อยู่ดีมีแฮง : หมอลำกลอนออนไลน์ ในวันที่ไร้เวทีกลางแจ้ง

อยู่ดีมีแฮง : หมอลำกลอนออนไลน์ ในวันที่ไร้เวทีกลางแจ้ง

เป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว ที่กลุ่มศิลปิน นักดนตรี ทั้ง ในค่ายเล็กหรือใหญ่ หรือแม้แต่กลุ่มศิลปินกลางคืนที่ต้องอาศัยเวทีเพื่อทำการแสดงหารายได้ ต้องถูกยกเลิกและงดการแสดงหน้าเวที วันนี้ อยู่ดีมีแฮงชวนทุกท่านไปคุยกับ ชวน พิชิตชัย สีจุลลา หมอลำหนุ่มแห่งเมืองมหาสารคาม ที่ต้องปรับตัวซ้ำแล้วซ้ำอีกในการดิ้นรนเพื่อหารายได้ในช่วงเวลาที่ไม่มีการแสดงหมอลำ

“ไปทำงานโรงงานพลาสติกใน จ.ขอนแก่น ครับ เพราะงานลำไม่มี จึงต้องหางานที่เป็นรายได้ในช่วงนี้ เพื่อนหมอลำหลายคนก็ไปทำงานด้วยกัน แต่ทำคนละเวลางานกัน แต่เวลาว่างก็จะมีช่วงพักกินข้าว ก็ใช้เวลานี้นำโทรศัพท์มือถือมาตั้งไว้แล้วไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กลำกลอนทางออนไลน์”

ชวน พิชิตชัย สีจุลลา หรือฉายาหมอลำชวนพิชิตชัย ศิลาลักษณ์ หมอลำคนรุ่นใหม่วัย 28 ปี เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่ตัวเองและศิลปินหมอลำหลายคนกำลังเผชิญอยู่ เราพบกับชวน พิชิตชัย ที่บ้านโนนหินแห่ ต.หนองบัว อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นบ้านเกิดของชวน วันนี้อุปกรณ์เครื่องแต่งกายหมอลำถูกเก็บเข้ากล่องไว้ภายในบ้าน ทั้งชุดหมอลำหลายสิบตัว อุปกรณ์อื่น ๆ พร้อมทั้งป้ายรูปชวนพิชิตชัยที่ยังติดไว้ใต้ถุนบ้านมานานกว่า 4 เดือนแล้ว

รักเสียงแคนเสียงลำ กับความฝันอยากเป็นศิลปิน

“เป็นคนชอบเสียงแคนเสียงลำตั้งแต่จำความได้ เพราะคุณตาที่บ้านเป็นหมอแคน ก็จะเห็นคุณตาเป่าแคนร้องหมอลำเป็นประจำก็ซึมซับ แต่ผมเป่าไม่เป็น แต่ชอบฟังชอบอะไรที่เป็นพื้นบ้าน ๆ ตอนบวชเรียนก็ได้ไปเทศน์แหล่ พอลาสิกขาออกมาก็อยากเป็นหมอลำ โดยเริ่มจากการเป็นแดนเซอร์ก่อน”

เส้นทางของชวน เริ่มต้นเมื่อลาสิกขาจากการบวชเรียนในวัย 18 ปี เขาเริ่มต้นศึกษาเรื่องราวของหมอลำ โดยเริ่มจากการเทศน์แหล่ เมื่อมีโอกาสจึงมุ่งหน้าเดินทางเข้าสู่วงการหมอลำแต่การจะเป็นหมอลำได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน จึงทำให้ชวนตัดสินในนำพาตัวเองเข้าไปใกล้ความฝันของเขามากที่สุดคือการไปสมัครเป็นหางเครื่องหมอลำต่อกลอน และวงหมอลำที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายวง เช่น หมอลำหนูพานวิเศษศิลป์

