“ก้อยกุ้ง” ถ้าหากเป็นคนอีสานขนานแท้ก็จะร้อง อ๋อ.. แล้วนึกภาพออกทันทีเพราะ “ก้อยกุ้งฝอย” หรือ“กุ้งเต้น” เป็นเมนูที่ชาวอีสานนั้น “มักคัก” คือ ชื่นชอบอย่างมาก ในการนำกุ้งฝอยที่หาได้ตามแหล่งน้ำในชุมชน เพื่อนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้ง ก้อย แจ่ว ลาบ ทอดกุ้งฝอย ใส่ไข่ไก่ด้วยก็มี หรืออีกมากมาย แต่ด้วยทุกวันนี้หลายชุมชนก็หากุ้งฝอยได้ยากมากขึ้น ไม่ต้องเอ่ยถึงชุมชนที่เป็นเมือง ที่คุณก็ไม่อาจสามารถไป “ช้อนกุ้งเต้น” ได้ตามแหล่งน้ำชุมชนได้วันนี้อยู่ดีมีแฮงชวนคุยกับ ฟ้า ส.ต.อ.ฟ้าลิขิต พูนประสิทธิ์ ตำตรวจตระเวนชายแดน วัย 28 ปี ภูมิลำเนาจาก จ.ชัยภูมิ เจ้าหน้าที่วิทยุสื่อสาร ประจำค่ายเสนีย์รณยุทธ จ.อุดรธานี ผู้ซึ่งมีบทบาทอาชีพอีกด้านหนึ่งที่เราสนใจนั่นคือ พ่อค้ากุ้งฝอย
เริ่มต้นอาชีพด้วยความชื่นชอบ
“ตอนนั้นผมอยากกินกุ้งฝอย เมนูที่ชอบคือ ก้อยกุ้งเต้น พอไปหาซื้อตามตลาดก็ไม่มีให้เห็นเลย จึงมานั่งคิดนอนคิดว่า น่าจะเป็นโอกาสดีในการสร้างรายได้ จึงเริ่มศึกษาผ่านยูทูป” ฟ้า เล่าถึงจุดแรกเริ่มที่ตัดสินใจว่ากุ้งฝอยจะเป็นตัวสร้างรายได้ให้กับตัวเอง เริ่มต้นจากปัญหาที่ไม่มีพ่อค้าแม่ค้าแก้ไขให้เขาได้ จึงเริ่มต้นการศึกษา เรียนรู้ผ่านยูทูปช่องต่าง ๆ และอ่านหนังสือการตลาด แนวคิดร่วมไปด้วยกับการทำงานประจำ แต่ด้วยมีเพียงแนวคิดและความอยากเท่านั้นไม่เพียงพอที่จะสร้างความฝันนี้ขึ้นมาได้ เขาเริ่มต้นพูดเรื่องราวที่เขาอยากจะทำให้กับรุ่นพี่คนสนิทที่ทำงานร่วมกันในค่ายตำรวจตระเวนชายแดน
“พี่ผมจะทำบ่อกุ้งฝอย ผมขอใช้พื้นที่นาพี่หน่อยประมาณ 10 ตารางเมตรนี่แหละ” ฟ้าใช้ความสนิทสนมกับรุ่นพี่ที่ทำงานร่วมกันมาได้ 2 ปีกว่า นำเสนอแนวคิดการสร้างรายได้จากการเลี้ยงกุ้งฝอยที่มีเพียงทุนจากเงินเก็บจากเงินเดือนข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดนไม่มากนัก ที่ดูแล้วยังเป็นเพียงแค่เรื่องของคำพูดเท่านั้น แต่ด้วยความตั้งใจในการทำงานเป็นข้าราชการอยู่แล้วทำให้รุ่นพี่ตอบตกลงที่จะอนุญาตให้ฟ้า ทดลองเลี้ยงกุ้งในพื้นที่บ้านสวนตามคำขอ
หาตลาดและลูกค้าให้ได้ก่อนเริ่มลงทุนสร้างบ่อกุ้งฝอย
“ความเสี่ยงที่น้อยที่สุดคือ การลองตลาดก่อน ไม่จำเป็นว่าเราจะมีสินค้าในมืออยู่หรือไม่แล้วผมก็ทำใบปลิวออกเดินไปหาร้านอาหาร ผมตรวจสอบความต้องการของตลาดก่อน ก่อนขายผมบอกเขาว่าอีก 1 เดือนข้างหน้าผมจะเปิดบ่อกุ้งฝอย แต่ผมมาหาตลาดก่อนมาตามหาลูกค้าก่อน ซึ่งเป็นการหาตลาดแบบไม่ต้องลงทุนก่อนเลย” แนวคิดนี้ ฟ้าเล่าว่าได้จากการอ่านหนังสือเพียงไม่กี่เล่ม เขาพยายามมองหากลุ่มลูกค้าก่อนโดยการเดินเข้าไปถามร้านอาหารที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับบ่อกุ้งฝอยที่กำลังจะเปิดใน ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยยังไม่สนใจลูกค้าทางออนไลน์เลย เพราะเขาเชื่อว่าการตรวจสอบตลาดด้วยตัวเองนั้นจะทำให้เขาได้รู้จักพฤติกรรมของลูกค้าที่แท้จริง และสามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างที่เขาเคยพบปัญหาของการหากุ้งฝอยในตลาดไม่เจอ
