลังกระหน่ำตีลงบนเหล็กแดงก่ำ สะเก็ดไฟกระจายไปรอบ ๆ ดั่งดอกไม้ไฟในช่วงเทศกาลออกพรรษา แหละนี่คือเครื่องมือชิ้นใหม่จะเข้ามาช่วยยกกำลังการผลิตให้กับชาวบ้านที่นี่

“เราเริ่มนำเครื่องนี้เข้ามาเมื่อตอน 15 ปีที่แล้ว ตอนแรกเห็นเพื่อนบ้านเขานำเข้ามาก่อน และเขาก็ได้ออเดอร์มาเรื่อย ๆ ก็เลยมาคุยกับเพื่อน 5-6 คน ว่าเรามารวมกลุ่มกันเถอะ แล้วเอาเงินมารวมกันไปซื้อเครื่องมาตีมีดกัน”

และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของชายหนุ่มวัยสี่สิบกว่า ๆ ที่เริ่มหันมาตีเหล็กร่วมกันในนาม “กลุ่มตีมีดนายวัน” และเป็นจุดเริ่มต้นของแรงงานตีเหล็กด้วยมือเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรใช้ตีมีดเป็นเหล็กสำหรับกลุ่มนี้

จากตีมีดวันละไม่ถึงสิบเล่ม สู่วันละหลักร้อยเล่ม

“เดิมทีเราตีมีดเมื่อก่อนได้วันละไม่ถึง 10 เล่ม พอไปส่งร้านค้าจำนวนน้อย ๆ เข้าก็ไม่ค่อยอยากรับ ส่งทีก็ต้องเว้นไปอีกนานกว่าจะได้มาส่งอีก มันไม่ต่อเนื่อง รายได้ก็ไม่ต่อเนื่องเหมือนกัน แต่พอเรามาเปลี่ยนใช้เครื่องจักร ตอนนี้ตีส่งเยอะเท่าไหร่ก็ไม่ทันขาย”

จากจุดเปลี่ยนที่กลุ่มตีมีดนายวันในวันนั้น ทำให้มีร้านค้าประจำจำนวนหลายร้าน ตั้งแต่ยโสธร ร้อยเอ็ด ยาวไปถึงเมืองขอนแก่น ที่วิ่งรถเข้ามาซื้อมีดกับกลุ่ม เยอะจนตีไม่ทันขาย ไม่ใช่ขายดีเฉพาะของกลุ่มนายวันที่เดียวนะครับ แต่ทุกโรงตีเหล็กในหมู่บ้านนี้ก็ขายดีไม่ต่างกัน จนบางคนต้องแอบซ่อนเอาไว้แบ่งให้พ่อค้าคนอื่นด้วย เพื่อบริหารลูกค้าให้เข้ามาแล้วได้มีดหรือสินค้ากลับออกไปขายต่อ ทำให้เกิดรายได้ประจำกับคนทำงานที่นี่อย่างน้อย ๆ ก็เดือนละหลักหมื่นสำหรับคนที่ทำงานเป็นประจำ วันละ 300 บาทสำหรับลูกจ้างชั่วคราว โดยไม่ต้องออกไปทำงานให้ไกลบ้าน

“เราทำงาน 1 เดือน หยุด 2 วัน แบ่งเป็น 3 กะ ช่วงเช้าลงทำงานตอน 07.00-09.30 น. แล้วพักกินข้าวเช้า 1 ชั่วโมง แล้วค่อยมาลุยกันต่อตอน 10.30 น. ยาวไปจนถึงบ่ายสองโมงครึ่ง แล้วค่อยพักยาวสักชั่วโมงครึ่ง แล้วค่อยลุยยาวกันต่อจนถึง 5 โมงเย็น เราทำแบบนี้มาเป็นสิบปีแล้ว”

จากหนุ่มวัยหลัก 4 ย่างเข้าวัยหลัก 7

จากสมาชิก 6 คนในวันที่กลุ่มเริ่มต้น ผ่านมาสิบกว่าปีสมาชิกกลุ่มหลายคนก็เข้าสู่วัยเลข 6 กันแล้ว ทั้งได้เงินเดือนผู้สูงอายุทั้งได้เงินเดือนจากโรงตีเหล็ก รับเงินหลายต่อเลย

“มันก็ดีนะพวกเราได้ทำงานอยู่ใกล้บ้าน ไม่ต้องออกเดินไปทำงานไกลถิ่น ได้เจอหน้าลูกหน้าเมีย และลูกหลานญาติพี่น้อง กันทุกวัน มันก็อบอุ่น หลักจากที่เราเลิกงานเสร็จเราก็ยังมีเวลาออกไปหาปูหาปลา ไปนาไปสวนได้สบาย และที่สำคัญเรามีเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงได้อย่างต่อเนื่อง ถึงจะไม่ได้เยอะ แต่มันก็ทำให้พวกเรามีความสุข และเราจะยังทำมันต่อไปจนกว่าจะถึงวัย 70 โน่นแหละ”

ความสุขเริ่มต้นขึ้นจากใกล้ตัว เกิดจากภูมิปัญญาที่ส่งต่อ สืบสาน และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคงยากจะหาความสุขที่อื่นไหนได้เท่ากับความสุขที่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับคนเรารักในแผ่นดินบ้านเกิดของตนเอง

นี่เป็นเรื่องราวเล็ก ๆ จากคนที่มีความสุขที่ยิ่งใหญ่ ที่เล่าผ่านเราทีมงานรายการอยู่ดีมีแฮง ที่วาดหวังว่า ความอยู่ดีมีแฮงจากหมู่บ้านตีมีดแห่งนี้จะไปสร้างเสริมแรงบันดาลใจคนอ่านต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