อยู่ดีมีแฮง : ที่ดิน 3 งานกับการเกษตรหวงทุนเงิน ลงทุนแรง

อยู่ดีมีแฮง : ที่ดิน 3 งานกับการเกษตรหวงทุนเงิน ลงทุนแรง

ในยุคนี้ไม่ว่าใครก็อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง อาจเริ่มจากอะไรเล็ก ๆ หากพัฒนาไปในทิศทางที่ดีก็มีโอกาสเติบโตจนกลายเป็นช่องทางทำมาหากินเป็นหลักได้เลย การเกษตรกับประเทศไทยเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาอย่างยาวนานไม่แปลกหากแนวความคิดเริ่มต้นของหลาย ๆ คนจะมุ่งมาทางด้านนี้ แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าทำแล้วจะประสบผลสำเร็จ

ผู้เขียนในนาม “อยู่ดีมีแฮงออนไลน์” วันนี้ได้มีโอกาสเดินทางไปที่บ้านหนองแวง ต.หนองหว้า อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ตลอดสองข้างทางเต็มไปด้วยพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลังและพืชที่ได้รับความนิยมมากกว่าพืชชนิดอื่น ๆ คือ “อ้อย” มีคนขนานนามว่า “กุมภวาปีเป็นเมืองน้ำตาล” เพราะสภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูงและดินร่วนปนทราย และขาดแคลนน้ำ จึงทำให้การปลูกพืชชนิดอื่น ๆ เป็นไปได้ยากมาก การทำไร่อ้อยจึงเป็นตัวเลือกสำคัญของชาวบ้านที่นี่ เพราะเป็นพืชที่ทนแล้งใช้น้ำน้อย และยังมีโรงงานน้ำตาล ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ หมู่บ้าน  จึงเป็นเหตุจูงใจให้ชาวบ้านที่นี่เลือกปลูกอ้อยมาอย่างยาวนาน

แต่นั่นก็ไม่ใช่สาเหตุหลักของการเดินทางมาดูไร่อ้อยที่บ้านหนองแวง ต.หนองหว้า อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ในครั้งนี้ เพราะทีมงานอยู่ดีมีแฮงออนไลน์ วันนี้เรามีนัดกับ “ครูละมัย ช่วยตั้ว”  อดีตข้าราชการครูในจังหวัดบึงกาฬที่ตอนนี้ได้เกษียณอายุราชการ และใช้เวลาว่างหลังเกษียณออกมาทำเกษตรในพื้นที่เพียงแค่ 3 งาน และเป็นเกษตรแบบทวนกระแส ในรูปแบบการพึ่งตนเอง

ครูละมัยอาสาพาทีมงานอยู่ดีมีแฮงออนไลน์เดินชมสวน ซึ่งตั้งชื่อสวนแห่งนี้ว่า “สวนมะม่วงอารียา” ปลูกในรูปแบบผสมผสานมากมายเกือบ 200 ชนิด ที่อัดแน่นลงในพื้นที่เพียงแค่ 3 งาน มีมะม่วง 50 ต้น น้อยหน่า 150 ต้น มะนาว 23 ต้น นอกจากนั้นยังมี ละมุด พุทรา หม่อนเบอรี่ เพกา(ลิ้นฟ้า) และพืชผักสวนครัวที่จำเป็นต้องใช้ในครัวเรือนเกือบทุกชนิด

ไม่ต้องลงทุน ปลูกทุกอย่างได้กินทุกอย่าง

ครูละมัยเล่าให้กับที่มงานอยู่ดีมีแฮงฟังว่า “สวนแห่งนี้ไม่ได้ใส่ปุ๋ย ฮอร์โมนทุกชนิดก็ไม่ได้ใส่ เพราะว่าราคาแพงถ้าเป็นปุ๋ยที่ขายตามท้องตลาดถ้าต้องใส่แต่ละครั้งหมดไม่ต่ำกว่า 1,000-3,000 บาท อย่างแน่นอน และปุ๋ยมูลวัว มูลควาย มูลไก่ มูลหมู มูลเป็ด ก็ไม่ได้ใส่เช่นกันเพราะว่าไม่มี ถ้าจะใส่ก็ต้องไปซื้อกระสอบละ 40 บาท 10 กระสอบก็ต้องจ่ายเงิน 400 บาท ที่นี่จึงไม่ใส่ปุ๋ยเหมือนที่อื่น ๆ แต่ก็ปลูกทุกอย่าง ได้กินทุกอย่างเหมือนกัน”

