อยู่ดีมีแฮง : ฟาร์มกบในทุ่งนาเลียนแบบวิถีธรรมชาติ

อยู่ดีมีแฮง : ฟาร์มกบในทุ่งนาเลียนแบบวิถีธรรมชาติ

“อยู่กรุงเทพฯทำงานสบายนานกว่า 30 ปี แต่พอกลับบ้านได้รู้จักหลักการใช้ชีวิตที่แท้จริงเท่านั้นล่ะ ไม่กลับไปกรุงเทพฯอีกเลย” จิดาภา โคกศรี  หรือแม่โส เจ้าของฟาร์มกบ อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร กล่าวถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาเลี้ยงกบ ซึ่งก่อนหน้านี้ทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นพนักงานออฟฟิศ นานกว่า 30 ปี พอถึงจุดอิ่มตัว ก็อยากกลับมาอยู่บ้าน เริ่มแรกที่ตัดสินใจกลับก็ทำให้แม่โสคิดว่าถ้ากลับบ้านไปแล้วจะทำอะไร ไม่รู้จะเริ่มจะทำอะไรก่อนดีจนวันหนึ่งฉุดนึกคิดได้ สมัยตอนที่แม่โสยังเด็ก ๆ พื้นฐานแต่เดิมพ่อของแม่เป็นชาวไร่ชาวนา แล้วทำให้แม่โสนึกถึงช่วงทำนาได้ยินเสียงกบร้อง ลูกกบกระโดดตามไร่นาเต็มเลย

จนที่สุด ในวันที่แม่โสได้มาอยู่บ้านกับครอบครัว ได้เริ่มทำนาสิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือ ทุ่งนาที่เคยคิดไว้เหมือนแต่ตอนยังเป็นเด็กกับตอนนี้ทำไมต่างกันได้อย่างสิ้นเชิงแบบนี้ เสียงกบก็ไม่ค่อยมีปลาที่อยู่ในน้ำแห้งช่วงทำนาทำไมถึงไม่มีเหมือนแต่ก่อนเคย นี่คือหนึ่งเหตุผลว่าทำไมแม่โสถึงอยากเลี้ยงกบก็เพราะอยากจะย้อนกลับไปเหมือนสมัยที่ยังเป็นเด็กอยากให้ธรรมชาติของไร่นาได้กลับคืนมา

การทดลองเลี้ยงกบได้เริ่มขึ้น แม่โสได้ลองซื้อกบมาเลี้ยงในกระชังเล็ก ๆ ดูก่อน จากความไม่รู้ไม่ได้ศึกษาดูก่อน กบในกระชังตายหมดเพราะความไม่รู้ ไม่เคยเลี้ยง จากที่เคยพบประสบปัญหา เลี้ยงกบครั้งแรกแล้ว แม่โสยังไม่ท้อและได้สู้ใหม่อีกครั้ง ขยายไร่นาขุดเพิ่มจะลองเลี้ยงกบในนาดูว่ากบจะตายอีกครั้งไหม ในที่สุดกบไม่ได้ตาย แต่กบออกจากตาข่ายที่ล้อมไว้หมดเพราะมีการผิดพลาดล้อมตาข่ายไม่ดีทำให้กบออกไปหมด แม่โสกับสามีจึงพักการเลี้ยงกบออกไปก่อนและมาทำนาปลูกข้าวก่อน

ช่วงระหว่างทำนาปลูกข้าว ตกกลางคืนแม่โส เล่าว่า วันนั้นได้ยินเสียงกบร้องพอเดินออกไปส่องไฟดูเท่านั้น แสงเล็ก ๆ นั้นเต็มไปหมด แสงเล็ก ๆ นั่นก็คือดวงตากบที่แม่โสเคยเลี้ยง กบของแม่โสที่เคยออกจากตาข่ายไป กบไม่ได้ไปไหนกบยังอยู่ตามทุ่งนาของแม่โสเอง ซึ่งนั่นเป็นจุดเปลี่ยน แม่โสเปลี่ยนความคิดว่าการที่กบออกจากตาข่ายที่เคยขังเขาไว้ทำไม โตขึ้นมากแถมอ้วนเกือบทุกตัวได้ขนาดนี้

ถ้าเราเลี้ยงกบแบบให้กบได้อยู่กับธรรมชาติได้มากที่สุด กบคงไม่ตายเหมือนครั้งที่เคยผ่านมา

