อยู่ดีมีแฮง : มะม่วงมหาชนกกาฬสินธุ์ ฝ่าโควิด สร้างเศรษฐกิจชุมชน

อยู่ดีมีแฮง : มะม่วงมหาชนกกาฬสินธุ์ ฝ่าโควิด สร้างเศรษฐกิจชุมชน

ปีนี้อีสานบ้านเฮาหลายพื้นที่ ฝนฟ้ามาเร็ว หลังจากฤดูแล้งผ่านพ้นไม่นาน พอย่างเข้าสู่เดือนหกตามท้องทุ่งนาก็กลับคืนสู่ความชุ่มชื้นอีกครั้ง กอหญ้าเขียวชอุ่ม สุมทุมพุ่มไม้เริ่มผลิยอดแตกใบ บรรดากบเขียด ฝูงนกกา และแมลงต่างประสานเสียงร้องระงมระรื่นหูอย่างมีชีวิตชีวา นำพาความเพลิดเพลินเสมือนโรงละครแห่งท้องทุ่ง ซึ่งผู้อ่านหลายท่านก็คงเคยมีประสบการณ์ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองกรุงเมื่อได้ยินเสียงฝนกระทบกับสังกะสีหรือหลังคาห้องเช่า มิวายที่จะทำให้นึกถึงภาพบรรยากาศตอนที่พ่อพาไปส่องกบจับปลาเมื่อยามฝนซาอย่างสนุกสนาน หรือเมื่อครั้งไร้เดียงสาตอนฟ้าร้องครืนๆ แม่ก็คอยปลอบประโลม และกระซิบข้างหูเบาๆ ว่า “แม่อยู่ตรงนี้นะลูก” พร้อมกับกอดรัดเพิ่มไออุ่นให้คลายความกลัว

ฤดูกาลของการหว่านไถเพาะปลูกกำลังจะเริ่มขึ้นอีกในไม่ช้า ทว่าตามประเพณีความเชื่อของคนอีสานก่อนจะลงทำนา จะต้องมีพิธีกรรม ที่เรียกว่า “บุญเลี้ยงบ้าน” หรือ “พิธีเลี้ยงปู่ตา” ซึ่งจะทำกันในวันพุธแรกของเดือนหก (พฤษภาคม) นอกจากเป็นการรำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ก็เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยปกป้องคุ้มครองรักษาหมู่บ้านให้ร่มเย็นปลอดภัยจากภัยพิบัติ รวมไปถึงการเสี่ยงทายดินฟ้าอากาศ และให้พืชผลผลิตทางการเกษตรอุดมสมบูรณ์

แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ได้กลับมาแพร่ระบาดหนักในระลอกใหม่ จนลุกลามบานปลายไปทั่วประเทศตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งก็ส่งผลให้กิจกรรม หรือพิธีกรรม และการรวมตัวกันในชุมชนต่างเงียบเหงาลงถนัดตา ด้วยมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อลดการระบาดของเชื้อไวรัส นอกจากนี้ โควิด-19 ยังส่งผลกระทบที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพสร้างรายได้ และปัญหาหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นตามมาด้วย

บ้านโคกครึม ตำบลหนองหิน อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์

มะม่วงมหาชนก สู้โควิด-19 ท่ามกลางวิกฤติก็ยังมีโอกาส

ที่อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นที่รู้จักและขึ้นชื่อในเรื่องการปลูกมะม่วงส่งออกขายทั้งในและต่างประเทศมากว่า 20 ปี จากข้อมูลปี 2563 พบว่าทั้งอำเภอมีพื้นที่ปลูกมะม่วง จำนวน 5,028 ไร่ มีเกษตรกรขึ้นทะเบียน 603 ครัวเรือน โดยแบ่งออกเป็น พันธุ์มหาชนก 80 % น้ำดอกไม้ 15 % และอื่นๆ 5 % สามารถส่งออกในแต่ละปีทำสร้างรายได้มากถึงประมาณ 70 ล้านบาท โดยมีปลายทางไปยังประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย และรัสเซีย แต่ด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อแหล่งรับซื้อ ตลาดและการขนส่ง จนต้องหยุดชะงัก

เมื่อสถานการณ์พอฟื้นตัวขึ้นมาได้ วันนี้กลางเดือนพฤษภาคม วันหวยออกพอดี “อยู่ดีมีแฮง” จึงขอจูงมือทุกท่านพามาตะลุยสวนมะม่วง ที่บ้านโคกครึม ตำบลหนองหิน อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ ของกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชน มะม่วงมหาชนก ตำบลหนองหิน เพื่อพูดคุยสนทนากับชายผิวคล้ำรูปร่างสันทัด วัยกลางคน ชื่อ ชวาร  สอนคำหาร ประธานกลุ่ม

