จับตาแผ่นดินไหวเมียนมาร์ สัญญาณเตือนคนไทย เร่งสร้างแผนเตรียมรับมือแผ่นดินไหวในอนาคต

จับตาแผ่นดินไหวเมียนมาร์ สัญญาณเตือนคนไทย เร่งสร้างแผนเตรียมรับมือแผ่นดินไหวในอนาคต

จับตาแผ่นดินไหวเมียนมาร์
สัญญาณเตือน คนไทย เร่งสร้างแผนรับมือแผ่นดินไหวในอนาคต 

 

             เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศเมียนมาร์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 เวลา เวลา 17.34 น. (เวลาในประเทศไทย) ขนาด 6.8 ความลึกประมาณ 91  กิโลเมตร โดยมีจุดศูนย์กลาง อยู่บริเวณประเทศเมียนมาร์  ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 416   สามารถรู้สึกได้ถึงประเทศไทยในหลายจังหวัด หลายคนเข้าใจผิดว่าเกิดจากรอยเลื่อนสกาย แต่เป็น แผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดจากรอยเลื่อนอรากันเคลื่อนตัวมุดลง (Arakan Fault)  ซึ่งเป็นรอยเลื่อนที่อยู่ทางด้านตะวันตกของรอยเลื่อนสกาย ซึ่งถือเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่มีพลัง ที่ผ่านมารอยเลื่อนนี้มีการเคลื่อนตัวอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังเป็นรอยเลื่อนเดียวกันที่ทำให้เกิดสึนามิขึ้นเมื่อปี 2547   ซึ่งครั้งนั้นสร้างความเสียหายให้กับหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย   

20162608211251.jpg

ภาพจาก : CCTVNEWS

          ด้านความเสียหายในประเทศเมียนมาร์ล่าสุด รายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย บาดเจ็บอย่างน้อย 20 คน โบราณสถานหลายแห่งในพุกามพังถล่มลงมา โดยล่าสุดมีข้อมูลความเสียหาของโบราณสถานที่เป็นเจดีย์เก่าแก่และกำแพงวัดมากกว่า 184 แห่ง ซึ่งยังไม่นับรวมกับอาคารบ้านเรือนของประชาชนและหน่วยงานต่างๆโดยความช่วยเหลือด้านการบูรณะโบราณ ยูเนสโก ได้ให้คำมั่นสัญญากับเมียนมาร์ เพื่อช่วยเหลือในการบูรณะในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นแหล่งศูนย์รวมศิลปวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้เมียนมาได้พยายามยื่นเรื่องผลักดันให้โบราณสถานในพุกามเป็นมรดกโลกตลอดมา

           ด้านผลกระทบต่อประเทศไทยนั้นหลังจากเกิดแผ่นดินไหว ยังไม่มีรายงานความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินในประเทศไทย เพียงแค่สามารถรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนเท่านั้น  ดร.ปัญญา จารุศิริ   อาจารย์ประจำภาควิชา ธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ ระบุปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการเตือนกระบวนการเคลื่อนของแนวเปลือกโลกที่เปลี่ยนแปลงไป  ซึ่งคนไทยไม่ต้องหวาดวิตกมากเกินไป เพราะยังอยู่ห่างไกลจากไทย ส่วนในอนาคตประเทศไทยจะเกิดแผ่นดินไหวไม่นั้นยังไม่สามารถที่จะให้คำตอบได้อย่างชัดเจน ซึ่งคนไทยเองจะต้องเตรียมตัวรับมือไว้

              จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาครั้งนี้  ทำให้คนไทยต้องตระหนักว่า เรื่องราวแผ่นดินไหวคงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวของคนไทยอีกต่อไป ในประเทศไทยมีหลายจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงตั้งออยู่บนรอยเลือนแผ่นดินไหวที่มีพลัง ซึ่งสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รวบรวมข้อมูลรอยเลื่อนมีพลังไว้ ทั้งหมด 14 รอยเลื่อน โดยกระจายอยู่ใน 22 จังหวัดในประเทศไทย

 

20162608211448.jpg

ได้แก่

          1. รอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่านอำเภอเทิง อำเภอขุนตาล และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย  ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 57 กิโลเมตร      
          2. รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่านอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 29 กิโลเมตร

          3. รอยเลื่อนเมย วางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ พาดผ่านตั้งต้นจากลำน้ำเมย ชายแดนพม่า ต่อไปยังห้วยแม่ท้อ ลำน้ำปิง จังหวัดตาก ไปถึงจังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ และสิ้นสุดที่จังหวัดอุทัยธานี ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความยาวประมาณ 250 กิโลเมตร            

          4. รอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่านอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ในแนวโค้งไปทางทิศตะวันออก มีความยาวประมาณ 61 กิโลเมตร         

          5. รอยเลื่อนเถิน พาดผ่านอำเภอแม่พริก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ในแนวโค้งในไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีความยาวประมาณ 103 กิโลเมตร
          6. รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่านอำเภองาว จังหวัดลำปาง และอำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ ทางด้านทิศเหนือของรอยเลื่อนท่าสี มีความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร

          7. รอยเลื่อนปัว พาดผ่านพื้นที่อำเภอสันติสุข อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอเชียงกลาง และอำเภอทุ่งช้าง ของจังหวัดน่านในแนวเหนือ-ใต้  ด้วยความยาวประมาณ  130 กิโลเมตร   

          8. รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่านอำเภอเมือง อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ อำเภอนาหมื่น อำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา และอำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ  150 กิโลเมตร

          9. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่านอำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร

         10. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่านอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอศรีสวัสดิ์ และอำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ในแนวโค้งเล็กน้อยไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 62 กิโลเมตร

