ดัน พ.ร.บ.ปกป้องคุ้มครองช้างไทย ดูแลสวัสดิภาพช้าง

ดัน พ.ร.บ.ปกป้องคุ้มครองช้างไทย ดูแลสวัสดิภาพช้าง

ภาพ /ข่าว : ชัยรัตน์ จิโรจน์มนตรี

หลายฝ่ายดัน พ.ร.บ.ปกป้องคุ้มครองช้างไทย หวังป้องกันทารุณกรรมช้าง และสร้างความร่วมมือเปลี่ยนปางช้างให้เป็นมิตร พร้อมตั้งกองทุนดูแลสวัสดิภาพช้าง

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก เปิดเผยว่า ภาคีองค์กรภาคประชาชนได้ร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านสวัสดิภาพช้างไทย โดยผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ปกป้องและคุ้มครองช้างไทย เข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนรัฐสภาแล้ว หวังให้เป็นกฎหมายในการคุ้มครองสวัสดิภาพช้าง และปกป้องช้างจากการถูกทารุณกรรมอย่างแท้จริง เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้อกับช้างเลี้ยง คือ พรบ.สัตว์พาหนะ พ.ศ.2482 เป็นกฏหมายอายุกว่า 80 ปี ไม่ทันต่อสถานการณ์ ทั้งมีข้อบังคับสนับสนุนการนำช้างป่ามาใช้งาน ส่วน พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ไม่ได้ระบุชัดถึงลักษณะที่เข้าข่ายการทารุณกรรมช้างเลี้ยง ช้างในประเทศไทยจึงได้รับการคุ้มครองน้อยมากภายใต้กฎหมายที่มีอยู่

“พ.ร.บ.ช้างไทยฉบับใหม่นิยามการป้องกันการทารุณกรรม กำหนดขข่ายทรมานไว้ชัดเจน เน้นการจัดสวัสดิภาพช้างเลี้ยงให้เหมาะสม มีอิสระแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ ไม่ถูกบังคับใช้งานหนักหรือไม่บังคับการแสดงเพื่อความบันเทิง ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย สนับสนุนให้ปางช้างปรับรูปแบบที่เป็นมิตรกับช้าง มีกองทุนชดเชยกรณีต่างๆ เช่น ช้างทำร้ายคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ภายใต้กฏหมายนี้จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างช้างเลี้ยงทั้งระบบ” นายปัญจเดช กล่าว

นายปัญจเดช กล่าวอีกว่า การผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ต้องการเป็นศัตรูกับสวนสัตว์หรือปางช้าง แต่เป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปรับตัวรองรับเทรนด์การท่องเที่ยวของโลกภายหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรปและอเมริกาให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิภาพสัตว์อย่างมาก มีแนวโน้มปฏิเสธการท่องเที่ยวช้างแบบเก่า ที่ให้คนขี่ช้าง ป้อนอาหารช้าง อาบน้ำกับช้าง และการแสดงโชว์ละครสัตว์ เป็นต้น เห็นได้จากกฏหมายด้านสวัสดิภาพสัตว์ของประเทศเหล่านั้น

“อังกฤษหากพบว่านักท่องเที่ยวของตนมีการท่องเที่ยวสถานที่ที่มีการแสดงโชว์ของสัตว์ป่า จะมีความผิดตามกฎหมาย หรือสมาคมท่องเที่ยวยุโรปประกาศไม่สนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวที่มีการนำสัตว์ป่ามาบังคับแสดงเพื่อความบันเทิง จึงต้องขอแรงสนับสนุนจากภาคธุรกิจ และประชาชนที่เห็นด้วยกับเจตนารมณ์ของกฏหมายฉบับนี้ รวมทั้งการขอแรงสนับสนุนจากรัฐสภาเพื่อให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในชั้นกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอข้อมูลและข้อเท็จจริง ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงกฏหมายเกี่ยวกับช้างเลี้ยงให้ดีขึ้นตามเจตนารมณ์ของคนไทยผู้รักช้าง” นายปัญจเดช กล่าว

