ประชาชนไปต่อ : งาน คือ เงิน เมื่อเรื่องปากท้อง(ก็)รอไม่ได้

ประชาชนไปต่อ : งาน คือ เงิน เมื่อเรื่องปากท้อง(ก็)รอไม่ได้

การระบาดของ COVID-19 นาทีนี้นับเป็นช่วงเวลาที่ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยตัวเลขของผู้ติดเชื้อนับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สถานประกอบการ ธุรกิจต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก นายจ้างหลายแห่งต้องปล่อยมือลาลูกจ้างไป เพราะไม่สามารถแบกรับภาระในครั้งนี้ไหว และด้วยความไม่แน่นอนของอาชีพที่ทำให้ใครหลายคนต้องเผชิญกับผลกระทบที่ยืดเยื้อออกไป

ทุกคนอยากทำงาน เพราะมีงานก็อาจจะมีเงิน

“ตอนนี้ไม่ได้ทำอะไร อยู่บ้านเฉย ๆ ตกงานครับ”  อ้วน เจริญวงษ์ ชุ่มกลาง อายุ 51 ปี เคยเป็นกุ๊กทำงานตามร้านอาหารยามค่ำคืนในจังหวัดขอนแก่น แต่เมื่อมีผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ร้านอาหารที่เขาเป็นกุ๊กต้องปิดตัวลงไป ในการระบาดระลอกแรก ร้านอาหารที่เขาทำยังพอฟื้นตัวกลับมาเปิดได้ แต่เพียงแค่ 3 เดือน โควิดระลอกสอง ก็วนกลับมาอีกครั้ง  และในระลอกสาม ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ร้านอาหารที่ดูเหมือนจะเป็นความหวังของคนในครอบครัวก็ถูกปิดไปโดยปริยายทำให้เขาต้องตกงาน การรับจ้างรายวันจึงเป็นอีกความหวังเพื่อหาทางรอดท่ามกลางวิกฤตนี้

อ้วน เจริญวงษ์ ชุ่มกลาง ชุมชนเหล่านาดี 12

“ลำบากไหม ก็ลำบากครับ หนึ่งคือที่บ้านก็มีคนป่วยติดเตียงด้วยที่ต้องดูแล ค่าใช้จ่ายตอนนี้มาจากแฟนคนเดียว หยิบจ่ายของแฟนมาบ้าง เงินเก็บเรามีไม่มากใช้จนจะหมดแล้ว เป็นเงินเก่าที่เราสะสมไว้ตั้งแต่ทำงานก็เริ่มจะหมด” เจริญวงษ์ ชุ่มกลาง อธิบายขยายความสถานะทางการงานและการเงินเพิ่มเติม

จ้างงานระยะสั้น ความหวังต่อลมหายใจ

“ก็ช่วยเราได้นิดหน่อยครับ อย่างว่าการจ้างงานก็ไม่นาน 2-3 วันก็เสร็จ มาจ้างเป็นครั้ง ๆ ไป อาจจะครึ่งวัน คือมันไม่ต่อเนื่่อง งานมันก็แค่ช่วงสั้น ๆ 2-3 วัน แล้วแต่มีงาน บางทีชุมชนก็ให้ไปช่วยทำ อย่างการไปทำอาหารช่วยบ้าง ได้ค่าแรงบ้างมันไม่ตายตัว บางทีเขาให้เราไปช่วยทำกับข้าวเลี้ยง ที่ตอนนั้นชุมชนทำครัวกลางแจกอาหารคนก็ไปช่วยเขา บางทีได้เป็นอาหารมาบ้าง ได้เป็นเงินมาบ้าง ไม่คิดมากเลย” เจริญวงษ์ ชุ่มกลาง เล่าถึงภาวะที่ต้องปรับตัวกับอาชีพใหม่ การรับจ้างรายวันที่ผ่านโครงการจ้างงานระยะสั้นของกลุ่มคนเปราะบางเมือง

ไม่เพียงแค่เขาคนเดียว วิกฤตครั้งนี้หลายคนเผชิญและได้รับผลกระทบเสมอหน้า เปรียบเหมือนมีพายุฝน และคลื่นลมขนาดใหญ่ซัดเข้าใส่คนตัวเล็กตัวน้อยไม่ลดละ ยังคงวนเวียนไม่รู้จบและยาวนานออกไปซึ่งไม่อาจรู้ได้ว่าเมื่อไรจะจบลง ปัญหาการว่างงานของแรงงานที่ถูกเลิกจ้างหรือแม้กระทั่งกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวที่ได้รับค่าตอบแทนรายครั้งหรือระยะสั้นที่ต้องเคว้งคว้างในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาเช่นนี้ยังเป็นโจทย์ใหญ่

 “15 ชุมชนพื้นที่เป้าหมาย ในขอนแก่น 500 กว่าครัวเรือน เราพบว่ามีคนที่เป็นกลุ่มตกงานขาดรายได้ในช่วงโควิด-19 เกือบ 400 กว่าครัวเรือน ใน 500 กว่าครัวเรือน ที่เราสำรวจนะครับซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก” ณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน (Friends of the Homeless)  เล่าถึงผลสำรวจการว่างงานของคนชุมชนเมือง

