ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2541 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันช้างไทย” และในปีนี้ 2564 ภาคประชาชนเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย เข้าสภาฯ ชี้เป็นกฏหมายจากความตั้งใจปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพช้าง
แม้ประเทศไทยจะมีกฏหมายคุ้มครองสัตว์หลายฉบับ แต่สำหรับช้างที่ถือเป็นสัตว์ประจำชาติไทย แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย กลับไม่เคยมีกฏหมายเฉพาะคุ้มครองสวัสดิภาพหรือปกป้องการถูกทารุณกรรม ภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนงานสวัสดิภาพสัตว์จึงมีการร่วมมือผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ปกป้องและคุ้มครองช้างไทย ฉบับภาคประชาชน โดยอยู่ระหว่างการยกร่างกฏหมายฉบับสมบูรณ์ ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา
ประเทศไทยประกาศปิดป่า สิ้นสุดสัมปทานไม้ในพื้นที่ป่าเมื่อปี พ.ศ.2532 ถือเป็นช่วงเวลายาวนานกว่า 132 ปี ที่ช้างไทยต้องทนทุกข์ทรมานจากการใช้งานอย่างหนักในอุตสาหกรรมไม้ หลังจากนั้นเมื่อกระแสการท่องเที่ยวถูกผลักดันให้เป็นอุตสาหกรรมหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ช้างไทยยังคงถูกบังคับให้เป็นเครื่องมือสร้างความบันเทิง สร้างความสนุกตื่นเต้น เพื่อดึงดูดเม็ดงินจากการท่องเที่ยวเข้าประเทศ
แม้ปี พ.ศ.2541 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้ทุกวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันช้างไทย” มีการรณรงค์อนุรักษ์ช้างไทยทุกปี แต่สถานการณ์ช้างไทยยังตกอยู่ในสถานการณ์ถูกคุกคาม “ช้างไทยกลายเป็นสินค้า” อย่างครบวงจร เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมไปถึงการค้าช้าง งาช้าง และอวัยวะช้าง มูลค่ามหาศาล ส่งผลให้ช้างตกเป็นผู้ถูกล่าในโลกสมัยใหม่อย่างแท้จริง
เดือนมกราคม 2563 พบว่า มีช้างเลี้ยง 2,798 ตัว เพิ่มขึ้น 70% จาก 10 ปีก่อน
ข้อมูลขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) จากรายงาน “ช้างไม่ใช่สินค้า” ระบุว่า ปัจจุบันช้างเลี้ยงในประเทศไทยถูกผสมพันธุ์เพื่อใช้ในการท่องเที่ยวมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เดือนมกราคม 2563 พบว่า มีช้างเลี้ยง 2,798 ตัว เพิ่มขึ้น 70% จาก 10 ปีก่อน โดยมีการตั้งข้อสังเกตจากนักปกป้องสวัสดิภาพสัตว์ว่า แนวโน้มการเพิ่มจำนวนของช้างเลี้ยงไม่ได้สะท้อนถึงประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ช้างอย่างยั่งยืน หากแต่เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น
รายงานฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นว่า เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการทารุณกรรมต่อช้าง เช่น การแยกลูกช้างจากแม่ช้างตั้งแต่ยังเล็ก การขังในซองแคบๆ การใช้ตะขอสับและขูดที่หัวลูกช้าง การใช้ไม้ทุบตี การล่ามโซ่สั้นๆ ไปจนถึงการบังคับให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียด ช้างจึงถูกทรมานทั้งร่างกายและจิตใจเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยพบว่าช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกว่า 70% มีสภาพความเป็นอยู่ในเกณฑ์ย่ำแย่ ถูกใช้งานในการโชว์ช้างและขี่ช้าง ขาดอิสรภาพ ไม่ได้รับอาหารเพียงพอ และอยู่ในสภาพแวดล้อม ตึงเครียด ขณะที่มีเพียง 25% เท่านั้น ที่มีสภาพความเป็นอยู่ปานกลาง ไม่มีการโชว์ช้าง อาหารและสภาพแวดล้อมเหมาะสม แต่ยังมีกิจกรรมที่ ช้างต้องปฏิสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวอย่างการอาบน้ำช้างอยู่บ้าง ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือช้างที่มีสภาพความเป็นอยู่ดี ไม่ถูกบังคับให้สร้างความบันเทิงให้นักท่องเที่ยว สามารถเดินเล่น หาอาหาร อาบน้ำได้อย่างอิสระ มีโอกาสแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ
วันนี้แม้ฉากโฉมการท่องเที่ยวจะถูกทำให้ดูงดงาม หากแต่ฉากหลังคือโลกอันหม่นเศร้าของช้างไทย
นายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ในฐานะองค์ขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยมีกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลช้างอย่างน้อย 27 ฉบับ และเป็นประเทศเดียวในโลกที่ช้างอยู่ในสถานะเป็นทั้งช้างป่าและช้างเลี้ยง แต่ไม่มีกฏหมายเฉพาะสำหรับช้างที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย โดยกฎหมายสำคัญอย่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ให้ความคุ้มครองเฉพาะช้างป่าเท่านั้น สำหรับกฏหมายฉบับอื่น ยังมีช่องว่างให้เกิดการใช้งานช้างเลี้ยง และเสี่ยงให้เกิดการทารุณกรรมช้างมากกว่าการป้องกันสวัสดิภาพช้าง เช่น พ.ร.บ.สัตว์พาหนะ พ.ศ.2482 ที่นิยามให้ช้างเป็นสัตว์พาหนะเพื่อใช้งาน รวมถึง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ยังมีช่องว่างที่ยังไม่คลอบคลุมถึงการปกป้องช้างเลี้ยงอย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องมีกฏหมายเฉพาะเพื่อให้เกิดกลไกการปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพช้างอย่างแท้จริง
“ความซับซ้อนและไม่ทันสมัยของกฏหมายไทยเกี่ยวกับช้าง ทำให้การปกป้องดูแลสวัสดิภาพของช้างมีความยากลำบากมากขึ้น หวังว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบันนี้จะเป็นกฏหมายของช้างและคนรักช้างทุกคน ที่สามารถป้องกันการทารุณกรรมและส่งเสริมสวัสดิภาพช้าง โดยนำแนวคิดอิสระห้าประการ(Five Freedoms) มาประยุกต์ใช้เป็นหัวใจของกฎหมาย เช่น การมุ่งเน้นให้เกิดการปกป้องการทารุณกรรมช้างเลี้ยงในทุกรูปแบบ การห้ามแยกลูกช้างออกมาฝึก การป้องกันการบังคับเพื่อใช้ในการแสดงความบันเทิงให้กับมนุษย์ การทำร้ายช้าง การใช้ตะขอสับ โดยเฉพาะการฝึกและการบังคับที่ทรมาณ รวมทั้งการจัดสวัสดิภาพที่ดีแก่ช้าง ปางช้างหรือผู้ครอบครอง ต้องจัดสถานทีให้เหมาะสมมีร่มเงา จัดสถานที่เพียงพอให้ช้างมีพฤติกรรมตามธรรมชาติ ไม่ปล่อยให้ช้างหิว ต้องมีหน่วยดูแลสุขภาพช้างหรือได้รับการตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน เป็นต้น” นายปัญจเดช กล่าว
นายปัญจเดช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การยกร่างกฏหมายฉบับนี้เป็นไปเพื่อการปรับปรุงนโยบายที่ส่งเสริมให้เกิดสวัสดิภาพช้างอย่างยืน ซึ่งเป็นกระแสสังคมโลกที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวแบบคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น นักท่องเที่ยวจะไม่มาเที่ยวการโชว์ช้างที่มีการแสดงหรือบังคับช้างให้แสดงอีกต่อไป
นายปัญจเดช ยังมองอีกว่า กฏหมายที่มีในปัจจุบันยังมีช่องว่างให้เกิดการลักลอบค้าช้างและค้าชิ้นส่วนหรือซากช้าง ด้วยการนำตั๋วรูปพรรณช้างไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เปลี่ยนมือผู้ครอบครอง โดยวิธีการอำพรางว่ามิใช่การซื้อขายช้างเพื่อเลี่ยงความผิด ช่องทางนี้เองที่นำช้างไปสู้ขบวนการค้าสัตว์ป่า หรือการลักลอบค้างาช้างและชิ้นส่วนอวัยวะช้าง ที่กำลังเป็นที่นิยม ดังนั้นร่าง พรบ.ปกป้องและคุ้มครองช้างไทย ฉบับภาคประชาชน จึงกำหนดให้เจ้าของช้างสามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่คนในครอบครัวหรือทายาทตามกฏหมายได้เท่านั้น เพื่อเป็นการปิดช่องว่างเหล่านี้
สวัสดิภาพสัตว์ หรือ Animal Welfare คือแนวคิดใหม่ต่อการสร้างความสุขกายและสบายใจให้แก่สัตว์ ที่หลายประเทศในยุโรปนำมาใช้เป็นหลักการบัญญัติกฏหมายในการปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์
สวัสดิภาพสัตว์ หรือ Animal Welfare คือแนวคิดใหม่ต่อการสร้างความสุขกายและสบายใจให้แก่สัตว์ ที่หลายประเทศในยุโรปนำมาใช้เป็นหลักการบัญญัติกฏหมายในการปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพของสัตว์ ประกอบด้วยหลักอิสระ 5 ประการ คือ 1.อิสระจากความหิวโหย 2.อิสระจากความไม่สบายกาย 3.อิสระจากความเจ็บป่วย 4.อิสระจากความกลัวหรือมีความปลอดภัย 5.สัตว์มีอิสรถสามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้
ช้างเลี้ยงคน คนเลี้ยงช้าง ?
