ย้ำ ! แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิรักษาโควิด-19 ฟรี

ย้ำ ! แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิรักษาโควิด-19 ฟรี

โควิด-19 กลับมาระบาดระลอกใหม่ครั้งนี้ เราต่างเห็นความยากลำบากในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การเข้าถึงเตียง และการตรวจหาเชื้อ และเรื่องเหล่านี้ ยิ่งยากไปอีกสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และยิ่งซ้ำร้าย เมื่อเกิดการเรียกเก็บเงินค่ารักษาโควิด-19 ขึ้นแล้ว ซึ่งสวนทางกับแนวนโยบายการรักษาโควิดฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย

คุณหนึ่ง แรงงานข้ามชาติติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็คอยทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเพื่อนแรงงานในกรุงเทพฯ ด้วย  เล่าให้ทีมสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอสว่า เพื่อนของเธอถูกเรียกเก็บเงิน  7,500 บาท จากโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยระบุว่าเป็นค่ายาในการรักษาจากกรณีเชื้อลงปอด ซึ่งถ้ายังไม่หายต้องเสียเงินเพิ่มอีก คนละ 6,500 บาท คุณหนึ่ง ยังบอกว่า มีอีกหลายเคสที่ถูกเรียกเก็บเงินแบบนี้ บางรายต้องกู้เงินร้อยละ 20 เพื่อมาเป็นค่ารักษาตัวเอง 

“น้องเขาจ่ายได้แค่สามหมื่นบาท  ที่เหลือยังไม่มีจ่าย เพราะยังไม่ได้ทำงาน ขนาดสามหมื่นบาทก็ต้องไปกู้เงินมาร้อยละ 20  พยาบาลก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นไม่เป็นไรมาจ่ายให้ทีหลังก็ได้ แต่ว่าน้องเขาต้องออกจาก รพ. ใบเสร็จ ก็ไม่ได้อะไรเลย หลังจากออกจากรพ. 4-5 วัน ปวดหัวมาก ทนไม่ไหว โรงพยายามได้เรียกให้เข้าไปตรวจอีกที  น้องเขาเลยไม่ไปตรวจอีก  พยาบาลก็บอกว่าติดเชื้ออยู่นะคะ  แต่ รพ.รักษาไม่ได้แล้วนะ เพราะว่าค้างค่าใช้จ่ายอยู่ใน 22,972 บาท สองหมื่นสองพันเก้าร้อยเจ็ดสิบสองบาท พอโรงพยาบาลบอกว่ารักษาไม่ได้ น้องเขาเลยต้องกักตัวอยู่ที่ห้องอยู่จนปัจจุบันนี้ค่ะ”

ฟังจากเสียงของแรงงานข้ามชาติ เราพบว่าทุกขั้นตอนของการตรวจรักษาเป็นเงินเป็นทอง จากมัดจำ 30,000 บาท หลังรักษาต้องจ่ายเพิ่ม 29,972 บาท รวมๆ แล้วผู้ป่วยรายนี้ต้องจ่ายเงินราว 60,000 บาท และหากจะไปตรวจซ้ำต้องเสียเงินอีก 2,500 บาท  นี่ถือเป็นเงินก้อนโตสำหรับแรงงานในสถานการณ์ปกติ แต่ยิ่งอยู่ในภาวะไร้งาน ไร้เงิน การเข้าถึงการรักษายิ่งไร้หนทาง

รายการนักข่าวพลเมือง C-Site ไทยพีบีเอส  พูดคุยรายละเอียดถึงเรื่องนี้กับนพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ

กองเศรษฐกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ พอได้รับทราบข้อมูลบ้างไหมคะ ว่ามีแรงงานเข้าไม่ถึงสิทธิ

นพ.สุรวิทย์ : ได้ข้อมูลมาแต่ก็จำนวนยังไม่ได้มากสักเท่าไหร่ ขอเรียนก่อนว่า ระบบประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวที่ประเทศไทยมี จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่ม 1 แรงงานต่างด้าวที่อยู่ระบบประกันสังคม ซึ่งจะครอบคลุมอยู่ที่ 1 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เปรียบเสมือนคนไทยอยู่ในระบบประกันสังคม