“เพราะว่าที่มาร่วมกับเราเป็นชุมชนที่เขาเป็นแรงงานนอกระบบ แล้วก็เป็นกลุ่มที่โดนลดการจ้างงานลง เป็นคนที่ตกงานขาดรายได้ฉับพลันจากโควิด-19 สูงมากครับ อย่างชุมชนที่เรามาทำวันนี้ ชุมชนมิตรภาพ เกือบทั้งชุมชนเป็นกลุ่มตกงานขาดรายได้หมดเลย เพราะว่าเขาเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่ามาตราฐานและครอบครัวค่อนข้างไม่มีความปลอดภัยในเรื่องของที่อยู่อาศัย เรื่องสภาพความเป็นอยู่ นี่เป็นชุมชนหนึ่งที่มีความเปราะบางเรื่องนี้ เราก็เลยเข้ามาทำงานในระยะยาว

จ้างงาน สร้างโอกาส เสริมพลัง

“สำหรับกิจกรรมที่เราทำในวันนี้ จริง ๆ มันเป็นโครงการที่เราออกแบบรับมือในช่วงวิกฤตโควิด-19 เราพยายามมองอยู่ 2-3 เรื่อง ในระยะเร่งด่วน คือ หนึ่งทำอย่างไรให้พี่น้องคนไร้บ้าน คนจนเมือง เขาเข้าถึงอาหาร อุปกรณ์ป้องกัน หรือแม้แต่เข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพในช่วงโควิด-19 ได้  ที่ผ่านมาเราก็ทำในระยะเร่งด่วน ในเรื่องการทำ  Food Stamp คูปองปันกัน และก็การส่งต่ออุปกรณ์การป้องกัน การส่งต่อข้าวสาร อาหารแห้ง

ทีนี้ต่อมาเราคิดว่าลำพังแค่เราหาส่งต่อข้าว ส่งต่ออาหารมันไม่พอแล้ว ทำอย่างไรให้เขาเข้าถึงงานในช่วงโควิด-19 ได้ ให้เขามีเงินไปซื้อข้าวกิน ดูแลคนในครอบครัวได้ เราก็เลยออกแบบโครงการต่อเนื่อง เรื่องการจ้างงานในระยะสั้นโควิด-19 โดยเป็นกลุ่มเป้าหมายเดิม กลุ่มคนไร้บ้านและก็กลุ่มชุมชนเปราะบางที่อยู่ในเมืองประมาณ 15 ชุมชน ที่เราทำผ่านโครงการ Food Stamp​ แล้วก็มาต่อยอดในการจ้างงานในระยะสั้น

การจ้างงานระยะสั้นจะเป็นลักษณะของงานที่เราจ้างเขาผ่านการระดมทุนจากสังคม ระดมทุนจากหน่วยงาน ระดมทุนจากคนในสังคมมาจ้างงานเขาในลักษณะรายวัน โดยเป็นงานที่เขาไปทำสาธารณะประโยชน์พัฒนาชุมชนของเขาเอง ให้เขาออกแบบมาก็จ้างงานเขาเป็นครั้ง ๆ ไปครับ กับงานส่วนที่สอง ที่เชื่อมต่อกับ OKAS โอกาส ที่เป็นแพลตฟอร์มจ้างงานของกลุ่มคนจนคนไร้บ้านที่เราทำอยู่ เป็นของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตอนนี้ก็พัฒนาเวิร์กชอปแต่ละชุมชน ก็ส่งคนมาเข้าร่วมการทำธุง การทำไหมพรม การทำยางรถยนต์กระถางต้นไม้ ทำเครื่องประดับต่าง ๆ แล้วก็ให้เขาผลิตสินค้าให้เขา

อีกช่องทางหนึ่งอันที่สาม คือการจ้างงานโดยเชื่อมร่วมกับบริษัท HUG Town เราก็ให้เขาผลิต แล้วก็การ Social Enterprise หรือ วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ทำอยู่ คือ จ้างงานเข้าไปเป็นแรงงานในกิจกรรมการเกษตร สวนผักแบ่งปัน อันนี้คือรูปแบบของการที่เราจะเข้าไปสร้างรายได้เขา ผ่านการจ้างงานระยะสั้นใน 3 รูปแบบ ทำจ้างงานเพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์ในสังคม ในชุมชนจ้างงานผ่าน แพลตฟอร์ม OKAS โอกาส ขอนเเก่น และก็จ้างงานร่วมกับ Social Enterprise ร่วมกับ HUG Town ทำเรื่องของสวนผักแบ่งปันเรื่องของการเกษตร”

มากกว่างาน คือ พลังชุมชน ร่วมคิด ร่วมออกแบบ ต่อเนื่อง

“การจ้างงานระยะสั้นคือการที่ให้ชุมชนบริหารจัดการเอง คิดเอง ออกแบบเอง ว่าเขาอยากจะทำแบบไหน อยากจะทำกิจกรรมอย่างไร งบประมาณก็จะบริหารและออกแบบเองว่าเขาจะใช้อย่างไร ภายใต้กองทุนที่เราตั้งไว้  เป็นกองทุนรับมือโควิดของชุมชนเมืองจังหวัดขอนแก่น”ณัฐวุฒิ กรมภักดี ผู้ประสานงานกลุ่มเพื่อนฅนไร้บ้าน กล่าวย้ำถึงภารกิจจ้างงานระยะสั้นที่เหมือนจะเป็นความหวังระยะยาวให้คนในชุมชนจับมือมั่นและผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