ข้อดีที่เห็นได้ชัดของการเลี้ยงกบในแบบของแม่โสก็คือ มีการเลียนแบบธรรมชาติสร้างที่อยู่สร้างแหล่งอาหารโดยการเปิดไฟตอนกลางคืนเพื่อให้มีแมลงเข้ามาให้กบได้กินเป็นอาหาร ซึ่งการทำแบบนี้เป็นการลดต้นตุนการใช้จ่ายทางด้านค่าอาหารได้มากที่สุด ประหยัดที่สุด แม่โสยังเล่าอีกว่าค่าใช้จ่ายอาหารให้กบแทบไม่มีเลย จะให้แค่ช่วงยังเล็ก ๆ เป็นลูกกบอายุประมาณ 2 เดือน ต้องบำรุงช่วงกำลังจะเจริญเติบโตหลังจากผ่านวัยนั้น ก็ไม่ได้ให้อาหารอีกเลย

การเลี้ยงกบในนาต้องไม่มีการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าหญ้า

ลูกค้าที่เข้ามาซื้อกบยังสามารถจับกบเอง เป็นสีสันในการซื้อกบอีกแบบ ช่วง COVID-19 ก็มีคนกลับบ้านอยากจะเริ่มเลี้ยงกบเข้ามาปรึกษา ศึกษาการเลี้ยงกบรูปแบบของแม่โสก็มี เพราะคนเริ่มสนใจการเลี้ยงกบแบบนี้มากขึ้น  ซึ่งแม่โสจะพูดอยู่เสมอว่า “ทุกคนเริ่มจากทำไม่เป็นเหมือนกันแต่ถ้าเราเริ่มจากใจที่รักก่อน ทำจากสิ่งที่เราชอบก่อน อย่าเพิ่งหวังจะได้เงินเร็วให้ทำไปก่อนแล้วเงินมันจะตามมาทีหลังเพราะเงินคือผลพลอยได้”

แม่โสเองก็ไม่ได้ปฏิเสธว่า จะไม่หาเงินเพราะคนเราถึงยังไงก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินอยู่ดี แต่การอยู่แบบเรียบง่ายของแม่โสไม่ใช่เพียงแค่เลี้ยงกบเท่านั้นแต่ยังมีปลาในสระ ไก่บ้าน ไก่ไข่ ผักปลอดสารมากมายหลายอย่าง สามารถทำอาหารกินในครอบครัวได้ตลอดและประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น และสิ่งที่สร้างเสียงหัวเราะ เป็นความสุข ความน่ารัก คือเจ้าสุนัขตัวโปรดของบ้านนาหลังนี้ มีชื่อว่า “มอมแมม” สุนัขสายพันธุ์โกลเดินริทรีฟเวอร์ที่คอยเดินตามแม่โสไปทุกที่ และอีกความสามารถของเจ้ามอมแมมก็คือการจับกบช่วยเจ้านาย

จากคำพูดของแม่โสที่ว่า เรามีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ ที่สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเราและครอบครัวได้นั้น ไม่ได้หมายความว่าเลี้ยงด้วยเงินทองแต่หมายความว่าเราเลี้ยงด้วยอาหาร มีความมั่นคงทางด้านอาหาร เราไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง เราไม่ได้มีเงินทองมากมายแต่เรามีแหล่งอาหารที่มากมาย สามารถสร้างสรรค์เมนูได้หลายหลากไม่ใช่แค่ ผัดกะเพราไข่ดาว ทุกวันนี้คิดแค่ว่าจะกินอะไรดีวันนี้  แต่ไม่ใช่คำว่าจะเอาอะไรกิน เพราะสองประโยคนี้คนละความหมายกัน

“ถ้าเราไม่เอาเงินเป็นที่ตั้งชีวิตก็จะสบาย แต่ถ้าเราเอาเงินเป็นที่ตั้ง สารพัดปัญหาจะเข้ามารุมล้อมอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นอย่าให้เงินมาครอบงำชีวิตของตัวเรามากเกินไป แล้วให้ถอยกลับมาตั้งหลักดูว่า ชีวิตเรานั้นมีอะไรบ้างที่มีความจำเป็นจริง ๆ เพราะสุดท้ายแล้ว คนเราต้องการแค่กินอิ่มนอนหลับ อยู่กับครอบครัวที่รักเพียงเท่านั้นก็สุขพอแล้ว”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