บทเรียนกินได้กับโภชนาการบนถาดหลุม

บทเรียนกินได้กับโภชนาการบนถาดหลุม

เลือกเอง กินเอง และออกแบบการเรียนรู้เอง เป็นความร่วมมือของสมาชิกโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนควบคู่กับเมนูอาหารกลางวันในห้องครัว

คุณครูชาญณรงค์  ภัทรมานนท์ หรือที่เด็ก ๆ เรียกกันว่า “ครูเกาหลี”  ได้ปักหมุดสื่อสารเล่าเรื่องมากับ C-site บอกว่า หลังจากได้ลองคิดออกแบบเมนูอาหาร อิ่มละ 21 บาท จนเป็นที่ฮือฮาในสื่อสังคมออนไลน์ร่วมกับ TCDC ขอนแก่นในช่วงที่ผ่านมา

ตอนนี้เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ได้ชวนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มาเรียนรู้เรื่องหลักโภชนาการ อาหารตามหมวดหมู่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้  ในรายวิชาบูรณาการท้องถิ่นศึกษา ที่อยู่ภายใต้การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ซึ่งเรียนเป็นประจำในช่วงบ่ายของวันอังคาร โดยที่นักเรียนได้นำถาดหลุมที่ตัวเองออกแบบ มาวิเคราะห์สารอาหาร เตรียมพร้อม ก่อนลงมือปรุงอาหารในแต่ละเมนู

เด็กที่โนนชัยพื้นฐานครอบครัวเขาไม่ใช่เด็กที่ร่ำรวย ก็เลยให้เขามองตัวเองว่าถ้าเราจะกินข้าวในหนึ่งมื้อ เพื่อลดภาระ ลดค่าใช้จ่ายเราจะทำอย่างไร โดยที่อาหารเหล่านั้นที่เราจะกินมันเป็นอาหารที่ประหยัดและมีคุณค่าก็เลยกลายมาเป็นบูรณาการเรื่องอาชีพสร้างสรรค์” ครูนันทนา ลีโคตร หรือครูนัน บอกเล่าถึงกิจกรรมเรียนรู้บนถาดหลุม

“เดิมทีเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ทำเราจะทำค้นพบตัวเองค้นพบอาชีพ เพื่อต่อยอดให้เด็กเขารู้จักตัวเองและเลือกเรียนสาขาที่ถนัด หรือสิ่งที่เขาต้องการต่อยอดในอนาคตได้ แต่ว่าด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้เรื่องนี้ที่จะทำค่อนข้างที่จะทำได้ยาก เราเลยมองถึงวิกฤตนี้ ถ้าเราต่อยอดตรงนี้ไม่ได้เรามีแนะแนวอยู่ เราควรที่จะหันมาใส่ใจครอบครัวดีไหม เพราะว่าพี่เห็นปัญหา พ่อแม่เด็กหลายคนโดนเลิกจ้าง ไม่มีงานทำ เราเลยมองว่าเอาฐานของครอบครัวกับฐานของเด็กดีกว่า เราเล็งเห็นในชีวิตประจำวันของเด็กมีรายจ่าย แล้วเด็กมัธยมมาโรงเรียนก็ต้องจ่ายค่าข้าว คือเด็กมัธยมก็ต้องจ่าย 10 บาทค่ะ ก็เลยคิดว่าเราจะทำอะไรดีให้เด็กต่อยอดได้ในภาวะนี้ เลยนึกถึงเรื่องการทำอาหาร

ซึ่งเริ่มแรกก็จะเป็นเราแบ่งเป็นสามหน่วยค่ะ ก็คือบทเรียนกินได้ คือให้เด็ก ๆ ได้ลองทำอาหารก่อน คือทำอย่างไรที่จะทำกับข้าวให้คนในครอบครัวกิน แล้วต่อยอดที่โรงเรียนทำกับข้าวให้เพื่อน ๆ ได้กินกัน ในงบที่มันจำกัดแบบนี้ค่ะ มันเลยเชื่อมโยงกับ TCDC กับเรื่อง 21 บาทพอดี  เราทำบทเรียนกินได้ ก็คือจะเป็นการให้เด็ก ๆ ได้ทดลองเลือกเมนูอาหารที่เด็ก ๆ อยากทาน เราจะแบ่งเป็นสามกลุ่ม เลือกเมนูที่เด็ก ๆ อยากทาน แล้วให้โหวตกันค่ะ ก็เน้นประชาธิปไตยโหวตกันว่าเด็ก ๆ อยากเลือกเมนูไหนที่สามารถทำได้ง่ายและประหยัด นึกถึงฐานความเป็นจริงว่าเราต้องพอเพียง งบเราน้อย เพื่อต่อยอดไปถึงครอบครัวเด็ก ๆ ทุกคน เด็ก ๆ เขาก็โหวตกัน”