“ไปเป็นแดนเซอร์ตื่นเต้นมากเลยตอนนั้น ไปเห็นโครงเหล็กเวทีที่เขาตั้ง เคยเห็นแต่ในวีซีดีที่เขาบันทึกเทปไว้ ก็ยืนมองนานสองนาน ไปเดินขึ้นบนเวทีรู้สึกดีมาก แต่ในใจของเราตอนนั้นไม่ได้อยากเป็นแดนเซอร์ อยากเป็นหมอลำ”

ด้วยความที่ใจรักด้านการแสดงหมอลำอยู่แล้วทำให้ ชวนทำงานด้วยความสนุกสนานและจากนั้นไม่นานก็ได้รับโอกาสด้านการแสดงหน้าเวทีกับศิลปินหมอลำรุ่นพี่จากหลากหลายวง ให้รับบทบาทเป็นตัวลูก โดยเริ่มเล่นเป็น กุมาร ในลำเรื่องต่อกลอนซึ่งเป็นการแสดงหมอลำผ่านเรื่องราวคล้ายกับละครเวที ทำให้เป็นช่วงเวลาที่ดีของเขาในการพิสูจน์ตัวเองในด้านการร้อง การลำ อีกทั้งยังเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านงานแสดงหน้าเวทีของเขาเป็นอย่างดี

หลงใหลในหมอลำกลอน ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเรื่อยมา

“ตอนเด็กเป็นเด็กเลี้ยงวัว แม่ซื้อวิทยุให้ฟังตอนไปเลี้ยงวัวก็เปิดแต่หมอลำ ตอนนั้นจำได้ว่าวงเสียงอีสานดังมาก ลำเรื่องฮอยปานดำ ผมก็จำเอากลอนลำมา ลองลำบ่อยขึ้นก็จำได้ จากนั้นก็มีโอกาสได้ศึกษาหมอลำศาสตร์อื่น ๆ มาเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งคิดว่า หากเราต้องการยึดหมอลำเป็นอาชีพจริง ๆ จะทำอย่างไรเพราะหากอายุมากไป แต่งหน้าแต่งกายก็อาจไม่เหมือนเดิมเพราะอายุจะมากขึ้น แต่ทำไมคนเฒ่าคนแก่เขายังเป็นหมอลำกลอนได้จนทุกวันนนี้ จึงได้เริ่มไปศึกษาเล่าเรียนกับ ดร.ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร ทำให้ตอนนี้ก็สามารถลำได้หลากหลายกว่าเดิม”

ชวน พิชิตชัย เริ่มเดินสายทำงานด้านการแสดงหมอลำกลอน และหมอลำต่อกลอนหน้าเวทีเรื่อยมา ทั้ง งานเล็กงานใหญ่ผสมผสานกันไปด้วยมีความสามารถลำก็ได้ ร้องก็ดี หรือแม้แต่การแสดงหน้าเวทีที่สามารถทำได้ทุกบทบาท อีกทั้งยังต้องดูแลตัวเองทั้งเสื้อผ้าหน้าผม ชวนเล่าว่าเมื่อก่อนลำเรื่องต่อกลอนจะต้องขนของไปเยอะมาก เพราะจุดเด่นของหมอลำต่อกลอนคือการแต่งกายที่อลังการมาก ต้องสวมชุดเพชร แต่งหน้าจัด เพื่อให้ดูดีเมื่อออกสู่หน้าเวที แต่เมื่อมาเรียนรู้หมอลำกลอนและลำกลอนประยุกต์ ก็รู้สึกว่ามีความงามที่แตกต่างกันออกไป การแต่งการเรียบง่ายขึ้น ใช้ผ้าไหม สวยงามแบบเรียบง่ายจึงรู้สึกหลงใหลและรักหมอลำกลอนไปแล้ว

แต่ตอนนี้…งดการแสดงหน้าเวทีต้องทำงานโรงงานเพื่อหารายได้

“มาถึงตอนนี้อาการหนักครับ เพราะเขาไม่ให้มีอะไรเลย เพราะถูกงดการแสดงหมอลำ งดรถแห่ งดมหรสพต่าง ๆ เมื่อมันไม่มีรายได้ก็ต้องดิ้นรนไปทำงานโรงงานในเมืองขอนแก่น เพราะต้องหารายได้”