ด้าน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อดีตคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มองว่า ปัจจุบันสังคมไทยต้องเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อช้าง เพราะช้างวันนี้ไม่ใช่สัตว์พาหนะใช้งานลากซุง ไม่ใช่สินค้า ไม่ใช่นักแสดงในสวนสัตว์ให้นักท่องเที่ยวชมอีกต่อไปแล้ว แต่ช้างคือสัตว์แสนรู้เป็นสัญลักษณ์อันน่าภาคภูมิใจของประเทศไทย ถ้าเราจับกระแสการท่องเที่ยวของโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะพบว่า มีการออกกฏหมายปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพช้าง ดังนั้นแม้แต่การให้นักท่องเที่ยวขึ้นนั่งช้างก็ถืิอเป็นสิ่งผิดกฏหมาย ดังนั้น หากยังปล่อยให้ช้างไทยถูกนำไปใช้งานแสดงโชว์ ให้นักท่องเที่ยวขึ้นขี่หลังท่องเที่ยวแบบเดิมๆ ไทยอาจถูกถูกแอนตี้จากนักท่องเที่ยวอเมริกาและกลุ่มประเทศยุโรปที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพช้าง และนิยมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสัตว์
นอกจากนี้ นายหาญณรงค์ ยังชี้ให้เห็นสถานการณ์การค้าสัตว์ป่าโดยเฉพาะช้างอีกว่า ปัจจุบันสินค้าจากชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆ ของช้าง มีวางขายอยู่บนร้านค้าออนไลน์ชื่อดัง หาซื้อได้ง่ายตั้งแต่ขนช้าง หางช้าง เครื่องรางจากงาช้าง อวัยวะแทบทุกส่วน แต่กฏหมายของไทยห้ามซื้อขายเฉพาะงาช้างเท่านั้น ดังนั้น หากยังไม่มีการควบคุมโดยกฏหมายอย่างครอบคลุม ช้างจะกลายเป็นสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะ พ.ร.บ.สัตว์พาหนะ พ.ศ.2482 ที่กำหนดให้ช้างเลี้ยงต้องทำตั๋วรูปพรรณช้างเมื่ออายุ 8 ปี ตนมองว่าเป็นกฏหมายที่ไม่เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้เกิดกรณีการลักลอบค้าช้างหรือส่งช้างไปต่างประเทศได้ และการค้าชิ้นส่วนอวัยวะโดยวิธีการสวมทะเบียนตั๋วช้างซึ่งตรวจสอบได้ยาก โดยในร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองช้างไทย ฉบับภาคประชาชน ได้บัญญัติว่าต้องขึ้นทะเบียนช้างมีความละเอียดชัดเจนมากขึ้น ต้องมีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ และฝังไมโครชิปช้างลูกช้างภายใน 7 วันนับตั้งแต่ตกลูก เพื่อจัดทำฐานข้อมูลรูปพรรณช้าง และกรณีช้างตายต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 12 ชั่วโมง ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้จะสามารถป้องกันช้างไม่ให้กลายเป็นสินค้า และป้องกันการพรากลูกช้างจากแม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สมัชชาช้าง นวัตกรรมกฎหมายเพื่อช้างไทย
ขณะที่ รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ประธานอนุกรรมาธิการศึกษาความเป็นไปได้การถ่ายโอนภารกิจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความคิดเห็นสนับสนุนร่าง พร.บ.สงวนและคุ้มครองช้างไทย ฉบับภาคประชาชนอย่างเต็มที่ เนื่องจากเชื่อว่าจะเป็นนวัตกรรมใหม่ในการแก้ปัญหาช้างในประเทศไทย ทั้งได้เสนอว่าควรมีการกำหนดให้เกิดสมัชชาช้างที่มีส่วนประกอบจากทุกภาคส่วน ทั้ง ภาครัฐ ภาคประชาชน และนักวิชาการ เพื่อเป็นกลไกใหม่ในการเสนอหรือพิจารณาการออกกฏหมายลูกภายหลังประกาศใช้ ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองช้างไทย ฉบับภาคประชาชน เพื่อถ่วงดุลอำนาจการออกกฎหมายลูกโดยอธิบดีกรมหรือรัฐมนตรี โดยต้องผ่านกระบวนการของสมัชชาช้างก่อน ซึ่งเป็นกระบวนการปรึกษาหารือตามระบบสังคมแบบประชาธิปไตย เช่น โมเดลของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในงานด้านสาธารณสุข เป็นต้น