3 เดือน ผ่านไป แรกเริ่มไม่ง่ายพบปัญหาที่ต้องแก้ไข
“ยอดที่สั่งครั้งแรกขายได้ 5-6 กิโลกรัม ทั้งดีใจทั้งเสียใจ ตักกุ้งฝอยในบ่อไปทั้งตัวที่ตายและตัวเป็น ๆ เหลืออย่างละครึ่ง เหนื่อยและท้อแท้เลย ช่วงแรกที่เราเรียนรู้เกิดการสูญเสียเยอะเราก็ปรับตัวหากุ้งที่อยู่ในพื้นที่อีสานแทน”
บ่อกุ้งฝอยของฟ้าเริ่มแรกเขาติดต่อซื้อพันธุ์กุ้งฝอยจากพื้นที่ภาคกลาง ทำให้กว่าจะส่งกุ้งมากับรถยนต์จนมาถึงอุดรธานี ก็ทำให้กุ้งอ่อนแอไปมาก หากจะลงทุนสร้างฟาร์มใหญ่ ๆ เองก็ใช้งบประมาณมาก อีกทั้งระยะเวลาของการเลี้ยงกุ้งจนสามารถที่จะขายได้นั้นอยู่ที่ 4 เดือนกว่า หากทำน้อยจะไม่ได้อะไรเลย ฟ้าจึงเลือกที่จะเป็นบ่อพักกุ้งที่ซื้อกุ้งมาเพื่อเตรียมจำหน่าย ซื้อมาขายไปได้คล่องตัวกว่า แต่ก็ต้องอาศัยการดูแลเช่นเดียวกันกับการเลี้ยงกุ้งฝอยจากบ่อธรรมชาติ ปัจจุบันจึงเลือกกุ้งที่มาจากฟาร์มใน จ.ขอนแก่น ซึ่งทำให้การเดินทางมีระยะทางใกล้กว่า เมื่อกุ้งฝอยมาถึงบ่อจะทำให้กุ้งไม่ฝ่อและตัวโตดีเหมาะแก่การจำหน่าย
เมื่อเริ่มต้นเลี้ยงกุ้งฝอยมีหลายอย่างต้องให้ความสำคัญ ธรรมชาติของกุ้ง แสงแดด และคุณภาพน้ำ
“กุ้งฝอยเขาไม่ชอบแสงจ้า แสงแดดแรง ธรรมชาติของเขาจะอยู่ในน้ำลึก กลางคืนหากไม่มีแสงแดดแล้วเขาจะลอยขึ้นมาอยู่บริเวณผิวน้ำ” บ่อกุ้งของฟ้ามีทั้งหมด 6 บ่อ ขนาด กว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร ความสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร ภายในบ่อเลี้ยงกุ้งฝอยจะมีกระชังที่ทำด้วยท่อพีวีซีหุ้มด้วยตาข่ายสีฟ้า และการวางระบบออกซิเจนในน้ำที่เปิดตลอดเวลา ซึ่งการเลี้ยงกุ้งฟ้าให้ความสำคัญกับคุณภาพของน้ำที่ต้องตรวจสอบคุณภาพของน้ำอยู่เสมอทุกครั้งที่ใช้น้ำเปลี่ยนในบ่อ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยแร่ธาตุเพิ่มเติมอย่าง เกลือ เพื่อใช้เป็นแร่ธาตุให้กุ้งอารมณ์ดี พร้อมทั้งตรวจสอบอุณหภูมิของน้ำไม่ให้สูงเกินไป เนื่องจากบ่อที่สร้างขึ้นนั้นไม่เหมือนธรรมชาติจึงต้องอาศัยพืชที่สามารถให้กุ้งฝอยหลบซ่อนตัวจากแสงแดดได้ โดยส่วนหนึ่งต้องอาศัยการสร้างโรงเรือนที่ปลอดภัยจากแสงแดด พืชที่ใช้ก็จำเป็นจำพวก แหน ใบไผ่ ใบมะพร้าว โดยไม่นิยมพืชที่มียางเพราะจะทำให้น้ำเป็นพิษ นอกจากนี้การสร้างกระชังนั้นยังช่วยให้กุ้งได้มีที่ยึดเกาะได้ เพราะหากขาดที่ยึดเกาะจะทำให้กุ้งลอยอยู่ในน้ำแล้วอ่อนแอ และตายลงในที่สุด