สวนแห่งนี้ไม่มีระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า แต่ก็งามได้

ครูละมัยเล่าให้ทีมงานอยู่ดีมีแฮงฟังต่ออีกว่า “ที่สวนแห่งนี้ไม่มีระบบน้ำ ระบบฟ้าทั้ง ๆ ที่สวนแห่งนี้อยู่ติดกับหมู่บ้าน และอยู่ติดถนนซึ่งมีสายไฟผ่านหน้าสวน แต่ทุก ๆ เช้าครูละมัยจะเตรียมน้ำใส่รถเข็นและเข็นน้ำจากที่บ้านมาที่สวน ระยะทางประมาณ 500 เมตร เพื่อนำเอาน้ำมารดต้นไม้ ทำแบบนี้มาประมาณ 4 ปีแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 และทำทุก ๆ วันเพราะน้ำประปาหมู่บ้านไม่ค่อยไหล 3-4 วันจะไหลครั้งหนึ่ง  ซึ่งก็มีเพื่อนบ้านแนะนำว่าให้เจาะน้ำบาดาลจะได้ไม่ต้องเหนื่อยเข็นน้ำมารดต้นไม้  แต่ครูก็อธิบายถึงต้นทุนว่า สมมุติว่าเจาะน้ำบาดาลก็ต้องมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 15,000 บาท ค่าเจาะน้ำ และต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อดึงน้ำขึ้นมาใช้ เคยไปติดต่อกับการไฟฟ้ามาแล้ว เพราะมีสายไฟฟ้าผ่านหน้าสวน แต่ใช้เสาไม้ไม่ได้ ถ้าจะเดินสายเข้ามาในสวนต้องใช้เสาปูน ราคาต้นละ 3,500 บาท ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมา ทั้งค่าเดินไฟเข้าสวน ค่าเสาไฟ ค่าเจาะน้ำบาดาล บางคนก็แนะนำว่าไม่ต้องจ่ายค่าไฟก็ได้ใช้โซลาร์เซลล์ ไปติดต่อโซลาร์เซลล์มาแล้ว มีค่าใช้จ่าย 15,000 บาท และ 15,000 บาท ได้เฉพาะโซล่าเซลล์ จะต้องมีค่าติดตั้งเพิ่มเข้ามาอีก  15,000 บาท รวมเป็นเงิน 30,000 บาท ก็เลยเลือกที่จะไม่ลงทุน ใช้วิธีเข็นน้ำจากที่บ้านในทุก ๆ เช้าเพื่อเอามารถต้นไม้อย่างเดิม”

การจัดการน้ำใต้ดิน คือหัวใจสำคัญของที่นี่

เพราะว่าที่สวนแห่งนี้ไม่มีระบบน้ำ การใช้น้ำอย่างประหยัดจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่พื้นดินแห้งเร็ว เวลารดน้ำ น้ำก็จะระเหยเร็วเพราะอากาศร้อน ที่สวนของครูละมัย จึงใช้วิธีลดน้ำลงในท่อ โดยใช้ท่อพีวีซีเก่า นำมาตัดความยาวท่อนละ 50-70 เซ็นติเมตร และขุดหลุมฝังท่อน้ำในแนวตั้งตามความยาวของท่อที่ตัด ซึ่งครูละมัยจะขุดหลุมฝั่งท่อเหล่านี้ไว้เป็นจุด ๆ ภายในสวน ตามแปลงผัก หรือตามต้นไม้ที่ต้องการรดน้ำ