บทเรียนที่ 1

บทเรียนแรกจะเป็นบทเรียนกินได้ แต่เรายังไม่ได้กินค่ะ เราโดนโควิด-19 ชะงักก่อน  เด็ก ๆ ก็ถามเอยู่ เราก็เสนอไอเดียไปประมาณนั้น แต่ว่าคือมันยังอยู่ในช่วงที่เด็ก ๆ จะต้องสื่อสารกับผู้ปกครองก่อน คิดว่าตัวเองน่าจะได้ลุยกับผู้ปกครองสำหรับคนที่พร้อมก่อน เมื่อก็ได้ไอเดียกับครูเกาอยู่ว่าเราจะนัดเฉพาะกลุ่มย่อยมาทดลองก่อนที่โรงเรียน แต่ว่าครูนันไปเยี่ยมบ้านเด็ก ห้องหนึ่งคือเยี่ยมหมดแล้ว แต่มีผู้ปกครองบางคนค่อนข้างเป็นห่วงเรื่องโควิด-19 เราก็เลยจะต้องคุยกันมากพอสมควร แล้วก็ประสานผู้ปกครองโดยตรง ตอนนี้ใจเราอยากลุยแล้ว เราอยากให้เด็กมาลองทำแล้วค่ะ ทำให้ตอบโจทย์ครอบครัว พ่อมีเท่านี้หนูสามารถไปจ่ายตลาด แล้วสามารถมาทำกับข้าวให้พ่อกินได้ไหม คือพี่จะคิดแบบนั้นเหมือนปกติ คือ New normal ที่เป็นปกติที่บ้านค่ะ  แต่เด็กควรลงมือทำเองโดยที่เด็กบอกพ่อแม่ได้ว่ากินอาหารแบบไหนดี  

บทเรียนที่ 2

พอเด็ก ๆ ได้กินแล้ว เอามาให้เพื่อนได้กิน เพื่อน หมายถึงเพื่อนในสายมัธยมมีทั้งหมดประมาณ 120  คน คือให้เด็ก ๆ เขามาโหวต อันนี้เป็นบทเรียนที่เริ่มติดปีกค่ะ หน่วยที่สองเป็นบทเรียนติดปีกก็คือ ต่อยอดให้เพื่อนได้กิน แต่คราวนี้มันจะต่างจาก TCDC ตรงที่อันนั้นคือเด็กเลือก แม่ครัวเป็นคนทำ แต่ตอนนี้คือเด็กเลือกแต่เด็กทำ แล้วก็จะมีการโหวตเมนูเหมือนกัน แต่ติดปีกที่สอง ปีกแรกคือคือได้กิน ปีกสองคือต่อยอดมีการแชร์มีการโพสต์ให้เป็นสาธารณะ ได้โหวตได้รู้ว่าเด็ก ๆ ได้ทำเมนูนี้

บทเรียนที่ 3

เราคิดไปถึงบทเรียนที่สาม คือบทเรียนชีวิต หลังจากที่เขาทำกับข้าวให้เพื่อนกินได้ สามารถถ่ายทอดโซเชียลแล้ว  มีการโหวต มีการให้คำแนะนำจากเพื่อนพี่น้องในโนนชัย หรือแม้แต่ผู้ปกครองที่ได้สัมผัสกับบทเรียนที่หนึ่งบทเรียนกินได้แล้ว ให้มาคอมเม้นต์ ยิ่งคอมเม้นต์เยอะยิ่งให้คำแนะนำเยอะตัวนั้นเป็นกลยุทธ์ในการให้คะแนน แต่ว่ามากกว่าคะแนนคือมันเป็นบทเรียนชีวิต คือมันได้สิ่งที่นำมาปรับปรุงต่อยอดกับเมนูอาหารของตัวเองมากขึ้น

อันสุดท้ายคุณครูคิดนะคะ คือ อยากให้เด็ก ๆ ได้ขาย แต่ไม่ใช่ว่าขายเอาเงิน ฉันจะต้องเป็นเจ้าของธุรกิจ เราอยากให้เด็กคิดว่าถ้าในอนาคตเด็กบางคนไม่ได้เรียน แต่เขายังเอาสิ่งที่เขาได้เรียนรู้เขาได้ทำในโรงเรียนไปต่อยอดกับครอบครัว

ความสร้างสรรค์และเมนูอาหาร คือ ต้นทุนในการเรียนรู้ครั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (TCDC) ขอนแก่น คือ อีกกลไกที่ร่วมสร้างการเรียนรู้ในห้องเรียนควบคู่กับห้องครัว