“ผลผลิตและการตลาดช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ?” เราเริ่มต้นด้วยคำถามขณะชวารพาเดินชมสวน

“ผลผลิตปีนี้ถือว่าดีกว่าปีที่ผ่านมา ด้วยสภาพฝนฟ้าที่เป็นใจ ทำให้มะม่วงมีลูกดก ซึ่งทุกปีจะเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนมีนา เมษา ถึงปลายพฤษภา แต่ปีนี้คาดว่าจะเก็บได้จนถึงต้นมิถุนา ส่วนเรื่องการตลาดและการส่งออกก็เริ่มเป็นปรกติ หลังจากเมื่อปีที่แล้วได้รับผลกระทบจากโควิด มีการปิดประเทศและการขนส่งก็หยุดชะงักซึ่งก็ส่งผลให้มะม่วงของสมาชิกเราตกค้างหลายตัน และเน่าเสียเยอะมาก จนต้องเอาไปวางขายตามรายทาง และมีคนสั่งซื้อทางออนไลน์บ้าง ขายทางไปรษณีย์บ้าง แต่ก็ขายได้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่” ชวารกล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบ

“สถานการณ์ปีนี้นับว่าดีขึ้นใช่ไหมครับ?” เราถามย้ำอีกครั้ง

“ก็ดีขึ้นครับ” เจ้าของสวนตอบ “ในส่วนของกลุ่มตีเฉลี่ยออกมาแล้วจะตกอยู่ที่ 3-4 ตันต่อวัน ซึ่งหลักๆ มีอยู่ 2 แบบก็คือส่งออกแบบแช่แข็งและผลสด ถ้าผลสดก็จะมีอาทิตย์ละ 1 เที่ยว จำนวนกว่า 2 ตัน บางอาทิตย์ก็มีส่ง 2 รอบ อย่างเช่นอาทิตย์นี้มี 2 รอบ คือรอบแรกส่งออกประเทศญี่ปุ่น รอบสองส่งออกประเทศจีน ซึ่งเมื่อวานก็เพิ่งส่งออกไป”

ไม่รอให้ถามเขากล่าวต่อว่า “ส่วนราคาปัจจุบันผลสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท ถ้าแช่แข็งกิโลกรัมละ 16-17 บาท ราคามันอาจจะไม่มาก แต่ถ้าตีเฉลี่ยต่อไร่ออกมาแล้วมันก็ได้มาก ถ้าเป็นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ราคา 8 – 10 บาท หากคิด 1 ไร่ ก็ได้ผลผลิต 1-2 ตัน ถ้าเปรียบเทียบกับปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งหักต้นทุนออกแล้วมันก็ไม่เหลือ ปลูกมะม่วงเราปลูกครั้งเดียว จากนั้นก็แค่ดูแล” ชวารเล่าถึงช่องทางและโอกาสการสร้างรายได้

รวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สู่ตลาดต่างประเทศ

“มะม่วงมหาชนก” เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์โดยบังเอิญ ระหว่างพันธุ์ซันเซทกับพันธุ์หนังกลางวันของบ้านเรา เกิดเป็นมะม่วงพันธุ์ใหม่ ตั้งชื่อว่า “มหาชนก” หรือ “ราชาทรงโปรด” เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มีลักษณะผลขนาดใหญ่ รูปทรงยาว เปลือกหนา มีจุดเด่นคือรสชาติอร่อย ผลดิบเป็นสีเขียว รสเปรี้ยว ผลสุกผิวสีเหลืองทองจนถึงสีแดงทั้งผล มองดูสวยงาม ทั่วไปนิยมกินผลสุก เมื่อสุกจัดจะมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รสชาติหวาน หอม เนื้อแน่น เปลือกหนา เมล็ดลีบบาง

ชวารเล่าที่มาที่ไปของการเปลี่ยนไร่อ้อย และไร่มันสำปะหลัง แล้วหันมาปลูกมะม่วงมหาชนกให้ฟังว่า เริ่มต้นเมื่อปี 2549 จากมีโครงการพระราชดำริ เข้ามาในตำบลหนองหิน ที่บ้านหนองบัวชุม ก็ได้เห็นว่ามีการปลูกและขายมะม่วงพันธุ์นี้ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยมีและพอผลผลิตออกมาก็พบว่ามีกลิ่น และมีสี ที่ค่อนข้างจะแตกต่างกับมะม่วงสายพันธุ์พื้นบ้าน เมื่อเห็นคนในชุมชนปลูกขายได้และมีตลาด ตนก็เลยมีความคิดว่าน่าจะลองทำดู

