โควิดยังวิกฤติ ห่วงแรงงานข้ามชาติในพื้นที่เสี่ยงเข้าไม่ถึงการตรวจ-รักษา-วัคซีน

โควิดยังวิกฤติ ห่วงแรงงานข้ามชาติในพื้นที่เสี่ยงเข้าไม่ถึงการตรวจ-รักษา-วัคซีน

เปิดตัวเลขแรงงานข้ามชาติในระบบต้องได้รับการจัดสรรวัคซีนตามสิทธิจำนวน 2 ล้านคน แต่พบข้อจำกัดด้านภาษา-เทคโนโลยีในการลงทะเบียนรับวัคซีน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ แนะ ก.แรงงาน เลิกจัดตั้งทีมไล่ล่า หวั่นคุมโรคยากและทำให้แรงงานที่ป่วยไม่กล้าแสดงตัวรักษา จี้เปิดให้เข้าสู่ระบบการลงทะเบียนแรงงานใหม่ตาม “สมุทรสาครโมเดล” ขณะที่นายจ้างเผยการตรวจเชิกรุกในพื้นที่เสี่ยงไม่รวมแรงงานข้ามชาติ แม้จะมีเอกสารครบก็ยังถูกเรียกเก็บเงิน

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และการเข้าถึงวัคซีนพบว่า มีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อสะสม จำนวน 41,784 คน (ณ วันที่ 15 มิ.ย. 64) แบ่งเป็น เมียนมา 35,377 คน กัมพูชา  4,707 คน และลาว 1,700 คน

การแพร่ระบาดในระลอกที่สาม มีความรุนแรงและกระจายตัวออกเป็นวงกว้างของการระบาดมากกว่าทั้งสองระลอกที่ผ่านมา เฉพาะระลอกนี้มีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อทั้งหมด 26,241 คน เป็นเมียนมา 20,163 คน กัมพูชา 4,478 คน และลาว 1,600 คน ซึ่งสาเหตุของการกระจายตัวส่วนหนึ่งมาจากถูกเลิกจ้างเพราะนายจ้างต้องปิดกิจการโดยเฉพาะในภาคบริการ เพราะวิกฤตโควิด หรือ ตามคำสั่งของ ศบค. 

นายอดิศร กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคได้บีบให้แรงงามข้ามชาติเหล่านี้ต้องไปหางานทำที่อื่นเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง เมื่อมีการเปลี่ยนงาน เปลี่ยนนายจ้าง ทำให้แรงงามข้ามชาติจากเดิมที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำงานอย่างถูกกฎหมาย กลายเป็นผิดกฎหมายไป เช่น ถูกจับว่าทำงานผิดประเภท หรือเอกสารแรงงานไม่ตรงกับนายจ้างปัจจุบัน

แม้ว่าเป็นเรื่องที่ทั้งตัวแรงงานและนายจ้างไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่กระทรวงแรงงานกลับมีการตั้งชุดเฉพาะกิจ เพื่อติดตามและตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวขึ้นมา 6 ชุดขึ้นมากวาดล้างคนเหล่านี้ ซึ่งนโยบายดังกล่าวทำให้มีความกังวลว่าจะยิ่งทำให้แรงงานยิ่งหลบซ่อน หากไม่สบายก็จะไม่กล้าออกมาแสดงตัวขอพบแพทย์ เพราะกลัวจะถูกจับ 

“เรากังวลว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่ คนยังติดกันเยอะและมีการไล่จับ ทำให้คนจำนวนมากหลบ ไม่กล้าออกมาหาหมอ ซึ่งตัวนี้น่าห่วงถ้าการจัดการอย่างมีความขัดแย้งกันอยู่แบบนี้เรามองว่าการควบคุมโรคติดต่อจะทำได้ยากขึ้น และไม่ได้เกินประโยชน์อะไร ดังนั้นควรจัดการคนอยู่เพื่อกันไม่ให้คนเข้า ควรทำให้คนรู้สึกสบายใจที่จะอยู่”    

ทำอย่างไรให้เข้ามาอย่างถูกต้องผ่านการตรวจโรคให้เรียบร้อย ส่วนคนที่ตั้งใจมาแสวงหาการอยู่รอดที่พักพิงเราก็ต้องให้เขาเหล่านี้มีที่พักอาศัยอยู่ได้ ภาครัฐจะต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกันคือทำอย่างไรก็ได้ให้คนงานเข้าถึงการควบคุมโรค ทั้งการตรวจ และวัคซีน ให้ได้เร็วที่สุด และจะต้องใช้หลัก 4 อ. ในการจัดการ คือ 1.อาหาร 2.ที่อยู่อาศัย 3.อาชีพ และ 4.มีการดูแลรักษาเมื่อมีอาการ ซึ่งตอนนี้ไม่มีการใช้ 4 อ. เลยการระบาดก็เลยชัดเจนมากขึ้น

