คำว่า “กระต่าย” ที่หลายๆ คนจะคิดถึงกระต่ายในความน่ารัก ขนนุ่มปุกปุย กินผัก กินแคร์รอต แต่ในอีกมุมหนึ่งมองย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่ากระต่ายเป็นสัตว์พื้นเมืองที่คนสมัยก่อนนำมาทำเป็นอาหารและถ้าพูดถึงคุณภาพของเนื้อกระต่ายนั้นมีไขมันน้อย รสชาติดี และใช้ต้นทุนในการเลี้ยงต่ำ
บุญนำ สาขันธ์โคตร เจ้าของฟาร์มกระต่ายดำภูพาน ที่อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ได้เล่าว่าก่อนหน้านี้ลุงบุญนำ เคยเลี้ยงไก่ดำได้ 5-6 ปี แล้วหันมาเลี้ยงไก่ตีนโตสายพันธุ์ดองเต๋า เลี้ยงได้ประมาณ 5 ปี จึงได้หันมาเลี้ยงกระต่ายดำภูพานเริ่มต้นเลี้ยง 6 ตัวก่อน แล้วขยายพันธุ์มาเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้ มีประมาณ 50 ตัวแล้วกระต่ายดำภูพานจะใช้เวลาเลี้ยงไม่นานประมาณเดือนกว่าก็สามารถขายได้แล้ว น้ำหนักโตเต็มที่ถึง 3.5-4 กิโลกรัม
ลุงบุญนำเล่าว่า สาเหตุที่ได้มาเลี้ยงกระต่ายดำ เพราะตอนที่เลี้ยงไก่ มีเสียงดังรบกวนชาวบ้านแถวละแวกนั้น ทั้งกลิ่นของขี้ไก่ที่ส่งกลิ่นเหม็น ลุงบุญนำจึงหยุดเลี้ยงไก่ลงเพราะคิดว่าคงเลี้ยงในบริเวณบ้านที่ตัวเองอยู่อาศัยไม่ได้แล้วต้องเข้าใจและเห็นใจเพื่อนบ้านด้วย
“กระต่ายดำภูพานเลี้ยงง่าย และสามารถมีเวลาไปทำอย่างอื่นได้มากขึ้น”
เพราะในหนึ่งวันจะให้อาหารแค่ 2 เวลา เช้ากับเย็นเท่านั้น กระต่ายดำภูพานจะไม่ส่งเสียงดัง ขี้ไม่เหม็นเหมือนกับไก่ แข็งแรงไม่ค่อยเป็นโรค การกินของกระต่ายดำภูพานจะกินง่าย แค่หาหญ้าเกี่ยวหญ้ามาให้กิน มีกินอาหารหมูบ้าง ถือว่าใช้ต้นทุนต่ำมากในการเลี้ยง
ปัจจุบันกระต่ายดำภูพานที่ลุงบุญนำเลี้ยงอยู่ ไม่พอขาย ลูกค้าทาง กลุ่ม Facebook จนต้องได้สั่งจองล่วงหน้าไว้เพราะคนเริ่มให้ความสนใจกระต่ายดำภูพานมากขึ้น ราคาที่ลุงบุญขายจะเริ่มต้นที่ตัวละ 800 บาทหรือถ้าขายเป็นคู่ตกคู่ละ 1500-1600 บาท เฉลี่ยกระต่ายคอกหนึ่งจะคลอดลูกได้ 3-4 รอบต่อปี รอบหนึ่งก็ได้ประมาณ 7-8 ตัว โดยประมาณ
“ผักกะเพรากับกระต่าย ที่ไม่ใช่ผัดกะเพรากระต่าย”
แต่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่คิดอยู่ก็ได้ เพราะลุงบุญนำบอกว่าใบกะเพรานั้นเป็นอาหารโปรดของกระต่ายเลย มีเยอะแค่ไหนก็กินหมด เพราะใบกะเพรามีประโยชน์ต่อกระต่ายมาก ใบกะเพรามีสรรพคุณช่วยลดอาการท้องอืดเฟ้อ ขับลม ได้ ส่วนมากคนทั่วไปคงเข้าใจว่ากระต่ายชอบกินแคร์รอต กินแตงโม แตงกวา
กระต่ายกินแคร์รอต ได้แต่ต้องตามปริมาณที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่อาหารหลักเพราะอาหารเหล่านี้มีน้ำเยอะอาจไม่ดีต่อตัวกระต่ายเท่าไร กระต่ายอาจท้องเสียและท้องอืด ใบกะเพราและหญ้าจึงเป็นของโปรดของกระต่ายทุกตัวที่ลุงบุญนำเลี้ยง
“จับตรงไหนให้กระต่ายไม่ตกใจและเจ็บตัว”
การจับหูกระต่ายจะทำให้กระต่ายเจ็บปวดมาก เพราะหูกระต่ายคือส่วนที่มีเส้นประสาทเยอะที่สุด ที่เห็นกระต่ายนิ่งเพราะเจ็บถ้าดิ้นเส้นประสาทหรือเส้นเลือดฝอยเขาอาจฉีกขาดได้ วิธีอุ้มกระต่ายที่ถูกต้อง คือ เอามือจับตรงระหว่างเอวก่อนแล้วค่อยเอามือสอดใต้ขาหน้าและใช้อีกมือประคองที่ก้นหรืออุ้มแบบคนเลี้ยงที่คุ้นเคย ก็คล้ายๆ กับหมาแมว โดยการใช้ช่วงมือและแขนประคองทั้งสี่ขาของกระต่ายให้รู้สึกมั่นคง
ลุงบุญนำกับกระต่ายดำภูพานแสนน่ารัก และรายได้งามถือว่าเป็นอาชีพเสริมของลุงบุญนำอีกหนึ่งอาชีพเลยก็ว่าได้ กับคำพูดของลุงบุญนำที่ว่าเคยเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงไก่ ก็เลี้ยงมาเยอะแล้วแต่มาหยุดตรงที่กระต่ายดำภูพานเพราะเขาเลี้ยงง่ายไม่ต้องดูแลอะไรมาก รู้สึกดีมีความสุขที่ได้เลี้ยงกระต่ายดำภูพาน