อยู่ดีมีแฮง : 1 ไร่ 1 แสน(สุข) ของปราณี กล้าหาญ

อยู่ดีมีแฮง : 1 ไร่ 1 แสน(สุข) ของปราณี กล้าหาญ

ที่ดิน 1 ไร่ของประเทศไทย หากอยู่ในบริเวณที่เจริญสุด ๆ อาจมีมูลค่าเป็นพันล้าน  แต่หากมันอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร มันอาจมีราคาไม่ถึง 1 หมื่นบาทด้วยซ้ำ  นั่นคือมูลค่าที่มนุษย์ตั้งขึ้นจากระบบ Demand & supply ที่ใช้เกณฑ์เรื่องทำเลเป็นหลัก  แต่แน่นอนว่าที่ดิน 1 ไร่จาก 2 ทำเลนี้จะสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตได้ต่างกันราวฟ้ากับเหว


แต่หากจะเอาพื้นที่ 1 ไร่นี้มาทำเกษตรเลี้ยงครอบครัว ถ้ารู้ถึงหูบรรพบุรุษพวกท่านคงมาเข้าฝันหัวเราะเยาะทั้งคืนแน่  เพราะสมัยโน้นไร่นาของพวกเขาว่ากันที่ร้อยไร่ขึ้นไป  แต่กระนั้นสาวน้อยวัยกลางคนอย่าง “ปราณี  กล้าหาญ”  ผู้ที่เคยต่อสู้กับมหานครแห่งเทพมาค่อนชีวิต  ก็ยังตัดสินใจทุบหม้อข้าวตัวเอง  เธอเอื้อนเอ่ยกับพ่อว่าจะกลับมาอยู่บ้านเพื่อทำเกษตรเหมือนบรรพบุรุษ  ซึ่งสร้างทั้งความดีใจให้ผู้เป็นพ่อที่ลูกจะกลับมาสู่อ้อมอกอีกครั้ง  แต่ก็ยังลังเลว่ามันจะไปรอดหรือ เพราะเขามีพื้นที่ให้ลูกเพียงแค่ 1 ไร่อย่างกับบทละครน้ำเน่าที่ถูกเขียนเอาไว้

“สวนทรัพย์กล้าหาญ” ตั้งอยู่ที่บ้านนาขาม  ตำบลสำโรง  อำเภอโพธิ์ไทร  จังหวัดอุบลราชธานี  เป็นไร่นาสวนผสมเล็กๆอยู่หลังบ้านของปราณีเอง  หากมองเผินๆก็เหมือนสวนครัวทั่วไป  แต่หากลองพิจารณาดูรอบๆ  มันมีอะไรหลายอย่างซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่เล็กๆนี้ 

เราไปถึงที่นั่นสาย ๆ พบปราณีกำลังนั่งเล่นอย่างสบายใจอยู่บนแคร่  เราจึงถามว่าไม่ทำงานหรือ  เธอบอกว่าทำเสร็จตั้งแต่เช้าแล้ว  นี่เป็นเวลาพักผ่อนที่ไม่เคยหาได้สมัยอยู่เมืองหลวง  แล้วเธอก็เล่าเรื่องก่อนที่จะได้มานั่งอยู่ตรงนี้ว่า 

  “ไปใช้ชีวิตใน กทม. ทำงานโรงงาน (โรงพิมพ์) ตั้งแต่อายุ 18 ปี จนถึงช่วงหนึ่งที่ถึงจุดอิ่มตัวเลยอยากออก  จุดอิ่มตัวที่ว่าก็คือ เริ่มเหนื่อยกับงาน  เช้ามาก็ทำแต่งานซ้ำซาก จำเจ เพราะงานโรงงานหน้าที่เรามีแค่นั้น  เช้ามาเข้าโรงงาน  ถึงเวลาเลิกงานก็กลับเข้าห้องพัก  ชีวิตมันไม่มีอะไรที่แปลกใหม่  มันน่าเบื่อ  จึงคิดหาสิ่งที่จะทำได้เมื่อกลับบ้าน”

