1. เราไม่อาจยกประเทศหนีจากกันได้ เขาพระวิหารก็เช่นกัน
“เราไม่อาจยกประเทศหนีจากกันได้” ประโยคที่ได้ฟังอยู่บ่อยครั้งเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาถึงจุดสั่นคลอน โดยเฉพาะเงื่อนไขตัวแปรตั้งอยู่บนสถานการณ์การเมืองไทยที่ง่อนแง่นงอแงตลอดระยะกว่า 10 ปีที่ผ่านมานี้
ประโยคง่ายๆ อาจช่วยกระตุกอารมณ์ความรู้สึกให้นิ่งและเย็นลงได้บ้าง แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า เมื่อกระแสแห่งความรักชาติถูกปลุกขึ้นมา น้ำแข็งที่เกาะเกี่ยวในขั้วหัวใจก็พาลเดือดดาลได้ง่ายๆ
“เขาพระวิหาร” เช็คด้วยคำนี้คำเดียวก็เสียวสันหลังไปทั่วทั้งคุ้งแคว
2. ไม่ใช่ ไม่จริง ไม่ใช่ ไม่จริง
บุญเกิด แตะต้อง ประธานสภา อบต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ พูดให้ฟังว่า “บางครั้งเราก็เป็นผู้ร้าย บางครั้งเราก็เป็นตัวตลก บางครั้งเราก็เป็นพระเอก”
บุญเกิด – กำลังพูดถึงตัวละครชาวบ้านบนพื้นที่ขัดแย้งที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อสารมวลชน
มันเป็นละครชีวิตจริง ไม่มีตัวแสดงแทน
“ยกตัวอย่างวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ที่มีการตัดสินของศาลโลกสื่อก็จะมาก่อนแล้วอย่างน้อย 4-5 วัน แต่ละวันก็จะวิ่งหาข่าว ก็จะได้ยินข่าวว่าน่ากลัว แต่จริงๆ ไม่ใช่ เราอยู่ปกติธรรมดานี่แหละ
แต่สื่อนั้นก็มีข่าวด่วน ข่าวต้นชั่วโมง สื่อไปทั้งประเทศ แต่สถานการณ์จริงๆ แล้วเราดูแล้วพบว่ามันไม่ใช่ มันเป็นสิ่งที่ไม่ได้เป็นความจริงอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชน อย่างเหตุการณ์ปกติธรรมดาที่เกิดขึ้นสื่อก็จะนำเสนอล่วงหน้าไปก่อนแล้ว และนำเสนอกลับกันกับความเป็นจริง นี่คือปัญหาที่ทำให้บ้านเราดูน่ากลัว
เวลาดูข่าวจากกรุงเทพฯ ก็จะบอกว่า บ้านภูมิซรอลมีข่าวว่าอพยพบ้านนั้นบ้านนี้แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ บางคนกลับจากท้องไร่ท้องนาขับรถไถนา รถตุ๊กตุ๊ก (รถอีแต๋น) เจอนักข่าวบอกว่าเราเอากระสอบปุ๋ยมาเตรียมอพยพแล้ว จริงๆ มันไม่ใช่เลย มันไม่ใช่สักอย่าง ข่าวนี่แหละ…เฮ้อ ตัวปัญหาเลย”
บุญเกิด – เป็นชายวัยกลางคนปากหนาหน้าดำร่างตัน มันเป็นพิมพ์นิยมของคนละแวกนี้ หากปราศจากพรมแดนแห่งชาติ ผู้คนแถบชายแดนไทย-กัมพูชาแทบจะหาความแตกต่างทางสรีระชาติพันธุ์ไม่ได้เลย
3. ลุงบุญลือ ระลึกชาติ
“เราเคยไปมาหาสู่กัน แต่ก่อนไม่มีการกระทบกระทั่งกัน ก็ไปหากันผ่านช่องตาเฒ่าหลังเขาพระวิหาร ไปทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ทำบุญหาผู้ล่วงลับ เขาก็จะมาบอกญาติพี่น้องให้ลงไปทำบุญด้วยกัน” บุญลือ แสวงใส ชาวบ้านภูมิซรอล อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เล่าให้ฟัง เขาไม่ได้บอกว่าเหตุการณ์ในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันสักกี่มากน้อย
กวน สนทยา เดิมเป็นคนกัมพูชา แต่เมื่อแต่งงานกับคนไทยก็ย้ายมาอยู่ที่บ้านภูมิซรอล นานมาแล้วที่เธอไม่ได้ไปเยี่ยมญาติ ณ แผ่นดินเกิด เพราะการเข้าออกตามจุดผ่อนปรนต่างๆ ขณะนี้เริ่มเข้มงวด
