มะม่วง ที่สีไม่ม่วง แต่เป็นมะม่วง “สีทอง” เมื่อถึงฤดูกาลมะม่วง สิ่งที่จะสังเกตได้ชัดเจน คือ เราจะได้เห็นมะม่วงหลากหลายชนิดวางขายตามท้องตลาด ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ และความรสชาติความอร่อยแตกต่างกันไป
อยู่ดีมีแฮง จะชวนทุกท่านไปรู้จักกับพ่อแม่พี่น้องชาวเกษตรกรสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ที่เกษตรกรยืนยันว่า “ขายดี ได้ราคา” ที่ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ซึ่งที่นั่นมีแปลงสวนมะม่วงพื้นที่โดยรวมแล้วกว่า 7,000 ไร่ มีมูลค่าทางการตลาดในแต่ละปีกว่า 100 ล้านบาท
จุดหมายปลายทางวันนี้อยู่ที่บ้านโนนสว่าง ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ครับ ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร เมื่อก่อนปลูกอ้อย มันสำปะหลัง จำนวนมาก ต.กุดหมากไฟ เป็นตำบลที่ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีราว 60 กิโลเมตร ไม่ใกล้ไม่ไกลมากนัก ในปัจจุบันชาวบ้านหันมาทำสวนมะม่วงกันมากขึ้น จนกลายเป็นของดีประจำตำบล คือ การปลูกมะม่วงเพื่อจำหน่ายและส่งออกไปยังต่างประเทศ
“ปลูกมะม่วงมีอยู่ทั้งหมด 2 ตำบลที่ติดกันคือ ต.กุดหมากไฟ และ ต.อูบมุง รวมกันแล้วในอำเภอหนองวัวซอ ประมาณ 7,000 ไร่ ทั้งที่ได้ผลผลิตและไม่ได้ผลผลิต ในพื้นที่อำเภอหนองวัวซอชาวบ้านมักปลูกพืชระยะสั้น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง แต่รายได้หลัก ๆ ที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ กลับมาจากการปลูกมะม่วงนอกฤดู” ภูชิต อุ่นเที่ยว ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนรักมะม่วง เล่าให้ฟังถึงศักยภาพในพื้นที่ อ.หนองวัวซอ ถึงการปลูกมะม่วงที่เป็นที่นิยมของชาวบ้าน เพราะมีลักษณะเด่นของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง คือ จะมีผิวสีเหลืองทองในขณะที่ผลยังไม่สุก ผิวสวย จึงถูกเรียกชื่อว่าน้ำดอกไม้สีทอง และความต้องการของตลาดมีมาก ราคาดีกว่ามะม่วงชนิดอื่น ๆ
ฤดูกาลของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน และหลังจากนั้นเป็นการทำมะม่วงนอกฤดูก็จะได้ราคาที่ดีกว่าในช่วงที่เป็นฤดูกาล ซึ่งมะม่วงเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวแล้วสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายปี ไม่ต้องปลูกใหม่ทุกปีราคาที่ตกต่ำที่สุดอย่างน้อย ๆ กิโลกรัมละ 5 บาท ก็ยังสามารถอยู่ได้
การเก็บเกี่ยวผลผลิตอายุมะม่วงอยู่ที่ 90-110 วัน หากจะเก็บเกี่ยวมะม่วงนับจากวันที่ห่อถุงไว้ในระยะ 45 วัน หลังจากนั้นนับไปอีกระหว่างวันที่ 45-90 วัน จะเป็นช่วงเวลาที่มะม่วงแก่จัด จะสามารถรู้ได้เลยไม่ต้องเปิดถุงดูทุกถุง ถุงที่นำมาห่อเป็น “ถุงคาร์บอน”เพื่อป้องกันโรคและแมลง พร้อมเพิ่มสีผิวให้มีสีที่สวยงาม โดยมะม่วงที่จะทำการเก็บเกี่ยวนั้นจะเลือกมะม่วงที่สุกแล้วประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์
โดยแบ่งตามขนาดได้ 3 รุ่น เล็ก กลาง ใหญ่ ชาวสวนมะม่วงนิยมลงสวนเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเช้า เนื่องจากในช่วงที่ผลผลิตออกนั้นเป็นช่วงฤดูร้อน หากเลี่ยงเวลามากไปแสงแดดก็เป็นอุปสรรคสำคัญของชาวสวนมะม่วง ในการเก็บเกี่ยวหากไม่ต้องการเก็บจำนวนมากก็จะเป็นแรงงานภายในครอบครัว นำรถจักรยานยนต์พ่วงข้างพร้อมด้วยลังใส่มะม่วงก็สามารถลงมือเก็บตามใจชอบได้เลย แต่หากต้องเก็บผลผลิตจำนวนมากกว่า 10 ตันหรือ 10,000 กิโลกรัม ก็ต้องว่าจ่างชาวบ้านที่รวมกลุ่มกันมารับจ้างเก็บผลผลิตวันละ 300-350 บาท
มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองต้องคัดเกรดส่งขายเกาหลีใต้ได้ราคาดี
“เก็บใส่ลังมาแล้วก็จะนำไปคัดไซต์ เลือกขนาด 250 กรัมจนถึง 500 กรัม ที่มีลักษณะสมบูรณ์ก็ผ่านสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ แต่ขนาด 650 กรัม ขึ้นไปโอเวอร์ไซต์จำเป็นต้องคัดออกไม่สามารถส่งออกได้เพราะจะมีปัญหาในเรื่องของการจัดส่ง น้ำหนักเกินในการขึ้นเครื่องบินเพื่อส่งออก ไม่ผ่านเกณฑ์ แต่ไม่ใช่ตัวตกเกรดหรือไม่ดีไม่งาม ดีแต่เกินกำหนดที่เขากำหนดมาเราก็นำมาขายในประเทศของเรา ไม่ใช่ว่าทำไมคนไทยได้กินแต่ของไม่ดี ของตกเกรดไม่ใช่แบบนั้นครับ แต่ราคาช่วงนั้นจะสูงหน่อยตามตลาด”ภูชิต เล่าถึงการจัดการมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในการส่งออกขายต่างประเทศว่า นอกจากการเลือกขนาดแล้ว สิ่งสำคัญคือมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจะต้องเดินทางไปยังโรงอบเชื้อเพื่อทำการฆ่าเชื้อ เพลี้ยแป้ง และโรคเกี่ยวกับไม้ผลก่อนที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งในภาคอีสานยังไม่มีโรงอบฆ่าเชื้อนี้เพราะต้นทุนในการสร้างนั้นสูง ทำให้ราคามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองมีราคาที่สูงขึ้นไปอีกเมื่อบวกราคาโรงอบฆ่าเชื้อและการขนส่งไปยังต่างประเทศประมาณกิโลกรัมละ 55 บาท
ชาวสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่นี่หลายคนเคย “ไปนอก” แล้วกลับมาทำสวนมะม่วง
เหล่าแรงงานจากอุดรธานี หลายคนเคยเดินทางไปทำงานเมืองนอกเพราะหนีความแร้นแค้น ด้วยความหวังอยากจะอยู่ดีมีสุข ทำให้ต้องเดินทางไปทำงานต่างแดน ใน ต.กุดหมากไฟ ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน ที่มีแรงงานต้องไปทำงานต่างประเทศอย่างเช่น จำรัส บุญสิทธิ์ เจ้าของสวนมะม่วง 12 ไร่ในวัย 38 ปี ที่เดินทางกลับจากขายแรงงานในประเทศเกาหลีใต้ผ่านหนาวผ่านประสบการณ์ในต่างแดน จนกลับมาทำสวนมะม่วงตามรอยของพ่อแม่โดยการเปลี่ยนจากการปลูกมะม่วงแบบตัวคนเดียว หันมาร่วมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนรักมะม่วงในบ้านเกิดตัวเอง
“การเข้าร่วมกลุ่มดีนะครับ เพราะเวลาเราไปต่อรองการซื้อขาย การเลือกซื้อปัจจัยการผลิตปุ๋ย หรืออื่น ๆ จะได้ราคาที่ดีกว่าการไปซื้อคนเดียวเสมอ ต่อรองได้ ได้ราคาที่ถูกลง ต้นทุนถูกก็มีกำไรมากในการขายมะม่วงในแต่ละปี” พี่จำรัส ชวนพูดคุยพร้อมเดินไปในสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปก่อนหน้านี้แล้วประมาณ 1 เดือน ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนหลังการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ยอดมะม่วงแตกยอดอ่อนใหม่เพื่อรอรับการทำมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนอกฤดูกาลอีกครั้ง การดูแลรักษาจะต้องดูแลช่วงนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงรอยต่อจากการเก็บเกี่ยวในครั้งที่แล้วเพื่อรอรอบใหม่ ซึ่งหลายสวนใน ต.กุดหมากไฟ ก็กำลังเร่งมือเช่นเดียวกัน
ถัดจากสวนพี่จำรัส ประมาณ 2 กิโลเมตร เส้นทางภายในชุมชนก็เดินทางมาถึงสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองของอดีตนักท่องฝันต่างแดนอีกคนอย่าง อำพร เมยมงคล เกษตรกรสวนมะม่วงในวัย 58 ปี ที่กำลังขับรถไถสีส้มคันใหญ่ในแปลงที่นาบนผืนที่ทำกิน ส.ป.ก. ที่ถูกเปลี่ยนจากแปลงปลูกมันสำปะหลังมาสู่สวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง และเกษตรกรรมแบบผสมผสาน