กลุ่มที่ 2 แรงงานในระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 8 แสนกว่าคน ซึ่งก็จะเป็นแรงงานที่มีการซื้อประกันกับโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งในแง่ของการรักษาต่างๆ ก็ค่อนข้างจะครอบคลุมรวมไปถึงการดูแลรักษา กรณีติดเชื้อโควิด-19 ด้วยเหมือนกัน

และกลุ่มที่ 3 ก็คือ กลุ่มต่างด้าวไร้สิทธิ ตรงนี้เรายังไม่สามารถที่จะประมาณการจำนวนที่แน่ชัดในประเทศไทยได้ ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะมีทั้งกลุ่มที่หลบหนีเข้าเมือง และกลุ่มที่มีประกันสุขภาพต่างด้าวก่อนหน้านี้หรือประกันสังคมที่สิทธิประโยชน์อาจจะหมดไปแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการขึ้นทะเบียนต่อบัตรใหม่ และรวมไปถึงคนที่เป็นนักท่องเที่ยวที่พักอาศัยอยู่ในบ้านเราก็มีการติดเชื้อในภายในหลังได้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งในแง่ของการคุ้มครองการคัดกรองก็จะได้รับการคัดกรองตามข้อบ่งชี้จากกรมควบคุมโรคซึ่งก็จะไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และรวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลด้วย ทั้งสามกลุ่มจะไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดจะเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ

กรณีเรียกเก็บเงินแรงงานข้ามชาติ เขาต้องคุยกับใคร คุยกับโรงพยาบาลอย่างไร และจะได้เงินคืนไหมคะ

นพ.สุรวิทย์ : ในช่วง 6 เดือนแรก ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ของบกลาง ซึ่งก็จะเป็นการดูแลต่างด้าวไร้สิทธิที่เข้าการรักษาตั้งแต่ช่วง 1 ต.ค.63 – 31 มี.ค.64 เข้าใจว่าน่าจะเป็นช่วงรอยต่อระหว่างนี้ที่จริงๆ แล้วกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ได้รับทราบมาโดยตลอด ว่าเรากำลังอยู่ในระหว่างของบกลางมาช่วยในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้เราได้รับแจ้งอย่างไม่เป็นทางการแล้วว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบกลาง สำหรับการดูแลต่างด้างไร้สิทธิ ในช่วง 6 เดือนหลังก็คือ ผู้ป่วยที่เข้าการรักษา ตั้งแต่ 1 เม.ย.64 – 30 ก.ย.64 ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างที่กระทรวงสาธารณสุข กำลังจะทำเรื่องแจ้งไปที่โรงพยาบาลภาครัฐสังกัดในกระทรวงสาธารณสุข และนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขให้มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวเข้ามาที่ กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลเรียกเก็บตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะไม่รวมอยู่แค่สองรายการคือ ค่ายาฟาวิพิราเวียร์ กับเรื่องของชุด PPE ที่จะมีการตั้งงบประมาณสนับสนุนให้กับโรงพยาบาลต่างๆ แยกออกมาตั้งหาก ตรงส่วนนี้ไม่อยากให้แต่ละโรงพยาบาลไปดำเนินการเรียกเก็บกับผู้ที่เป็นต่างด้าวไร้สิทธิที่เขาอาจจะมีติดเชื้อในระหว่างนี้

คุณหมอฟันธงว่าได้คืนแน่ใช่ไหม

นพ.สุรวิทย์  :  แต่ละโรงพยาบาลสามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายดังกล่าวเข้ามาที่กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพได้เลย ส่วนสำหรับต่างด้าวไร้สิทธิที่อาจจะถูกโรงพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายก่อนหน้านี้ก็อยากจะให้กลับไปติดต่อที่โรงพยาบาลที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย หรืออาจจะลองประสานมาที่กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ในการที่ทางกองจะช่วยประสานให้กับต่างด้าวไร้สิทธิ ว่าควรที่จะได้รับการคืนเงินดังกล่าวด้วยหรือไม่ 