ปราณี กล้าหาญ

การทำงานด้วยอารมณ์เบื่อหน่ายในหน้าที่ เป็นตัวกระตุ้นให้เธอเริ่มค้นคว้าข้อมูลว่าคนที่หนีกรุงกลับบ้านเขาทำอะไรกัน  หนึ่งในสิ่งที่สนใจที่สุดก็คือ “เกษตรกรรม”

“คือมันอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว  การเรียนรู้จึงง่ายกว่าอาชีพอื่น  เพราะพื้นฐานพ่อแม่เราก็พาทำแบบนี้อยู่แล้ว  แต่เมื่อเราตัดสินใจทำเกษตรแล้ว  วิธีไหนจะง่ายสำหรับเรา  ทำแล้วให้มันยั่งยืน  ทำแล้วให้มันสามารถต่อยอดให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้  คือเราจะเอาความรู้เดิมมาประยุกต์ใช้กับความรู้ในยุคปัจจุบันเพื่อให้มันไปได้  แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากหลายคนว่า จะไปรอดเหรอ  ขนาดรุ่นพ่อแม่เราทำยังเป็นหนี้เป็นสิน ไปทำเกษตรทำอย่างไรจะมีเงินใช้ทุกวัน  ไม่เหมือนอยู่ กทม.ที่มีเงินใช้ทุกวัน  แต่ก็มีคนที่สนับสนุนอยู่บอกว่าให้กลับมาเถอะ  มันเป็นอาชีพอิสระ  ถ้าได้ก็เพราะเราทำเอง  หรือเสียก็เพราะเราทำเอง  ก็มีอยู่ 2 มุมที่ถูกมอง  ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยนั้นหมายถึงเขายังยึดติดการใช้เงินอยู่  เพราะเขายังมองไม่เห็นว่าจะหาเงินได้จากทางไหน  เขาก็เลยคัดค้าน”

เมื่อไม่เห็นหนทางในการยกระดับชีวิตตัวเองและครอบครัวในเมืองหลวงบวกกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาด  ที่ส่งผลให้ชีวิตย่ำแย่ลง  เหตุผลมันมากพอให้เธอลาออกจากงานเมื่อปีที่แล้ว(2563)เพื่อกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่   จึงบอกพ่อว่าจะกลับมา

“เราได้วางแผนไว้ก่อนตั้งแต่อยู่กรุงเทพฯแล้วว่าจะกลับมาทำเกษตร  แต่ก็ไม่คิดว่าจะได้กลับมาเร็วขนาดนี้  นั่นเป็นเพราะโควิด-19  ที่มีผลกระทบกับงาน  ทั้งงานไม่มี  โอทีไม่มี  โบนัสไม่ได้  ก็เลยจบอาชีพพนักงานบริษัทแล้วกลับมาทำอาชีพเกษตร  ซึ่งคิดว่าเราน่าจะมีรายได้มากกว่าทำงานที่บริษัท  เลยเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำเกษตรเมื่อ 2 ปีก่อน  พอเราเริ่มหาข้อมูลเรื่อย ๆ มันก็เริ่มซึมซับ  ยิ่งเห็นคนที่ประสบความสำเร็จ  หรือบางคนต้องผ่านอุปสรรคอะไรมา  เราก็เอามาประยุกต์ต่อยอดในพื้นที่ของเราเอง  ความรู้ทั้งหมดที่ว่านี้ได้มาจากยูทูบ”

ปราณีเล่าถึงสภาพพื้นที่ของหมู่บ้านแห่งนี้ว่า  แถบนี้จะแห้งแล้งไม่มีน้ำและเป็นดินทราย  ไม่มีความอุดมสมบูรณ์แต่อย่างใด  ที่ผ่านมาชาวบ้านต้องรอน้ำจากฟ้าฝนธรรมชาติอย่างเดียวเท่านั้น  เธอจึงทดลองทำธนาคารน้ำใต้ดินจนมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี 