“ปลูกเฉพาะมะม่วงพื้นที่ทั้งหมด 30 ไร่ครับ แบ่งเป็นโซน เมื่อก่อนปลูกมะม่วงเขียวเสวย และน้ำดอกไม้ แต่ไม่เคยมีการผลิตนอกฤดูกาล ทำส่งขายต่างประเทศ ขายแบบธรรมดาตามบ้านเรา กิโลกรัมละ 10 -20 บาท เมื่อก่อนไปเมืองนอก ไม่มีอาชีพที่มั่นคง ตอนนี้ก็มาปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองครับ ใช้พื้นที่ไม่ให้เหลือครับ ปลูกทั้งหมด”
พ่ออำพร เจ้าของสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเล่าพรางเดินเข้าไปในสวนที่กำลังมีคนงานอยู่ภายในสวนนับ 10 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านและชาวสวนมะม่วงจากหมู่บ้านข้างเคียงกันเดินทางมารับจ้างตัดแต่งกิ่งต้นมะม่วงที่เก็บผลผลิตไปแล้ว หลายคนดูทะมัดทะแมง สวมหมวก แต่งตัวมิดชิด พร้อมกับเครื่องมือตัดแต่งกิ่งอย่างมีดเคียวเกี่ยวข้าวที่ถูกดัดแปลงต่อเติมใส่กับไม้ด้ามยาว บ้างก็มีพี่ ๆ ปีนป่ายไปบนต้นมะม่วงเพื่อตกแต่งกิ่งต้นมะม่วง เป็นบรรยากาศที่สนุกสนานซึ่งต่างกับบรรยากาศที่แดดร้อนระอุเกินกว่าจะบรรยายได้ในช่วงหน้าร้อนแบบนี้
“ตัดแต่งกิ่งเพื่อไม่ให้ทรงพุ่มมันใหญ่เกินขนาด เพื่อทำให้พวกแมลงไม่มาพึ่งพิงอาศัยจนทำให้เกิดโรคกับไม้ผลได้ และเพื่อให้แสงแดดสามารถลอดผ่านลงมาได้ทั่วถึง จะทำให้สามรถดูแลรักษาได้ง่ายขึ้น”
พ่ออำพร เล่าว่า ในปีที่ผ่านมาเฉพาะโซนที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพียง 3 ไร่ จำนวน 160 ต้น สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จำนวน 6,000 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 18 บาท ถือเป็นรายได้ที่ดี การขายก็สะดวกเพราะเราเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนรักมะม่วง และมีอีกกลุ่มที่อยู่ในตำบลเดียวกัน เราจึงมีความมั่นคงในการขาย อีกทั้งมีเหล่าพ่อค้าคนกลางจะนำรถเข้ามารับซื้อถึงหน้าสวนแต่ก็เป็นส่วนน้อย ทำให้มีรายได้ตลอด
มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองสร้างรายได้หลัก 100 ล้านเข้าสู่ อ.หนองวัวซอ
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนรักมะม่วง ตั้งอยู่ที่บ้านโนนสว่าง ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซวอ จ.อุดรธานี ซึ่งถูกจัดเป็นการบริหารจัดการแบบวิสาหกิจชุมชน จากการรวมกลุ่มผู้ประกอบการสวนมะม่วงทั้งหมด ที่สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม โดยมีการรับซื้อผลผลิตที่เป็นมะม่วง ทั้ง มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 มะม่วงแก้ว มะม่วงฟ้าลั่น และอื่น ๆ โดยราคาจะขึ้นอยู่กับกลไกลตลาดในแต่ละช่วงเวลา หรือนอกฤดูกาล แต่ละสัปดาห์แต่ละเดือน เช่น บางเดือนรับซื้อกิโลกรัมละ 125 บาท เดือนถัดไปก็อาจจะ 100 บาทก็เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับราคาตลาดในแต่ละช่วง
“กลุ่มก็จะเป็นจุดรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรนำมารวมกัน เพื่อง่ายต่อบริษัทที่มาทำการรับซื้อ ภาพรวมของทั้งอำเภอรายได้ที่เกี่ยวกับไม้ผลไม้มากกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ขึ้นอยู่กับช่วงของราคา แต่ใน 1-2 ปีที่ผ่านมานี้น่าจะเหลือประมาณ 60 – 70 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจากปัญหาโรคโควิด-19 ไม่สามารถส่งออกได้”