“TCDC ทำพัฒนา 3 สิ่งไปพร้อมกัน คือ พัฒนา Creative People พัฒนา Creative business และพัฒนาCreative Districted นะครับ ซึ่งมันตอบโจทย์ตรง Creative People ว่าเราต้องพัฒนาคน ตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่วัยเยาว์ เราก็เลยมามองว่าอาหารบวกกับCreativity การพัฒนาคน ปลูกฝังตั้งแต่แรก” กิ๊ฟ ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขอนแก่น กล่าวถึงที่มาแนวคิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์

อีสานสร้างสรรค์ คือ ต้นทุนคนอีสาน

“ในภาคอีสานทั้งหมดเรามาโฟกัสที่สามอุตสาหกรรม  ก็คืออุตสาหกรรมบันเทิง โดยใช้ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีหมอลำต่าง ๆ เหล่านี้ครับ อุตสาหกรรม การสาน การทอ เป็นอุตสาหกรรมที่ชัดอยู่แล้วของขอนแก่น แล้วก็ของอีสานทั้งหมด แล้วก็อันที่สามก็คืออุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเราก็จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วเนี่ยอาหารอีสานเป็นอาหารที่ดังอยู่แล้ว สองก็คือ อีสานเป็นพื้นที่ที่สร้างอาหาร ให้กับประเทศไทย และโลกนี้อย่างมากครับ เราก็เลยมองว่าจริง ๆ ศักยภาพของอีสานผ่าน 3 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่เราพูดถึงมาเป็นสิ่งที่ดี พอมาโฟกัสที่อุตสาหกรรม อาหารสิ่งที่เราสนใจอันหนึ่งก็คือว่าอาหารมันพูดถึงได้ 3 ระดับ

ระดับแรก คือ พูดถึงรากของมัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราลงพื้นที่ทำวิจัยอย่างจริงจังครับ ว่าภาคอีสาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอะไรบ้าง ที่สามารถเป็นมีศักยภาพที่สามารถเป็นนำมาต่อยอดได้ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นพืชพันธุ์ที่อยู่ในป่าต่าง ๆ ตระกูลเห็ด หรือสิ่งหมักดอง

ระดับที่สอง เราก็พูดถึงความคิดสร้างสรรค์ในลักษณะที่ว่าอาหารเอามาต่อยอดแล้วมันสามารถที่จะเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร เช่น วัวพื้นบ้านไปผสมวัวพันธุ์จากญี่ปุ่น ต้องถือเป็นความคิดสร้างสรรค์อีกอย่างหนึ่งที่อีสานได้ทำไว้ กลายเป็นวัวที่เชฟทุกคนต้องการในปัจจุบัน อาหารอีสานก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นปลาร้า ไม่ว่าจะเป็นพืชผักหรือเห็ดต่าง ๆ

แต่ระดับที่สาม ที่เราสนใจก็คือ การออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างเดียวไม่พอ การออกแบบมันจะต้องตอบโจทย์ฟังก์ชันของมันด้วย เพราะฉะนั้นก็เลยเกิดมาเป็นว่าถ้าพูดถึงอาหารฟังก์ชัน เราก็เลยมองว่าฟังก์ชันตรงนั้นมันคืออะไร เราก็เลยมาจับที่เราจะมองเห็นว่าจริง ๆ แล้วชอบมีปัญหาเราจะมองเห็นว่าจริง ๆ ข่าวที่บอกว่าอาหารโรงเรียนคุณภาพต่ำ เราเลยมาสนใจเรื่องโรงเรียน  มันก็เลยเกิดมาเป็นโครงการ  LUNCH & LEARN ว่าเราเข้าไปพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนในขณะเดียวกันเด็กได้อาหารครบคุณค่า แล้วมีเมนูที่ไม่ซ้ำกัน และได้เรียนรู้จากการรับประทานอาหารต่าง ๆ เหล่านั้นครับ”

ลงคะแนนเมนูอาหารภาพกระหึ่มโซเซียล

เราพยายามจะตีโจทย์เรื่องของเริ่มต้นใหม่ เริ่มทำงานกับเด็กโดยตรง กระบวนการทำงานของเรามันจะเป็นการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกันเสมอ ฉะนั้นการออกแบบมื้ออาหารในครังนี้ ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ มาบอกว่าเด็กควรจจะกินอย่างนี้