ใช้เวลาว่างสร้างเงิน ขายกุ้งฝอยรายได้อย่างน้อย 1,500 บาทต่อวัน
“ผมออกตลาดไปแค่ 30 นาที กุ้งฝอย 3 กิโลกรัมผมหมดเลย หลังจากเสร็จภารกิจผมก็ออกไปขายกุ้งฝอยไปก่อนทำงานในตอนเช้า ตอนเย็นหลังเลิกงานก็ไปขายอีกไม่มีผลกระทบต่องานข้าราชการ” กล่องโฟมพร้อมเครื่องออกซิเจนขนาดพกพา และกุ้งมัดใส่ท้ายรถจักรยานยนต์เพื่อมุ่งหน้าไปยังตลาดนัด และตลาดเช้าในเกือบทุกวันของฟ้า เพื่อไปนั่งขายกุ้งฝอยเป็นภาพที่ชาวบ้านเริ่มเห็นและจำภาพนี้ได้ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา กุ้งฝอยในถ้วยขนาดเล็กในราคาถ้วยละ 20 บาท ขาย 3 ถ้วย 50 บาท ทำให้ชาวบ้านที่เดินทางมาจ่ายตลาดต่างแวะเวียนซื้อกุ้งฝอยของฟ้าเพื่อนำไปประกอบอาหาร ทำให้ปัจจุบันฟ้ามีร้านค้าประจำที่รับกุ้งฝอยไปจำหน่ายต่อ และร้านอาหารที่ต้องการเมนูอาหารอีสานอย่าง ก้อยกุ้งฝอย ตำกุ้งเต้น เทียวมารับซื้ออยู่ในทุก ๆ วัน
แม้มองว่าอาชีพราชการตำรวจมั่นคง แต่โลกยังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“ถ้ามีรายได้ช่องทางเดียวผมว่ามันไม่พอ รายได้ขึ้นไม่มาก แต่ค่าใช้จ่ายมันขึ้นทุกปี อาชีพข้าราชการผมคิดว่ามันมั่นคง แต่ภาระของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากมีครอบครัว หรือมีพ่อแม่ที่ต้องดูแลเราจะใช้แต่กระเป๋าตัวเองก็ไม่ได้มันต้องดูแลคนข้างหลังต้องหารายได้เพิ่ม งานข้าราชการมั่นคงแต่ไม่เพียงพอต่อคนข้างหลัง”
อีกแรงผลักดันในการใช้ชีวิตของฟ้าคือครอบครัว พ่อและแม่ที่ต้องดูแล ภาระของลูกผู้ชายที่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าอยู่ได้และดีด้วยนั้นทำให้นี่อาจจะเป็นใจความสำคัญหนึ่งในการที่เขาตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง อย่างการตัดสินใจเริ่มเลี้ยงกุ้งฝอยเพื่อจำหน่ายอย่างทุกวันนี้
สนุกกับชีวิตการทำงาน เติมความฝันด้วยการลงมือทำ
“คนหลายคนกลัวตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ทั้ง ๆ ที่ข้างหน้ายังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย การเริ่มต้นที่ดีคือมีแนวคิด เรียนรู้ และลงมือทำ” ดูเหมือนว่าฟ้ายังมีพลังเต็มเปี่ยมในการใช้ชีวิตของเขาแม้ปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจหรือโรคระบาดเองก็หนักหนาเอาเรื่อง แต่การจะเดินตามฝันหากกลัวที่จะลงมือทำนั้นก็เหมือนการทำลายโอกาสของตัวเองดีดีนี่เอง การไม่คาดเดากับเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น เรียนรู้เรื่องราวนั้น ๆ แล้วลงมือทำแม้ไม่พร้อมก็เป็นแนวคิดของตำรวจตระเวนชายแดนหนุ่มที่มีอีบทบาทเป็นพ่อค้ากุ้งฝอยที่เรานำมาเป็นกำลังไฟ และกำลังใจให้กับผู้ที่จะทำอะไรสักอย่างเพื่อตัวเองและครอบครัว