“ตอนแรกผมทดลองปลูกอยู่ 3 ไร่ หลังจากนั้นก็เห็นว่ามันค่อนข้างจะตอบโจทย์เรา ในเรื่องของตลาด สภาพดินก็ดีขึ้น และราคาของมะม่วงก็น่าจะไปต่อได้ พออยู่ได้ ก็เลยตัดสินใจปลูกตั้งแต่นั้นมา ปัจจุบันเฉพาะครอบครัวผมก็ปลูกไปประมาณ 60 ไร่”

หลังจากนั้นเราจึงหยุดคุยกันที่ใต้ต้นมะม่วงที่มีพุ่มใบหนาสามารถบังแดดได้เป็นอย่างดี และมีผลดกห้อยย้อยรอบทิศ ซึ่งถูกแต่งกิ่งให้สูงไม่เกิน 3 เมตร เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการเก็บผลผลิต ระหว่างนั้นภรรยาของชวารก็ได้นำเอาถาดที่มีมะม่วงมหาชนกผลสุก จำนวน 5 ลูก พร้อมมีดปลอกผลไม้ มายื่นให้เราได้ลิ้มลองรสชาติแกล้มการสนทนาที่กำลังแซ่บไม่แพ้กัน

 “เห็นแก้มแดงแบบนี้ไม่ใช่ผลแก่ทั้งหมดนะครับ” ชวารเดินไปจับผลมะม่วงที่อยู่ระดับสายตา แล้วอธิบายให้ข้อมูลกับเราต่อ “เพื่อความแน่ใจ เมื่อเราเก็บไปแล้วจะทำการแช่น้ำดูว่าถ้าผลไหนแก่จะจมน้ำ ส่วนที่ยังไม่แก่ก็จะลอยขึ้นมา นอกจากนี้การคัดเลือกยังมีส่วนประกอบหลายอย่าง ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะคัดแตกต่างกันทั้งเรื่องผิว เรื่องขนาดน้ำหนัก เขาก็จะระบุมา อย่างเช่นตัวแช่แข็งก็จะอยู่ที่ 300 หรือ 280 กรัมขึ้นไป ผลส่งออกเขาก็จะแบ่งเป็น 280-300 กรัม ราคาหนึ่ง และ 300 กรัมขึ้นไป ก็อีกราคาหนึ่ง จะแบ่งกันแบบนี้ แต่อีกบางบริษัทก็จะแบ่งเป็นเกรด เอราคาหนึ่ง บีอีกราคาหนึ่ง ซึ่งเกรดเอหรือบี จะแบ่งกันที่ผิวไม่ใช่น้ำหนัก เกรดเอจะต้องเป็นผิวที่ไม่มีตำหนิเลยนะครับ” ประหนึ่งว่าเป็นการผสานระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านกับดัชนีทางวิทยาศาสตร์กันเลยเชียว

“แล้วเกิดการรวมกลุ่มกันอย่างไรครับ?”

“เราคิดว่าถ้าทำกันอยู่แบบนี้โดยอาศัยพ่อค้าคนกลางก็น่าจะเกิดปัญหาในอนาคต ตลาดจะตัน และผลผลิตก็จะถูกกดราคา ผมจึงปรึกษาหารือกันกับชาวบ้านแล้วมารวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อปี 2557 ซึ่งตอนนี้ก็มีสมาชิกจำนวน 32 ราย มีพื้นที่ปลูกมะม่วงประมาณ 600 ไร่” ประธานกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชน มะม่วงมหาชนก ตำบลหนองหินกล่าว

เขายังอธิบายต่อว่า “เมื่อมีออร์เดอร์ (การสั่งซื้อ) เข้ามา ทางกลุ่มก็จะจัดการกระจายส่วนแบ่งให้กับสมาชิกว่าของใครพร้อมเก็บ จำนวนเท่าไร โดยจะมีการเฉลี่ยให้เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูความสามารถ และกำลังการผลิต รวมไปถึงการคัดเกรดของแต่ละสวนประกอบด้วย ซึ่งปีนี้ภายในกลุ่มคาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 250 ตัน เฉลี่ยรายได้ประมาณ 4 ล้านบาท” ชวารเล่าอย่างออกรส พอฟังถึงตอนนี้ก็อดอิจฉาชาวบ้านที่นี่ไม่ได้