พี่ภูชิต อุ่นเที่ยว สะท้อนปัญหาที่ชาวสวนมะม่วงกำลังประสบปัญหาในการส่งออกมะม่วงในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องมีการงดเที่ยวบิน และการบินพรมแดนทำให้ชาวสวนมะม่วงต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้นในการหาช่องทางการระบายสินค้า ทั้ง การขายออนไลน์โดยการส่งทางขนส่งเอกชน การออกบูธขายตามห้างสรรพสินค้าที่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ ในการเปิดพื้นที่ตลาดให้ และการนำไปวางขายเองตามข้างถนนในชุมชนโดยจะเห็นได้ตามเส้นทาง จากตัว อ.หนองวัวซอ มาจนถึงบ้านโนนสว่าง แต่แหล่งตลาดหลักที่ยังสามารถซื้อขายได้อยู่ตอนนี้ก็คือตลาดเมืองทองเจริญศรี อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวนเพื่อนำไปกระจายสินค้าต่อไปตามแหล่งต่าง ๆ ทั้งรายใหญ่ที่ สปป.ลาว จ.อุดรธานี และใกล้เคียงที่เป็นรายย่อย
ติดขัดจากโควิด-19 ตลาด สปป.ลาว ส่งออกไม่ได้ ต้องขายภายในประเทศ
ตลาดเมืองทองเจริญศรี จ.อุดรธานี เป็นตลาดที่มีการซื้อขายพืชและผลไม้ที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรใหญ่ที่สุดในอีสานตอนบน เชื่อมต่อลาว จีน เวียดนาม ปัจจุบันยังมีความคึกคักในระดับหนึ่งแม้มีผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ก็ตาม แต่การขนส่งและกระจายสินค้าไปตามจุดต่าง ๆ ยังคงดำเนินอยู่ ล้งมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในอาคารชั้นที่ 2 หลังสำนักงานเป็นอีกเจ้ารายใหญ่รายประจำที่รับมะม่วงจากสวนใน อ.หนองวัวซอ เพื่อนำมาส่งต่อไปยังรายอื่น รับซื้อมะม่วงในแต่ละวัน ๆ ละประมาณ 1-2 ตัน หรือ 1,000-2,000 กิโลกรัม บรรทุกใส่หลังรถกระบะมาลงทุกช่วงหัวค่ำ
“เราก็ส่งลูกค้าที่เป็นรายย่อยในตลาดนี้ไปก่อน ตอนนี้ส่งออกไป สปป.ลาว ขายไม่ได้เลย ตายแน่ ๆ ไม่สามารถส่งออกได้” แม่ค้าผู้รับซื้อมะม่วงเล่าสถาการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นของตลาดส่งออกในปัจจุบันว่าต้องปรับตัวหาตลาดที่เล็กลง เพื่อระบายสินค้าให้ทัน และกระจายจุดขายรายย่อยเองบ้างตามชุมชนต่าง ๆ
อาชีพเกษตรกรเป็นหนึ่งอาชีพที่ต้นทุนสูง ทั้งที่ทำกิน แรงงาน หากไม่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือภัยพิบัติทั้งโรคระบาดและภัยธรรมชาติมาเป็นตัวกระตุ้นนั้นก็ถือว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง แต่ด้วยอุปสรรคปัญหาที่ต้องเผชิญ ทั้ง ในดิน น้ำ ฟ้า อากาศ และโรคระบาด ก็ทำให้ต้องช่วยเหลือกัน ซึ่งการรวมกลุ่มผู้ประกอบการอาจจะไม่สามารถต่อรองราคาแบบที่ต้องการได้อย่างว่า แต่ก็สามารถที่จะช่วยลดภาระของแต่ละผู้ประกอบการได้ ทั้งต้นทุน แรง และช่องทาง
“อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่ผมภูมิใจมากเพราะเป็นอาชีพที่อิสระ สุจริต สามารถอยู่กับครอบครัวได้ ดูแลพ่อแม่ ดูแลลูกเมีย ไม่ได้ห่างไปไหนไกลบ้านทำอะไรหลายอย่างร่วมกัน เป็นอาชีพที่กำหนดรายได้ตัวเองได้ หากขยันมากพอ” ทิ้งท้ายกันด้วยข้อความนี้ ที่ตัวผู้เขียนเองไม่อาจสามารถเข้าใจได้ลึกซึ้งไปมากกว่าผู้ที่กำลังสื่อสารอยู่ตรงหน้าอย่าง ภูชิต อุ่นเที่ยว แต่สิ่งที่เห็นได้จากออกเดินทางมาเรียนรู้ ทำความรู้จัก ในครั้งนี้ก็ทำให้ได้เข้าใจอย่างหนึ่งว่า แม้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเท่าไร แต่ความเข้าอกเข้าใจกันของคนอีสาน ความอดทนอดกลั้น และ “ตุ้มโฮม” รวมกลุ่มกันเพื่อหาทางอยู่ ทางรอด ทำให้วันหนึ่งมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นได้ นี่คือเรื่องราวบางช่วงบางตอนของเกษตรกรสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จากกุดหมากไฟ จ.อุดรธานี “อยู่ดีมีแฮงครับ”