ชีวิตนอกกรุง : รุ่งหรือร่วง มะม่วงเนินมะปราง จ.พิษณุโลก

ชีวิตนอกกรุง : รุ่งหรือร่วง มะม่วงเนินมะปราง จ.พิษณุโลก

พิษณุโลก เกษตรกรแปลงใหญ่ ที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองส่งออกในจังหวัดพิษณุโลก มากกว่า 50,000 ไร่ เป็นอีกหนึ่งผลผลิตในตอนนี้ที่กำลังออกผลอย่างมากมายในช่วงฤดูนี้ พิษจากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งผลกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวสวนมะม่วงใน จ.พิษณุโลก ได้รับผลกระทบกันหนักมาก โดยเฉพาะที่ อ.เนินมะปราง ที่นิยมปลูกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง มีการส่งออกไปขายทั้งทั่วประเทศและต่างประเทศ บทเรียนจากวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ทำให้เกษตรกรหาวิธีการแก้ไขปัญหา และหาทางออกในรูปแบบต่าง ๆ มีการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเพื่อโพสขายระบายสินค้าเพื่อแก้ปัญหาสินค้าตกค้าง การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสหกรณ์ที่อยู่ตามภาคต่าง ๆ ในประเทศ รวมถึงการแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อในอนาคตหากเกิดวิกฤตแบบนี้ขึ้นมาอีกจะได้นำไปใช้เพื่อปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์นั้น ๆ

“เนินมะปราง” เป็นอำเภอหนึ่งของ จ.พิษณุโลก อยู่ห่างจาก อ.เมือง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 68 กิโลเมตร ที่นี่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งทำนา ทำไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด และทำสวนผลไม้ โดยเฉพาะมะม่วง ซึ่งกำลังเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของท้องถิ่น ปัจจุบันทำรายได้สูงราว 2 พันล้านบาทต่อปี เลยทีเดียว

แน่นอนว่ารายได้กว่า 50% ของชาวสวนมะม่วงที่เนินมะปรางมาจากการส่งออกผลผลิตไปยังต่างประเทศ แต่จากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกมะม่วงโดยตรง เนื่องจากหลายประเทศมีการประกาศปิดประเทศ เครื่องบินพานิชย์ที่เคยรับส่งสินค้าระหว่างประเทศมีการลดเที่ยวบินลง ทำให้การส่งออกมะม่วงของชาวเกษตรกรมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้ายังดึงดันที่จะส่งออก ก็จะไม่คุ้มกับต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกษตรกรปรับตัวหันมาทำการตลาดภายในประเทศมากขึ้น

ชลธิชา ช่างประดิษฐ์ ประธานกลุ่มมะม่วงคุณภาพบ้านวังน้ำบ่อ ต.ไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก

ทางออกเดียวในตอนนี้คือ การขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งบางสวนเป็นปกติอยู่แล้วที่ผ่านมาที่ขายบนโซเชียลมีเดียไปด้วย สมาชิกเมื่อก่อนให้ขายบนสื่อโซเชียลได้จำนวนทีละน้อย ๆ ก็ยังไม่ค่อยมีผู้คนสนใจที่จะซื้อมากนัก แต่พอเจอช่วงวิกฤตโควิด-19 หลายคนหลายสวนก็มาขายบนสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

หนึ่งในทางเลือกที่จะระบายผลผลิตของทางกลุ่มมะม่วงคุณภาพบ้านวังน้ำบ่อ คือการปรับตัวสู่การขายออนไลน์มากขึ้น ซึ่งทางกลุ่มมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบมากขึ้นจากปีก่อน ๆ เริ่มจากการคัดผลผลิตเกรดพรีเมียมจากสมาชิกภายในกลุ่ม 2. การรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก 3.แบ่งหน้าที่ด้านการตลาด กับ การตรวจคุณภาพ 4.ฝ่ายบรรจุผลิตภัณฑ์

การขายออนไลน์ของ กลุ่มมะม่วงคุณภาพบ้านวังน้ำบ่อ จะแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

1 แพ็คเกจพรีเมียม 5 กิโลกรัม ราคา 499 บาท

2 แพ็คเกจสเปเชียล 5 กิโลกรัม ราคา 399 บาท

3 แพ็คเกจแฟมิลี่ 9 กิโลกรัม ราคา 599 บาท

ซึ่งการขายออนไลน์ ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับสมาชิกในกลุ่ม แต่ก็สามารถช่วยระบายผลผลิตของทางกลุ่มได้ประมาณ 60% ซึ่งผลผลิตที่เหลือของกลุ่ม ก็จะมีการขายให้กับพ่อค้าคนกลาง และมีการเก็บไว้แปรรูปอีกจำนวนหนึ่ง

