‘ช้าง’ สัตว์ใหญ่แสนฉลาด ถูกมนุษย์จับจากป่า บังคับฝึกเพื่อใช้งานตามคำสั่ง ในอดีตช้างไทยถูกนำมาใช้แรงงานชักลากไม้ในป่า กระทั่งมีการกฎหมายอนุรักษ์ป่า ปัจจุบันช้างจึงถูกปรับมาใช้งานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาล ทำให้มีการผสมพันธุ์ช้างเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก จากรายงาน “Taken for a Ride” ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Amimal Protection) ระบุว่า เมื่อเดือนมกราคม 2563 ร้อยละ 73 ของช้างเลี้ยงเพื่อการท่องเที่ยวทั่วเอเชียอยู่ในประเทศไทยจำนวนมากถึง 2,800 ตัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 จาก 10 ปีก่อน และพบว่าช้าง 3 ใน 4 ตัวของช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีสภาพความเป็นอยู่ในเกณท์ที่ต้องปรับปรุง อีกทั้งมีการตั้งข้อสังเกตว่า แนวโน้มการเพิ่มของประชากรช้างเลี้ยงในไทย ไม่ได้สะท้อนถึงประโยชน์ด้านการอนุรักษ์ช้างอย่างยั่งยืน แต่เป็นการเพิ่มเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเท่านั้น
ชะตากรรมของช้างไทยจึงถูกคุกคามและตีตราเป็น “สินค้า” อย่างครบวงจร ทั้งมูลค่าจากการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง รวมไปถึงการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายอย่างการค้าช้าง งาช้าง และชิ้นส่วนอวัยวะ
ไทยเปรียบดั่งศูนย์กลางของประเทศที่มีช้างจำนวนมาก มีการจัดสถานะแยกช้างออกเป็นช้างป่าและช้างเลี้ยง แต่กฎหมายที่มีอยู่กลับไม่ครอบคลุมการคุ้มครองสวัสดิภาพหรือป้องกันการทารุณกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ให้ความคุ้มครองเฉพาะช้างป่าเท่านั้น สำหรับกฏหมายฉบับอื่นยังมีช่องว่างให้เกิดการใช้งานช้างเลี้ยง และเสี่ยงให้เกิดการทารุณกรรมช้างมากกว่าการป้องกันสวัสดิภาพช้าง เช่น พ.ร.บ.สัตว์พาหนะ พ.ศ.2482 มีอายุกว่า 80 ปี ได้นิยามให้ช้างเป็นสัตว์พาหนะเพื่อใช้งาน มีข้อบังคับสนับสนุนให้เกิดการนำช้างป่ามาใช้งาน รวมถึง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ไม่ครอบคลุมรูปแบบการทารุณกรรมช้างเลี้ยง ดังนั้นช้างไทยจึงได้รับความคุ้มครองน้อยมากภายใต้กฎหมายในปัจจุบัน
ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวสำคัญขององค์กรและคนทำงานด้านสวัสดิภาพช้างไทย ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการร่าง พ.ร.บ.ปกป้องและคุ้มครองช้างไทย พ.ศ…. หรือที่เรียกย่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย ฉบับประชาสังคม โดยมีประชาชนที่สนับสนุนกฏหมายร่วมกันเข้าชื่อ 16,495 รายชื่อ ยื่นต่อรัฐสภาเรียกร้องให้เร่งผลักดันเข้าสู่ขั้นตอนการตรากฎหมาย นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการผลักดันกฎหมายคุ้มครองช้างไทยโดยเฉพาะ
นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เผยว่า สวัสดิภาพช้างไทยปัจจุบันประสบปัญหาในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะช้างเลี้ยงไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าช้างป่า และถูกฝึกเพื่อนำมาใช้งานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในรูปแบบที่ขัดกับพฤติกรรมธรรมชาติของช้าง เช่น โชว์ช้าง ขี่ช้าง ซึ่งกระบวนการในการฝึกก่อให้เกิดการทำร้ายและทารุณช้างมากมาย นอกจากนี้ช้างส่วนใหญ่ยังมีสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตแบบสัตว์ป่า
“ยิ่งไปกว่านั้น การผสมพันธุ์ช้างยังไม่เป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ช้างในป่าแต่อย่างใด มีแต่จะยิ่งทำให้จำนวนช้างเลี้ยงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับกระแสการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวหันมาใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์กันมากขึ้น และช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีช้างมากเกินไป จนไม่สามารถดูและช้างได้ในยามวิกฤต” นางสาวโรจนา กล่าว
นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่กระบวนการร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับสัตว์ในประเทศไทย มีการนำแนวคิดด้านสวัสดิภาพสัตว์ มาเป็นหัวใจหลักของกฎหมายโดยนายปัญจเดช สิงห์โท ที่ปรึกษาด้านนโยบาย องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ช้างไทยฉบับนี้ มีเนื้อหาที่มุ่งเน้นการพัฒนาสวัสดิภาพช้างไทย และยุติความรุนแรงต่อช้างในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการห้ามฝึกลูกช้างด้วยวิธีการที่โหดร้ายทารุณ หรือการนำช้างมาใช้งานที่ผิดกับพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้าง การยุติการผสมพันธุ์ช้างเชิงพาณิชย์ ยุติการส่งออกช้าง ยกเว้นเพื่อการอนุรักษ์และการวิจัย การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสวัสดิภาพช้างในสถานที่ท่องเที่ยวด้วยหลักอิสรภาพ 5 ประการ รวมไปถึงการจัดตั้งคณะกรรมการช้างแห่งชาติและกองทุนที่จะมาพัฒนาสวัสดิภาพช้างโดยตรง
“ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการยกร่างร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงช้าง องค์กรภาคประชาสังคมด้านการปกป้องสัตว์ เจ้าของปางช้าง นักกฎหมายและตัวแทนภาครัฐ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นร่วมตรงกันว่าช้างไทยสมควรได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเป็นระบบมากขึ้น เพราะหากปัญหาด้านสวัสดิภาพช้างไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบ และเกิดความเสียหายในระยะยาวได้” นายปัญจเดช กล่าว
“ช้างไทยสมควรได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเป็นระบบมากขึ้น เพราะหากปัญหาด้านสวัสดิภาพช้างไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบ และเกิดความเสียหายในระยะยาวได้”
อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยตรง ปางช้างทั่วประเทศต้องหยุดบริการเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ช้างมากกว่าครึ่งถูกปล่อยกลับภูมิลำเนา ช้างที่เหลืออยู่ถือเป็นภาระหนักที่เจ้าของปางช้างต้องดูแล ทำให้ความเป็นอยู่ของช้างไทยตกอยู่ในสภาวการณ์ย่ำแย่หนักขึ้นไปอีก
อาจารย์ประสพ ทิพย์ประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านช้างไทย กล่าวว่า ในกระบวนการที่ทุกฝ่ายร่วมกันยกร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย ไม่มีใครคาดคิดว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นปัจจัยกระทบและยืดเยื้อกว่า 2 ปี แต่วิกฤตครั้งนี้ทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นปัญหาของช้างไทยได้ชัดเจนมากขึ้น และสะท้อนถึงความจำเป็นในการผลักดันให้มีการบัญญัติกฎหมายฉบับนี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งหากปัจจุบันเรามีการจัดตั้งคณะกรรมการช้างแห่งชาติ หรือการมีกองทุนดูแลสวัสดิภาพช้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในเนื้อหาสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย น่าจะเป็นกลไกการบรรเทาและเยียวยาผลกระทบให้ช้างในสถานการณ์โควิดนี้ได้ และจะรับมือกับวิกฤตอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
“โควิดทำให้เราเห็นรากเหง้าของปัญหาช้างไทย ตอนนี้ช้างที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมดต้องตกงาน ต้องกลับไปยังจังหวัดต่าง ๆ บางส่วนเหลืออยู่ในปางช้าง เมื่อช้างทำงานไม่ได้เจ้าของก็ไม่มีเงินซื้ออาหารให้ช้างเพียงพอ ต้องใช้วิธีการนำไปมัดโซ่ยาวไว้ตามชายป่าหรือพื้นที่รกร้าง ให้เดินหาอาหารกินเอง สุขภาพช้างจึงแย่ลง หรืออาจขาดสารอาหารจนตายได้ จึงอยากเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วนดูแลช้างเหล่านี้ เหมือนเป็นวัคซีนโควิดให้ช้าง เช่น การอนุญาตให้ควาญช้างหรือเจ้าของช้างสามารถนำช้างไปเลี้ยงในพื้นที่ชายป่า หรือมีการกันเขตป่าอนุรักษ์เพื่อให้ช้างเข้าไปอาศัยหากินได้จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย โดยงดเว้นการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ชั่วคราว” อาจารย์ประสพ กล่าว
อาจารย์ประสพ กล่าวอีกว่า การหยุดชะงักของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ นับเป็นโอกาสดีให้รัฐเข้าไปจัดระบบโครงสร้างธุรกิจปางช้างหรือสวนสัตว์ให้มีความเป็นมิตรกับช้างมากขึ้น โดยการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย ฉบับภาคประชาสังคม เพื่อรองรับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวหลังโควิด และสอดคล้องกับกระแสการท่องเที่ยวของโลก ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีความตระหนักด้านสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น โดยจะเป็นส่งผลดีต่อสวัสดิภาพของช้างเลี้ยง และหนุนเสริมการอนุรักษ์ช้างป่าในระยะยาวด้วย เนื่องด้วยตัวบทต่าง ๆ ภายใต้ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดเพื่อแก้ปัญหาช้างไทยในอดีตอย่างครอบคลุมทุกมิติ
“ตอนนี้ไปจนถึงช่วงการฟื้นฟูหลังโควิด รัฐควรส่งเสริมให้ปางช้างมีความเป็นมิตรกับช้างมากขึ้น ตอนนี้อาจจัดทริปการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าไปสังเกตพฤติกรรมช้างที่กลับไปอยู่ในภูมิลำเนาต่าง ๆ เพื่อหารายได้สนับสนุนอาหารช้างเพื่อประคับประคองในช่วงโควิดไปก่อน หรือเชิญชวนผู้มีกำลังเร่งช่วยเหลือช้าง” อาจารย์ประสพ กล่าว
อนาคตของช้างไทยกำลังถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ภายใต้การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ช้างไทย ฉบับประชาสังคม สวัสดิภาพของช้างจึงไม่ใช่เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นสำหรับช้างเท่านั้น แต่ยังทางรอดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะเดินหน้าไปพร้อมกันด้วย