กองเศรษฐกิจฯ เป็นหน่วยงานหลักที่ได้งบกลางมา มีกระทรวงแรงงานเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึง รพ. ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข และรพ. เอกชนต่างๆ แล้วก็มีคนงาน  มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ กทม. แถมมีนายจ้างด้วย องค์ประกอบเหล่านี้ คุณหมอมองว่า ปัญหาอยู่ที่ข้อต่อไหน  จะแก้ไขให้ไม่ผิดพลาดหลังจากนี้อย่างไร

นพ.สุรวิทย์  :  ในช่วง 6 เดือนหลัง อาจจะมีรอยต่อในช่วงสัก สองเดือนแรกที่เรายังไม่ได้รับงบกลางมา ส่วนที่เราได้สื่อสารไปก่อนหน้านี้ เราอาจจะขาดในแง่ของการชี้แจงในช่วง หกเดือนหลัง ซึ่งทีแรกเราเข้าใจว่า แต่ละรพ.จะได้รับทราบข้อมูลว่าแนวทางแนวปฏิบัติจะยังคงเป็นเหมือนเดิม ซึ่งในส่วนนี้เราจะได้เร่งเรื่องของการทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลภาครัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เข้าใจและไม่ให้เกิดปัญหาตรงนี้ต่อ และในส่วนของปีงบประมาณถัดไปนี่ก็เช่นกัน จะได้เตรียมการในเรื่องของการของบประมาณสนับสนุนและก็สื่อสารทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตรงนี้ขึ้นมาอีก

เราจะมีโอกาสได้เห็นซิงเกิ้ลคอมมานด์ กับวันสต็อปเซอร์วิสไหมคะ

นพ.สุรวิทย์  :  ในเรื่องของการบริหารภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ตรงนี้ก็จะมีคณะกรรมการที่เป็นคณะกรรมการบริหารระดับกระทรวง ซึ่งก็จะมีผู้บริหารที่เป็นตัวแทนของโรงพยาบาลภาครัฐ ในสังกัดและนอกสังกัด และในเวทีที่ระดับสูงขึ้นเป็น ศคบ. ที่ก็มีการชี้แจงในประเด็นดังกล่าวในที่ประชุม เพื่อให้ได้รับทราบแนวทางแนวปฏิบัติในเรื่องของการช่วยเหลือดูแลต่างด้าวไร้สิทธิที่ป่วยโควิด-19 และเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลต่างๆ อยู่แล้ว

อยากให้คุณหมอ สร้างความมั่นใจอีกที โดยเฉพาะกลุ่มไร้สิทธิที่เป็นแรงงานข้ามชาติ และส่งสารตรงนี้ไปโรงพยาบาลด้วยในเรื่องของการรักษาฟรีจริงๆ ช่วงโควิด-19  

นพ.สุรวิทย์ : ตรงนี้ก็ฝากแรงงานต่างด้าวที่อาจจะยังไม่ได้เข้าระบบ ถ้าเป็นไปได้ก็อย่างให้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ว่าถ้าบางส่วนที่อยู่ในระหว่างการขึ้นทะเบียนถ้าหากท่านมีอาการหรือสงสัยว่าเป็นโควิด-19 ก็ไม่ต้องกังวลใจในเรื่องของการเข้าตรวจคัดกรองและการรักษาพยาบาล ซึ่งตรงส่วนใหญ่ทางภาครัฐยืนยันว่าจะมีในเรื่องของค่าใช้จ่ายให้สำหรับต่างด้าวทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้วก็ไม่อยากให้กังวลใจและก็ช่วยกัน ถ้าหากท่านป่วยและเข้ารับการรักษาก็จะทำให้ภาครัฐสามารถที่จะดำเนินการควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วในบ้านเรา

ชมย้อนหลัง รายการไทยพีบีเอส สู้โควิด-19 : https://fb.watch/5SZR7IK4A9/

สำหรับแรงงานข้ามชาติที่มีปัญหาถูกเรียกเก็บเงินค่าตรวจคัดกรอง (กรณีเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง) และค่ารักษาโควิด ช่วยแจ้งมาที่มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์

083-543-3608 ภาษาไทย

064-649-3601 ภาษากัมพูชา

083-597-2211 ภาษาพม่า

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