จาก’เลสู่จาน… กินอย่างใส่ใจ เพื่อท้องทะเลไทย

จาก’เลสู่จาน… กินอย่างใส่ใจ เพื่อท้องทะเลไทย

20152309224307.jpg

รายงานโดย: พิมพ์กมล พิจิตรศิริ

ชายฝั่งทะเลไทยเคยมีความหลากหลายของทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ แต่ต้องเผชิญกับวิกฤตการทำประมงแบบทำลายล้าง ทำให้ทรัพยากรทางทะเลลดลงอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย ขณะที่ผู้บริโภคซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารกลับมองไม่เห็นว่าวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้เกี่ยวข้องกับพวกเราอย่างไร 

กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดกิจกรรม จาก’เลสู่จาน ที่ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์ ใจกลางกรุงเทพฯ เปิดตัวคู่มือเลือกซื้ออาหารทะเลยั่งยืน “จาก’เลสู่จาน: A Guide to Sustainable Seafood” เพื่อสร้างความตระหนักให้กับประชาชนเกี่ยวกับวิกฤตของท้องทะเลไทย และร่วมสนับสนุนการทำประมงอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน

20152309224334.jpg
ภายในงาน มีการรีวิวแอพพลิเคชั่น “จาก’เล สู่จาน” เสมือนผู้ช่วยติดตัวผู้บริโภคกลุ่มคนเมืองที่ชอบทำอาหารและชอบทานอาหารทะเลยุคใหม่ ให้สามารถเลือกซื้ออาหารทะเลอย่างรับผิดชอบ โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งใน ระบบ iOS และ Android

20152309224352.jpg

วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ หัวหน้าโครงการสร้างรักให้ทะเล กรีนพิซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่าว่า แอพพลิเคชั่น จาก’เลสู่จาน ประกอบด้วยคำแนะนำให้ผู้บริโภคสนับสนุนการทำประมงแบบยั่งยืน เช่น เล่าถึงความสำคัญของปัญหาในท้องทะเล วิธีการกินอย่างรับผิดชอบ ร้านอาหารหรือชุมชนที่ไม่ทำร้ายท้องทะเล ฯลฯ
 
“ในเรื่องการทานอาหารของเรา ถ้าเกิดเราสนับสนุนสัตว์น้ำ ประเภทที่ใกล้จะสูญพันธุ์ มันก็ยิ่งทำให้คนที่จับหรือคนที่ขาย เขายังมีคนซื้ออยู่ เป็นแบบดีมานด์-ซัพพลาย แต่ถ้าเกิดผู้บริโภค ไม่สนับสนุนสัตว์น้ำที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมายหรือว่าเป็นสัตว์น้ำที่ใกล้จะสูญพันธุ์ คนที่ขายและก็คนที่ไปจับ เค้าก็จะไม่มีลูกค้า มันคือ เป็นการเชื่อมโยงกัน” วิริยากล่าว

20152309224428.jpg

ด้าน ชรินา ง่วนสำอางค์ เจ้าของร้านครัวใส่ ซึ่งเปลี่ยนตัวเองจากผู้บริโภคมาสู่การทำร้านอาหาร เพราะพบปัญหาที่ร้านอาหารส่วนใหญ่ไม่มีการคัดสรรวัตถุดิบในการทำอาหาร เช่น การแช่สารเคมีเพื่อขนส่งสินค้าจากชาวประมงไปยังผู้บริโภคของพ่อค้าคนกลาง กล่าวว่า ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารมีความเชื่อมโยงในการสรรหาอาหารด้วยการใส่ใจในหลายๆ มุม โดยไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพของผู้บริโภค แต่ต้องคำนึงถึงวัตถุดิบ กรรมวิธีการทำ และภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
 
“เราเลือกใช้อาหารทะเล ที่กระบวนการผลิตต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย และก็มีความปลอดภัยกับผู้บริโภคด้วย เพราะฉะนั้น แน่นอน เราก็ไม่ได้เลือกซื้ออาหารทะเลตามท้องตลาด แต่เราต้องติดต่อกับหน่วยงานหรือเครือข่ายที่เค้าทำงานร่วมกับชาวประมงที่เป็นประมงพื้นบ้าน และก็เป็นการคุย ตกลงกัน เพื่อส่งเสริมการทำงานของประมงพื้นบ้าน” ชรินากล่าว

20152309224448.jpg

ส่วน สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน สัตว์น้ำอินทรีย์ กล่าวว่า สัตว์น้ำที่ถูกจับโดยการทำประมงพื้นบ้านจะมีคุณภาพและมีความรับผิดชอบต่อระบบนิเวศทางทะเล ชาวประมงพื้นบ้านคือนักอนุรักษ์ นักทำประมง ด้วยวิธีดูแลธรรมชาติและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม  

สภาภรณ์ยกตัวอย่างว่า วิถีประมงพื้นบ้านจะพิถีพิถันกว่าประมงพาณิชย์ เช่น วิธีการจับสัตว์ทะเล ประมงพื้นบ้านจะเลือกจับสัตว์น้ำที่มีขนาดที่เหมาะสมกับเครื่องมือทำการประมง ขณะที่ประมงพาณิชย์ จะใช้วิธีกวาดตอน เช่น จับสัตว์ทะเลได้ 100 กิโลกรัม แต่จำนวนสัตว์ทะเลที่ใช้เป็นพาณิชย์ 30-40 กิโลกรัม จำนวนสัตว์ทะเลที่เหลือส่งเข้าโรงงาน
 
การออกเรือของประมงพื้นบ้านจะใช้แรงงานในครัวเรือนและออกเรือไปเช้าเย็นกลับ หรือไปเย็นเช้ากลับ ขณะที่ชาวประมง ออกเรือ 1-3 เดือน ไม่ได้ใช้แรงงานในครัวเรือน

…จะดีแค่ไหน ถ้าผู้บริโภคอย่างเราทุกคนหันมาร่วมกันปกป้องทะเลด้วยการกินอาหารทะเลที่มาจากการทำประมงอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน เพื่อสุขภาพและท้องทะเลของเรา

20152309224459.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