“พอได้น้ำแล้วก็ปรับพื้นที่เพื่อเก็บน้ำ  จากแปลงนาธรรมดามาเป็นคลอง  แล้วเราก็สามารถเลี้ยงปลา หอย กุ้งได้  นี่คือการต่อยอดจากการมีน้ำ  เพราะเมื่อมีน้ำแล้วเราสามารถเลี้ยงสัตว์ได้  ปลูกพืชได้  ฉะนั้นสิ่งสำคัญในการทำเกษตรก็คือน้ำ  หลังจากนั้นจึงปรับพื้นที่โดยการหาพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ มาลง”

ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปี  พื้นที่ 1 ไร่ของปราณีก็เริ่มมีพืชหลายชนิดขึ้น  ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่เธอชอบกิน  ส่วนปศุสัตว์ก็เลี้ยงหลายอย่างทั้ง หมู ,ปลา ,ไก่ไข่ ,เป็ด ,กบ ,หอย ,กุ้งฝอย

“ปลูกทุกอย่างที่เราอยากกินก่อนในช่วงแรก ทั้งฝรั่ง  ลองกอง  ชมพู่ หรือ ทุเรียนอย่างละต้นก่อน  หรือเราชอบกินหน่อไม้ก็หาไผ่มาปลูก ก็ปลูกไปวันละต้นสองต้น  เวลาไปตลาดหรือที่ต่าง ๆ แล้วเห็นต้นไม้ก็ค่อย ๆ ซื้อกลับมา  เราไม่ได้ซื้อมาครั้งเดียวพร้อมกัน  ค่อยๆทำไปเรื่อย ๆ”

แม้จะดูเหมือนปลูกเลี้ยงเยอะแยะไปหมด  แต่ปราณีบอกว่าในแต่ละวันเผลอแป๊บเดียวก็มืดค่ำเสียแล้ว  ซึ่งอารมณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นตอนเป็นพนักงานบริษัท

“วิถีชีวิตในแต่ละวัน  เริ่มต้นจากเก็บเห็ดแต่เช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นแล้วเอามาโพสต์ขาย  ถ้ามีเยอะก็ออกเร่ขายในหมู่บ้านซึ่งใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงก็หมด  หลังจากนั้นก็มาให้อาหาร  หมู  ไก่  ปลา  เสร็จแล้วก็ไปรดน้ำต้นไม้ฝั่งที่ไม่มีสปริงเกอร์ ก็เสร็จงานในช่วงเช้า  ตอนกลางวันแดดร้อนเราก็หางานในร่มทำหรือบางครั้งก็นอนกลางวัน(หัวเราะ) ส่วนช่วงเย็นก็เป็นงานเดิมที่ทำตอนเช้าหมุนวนกันอยู่อย่างนี้ไม่มีอะไรวุ่นวาย  ไม่ใช่งานหนักแต่เป็นงานสนุกจนทำให้ดูเหมือนว่าแต่ละวันค่ำเร็วมาก  ไม่เหมือนตอนอยู่กรุงเทพฯ ที่คอยดูแต่นาฬิกาว่าเมื่อไหร่จะได้เลิกงาน  ซึ่งถ้ารู้อย่างนี้คงกลับมานานแล้ว”

ทฤษฎีเกษตร 1 ไร่ 1 แสนนั้นถูกต่อยอดมาจากเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวง ร.9 แต่นำระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเข้ามาใช้  คนที่มีความสามารถด้านการบริหารจัดการที่ดี  จะสามารถทำกำไรได้มากจากพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด  แม้ในปีแรกที่ทำจะยังไม่มีรายได้มากนัก  แต่หากทำอย่างต่อเนื่องจริงจัง  ผลลัพธ์ก็จะเริ่มผลิดอกออกผลในปีถัดมา