เป็นเสียงสะท้อนจากศิลปินอีสานอีกหนึ่งคนที่เล่าถึงความเป็นอยู่ในปัจจุบันที่ต้องละความฝันและอาชีพที่ตัวเองนั้นชื่นชอบไว้ก่อน เพื่อหารายได้ในช่วงที่ไม่สามารถรับงานแสดงได้จากที่ไหนเลยมามากกว่า 5 เดือนแล้วเป็นอย่างน้อย ชวนเล่าว่าเขาเข้าใจความจำเป็นที่รัฐบาลต้องสั่งหยุดงานการแสดงเนื่องจากโรคระบาด แต่ก็ถือว่าเป็นเวลายาวนานที่ทำให้รู้สึกท้อแท้ เพราะห่างหายจากการแสดงหน้าเวทีมานานพอสมควร

เมื่อหมอลำกลอนจะออนไลน์

เป็นเรื่องที่เห็นได้ทั่วไปในขณะนี้ว่า หลากหลายอาชีพต่างพากันสร้างพื้นที่ทางออนไลน์ ทั้งเป็นการสื่อสาร ทั้งเป็นการหารายได้ในช่วงที่เรียกได้ว่า “ขยับตัวยาก” ชวน พิชิตชัย กับเพื่อนศิลปินหมอลำก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าพวกเขาจะต้องละงานด้านหมอลำไปสู่พนักงานลูกจ้างโรงงานชั่วคราวก็ตามที แต่หัวใจของพวกเขายังเป็นอีสานขนานแท้ เขาใช้เวลาว่าจากการพักในช่วงทำงานในโรงงาน นำโทรศัพท์มือถือขึ้นมาตั้งไลฟ์เฟซบุ๊ก แสดงหมอลำกลอนกับเพื่อนนักดนตรี หมอแคนและหมอพิณ แม้รู้ดีว่าการออนไลน์ในแต่ละครั้งพวกเขาจะไม้สามารถสร้างเงินได้เลยจากการแสดง แต่นั่นเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับหัวใจตัวเอง

“ผู้ชมมีทั้งคนในวงการหมอลำบ้าง มีพี่น้องแฟนคลับที่ติดตามบ้าง ได้รับคำชมจากพ่อแม่พี่น้องรู้สึกดีใจ และถือว่าเป็นการทบทวนกลอนลำไปในตัวด้วย เพราะหากไม่ได้แสดงนานไปมันก็จะลืม ก็ถือว่าเป็นการอนุรักษ์หมอลำกลอนเอาไว้แม้ไม่ได้ไปออกแสดงหน้าเวที”

ราชสมบัติ ตะติยรัตน์ หมอแคนเมืองมหาสารคาม สะท้อนความคิดเห็นในการใช้สื่อออนไลน์นำเสนอการแสดงหมอลำกลอน ที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ละทิ้งความฝันในการเป็นหมอลำลูกอีสานแม้ว่าต้องเปลี่ยนไปทำงานประจำเพื่อหารายได้ในช่วงที่ไม่มีงานจ้างแสดง

ดร.ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร

หมอลำหลายวงปรับตัว ปิดวิกออนไลน์หารายได้

ปรากฏการณ์ใหม่วงการหมอลำในอีสานช่วงนี้ คงเริ่มเห็นได้มากขึ้นผ่านสื่อออนไลน์ มีการปิดวิก หรือการเปิดแสดงหมอลำผ่านกลุ่มออนไลน์โดยการซื้อบัตรเข้าชมในแต่ละรอบสัปดาห์ โดยการไลฟ์การแสดงที่ใช้ผู้คนแสดงน้อยลง มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ถ่ายทอดสด ระบบภาพและเสียงสำหรับผู้คนที่จ่ายเงินเข้าชมในแต่ละรอบ ก็เห็นได้ว่าเป็นการปรับตัวเพื่ออยู่รอดที่ดี แต่ก็มีข้อจำกัดหลายด้าน เพราะวงหมอลำนั้นไม่ได้มีเพียงแต่นักแสดงหน้าเวทีเท่านั้น ยังรวมไปถึงคนในวงที่มีตำแหน่งอีกหลายต่อหลายด้าน ที่ยังหาทางออกเรื่องนี้ไม่ได้