แต่เราถามเด็กว่า เด็กตั้งแต่ก่อนที่มีเมนูด้วยซ้ำ เด็กชอบกินอาหารอะไรที่สุด เด็กอยากกินอาหารอะไรบ้าง เด็กรู้จักอาหารต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน หรืออาหารวัฒนธรรมอื่น ๆ เราถามคุณครูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นที่เด็กกินอะไรหมด กินอะไรไม่หมด เด็กชอบกินอะไร เด็กอยากกินอะไร หรือปัญหาเรื่องค่าตอบแทน ปัญหาเรื่องอุปกรณ์ ปัญหาเรื่องความรู้สำหรับบุคลากรในโรงอาหารเอง เพราะฉะนั้นสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมันเริ่มมาตั้งแต่การมีส่วนร่วมแต่ต้น จนบุคลากรต่าง ๆ ได้มาทำงานร่วมกับเชฟโภชนาการ ได้มาร่วมออกแบบอาหารกัน เพื่อตอบโจทย์สิ่งที่เราได้สำรวจ ไม่ใช่เป็นการทำแบบ Top Down ผมก็เลยคิดว่าอันนี้มันกลายเป็นจุดที่คนมองเห็นว่ามันเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

จากเมนูสร้างสรรค์ที่อีสานกับการกระจายความรู้

เรามี 4 ศูนย์ ที่อยู่ในภูมิภาคก็มีที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และก็กำลังจะเปิดที่สงขลา เราก็เลยคิดว่าโครงการนี้ ในอีสานก็คงจะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันน่าจะทำโครงการนี้ในเชียงใหม่และสงขลาด้วยพร้อม ๆ กันในปีหน้า เราคิดว่าจากผลกระแสตอบรับ ผมคิดว่าเราน่าจะได้พาร์ทเนอร์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นทางสถาบันโภชนาการ อาจจะเป็นกระทรวงอื่น ๆ แทน ก็คิดว่าผลตอบรับดีพอสมควร น่าจะขยายผลได้ไม่นาน

อาหารและการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม

อาหารมันเป็นสิ่งที่เรากินทุกวัน ยังไงเราก็ต้องกินอาหาร แต่ละอย่างมันเล่าเรื่องราวที่เราจะเล่าให้ฟังได้ ยกตัวอย่าง หมูปิ้งง่าย ๆ แค่หมูปิ้งพันธุ์อะไรมาจากไหน ให้พลังงานเท่าไหร่กินหมูแล้วเนี่ยมัน ไปส่งเสริมโปรตีนไปส่งเสริมร่างกายอย่างไร มันเป็นเรื่องราวในการเรียนได้อยู่แล้ว ที่เราจะสอกแทรกเข้าไปในเมนูอาหารต่าง ๆ เหล่านี้ในขณะเดียวกัน เราพยายามที่จะสอนเรื่องวัฒนธรรมการกินของที่อื่น เด็กอาจจะไม่ได้มีโอกาสไปกินอาหารญี่ปุ่น แต่สมมุติว่าทำข้าวไก่เทอริยากิให้กิน วันหนึ่งเขาก็จะเริ่มรู้แล้วว่า อันนี้คืออาหารญี่ปุ่นนะ เทอริยากิ มันเป็นอะไร อันนี้ก็เป็นการเรียนรู้ผ่านวัฒนธรรม

เขาสามารถร่วมได้เลยว่าอาหารควรจะพัฒนาไปในแนวทางไหน แล้วอยากกินอาหารประเภทไหน ที่โรงเรียนบ้านโนนชัยก็แล้วกัน เริ่มมีวิชาพิเศษที่ชื่อว่าให้เด็กได้เข้ามาเรียนรู้ประสบการณ์ จากการทำครัวเอง อย่างวันแรกที่ทำไก่ ก็ให้เด็กมาเตรียมมันฝรั่งตั้งแต่วันก่อน เด็กก็จะมาคนละชั่วโมงก็จะมาช่วยปลอกมันฝรั่ง เตรียมโต๊ะไว้เพื่อพร้อมต้มในวันถัดมา ไก่ก็มาช่วยล้างช่วยต้มฉะนั้นเด็กก็จะได้ทักษะในการทำอาหารเพื่อประกอบวิชาชีพในโภชนาการในอนาคตได้”

การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ที่ห้องเรียน แต่ยังสามารถอยู่ได้ในทุกพื้นที่ รวมถึงห้องครัวและถาดหลุม “เมนูอาหาร” ที่ร่วมสร้างสรรค์ จึงเป็นอีกมิติการเริ่มต้นที่นำเอาต้นทนทางวัฒนธรรมอาหาร มาร่วมกับความคิดออกแบบสร้างสรรค์ ให้คนคิดเมนู คนปรุงอาหาร และคนกิน ได้เข้าใจกันมากขึ้นเป็นบทเรียนกินได้ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย ณ เมืองขอนแก่น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