“รายได้หลักคือไข่ไก่ที่อย่างน้อยต้องขายได้ 300 บาทต่อวันซึ่งได้กำไรครึ่งต่อครึ่งจากต้นทุน ส่วนบางวันก็ขาย ปลา  กบ หอย  พืชผักซึ่งมันขายได้ทุกอย่าง  อีกหน่อยก็เป็นช่วงขายลูกอ๊อดที่ผลิตไม่เคยทันลูกค้า  จากนั้นก็เป็นรายได้รายเดือนคือขายลูกหมู  ตอนนี้มีแม่พันธุ์อยู่ 4 ตัว แต่ละตัวจะให้ลูก 5-10 ตัว เลี้ยงให้ได้อายุ 45 วันจึงขายตัวละ 1 พันบาท แต่ละเดือนรวมแล้วจะมีรายได้เพียว ๆ หลังหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างออกไปหมดแล้ว  เป็นเงินเก็บเดือนละหมื่นกว่าบาท”

สิ่งหนึ่งที่ปราณีให้ความสำคัญในการบริหารจัดการไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ก็คือการทำบัญชีรายรับรายจ่าย

“เกษตรกรบ้านเราไม่ให้ความสำคัญกับการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย  ทำให้เกิดความล้มเหลวในการใช้จ่ายเพราะมันไม่มีการวางแผน  ซึ่งแต่ละเดือนเราต้องรู้ว่าเรามีรายรับจากไหน  รายจ่ายอะไร  เป็นรายจ่ายที่เกิดประโยชน์หรือไม่  ยกตัวอย่างเช่นการลงทุนทำนา  มีทั้งค่าไถ ค่าปุ๋ย ค่าเก็บเกี่ยว ค่าแรง  แต่ชาวนามักถามกันถึงยอดขายในแต่ละปีเท่านั้น  ไม่เคยคิดต้นทุนการผลิตเลย”

ปัจจุบันสวนของปราณีเริ่มเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่  นอกจากผู้คนจะมาเป็นลูกค้าซื้อวัตถุดิบไปทำกับข้าวแล้ว  ยังมีบางส่วนที่มาเพื่อขอความรู้จากเธอ  แม้จะเพิ่งเริ่มทำไม่นานนัก  แต่นั่นก็มากพอที่จะเป็นองค์ความรู้จากประสบการณ์ตรงและถ่ายทอดให้คนอื่นได้ “มีคนมาดูงานที่นี่เยอะ  ทุกคนอยากทำแต่บอกว่าไม่มีทุน  ซึ่งเขาจะไม่ถามรายละเอียดเราว่าได้ทุนมาจากไหน  ส่วนใหญ่จะคิดแค่ว่าต้องลงทุนด้วยเงินเพียงตูมเดียว  แต่จริงๆแล้วเราทำแบบค่อยเป็นค่อยไป  ค่อย ๆ ลงทุนไปเรื่อย ๆ  สมมุติว่าคนสองคนมีเงินก้อนหนึ่งเท่ากัน  คนหนึ่งเอาเงินไปฝากธนาคาร  อีกคนเอามาทำแบบนี้  คิดว่าแบบไหนจะได้มากกว่ากัน  ซึ่งหนูคิดว่าทำแบบนี้ดีกว่า  เพราะฝากธนาคารครึ่งปีถึงได้ดอกเบี้ยครั้งหนึ่ง  แต่ถ้าเอามาทำแบบนี้เราจะได้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันแรกที่ทำ”

กลุ่มเกษตรกรจากต่างพื้นที่มาศึกษาดูงานที่สวนของปราณี

ผ่านไป 1 ปีทำให้ปราณีเริ่มมั่นใจแล้วว่ามาถูกทาง  สามีของเธอที่ก่อนหน้านี้ยังทำงานอยู่ที่ กทม.เพื่อรอดูผลว่าจะเป็นอย่างไร  ปัจจุบันเขากลับมาเพื่อช่วยงานปราณีแล้ว  รวมทั้งพ่อของเธอที่ไม่มั่นใจในตอนแรก  แต่ตอนนี้กลายมาเป็นผู้ช่วยหลักอีกคนในการพัฒนาสวนเล็กๆแห่งนี้   