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ เครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมร่างและผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้  กล่าวว่า ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ช้างไทยจะไม่ใช่สัตว์พาหนะตามกฎหมายเก่าอีกต่อไป เพราะช้างเลี้ยงส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ได้ถูกใช้งานลากไม้เหมือนในอดีตอีกแล้ว นอกจากนี้จะเป็นการแก้ไขปัญหาลักลอบค้าช้างหรือซากช้าง เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการออกตั๋วรูปพรรณจากเดิมกำหนดให้ขึ้นทะเบียนเมื่อลูกช้างอายุ 8 ปี ซึ่งเกิดปัญหาสวมทะเบียนช้าง และนำไปสู่การค้าช้างผิดกฏหมาย เป็นการกำหนดให้ขึ้นทะเบียนช้างเลี้ยงทุกตัวตั้งแต่แรกเกิด นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกองทุนช้างเพื่อดูแลสวัสดิภาพช้าง และชดเชยกรณีเกิดเหตุเกี่ยวกับช้างอย่างครอบคลุมมากขึ้น

“พ.ร.บ.ช้างไทยฉบับนี้อาจต้องถกอีกหลายยก ซึ่งหวังว่าจะมีรายชื่อของภาคประชาชนไปร่วมด้วยในชั้นกรรมาธิการ เพื่อเข้าไปนำเสนอข้อมูลให้ชัดเจน หวังว่าภาคการเมืองจะเห็นความสำคัญกับร่าง พรบ.ช้างไทย ที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันของภาคประชาชน” นายหาญณรงค์ กล่าว

ด้าน นายประสบ ทิพย์ประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญช้างไทย กล่าวว่า สิ่งที่ภาคประชาชนเสนอ คือการสร้างความสมดุลระหว่างการนำช้างมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ กับหลักสวัสดิภาพสัตว์ โดยเฉพาะด้านการจัดการท่องเที่ยวของไทย ที่มีการนำช้างมาใช้หารายได้ ควรปรับรูปแบบจากการบังคับช้างเพื่อการแสดง หรือรองรับนักท่องเที่ยวด้วยความบันเทิง เปลี่ยนเป็นการให้ช้างได้อยู่อย่างใกล้ชิดธรรมชาติ มีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติมากที่สุด นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปสัมผัสหรือสังเกตุพฤติกรรมของช้าง โดยไม่เป็นการรบกวนจนเกินไป ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้าง โดยกฎหมายจะเข้ามาช่วยกำหนดมาตรฐานรูปแบบการจัดการท่องเที่ยวของปางช้างให้เหมาะสม

สำหรับ นายชเร สังข์ขาว เจ้าของปางช้าง Following Giants จ.กระบี่ กล่าวว่า ตนเลือกทำปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง โดยนักท่องเที่ยวของเราส่วนใหญ่จะเป็นยุโรป 95 เปอร์เซ็น ต้องยอกรับว่านักท่องเที่ยวฝรั่งให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิภาพสัตว์มาก เขามองว่าการการขี่ช้าง หรือการแสดงช้าง หรือมีรูปแบบที่ใกล้ชิดกับคนมากเกินไปคือการบังคับสัตว์ เพราะการที่ควาญต้องควบคุมหรือสั่งการช้างให้ทำตลอดเวลานั้น ควาญต้องบังคับช้าง โดยกว่าช้างจะยอมให้บังคับต้องถูกฝึกหนัก หรืออาจถูกทารุณกรรมจากการฝึก ซึ่งแนวโน้มของนักท่องเที่ยวหลังโควิด-19 จะให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน ปางช้างในไทยควรปรับตัวรองรับความต้องการของนักท่องแที่ยวในอนาคตด้วย

“ปางช้างที่ภูเก็ตหรือพัทยา ช้างต้องเดินวันละ 10 ชั่วโมง สำหรับช้างถือว่าหนักมาก เคยลองถามนักท่องเที่ยวว่า หากมีคนบังคับคุณเดิน นั่ง ตลอดเวลาจรู้สึกอย่างไร นั่นแหละช้างย่อมรู้สึกแบบเดียวกัน แรกๆ นักท่องเที่ยวบางกลุ่มอาจไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ให้ขี่ช้าง เราก็ต้องอธิบาย เขาก็เข้าใจและเห็นด้วย ถ้ามีกฎหมายเข้ามาดูแลสวัสดิภาพช้างจะช่วยให้ปางช้างต่างๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นมิตรกับช้างได้ง่ายขึ้น” นายชเร กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