นายอดิศร กล่าวการเข้าถึงวัคซีนของแรงงานข้ามชาติว่า หากเป็นแรงงานที่มีเอกสาร ซึ่งมีจำนวนประมาณ 2 ล้านคน ในพื้นที่เสี่ยงจะมีระบบของวัคซีน แต่พบข้อจำกัดว่า ยังไม่มีภาษาประเทศต้นทางของแรงงาน และทั้งแอปพลิเคชั่น และเว็บไซต์สำหรับจองไม่เอื้อต่อการลงทะเบียน

ส่วนแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่มีจำนวนประมาณ 1 ล้านคนนั้น มีช่องทางจองวัคซีนผ่านสำนักงานประกันสังคม และในพื้นที่เสี่ยงมีระบบจองของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งนายจ้างจะต้องเป็นผู้ลงทะเบียนให้ ทำให้มีโอกาสตกหล่น และระยะเวลาในการลงทะเบียนนั้นจำกัด ไม่มีแผนขยายระยะเวลาการลงทะเบียน อีกทั้งไม่รับทราบข้อมูลนัดหมาย

ขณะที่การเข้าถึงวัคซีนของผู้ติดตามแรงงาน ซึ่งมีประมาณ 1 แสนคน มีระบบจองหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และมีวัคซีนทางเลือกที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะฉีดในเด็กอย่างไร และยังพบปัญหาว่าผู้ติดตามแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่คือลูก ไม่มีเอกสารเพราะไม่ได้เกิดในไทย

สำหรับกลุ่มที่ไม่มีเอกสารเลย ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 1-2 ล้านคนนั้น ไม่มีช่องทางในการเข้าถึงวัคซีน นอกจากวัคซีนทางเลือกที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง เพราะระบบลงทะเบียนขอรับวัคซีนส่วนใหญ่ต้องมีเอกสาร และการพิจารณาให้วัคซีนแรงงานข้ามชาติในแต่ละที่ไม่เหมือนกัน

นายอดิศร ประเมินว่ากระทรวงแรงงานกลัวกระแสสังคมมากกว่าว่าเหตุใดถึงไม่จัดการแรงงานที่ผิดกฎหมาย กระแสนี้มาพร้อมกับข่าวคนลักลอบเข้าประเทศ แต่เมื่อไม่สามารถจัดการคนลักลอบเข้าประเทศได้ ก็มาเข้มงวดกับคนที่อยู่ข้างในประเทศแทน ดังนั้นใน ศบค.จะต้องตัดสินใจในเรื่องนี้ และกล้าเสนอไปยังรัฐบาลว่าต้องการแบบไหน เพราะส่งผลกระทบต่อการแพร่ระบาด 

นายจ้างเผยการตรวจเชิกรุกในพื้นที่เสี่ยงไม่รวมแรงงานข้ามชาติ แม้จะมีเอกสารครบก็ยังถูกเรียกเก็บเงิน

นายปภพ เสียมหาญ นายจ้างร้านอาหารย่านห้วยขวางที่เป็นนายจ้างของแรงงานข้ามชาติสะท้อนว่า ตั้งแต่ระลอกแรกถึงปัจจุบัน เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ขึ้น นโยบายแรกคือให้ปิดร้านอาหาร และไม่ได้บอกล่วงหน้า ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเตรียมความพร้อมได้ และไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เลยว่าปิดแล้ว จะเปิดอีกครั้งเมื่อไหร่ ซึ่งนอกจากส่งผลกระทบทางธุรกิจแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องของการจ้างงาน เนื่องจากเป็นระบบลูกจ้างประจำ จ่ายเป็นเงินเดือน เมื่อวันทำงานลดลง ก็จะต้องขอลดเงินเดือนตามสัดส่วนที่ประกันสังคมกำหนด ลูกจ้างบางรายก็รับได้ แต่บางรายไม่ไหว ก็ขอลาออก ไปทำงานที่อื่น ซึ่งกระทบกับนายจ้างมาก เพราะถ้าวันหนึ่งเปิดร้าน แต่ไม่มีคนงานพอ ก็จะเปิดร้านไม่ได้ และหากรับใหม่ก็จะเริ่มกระบวนการจ้างงานแรงงานข้ามชาติใหม่ ซี่งนายจ้างจะต้องสำรองค่าใช้จ่ายเยอะมาก  

“กรณีปิดตลาดห้วยขวาง แรงงานจำนวนมากเปลี่ยนจากรับงานรายวันที่ตลาดไปเป็นรถเข็นขายของริมถนน ไก่ทอด หมูทอด เคลื่อนย้ายตลอด เพราะถ้าเขาหยุดงานเขาไม่มีกิน ไม่มีเงินค่าที่พัก เขาก็เลือกที่จะไม่กักตัว มันก็เลยลามมาถึงตลาดใกล้เคียงด้ว”  พูดตรง ๆ ในพื้นที่ห้วยขวางไม่มีใครกักตัวเลย แม้ว่าจะเป็นคนสัมผัสใกล้ชิดกับคนติดโควิดก็ตาม” ผู้ประกอบการระบุ