ตอนนี้ก็ถือว่าเราได้ช่วยไปแล้วหลายสวน ประมาณห้าหกสวน ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ตอนนี้ของที่ระบายออกวันละหนึ่งตัน หรือสองตัน แต่ของที่มีอยู่สามร้อยตัน ถือว่าช่วยรายที่เดือดร้อนสุดก่อน และของที่มีคุณภาพสุดก่อน ปีนี้ก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ได้หลายอย่างในวิกฤตินี้ ยังมีโอกาสอยู่ ยังมีบุคคลภายนอกที่ อยากจะสนับสนุนสินค้าชุมชนที่ดีอยู่ ที่เราเลือกสรรให้อยู่

พี่ชลธิชา พูดถึงการระบายผลผลิตกว่า 400 ตัน ของกลุ่ม

การปรับตัวของกลุ่มมะม่วงคุณภาพบ้านวังน้ำบ่อ ที่เน้นทำการตลาดภายในประเทศ ด้วยการคัดสรรมะม่วงเกรดพรีเมียม ขายในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งช่วยระบายผลผลิตได้วันละ 1-2 ตัน จากช่วงรุ่ง ๆ ของกลุ่ม ที่ยอดขายส่งออกต่อปี อยู่ที่ประมาณ 4-5 ล้านบาท ปีนี้อาจจะพอประคองตัวไปได้ประมาณ 60% ซึ่งแม้ช่องทางใหม่ ๆ ที่ทางกลุ่มพยายามเรียนรู้อยู่ จะยังไม่ใช่คำตอบทั้งหมด  แต่ก็พอที่จะทำให้เห็นทางเลือก และทางรอด ของเกษตรกรกลุ่มนี้ครับ

กลุ่มผู้ปลูกมะม่วงสหกรณ์นิคมวังทอง

ผมเดินทางต่อมาที่กลุ่มสหกรณ์นิคมวังทองครับ ที่นี่เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีผลผลิตต่อปีเป็นจำนวนมากครับ สมาชิกกลุ่มมีผลผลิตต่อปีอยู่ที่ประมาณ 400-500 ตัน ซึ่งการระบายผลผลิตของที่นี่ นอกจากจะขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลางแล้ว การเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่กลุ่มนำมาปรับใช้ในวิกฤตครั้งนี้

นิภาพร จันทะคูณ ประธานรวบรวมผลผลิตสหกรณ์นิคมวังทอง

เราไม่ได้มีการทำสัญญา แต่ว่าเป็นการขอร้องมากกว่า ขอร้องให้มีการช่วยเหลือในด้านผลผลิตของเรา เป็นการขอร้องมากกว่า ไม่ได้มีการทำสัญญาใดๆ

พี่มล พูดถึงลักษณะการเชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์

ถึงแม้จะมีเครือข่ายสหกรณ์นิคมทั่วประเทศกว่า 90 แห่ง แต่ปีนี้มะม่วงออกพร้อมกันทั่วประเทศ ทำให้ระบายผลผลิตของกลุ่มได้แค่ประมาณ 100-200 ตันเท่านั้น เพราะยังไม่ได้มีรูปแบบและข้อตกลงระหว่างเครือข่ายสหกรณ์ที่ชัดเจน แต่ในอนาคตก็อยากจะทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

พูดตรง ๆ ว่ายังไม่มีการกำหนดว่าแต่ละสหกรณ์จะรับผลผลิตต่อปีกันเท่าไหร่ เหมือนขอความช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากกว่า แต่ในอนาคตก็อยากให้เป็นระบบที่ชัดเจน แต่ตอนนี้เราก็กำลังมองอยู่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบไหน เมื่อผ่านหลังจากปีนี้แล้วสถานการณ์มันจะเป็นอย่างไร

พี่มล พูดถึงการเชื่อมโยงในอนาคต ที่อยากให้เป็นระบบที่ชัดเจนมากขึ้น

การปรับตัว และเลือกที่จะใช้ระบบเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ  มีทั้งการส่ง และ การรับผลผลิตระหว่างสหกรณ์  เป็นแนวทางในการช่วยกระจายสินค้าและหาตลาดซึ่งกันละกัน  แม้ในตอนนี้ จะยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน แต่เราก็พอจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของเกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มลักษณะนี้อยู่เช่นกันครับ