“เอาใจตัวเองเป็นที่ตั้ง  ถ้ามีใจรักในการทำแบบนี้  ยังไงก็ประสบความสำเร็จ  สิ่งแรกคือต้องมั่นใจว่าตัวเองชอบในสิ่งที่ทำ  ถ้าไม่ได้ชอบยังไงก็ไปไม่รอดเพราะงานเกษตรต้องละเอียดมากกว่างานอื่น ๆ  เราต้องรู้นิสัยใจคอของสิ่งที่เราปลูกทุกสิ่งทุกอย่าง เราถึงจะทำได้  ต้องเอาใจใส่เป็นอย่างดี  อยากให้มาดูที่สวนทรัพย์กล้าหาญว่าที่ดิน 1 ไร่ทำอะไรได้บ้าง หมู  เห็ด  เป็ด  ไก่  ปลา  กบ  หอย  เลี้ยงได้ทำได้  ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ทุกตารางนิ้ว  พืชผักปลูกตามร่องน้ำร่องสวนได้หมด  ยังไงก็ขึ้นถ้าดูแลดี  นี่คือความใส่ใจในการปลูกพืช เราใส่ใจดีพืชเราก็งาม”

ในภาวะโรคระบาดรุนแรงจนทำลายระบบเศรษฐกิจ  ความมั่นคงทางอาหารคือเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญ  คนเมืองหลวงที่อยู่อย่างแออัดยัดเยียดกลายเป็นกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก  และส่วนใหญ่ในนั้น  คือคนชนบทที่เข้าไปเพื่อหวังยกระดับชีวิตของตัวเองและครอบครัว  แต่เมื่อมันไปเป็นไปตามฝัน  คงมีหลายคนที่อยากกลับสู่มาตุภูมิ  แต่จะทำอย่างไรไม่ให้หนีเสือปะจระเข้

“สำหรับคนที่อยากกลับบ้าน  ให้เตรียมตัวให้พร้อม  ถึงจะไม่มีวิกฤติโควิด ก็คงมีวิกฤติอื่นๆตามมา  ทุกคนต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา  อย่าใช้ชีวิตแบบประมาทให้เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตที่จะเกิดขึ้น  ให้ค้นหาตัวเองให้พบ  ชีวิตของลูกเกษตรกรอย่างเราผลสุดท้ายก็จะต้องกลับมาอยู่บ้านเหมือนเดิม  เราต้องคิดว่าเมื่อกลับมาอยู่บ้านแล้วจะใช้ชีวิตรูปแบบไหนให้มีความสุขในบั้นปลายชีวิตเพราะทุกคนต้องกลับมาอยู่บ้านแน่ ๆ  ขึ้นอยู่กับว่าใครจะกลับมาช้าหรือเร็วแค่นั้น”

การมีที่ดินแค่ 1 ไร่หรือน้อยกว่านี้คงเป็นข้อจำกัดที่หลายคนใช้อ้างว่าไม่สามารถทำอะไรได้  และมันคงเป็นหนึ่งในทฤษฎีที่ทำได้แค่ในตำราเท่านั้น  แต่คนที่มองข้ามข้อจำกัดนี้แล้วลงมือทำจริง  จะได้คำตอบเองว่าเป็นอย่างไรและจะเอายังไงต่อ  สำหรับปราณี  กล้าหาญ  เธอไม่ได้บอกว่าสิ่งที่ทำนี้จะเหมาะกับทุกคน  การค้นหาตัวเองให้เจอคือสิ่งสำคัญ 


และแม้ว่าพื้นที่ 1 ไร่ของเธอจะยังไม่ได้เดือนละแสน  แต่คำว่าแสนสุขใจนั้น  มีในแววตาของเธอทุกวินาที

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