         11. รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ พาดผ่านอำเภอหนองไผ่ อำเภอเมือง อำเภอหล่มสัก และอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยรอยเลื่อนบริวารในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ กับแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้สลับกัน มีความยาวประมาณ 110 กิโลเมตร

         12. รอยเลื่อนระนอง พาดผ่านพื้นที่ตั้งแต่ จังหวัดระนอง ชุมพร ประจวบ คีรีขันธ์ และพังงา  มีความยาวประมาณ 270 กิโลเมตร     

         13. รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่านอำเภอบ้านตาขุน อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอทับปุด อำเภอเมือง จังหวัดพังงา พาดผ่านไปตามทะเลอันดามัน ระหว่างอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต กับอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 148 กิโลเมตร

        14. รอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่านอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 101 กิโลเมตร

20162608211812.png

          ที่ผ่านมาคนไทยมีบทเรียนเรื่องแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดที่ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งหนึ่งในประเทศไทย คือแผ่นดินไหวใหญ่ที่ จ.เชียงราย ใน ปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นจากการปลดปล่อยพลังงานของรอยเลื่อนพะเยา เป็นแผ่นดินไหวขนาด 6.3 โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ ระดับความลึก 7 กิโลเมตร บริเวณ ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งถือว่าตื้น ทำให้มีความรุนแรงและความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งแผ่นดินไหวที่เชียงรายครั้งนั้นเป็นแผ่นดินไหวในประเทศไทยที่รุนแรงที่สุดที่มีการบันทึกไว้ จากเหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 1 คนที่จังหวัดเชียงราย บาดเจ็บมากกว่า 100 คน พบความเสียหายเกิดขึ้นกับบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างเป็นจำนวนมาก20162608213443.png

          บทเรียนเรื่องแผ่นดินไหวที่ผ่านมาทำให้คนไทยเราต้องตระหนักและเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวเอาไว้ ซึ่งในหลายอำเภอหลายหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่เสียงใน จ. เชียงรายก็ได้มีการทำแผนเพื่อรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวขึ้น โดยใช้ชุมชนและนักวิชาการในพื้นที่เป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการหลัก ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบให้กับชุมชนที่อยู่ในพื้นเสี่ยงในจังหวัดอื่นๆได้เป็นอย่างดี เช่น ชุมชน บ้านลั๊วะพัฒนา ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งในชุมชนที่ตั้งอยู่ในเขตรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งเป็น 1 ใน 14 รอยเลื่อนที่มีพลัง โดยได้มีการจัดทำแผนชุมชน ให้ความรู้ด้านต่างๆกับชาวบ้าน ทั้งเรื่องความรู้เกี่ยวกับรอยเลื่อน เรื่องการปฏิบัติตัวขณะเกิดแผ่นดินไหว รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจเรื่องการสื่อสารขณะเกิดแผ่นดินไหวในชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้เบื้องต้นขณะรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น นอกจากนี้ อีกหนึ่งเรื่องที่ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านคือ เรื่อง การสร้างบ้านและอาคารที่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้ในระดับหนึ่ง

 

20162608211940.png
          ซึ่งการทำแผนรับมือของชุมชนในครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นสำคัญ นำโดย อาจารย์เอกชัย  กิตติวรากูล อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจให้ความรู้กับชาวบ้านเรื่องการสร้างบ้านรับมือแผ่นดินไหว โดยประยุกต์หลักวิชาการและหลักการก่อสร้างอาคารตามหลักวิศวกรรมเข้ากับภูมิปัญญาของชาวบ้าน โดยให้ชาวบ้านใส่ตะแกรงเหล็กที่ผนังก่อนฉาบปูนทับเพื่อเสริมกำลังให้กับผนังบ้านลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ อาจารย์เอกชัย   กิตติวรากูล ยังพูดถึงแนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคตว่า “ แผ่นดินไหวอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ เพราะรอยเลื่อน 14 รอยเลื่อนในไทยก็ค่อนข้างเสี่ยงเช่นกัน เพราะฉะนั้นคนไทยเองจะต้องเตรียมตัวรับมือ หน่วยงานที่ต้องเร่งให้ความรู้ รวมถึงชาวบ้านเองก็ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน อาจจัดทำแผนชุมชนเพื่อรับมือก็ได้ “    ซึ่งจากการทำแผนรับมือชุมชนครั้งนั้นทำให้ชาวบ้าน ชุมชน บ้านลั๊วะพัฒนา เรียนรู้ที่จะอยู่อย่างระมัดระวังและมีความรู้เพิ่มมากขึ้น เพื่อรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอนาคตครั้งต่อไป รวมถึงยังสามารถเป็นต้นแบบของแผนชุมชนให้กับพื้นที่อื่นๆในการรับมือแผ่นดินไหวในอนาคตต่อไป

20162608212120.png

          จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่ผ่านมาทั้งในเมียนมาร์ประเทศเพื่อนบ้าน และพื้นที่บ้านเราเองอย่าง เชียงราย น่าตั้งข้อเกตว่าเป็นสัญญาณเตือนอะไรบางอย่างจากธรรมชาติหรือไม่ ถึงความเสียงการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยในอนาคต ซึ่งปัจจุบันนี้ยังไม่มีเครื่องมือใดที่สามารถคาดการณ์การเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ เพราะฉะนั้นคนไทยต้องเตรียมตัวรับมือและตั้งคำถามพร้อมหาแนวทางแก้ไขว่า เราพร้อมมากน้อยแค่ไหนกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวในอนาคต 

เรื่อง : วราชัย  ชูสิงห์
ภาพ : ณัฐพล สิงห์เถื่อน มูลนิธิกระจกเงา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