“เห็นดีด้วยเพราะปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ได้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเราคงเดิม และได้รับชมทั่วโลกกว้าง บางคนตอนนี้ก็ปิดวิกทางออนไลน์ก็เห็นดีด้วย เพราะในเมื่อเราออกงานไม่ได้เราต้องหาอะไรทำ เราต้องปรับตัวโดยการไลฟ์ก็ไม่ใช่เรื่องยากในปัจจุบัน”

“มีคนจ่ายบัตรเข้ามารับชม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหมอลำเรื่องต่อกลอนที่ทีมใหญ่ที่มีชื่อเสียงถึงจะขายบัตรผ่านออนไลน์แบบนี้ได้ หากไม่ได้โด่งดังก็จะเป็นเรื่องยาก หลายคนก็หันมาทำช่องยูทูบของตัวเองก็เห็นดีด้วยว่า มีความคิดสร้างสรรค์ไม่หยุดนิ่ง ปรับตัวให้ทันต่อโลกต่อเหตุการณ์ แต่สื่อออนไลน์ก็เป็นดาบสองคม หากดีก็ได้ผลดี หากลำแสดงไม่ดีก็เป็นดาบทิ่มแทงตัวเองได้เช่นกัน”

ดร.ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร หรือ หมอลำราตรีศรีวิไล นายกสมาคมหมอลำจังหวัดขอนแก่นกล่าวถึงสถานการณ์หมอลำที่ต้องปรับตัวในโลกออนไลน์ในปัจจุบันถึงข้อจำกัดของการสร้างงาน สร้างเงินผ่านออนไลน์ในการแสดงหมอลำจากหน้าเวทีสู่หน้าจอโทรศัพท์มือถือที่เห็นกันได้มากขึ้นในช่วงมีการระบาดของโรคโควิด-19

หน้าเวทีคือจิตวิญญาณ การสืบสานคือชีวิตหมอลำ

“หมอลำคือรากเหง้า กว่าจะมีหมอลำมาจนถึงรถแห่ มีคอนเสิร์ต ผมว่ามันเป็นรากเหง้าของคนอีสานในใจผมตอนนี้คือไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียง พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่ามีเกิดขึ้น มีตั้งอยู่ ก็มีดับไป ให้คิดว่าเป็นการสืบสานอนุรักษ์ช่วยกันเพื่อไม่ให้หมอลำตายจากเมืองไทย ที่ไลฟ์ก็เพื่อไม่ให้แฟนคลับลืมกัน อยากให้เขารู้ว่ายังรอไปแสดงหมอลำหน้าเวทีอยู่นะ ผู้ฟังก็รอฟังลำอยู่นะ”

เสียงแคน เสียงลำ ยังดังก้องไปทั่วแดนอีสาน จะอยู่ในที่แห่งไหนไม่ว่าจะเป็นอีสานบ้านเกิด หรือชาวอีสานพลัดถิ่นที่ต้องไปสู้งานที่เมืองใหญ่ ไทยหรือต่างแดนก็ตาม ภาพไอหมอกยามเช้า แสงแดดที่สาดส่องมาตามทิวต้นข้าว เสียงตามสายในหมู่บ้านที่ได้ยินทุกเช้าจากบ้านผู้ใหญ่ที่ตามมาด้วยเสียงหมอลำ เสียงพิณ เสียงแคน ยังคงก้องอยู่ในส่วนลึกของชาวอีสาน เรื่องราวของชวนเป็นเพียงหนึ่งส่วนของคนสายเลือดใหม่ศิลปินหมอลำอีสานที่อาสาสืบสานศิลปวัฒนธรรมรากเหง้าอีสานไว้ในวันที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