สร้างรายได้ให้ชุมชน ส่งต่ออาชีพสู่คนรุ่นหลัง 

อาคารขนาดใหญ่ติดกับสวนมะม่วงของชวาร คือล้งรับซื้อผลมะม่วงของสมาชิก วันนี้เป็นวันเปิดรับผลผลิตจึงมีรถกระบะ และรถอีแต๊กขนมะม่วงที่บรรจุอยู่ในลังบ้างก็ใส่เข่งพลาสติก เข้ามาส่งไม่ขาดสาย หญิงชายหนุ่มสาวถึงวัยเดียวกันกับชวาร รวมประมาณ 20 ชีวิต ต่างขมีขมันเร่งมือกันทำงานอย่างเป็นแผนก โดยมีลูกสาวของชวารซึ่งกำลังศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรีคอยทำหน้าที่ดูแลบัญชีและจดบันทึกข้อมูลจำนวนผลผลิตของแต่ละเจ้า เมื่อผ่านการตรวจรับและขนลงรถเสร็จที่ด้านหน้าก็จะมีชายหนุ่มรูปร่างสูงโปร่งนำรถเข็นผลไม้มาขนไปสู่จุดคัดกรองน้ำหนักและสีผิว

เสียงเพลงลูกทุ่งจากลำโพงบลูทูธที่เชื่อมต่อผ่านสมาร์ทโฟน ทำหน้าที่เคล้าคลอสร้างบรรยากาศในการทำงาน บรรดาแม่ยกแฟนเพลงต่างหัวเราะต่อกระซิก พูดคุยกันเบาๆ พร้อมๆ กับการแบ่งโสตประสาทเพื่อทำการคัดแยกสีผิวและชั่งน้ำหนักมะม่วง โดยกลุ่มหนึ่งคัดเพื่อส่งออก และอีกกลุ่มคัดเพื่อขายในประเทศ ซึ่งมะม่วงที่ผ่านการคัดสรรแล้วจะถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุกันกระแทกและบรรจุในลังพลาสติกอีกครั้งเพื่อเตรียมจัดส่ง โดยจะมีรถบรรทุกเข้ามารับสินค้าในตอนเย็น ส่วนมะม่วงที่ไม่ผ่านการคัดก็จะถูกจัดไว้อีกที่เพื่อตีกลับคืนเจ้าของ

“มองอนาคตของอาชีพนี้อย่างไรบ้างครับ?” เราถามขณะที่ชวารพาเดินชมการทำงานภายในล้ง

“ผมมองว่าเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่พ่อแม่ทำมาแล้วสามารถถ่ายทอดและส่งต่อให้ลูกโดยที่ลูกสามารถจะดำเนินกิจการไปต่อได้ และสามารถจะพัฒนาจากตรงนี้ไปสู่ระดับมืออาชีพได้อีก” ชวารหยุด แล้วทอดสายตาออกไปมองที่สวนมะม่วงของตน

แล้วเขาก็กล่าวต่อว่า “ที่พูดอย่างนี้ก็คือว่า ตอนนี้พ่อทำสวนและแปรรูปในระดับหนึ่ง รุ่นลูกหากมีความรู้ความคิดเพิ่มขึ้นอาจจะยกระดับให้เป็นรูปแบบบริษัท หรือแปรรูปส่งเข้าห้างสรรพสินค้า และส่งออกเองได้ ถ้าลูกหลานมีความรู้อาจจะต่อยอดไปถึงตรงนั้นได้” เขาพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น และแลดูมีความหวัง

“ผมหมดคำถาม พี่มีอะไรอยากกล่าวทิ้งท้ายไหมครับ?”

ชวารหยุดใช้ความคิดชั่วครู่ก่อนจะตอบ “คือตราบใดที่คนยังกินมะม่วง เราก็จะปลูกและขาย รวมถึงพัฒนาให้มันมีคุณภาพต่อไป” สั้นๆ ได้ใจความ 

ก่อนล่ำลาภรรยาของชวาร ได้ขนเอาผลมะม่วงมหาชนก จำนวน 1 ลัง มามอบให้แก่ทีมงาน “อยู่ดีมีแฮง” เพื่อเป็นของฝากของต้อน

ขอให้เจริญๆ เด้อ พี่น้องเกษตรกรเฮา

เดชา  คำเบ้าเมือง  เขียน/มิ่งขวัญ  ถือเหมาะ  ภาพ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