นายปภพ กล่าวว่า ในการแพร่ระบาดที่ผ่านมา มีการประกาศว่าจะมีจุดตรวจเชิงรุกมาตั้งให้กลุ่มเสี่ยงสามารถไปตรวจได้ คนไทยใช้บัตรประชาชน แรงงานข้ามชาติใช้พาสปอร์ต ร้านของตนก็จะใช้วิธีการนี้โดยให้ลูกจ้างไปจองคิวตั้งแต่ 6 โมงเช้า แต่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่รับตรวจแรงงานข้ามชาติ ตนก็แย้งไปว่าในเว็บไซต์บอกว่าให้ตรวจกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด ทางเจ้าหน้าที่บอกว่า คนไทยยังตรวจไม่ครบเลยจะไปตรวจต่าวด้าวได้อย่างไร ซึ่งยอมรับว่าได้ยินเช่นนั้นก็รู้สึกก็โมโห เลยโทรศัพท์ไปสอบถามโดยตรงกับสำนักงานเขต และ กทม. ซึ่งก็ยืนยันคำตอบมาเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ในจุดตรวจ 

“เขาบอกว่าที่ลาดพร้าวมีรับตรวจคนละ 600 บาท ตรวจละเอียด 3,000 บาท แต่ต้องจ่ายเงินเอง พอพูดแบบนี้แรงงานก็ไม่อยากตรวจ เพราะไม่อยากเสียเงิน เรานายจ้างก็ต้องควักกระเป๋าให้ เพราะถ้าไม่ตรวจก็เปิดร้านไม่ได้ ไม่รู้ใครติดไม่ติดบ้าง ถึงวันนี้ไม่มีอะไรเยียวยา ไม่มีมาตราการเป็นรูปธรรมชัดเจน” นายปภพกล่าว


นายปภพ ยังระบุว่า แม้ว่า ศบค.จะประกาศผ่อนคลายให้เปิดร้านอาหารได้ แต่ในพื้นที่ที่แพร่ระบาดจริงจะมีการประกาศเฉพาะพื้นที่อีก ทำให้นายจ้างต้องลุ้นตลอดเวลาว่าจะเปิดหรือปิด ทั้งนี้อยากเสนอแนะไปยังรัฐบาลว่าควรจัดการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานข้ามชาติด้วย และต้องไม่มีภาระทั้งตัวแรงงานและนายจ้าง เพราะเจ็บตัวกันมามากแล้ว 

ภาระไม่ควรเกิดขึ้นกับประชาชน ทุกคนต้องได้รับปฎิบัติที่เท่าเทียมกัน รวมถึงการเข้าถึงการรักษาที่วันนี้เห็นหลายคนติดโควิด แต่ไม่มีรถไปรับเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา อยู่ในที่พักตัวเอง คนเหล่านี้เป็นตัวเลขแฝงที่ ศบค.ไม่ได้รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อกี่รายที่ยังไม่ได้รับการรักษา

แรงงานข้ามชาติสะท้อนปัญหา ถูกกีดกันและเลือกปฏิบัติในการเข้ารีบการรักษา พร้อมระบุอยากได้รับการจัดสรรวัคซีนเหมือนทุกคน 

​นางมินเอ แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ซึ่งเป็นแม่บ้านอยู่ในประเทศไทยยังได้สะท้อนถึงปัญหาที่เธอต้องพบเจอเมื่อป่วยเป็นโควิดว่า แม้ว่าจะมีเอกสารถูกต้องแต่เมื่อป่วยเป็นโควิดก็ต้องรักษาและรับผิดชอบตนเอง รวมไปถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วย และได้รับผลกระทบทั้งกับการทำงานและการรักษาตัว

นางมินเอ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้รู้ข่าวว่ารัฐบาลไทยประกาศว่าทุกคนที่ป่วยเป็นโควิดในประเทศไทยจะต้องได้รับการรักษาฟรี แต่ตัวเองต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทุกบาททุกสตางค์ อย่างไรก็ตามยังถือว่าโชคดีที่นายจ้างดูแลและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวให้ทั้งหมด แต่กับคนอื่น ๆ หากเขาไม่พบเจอนายจ้างแบบนี้ แล้วระบบก็ไม่รองรับการรักษาพยาบาลให้กับเขาก็น่าเป็นกังวล

“อยากได้รับการจัดสรรวัคซีนเหมือกันคนอื่น ๆ เพราะต้องทำงานในประเทศไทยอีกนาน ไม่อยากให้ตัวเองต้องเสี่ยงต่อการติดโรคหรือจะต้องกลายเป็นคนที่ติดเชื้อและนำโรคไปติดคนอื่น” นางมินเอ กล่าวและให้ข้อมูลว่า ตอนนี้นายจ้างได้ลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนให้แล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับการจัดสรร

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