อีกหนึ่งกลุ่มที่น่าสนใจ คือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปมะม่วงบ้านคลองซับรัง ครับ กลุ่มนี้ใช้วิธีการแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกทางหนึ่ง

ส่งออกช่วงนี้ราคาไม่ค่อยดีเลย เพราะผลผลิตมะม่วงออกมาล้นตลาด แล้วมันก็มาเจอช่วงโควิด การส่งออกก็จะลำบาก พ่อค้าก็จะไม่เข้ามา ผลผลิตก็เหลือเยอะ ผลผลิตเยอะ ราคาก็ถูกเราก็ต้องนำเอาผลผลิตมาเพื่อเพิ่มมูลค่า เราก็เลยนำมาแปรรูป

พี่รุ่ง พูดถึงเหตุผลที่นำมะม่วงมาแปรรูป
รุ่งนภา อาจปา กลุ่มแปรรูปมะม่วงบ้านคลองซับรัง

พี่รุ่งบอกว่า ผลผลิตของสมาชิกในกลุ่มมีไม่มาก รวม ๆ แล้วก็ประมาณ 40-50 ตัน เท่านั้น ส่วนใหญ่ก็จะขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง ส่วนที่เหลือที่ตกเกรดก็นำมาแปรรูป จากเดิมที่ทำมะม่วงกวน ก็นำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น น้ำมะม่วงพร้อมดื่ม , น้ำมะม่วงเข้มข้น และ ซาลาเปาไส้มะม่วง ซึ่งตลาดสำหรับสินค้าแปรรูปจะเป็นการออกงาน และส่งเป็นอาหารว่างให้กับหน่วยงานในพื้นที่

ตอนนี้ทางกลุ่มก็ส่งเป็นอาหารว่างประจำของหน่วยงานราชการ หรือการท่องเที่ยว เครือข่ายท่องเที่ยวโอทอป มีการออกร้านตามงานที่ทางหน่วยงานราชการจัดมาให้ ซึ่งก็ช่วยระบายผลผลิตได้ 200-300 กิโลกรัม ต่อเดือน

พี่รุ่ง พูดถึงตลาดของสินค้าแปรรูปของทางกลุ่ม

ในอนาคตทางกลุ่มอยากจะเพิ่มการแปรรูปให้ได้มากกว่านี้ เพราะตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปยังเปิดกว้างอยู่ เวลาไปออกบูทก็มีคนเข้ามาติดต่อขอให้ทำส่งเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสินค้าแปรรูปที่เป็นประเภทอาหารต้องมีใบรับรองจาก อย. ซึ่งทางกลุ่มยังไม่สามารถสร้างโรงเรือนได้ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ในอำเภอเนินมะปรางยังไม่มีเอกสารสิทธิ การขอทุนจากภาครัฐเพื่อสร้างโรงเรือนจึงยังไม่สามารถทำได้

เป้าหมายต่อไปอยากทำให้ผ่าน อย. ให้ได้ เราอยากให้ได้มาตรฐานตัวนี้เพื่อความมั่นใจของลูกค้า ถ้าได้มาเราก็สามารถผลิตสินค้าส่งไปตามห้างร้าน ได้เข้าไปขายในร้านสะดวกซื้อ ก็จะช่วยระบายผลผลิตของทางกลุ่มได้อีกทางหนึ่ง

พี่รุ่ง พูดถึงเป้าหมายในอนาคตของทางกลุ่ม

ปัญหาสิทธิในที่ดินของ อ.เนินมะปราง เป็นเรื่องที่ซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน กลายเป็นข้อจำกัดด้านกฎระเบียบที่ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากขาดโอกาสในการพัฒนาและแก้ปัญหาของตัวเอง  ซึ่งถ้าสามารถปลดล็อกนโยบายตรงนี้ได้ การยกระดับสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีของเกษตรกรในพื้นที่

วิกฤตโควิด-19 คือความท้าทาย และบททดสอบใหม่ ของชาวเกษตรกรนอกกรุง ซึ่งในอนาคตเราก็ไม่รู้ว่าจะเจอภัยพิบัติหรือสถานการณ์อย่างนี้อีกเมื่อไหร่  การเตรียมพร้อม พัฒนาทักษะผู้ประกอบการ เพื่อสร้างฐานรากของชุมชนให้เข้มแข็ง คือสิ่งที่ต้องเริ่มอย่างจริงจังตั้งแต่ตอนนี้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