“ยายมีญาติอยู่ที่ฝั่งโน้น ช่วงไม่นานมานี้ก็เพิ่งมาหากัน ขึ้นมาหาที่ช่องสะงำ (อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ) เมื่อก่อนเจอกันบ่อย แต่ตอนนี้ไม่ได้เจอ ก็เพราะปัญหาชายแดนนี่แหละ หากฝากบอกอะไรถึงญาติๆ ฝั่งนั้นได้ก็จะบอกว่า…คิดถึง อยากให้มาหา” เธอพูดจบพร้อมกับปาดน้ำตาทั้งยังยิ้มอยู่ มันเป็นรอยยิ้มที่ทำให้เราเห็นว่า ฟันหน้าเธอหักไป 2 ซี่
4. ลูกปืนใหญ่ตกที่อุดรมีชัย…ไม่มีอะไรมาก
ฝั่งไทยเรียกว่าด่านชายแดนช่องจอม จ.สุรินทร์ ฝั่งกัมพูชาเรียกว่าช่องโอร์สะเม็ด จ.อุดรมีชัย แต่ไม่ว่าจะยืนอ่านจากฝั่งใด ที่นี่ก็เป็นจุดเดียวกัน
บริเวณนี้นับเป็นจุดค้าขายที่สำคัญของคนสองประเทศ ความจ๊อกแจ๊กจอแจเริ่มขึ้นในเช้าตรู่ของแทบทุกวัน ที่ต้องมีคำว่า “แทบ” เพราะบางวันก็เงียบเหงา ขึ้นอยู่กับรักของเขาและเรามีเรื่องระหองระแหงอะไรอีกหรือเปล่า แต่ก็นั่นแหละ มันเป็นความรักแบบหนุ่มสาว เหมือนลิ้นกับฟัน ที่บางวันก็ดูจะรักไคร่กลมกลืน ขณะที่บางคืนฟันก็เผลอกระทบกระเทียบลิ้น และทำลายความฟินแห่งสัมพันธ์ได้ไม่ยาก
หากเหตุการณ์ปกติ พ่อค้าแม่ค้าจะนำสิ่งของมาขาย พูดคุยต่อรองด้วยภาษาขะแมร์ก็ได้ ไทยก็ได้ แม้แต่ภาษาลาวหลายคนก็คล่องปร๋อ
เด็กๆ เดินทางข้ามมาเรียนที่ฝั่งไทยทุกเช้า แม้เราไม่อาจทราบได้ว่าในโรงเรียนต้องยืนตรงเคารพธงชาติใด แต่ความปกติของคนบริเวณนี้ก็นับว่าเส้นเขตชายแดนเป็นเพียงเรื่องสมมติเท่านั้น
จาก 40 กิโลเมตรจากด่านชายแดน ลึกเข้าไปที่เมืองสำโรง จ.อุดรมีชัย “เจียง ฤทธี” ชายหนุ่มชาวกัมพูชาพาไปดูจุดที่ลูกปืนใหญ่ตกใส่หลังคาบ้าน ผลของมันคือทำให้บ้านหลังเล็กๆ ชำรุด ต้องใช้เงินซ่อมแซมกว่า 2 ล้านรีล หรือ 500 ดอลล่าร์สหรัฐ ผลแห่งการปะทะกันระหว่างทหารบ่อยครั้งมันทำให้เขาโกรธ และเกลียดคนไทย เช่นเดียวกับคนอีกจำนวนมากที่รู้สึกไม่ต่างกัน
“คนส่วนใหญ่รู้ข้อมูลเฉพาะในโทรทัศน์เกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้ง เมื่อพวกเขาเห็นว่าทหารไทยยิงปืนมาที่ฝั่งกัมพูชา พวกเขาก็รู้สึกโกรธว่าทำไมทหารไทยถึงทำแบบนี้
ถ้าดูเฉพาะทีวีก็จะเห็นว่าทหารไทยยิงทหารกัมพูชา แสดงว่าพวกเขาคงต้องกาตัวปราสาท
ตอนแรกผมก็คิดเหมือนกับพวกเขาว่า ทำไมคนไทยถึงแย่จัง พวกเขาคงต้องการเอาปราสาทพระวิหารของเรา ซึ่งบางทีทำให้เราไม่ชอบคนไทย ทหารไทย
แต่ตอนนี้ความคิดแบบนั้นที่มีต่อคนไทยก็เปลี่ยนไป เมื่อมีโอกาสไปที่ชายแดนและข้ามไปยังประเทศไทย พอได้คุยกับคนไทย พวกเราแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เกี่ยวกับความขัดแย้ง ก็ได้รู้ว่าพวกเขาคิดยังไง”
บทความนี้เรียบเรียงขึ้นจากรายการบ้านเธอก็บ้านฉัน ตอน สันติเพียบ สู่ สันติภาพ ผลิตโดยกลุ่มสื่อสร้างสุข จ.อุบลราชธานี เป็นเพียงน้ำจิ้มก่อนชมสารคดีฉบับเต็มเท่านั้น เพื่อให้เห็นภาพและเสียงที่อาจช่วยทำให้เราเข้าใจมากขึ้น ท่านสามารถรับชมฉบับออกอากาศได้ในวันเสาร์ ที่ 5 กรกฎาคม 2557 เวลา 10.30 น. ทางไทยพีบีเอส และชมออนไลน์ได้ทาง http://thaipbs.or.th/live