“เคยทดลองเติมน้ำลงในท่อ 1 คันรถเข็น 12 แกลลอน เติมน้ำลงไปทั้ง 12 แกลลอนน้ำก็ไม่เต็ม แต่รากพืชที่อยู่ด้านล่างจะได้รับน้ำอย่างเพียงพอ และชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา  แต่ถ้ารดน้ำลงพื้นดิน น้ำก็จะระเหยออกทันที และน้ำก็จะไหลทิ้งเพราะบังคับทิศทางน้ำไม่ได้ ถ้ารดน้ำลงในท่อจะบังคับทิศทางน้ำได้ ทำให้ไม่เสียน้ำทิ้ง เป็นการใช้น้ำได้อย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์มากที่สุด”

ฟางและเศษวัชพืช คือเครื่องช่วยทุ่นแรงและปุ๋ยอย่างดี

น้ำจะระเหยเร็วยิ่งอากาศร้อน ๆ แบบนี้ 2-3 วันต้นไม้ก็เริ่มเหี่ยวเฉาและเริ่มตาย วิธีแก้ปัญหาของที่นี่คือเอาฟางมาคลุม ถ้าไม่มีฟางก็เอาเศษใบไม้หรือเศษวัชพืชในสวนมาคลุมไว้เพื่อให้ต้นไม้ที่ปลูกมีความชื้นอยู่ตลอดเวลาและเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้อย่างดี และที่สวนแห่งนี้จะใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงช่วยในการย่อยธาตุอาหารและวัตถุอินทรีย์ในดิน ที่ทำขึ้นมาไว้ใช้เอง และสารเร่ง พด.2 ของกรมวิชาการเกษตรแจกฟรีมาให้ใช้ ปุ๋ยที่นี่จึงไม่จำเป็นต้องใช้

ครูละมัยยังบอกอีกว่า “บางคนทำเกษตรลงทุนไปเยอะ เงินที่สะสมมาตลอดการทำงานก็คงหมดไป และกว่าจะได้ผลตอบแทนกลับมาก็อีกหลายปี ซึ่งไม่รู้ตอนไหน การทำเกษตรแบบพึ่งตนเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ”

สร้างมูลค่า จากสิ่งที่มี

“คนที่เดินทางมาจาก กทม. หนีจากโควิด-19 ไม่มีเงินติดตัวมา หรือตกงานกลับมามีที่ดินเล็ก ๆ ก็สามารถปลูกได้ตามพื้นที่ที่มี และที่นี่ก็จะปลูกแบบหลากหลายไม่เน้นพืชเชิ่งเดี่ยว ทั้งที่รอบข้างเป็นไร่มันสัมปะหลังและไร่อ้อย เพราะเงินที่ขายอ้อยได้ก็ต้องเอาไปซื้อกับข้าวกินแต่ละวัน แต่ที่นี่ไม่ต้องซื้อก็มีให้กิน ผลผลิตที่เกิดจากสวนแห่งนี้มีเยอะ กินอย่างไรก็ไม่หมด มีชาวบ้านมาขอซื้อถึงสวนไม่ออกไปเร่ขาย ช่วงที่ผ่านมาก็ขายน้อยหน่ากิโลกลัมละ 150 บาท และมะม่วงก็มีคนมาขอซื้อเรื่อย ๆ ขายบ้างกินบ้าง หรือบางครั้งก็เอาไปทำบุญที่วัด”

สวนเกษตรเล็ก ๆ แห่งนี้นอกจากจะมีพืชผักผลไม้หลายอย่างให้เลือกสรรแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในชุมชนได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้อยู่ไม่ขาดสาย ทั้งคนที่ทำเกษตรมาอย่างยาวนาน และเกษตรมือใหม่ที่กำลังมองหาทิศทางหรือแบบอย่างของการเริ่มต้น สวนมะม่วงอารียา บ้านหนองแวง อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี แห่งนี้คืออีกหนึ่งทางเลือก

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