รศ.ดร.ธนพร ชี้ให้เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองช้างไทย ฉบับภาคประชาชน ยังได้กำหนดให้มีกองทุนสนับสนุนปางช้างที่เป็นมิตรกับช้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ส่งเสริมให้ปางช้างหรือสวนสัตว์ ปรับรูปแบบการท่องเที่ยวให้สอดรับกับแนวคิดการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้างมากขึ้น แต่ควรมีการกำหนดโทษสูงขึ้นให้อยู่ในเกณท์สูง เช่น หากมีการทารุณกรรมช้าง ต้องกำหนดโทษให้ไปถึงเจ้าของธุรกิจ ไม่ใช่จับควาญช้างติดคุกฝ่ายเดียว และต้องมีโทษปรับสูง เช่น ปรับ 1 ล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้ปางช้างกล้ากระทำผิด เป็นต้น นอกจากนี้ควรมีการแต่งตั้งชาวบ้านเป็นผู้ช่วยปฏิบัติการ โดยได้รับความคุ้มครองและดูแลตามกฏหมาย เพื่อสามารถแจ้งความเอาผิดกับปางช้างหรือสวนสัตว์ได้หากพบว่ามีการกระทำทารุณกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยดูแลช้างได้อย่างทั่วถึง
กฏหมายหนุนเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้าง
ด้านอาจารย์ประสบ ทิพย์ประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านช้าง กล่าวว่า หัวใจสำคัญของกฏหมายเพื่อดูแลและปกป้องช้างไทย ต้องคำนึงถึงหลักการสวัสดิสัตว์ 5 ประการ เพื่อส่งสนับสนุนได้รับการดูแลทั้งทางร่างการและจิตใจ โดยเฉพาะช้างเลี้ยงที่อยู่ในปางช้างหรือสวนสัตว์ ที่ถูกนำมาใช้งานสร้างความบันเทิง แต่นักท่องเที่ยวไม่รู้ว่ากว่าช้างจะสามารถออกมาแสดงได้นั้น ต้องผ่านการฝึกอย่างหนัก หรือการถูกนำแหยง(ที่นั่ง) ขึ้นวางบนหลังช้าง เพื่อบริการนักท่องเที่ยวเดินบนพื้นปูซีเมนต์ร้อนๆ ทั้งวันโดยแทบไม่มีเวลาพัก ถือเป็นการทรมานช้างอย่างหนัก รวมไปถึงการอาบน้ำกับช้างและกิจกรรมต่างๆ ที่ผิดธรรมชาติของช้างนั้นก็เช่นเดียวกัน ผู้ประกอบการปางช้างจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการให้เป็นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับช้างมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบว่าหลายแห่งเรื่มมีการปรับเปลี่ยนมากขึ้น
“กฏหมายจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการปรับเปลี่ยนทิศทางการท่องเที่ยวให้เป็นมิตรกับช้างได้ ต้องมีการออกระเบียบที่ชัดเจนถึงการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับช้าง ช้างต้องกินอาหารที่หลากหลาย มีพื้นที่ขนาดใหญ่เพียงพอให้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเฝ้าสังเกตุ ได้เรียนรู้ความฉาดของช้าง ช้างรู้จักสมุนไพร แต่ละตัวมีนิสัยใจคอที่แตกต่างกัน การเรียนรู้จากควาญช้าง สิ่งเหล่านี้คือรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้การยอมรับ และเจ้าของปางช้างก็สามารถอยู่ได้ด้วย” อาจารย์ประสบ กล่าว