อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ : พลังชุมชน “ทางเลือก ทางรอด” ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ : พลังชุมชน “ทางเลือก ทางรอด” ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

31 พฤษภาคม 2564 เวลา 10:00 – 12:00 น. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน ร่วมกับสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ร่วมกับจัดเวทีโสเหล่ “พลังชุมชนกู้วิกฤตโควิด-19 : คนอีสานบ่ถิ่มกัน” EP 3 ทางเลือก ทางรอด ผ่านระบบ ZOOM Meeting ถ่ายทอดสดผ่านทางแฟนเพจ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน – CODI/ อยู่ดีมีแฮง และ Thai PBS เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงทางเลือกและทางรอดจากโควิด-19 กับเรื่องราวอีสานบ้านเฮาแต่ละพื้นที่ ดำเนินรายการโดย น.ส.นาตยา สิมภา และ น.ส.วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส

รศ. ดร. บัวพันธ์ พรหมพักพิง มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เรามองปรากฏการณ์โควิด-19 นี้จาก 2 ด้าน หนึ่งคือ มองเป็นเชื้อโรคที่ต้องหาวิธีการกำจัด ป้องกัน เฝ้าระวัง รักษา ซึ่งเป็นมุมมองเชิงวิทยาศาสตร์ แต่อีกด้านหนึ่ง มองว่าโควิด-19 เป็นระบบนิเวศอันหนึ่ง ที่อยู่ในวิถีทางเศรษฐกิจการทำมาหากิน และกำลังเคลื่อนไปสู่ระบบนิเวศแนวใหม่ เป็นการควบคุม อยู่ร่วม ในความสมดุล มุมมองแบบนี้เป็นแนวของนักพัฒนาอาวุโสภาคอีสาน ถ้ามองเป็นอนิจจัง เราคงต้องอยู่กับมัน อย่างป้องกัน และสมดุล

ประเทศไทยมีความโชคดีอยู่หลายเรื่อง ชุมชนและความเป็นชุมชนก็เป็นเรื่องที่ดี แม้จะอยู่ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่กระทบชุมชน ถึงแม้ไม่มีวัคซีน แต่คนเราต้องกินข้าว กินอาหาร การพัฒนาที่ผ่านมายังไม่ได้ทำลายระบบอาหารชุมชน ชาวบ้านยังเป็นผู้ครอบครองปัจจัยการผลิต ยังสามารถเก็บของป่าเป็นอาหารอยู่ได้

เรายังมีชุมชนอยู่ ที่สำคัญเราเริ่มให้ความสำคัญกับอาหารการกิน กับการเกษตรวิถีการผลิตอินทรีย์ เป็นรากฐานที่เราจะอยู่รอดในสถานการณ์โควิดหรือสถานการณ์อื่น ๆ และเรื่องอาหารครัวโลก ในทางนโยบายของไทยยังเหยาะแหยะ วันนี้เกษตรกรและความมั่นคงทางอาหารจะเป็นแนวทางที่จะไปต่อ

แต่ไม่ได้หมายความว่าชุมชนดีกว่าคนในเมืองใหญ่ เพราะคนในชุมชนคนรุ่นใหม่ สถานการณ์ชุมชนยังคงเผชิญกับยาเสพติดที่หาง่าย และยังมีเด็ก ๆ เยาวชน ที่ไม่มีการงานทำในชุมชน ไม่เฉพาะคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน ครอบครัวบางครอบครัว พ่อแม่ต้องจากบ้านไปทำงานหาเงินเลี้ยงลูก สภาพแบบนี้ชุมชนจะต้านโควิด -19 ไหวไหม ในขณะเดียวกันชุมชนเองก็ทำไม่ถูกหลายเรื่องโควิด-19 จะสร้างระบบนิเวศใหม่ ชุมชนยังเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ชุมชนยังคงอยู่ในแวดล้อมของปัญหา ชี้ชวนมองอนาคตอันใกล้ อาจมีวิกฤตสังคมวัฒนธรรมการเมืองเกิดขึ้น เราจะรับมืออย่างไร เป้าหมายเราต้องกำหนดอนาคตตนเองได้  ข้างหน้าจะเกิดวิกฤตที่ตามมา เราจะเตรียมรับมือวิกฤตระลอกนี้อย่างไร

นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย กล่าวว่า ชุมชนทุกวันนี้สวนกระแสโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการชะลอ แต่ชุมชนยังคงเคลื่อนตัวไปต่อ โดยสิ่งที่เป็นอยู่ ที่เป็นไป ต้องจัดการแก้ที่ต้นเหตุให้มากขึ้น อย่างชุมชนในละครโทรทัศน์ หนองผักแขยง เรื่องของชุมชนอีสาน ที่ทุกชุมชนมีระบบเหมือนที่หนองผักแขยง ที่สามารถจัดการได้ทุกอย่างโดยใช้ทุนภายในสะท้องให้เห็นศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นที่ยังมีอยู่ แม้จะถูกแซะจากนโยบายรัฐ ทุน ที่ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ สิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ วิถีชนบทดี ๆ ยังมีอยู่ เนื้อหาเหล่านี้ยังมีแต่ถูกกระทำและถูกกำหนดมากขึ้น ๆ เป็นโลกของปัจเจก ของทุน ของผู้มีอำนาจ ที่เหมือนโจรเข้ามาปล้น ใช้อำนาจบาดใหญ่ มากำหนดความเป็นไปในชุมชน  

เราต้องกลับมาคิดใหม่ใช้ทุนที่มี ตั้งหลักอย่างไร แม้วันนี้จะดีอยู่แต่ยังไม่พอ โจทย์คือสิ่งดีที่มีอยู่จะต่อยอดไปสู่ความท้าทายของโลกอนาคตอย่างไร ชุมชนท้องถิ่นต้องเอาความมั่นใจกลับมา กล้าคิด กล้าทำ ไม่ใช่เรื่องของการโวยวาย ไม่จัดระบบเป็นฝ่ายรับ แต่เราเข้าใจคุณค่าพลังที่ตนเองมี เปลี่ยนเป็นผู้เสนอผู้กำหนดต่อรอง เราอยากปฏิรูปพื้นที่ให้ดีขึ้นโดยน้ำหนักของเราเอง

ตัวอย่าง การให้ทุนการศึกษาเด็กเยาวชนอย่างเดียว แต่ไม่มองภาพรวมการสร้างเด็กเยาวชนของเราแบบไหนอย่างไร เด็กในโลกสมัยใหม่เป็นอย่างไร เราจะเข้าไปแทรกแซงเสริมสร้างสร้างทิศทางการพัฒนาให้ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนเราอย่างไร ทุกเรื่องคิดเชิงรุก จัดการจากที่เป็นฝ่ายรับ ขยับเข้าไปสู่การจัดการระบบผลิตดีขึ้น เราต้องเข้าใจเงื่อนไข ตั้งระบบชุมชนท้องถิ่นให้เป็นตัวตั้งมากขึ้น

ต้องเป็นฝ่ายรุก เป็นผู้เสนอ อาศัยทุนทางสังคมวัฒนธรรมชุมชน เปิดระบบให้เกิดการเคลื่อนจากระบบเดิมสู่การออกแบบจัดระบบวางแผน ชุมชนมีทุนพอ ต้องเปลี่ยนจากโหมดจากผู้ภูกกระทำ เป็นผู้รุก จากคุณค่าความรู้มาผสมผสานจัดระบบ เรามีกลไกสภาองค์กรชุมชนตำบลที่ไม่ควรจะนิ่ง แต่ต้องเป็นสภาฯที่เริ่มกำหนดตนเอง บอกใครว่าเราจะจัดการชุมชนที่อยากเห็นแบบไหนอย่างไร ไม่รอเพียงเป็นฝ่ายรับ โรคโควิด เป็นโรคเมือง ที่ไหนคนหนาแน่นจะอยู่ที่นั่น พื้นฐานต้องสร้างความเป็นเมือง มีกลไกของชุมชน เอาคนเป็นตัวตั้ง คิดเรื่องอาหาร นิเวศสีเขียว และเป็นหนึ่งเดียวกับภาคชนบทที่เท่าเทียมกันในการพัฒนา   

นางสนอง รวยสูงเนิน เครือข่ายบ้านมั่นคงภาคอีสาน กล่าวว่า ความเดือดร้อนระหว่างเมืองกับชนบทก็มีความเดือดร้อนพอกัน พี่น้องบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ ตอนนี้มีความมั่นคงที่อยู่อาศัย โควิด-19 ทำให้พี่น้องลำบาก ช่วงต้นพี่น้องไม่ตั้งสติ ตื่นกลัวจะไปมาหาสู่กันก็ยาก ที่ผ่านมาเครือข่ายฯทำเรื่องที่อยู่อาศัยพร้อมส่งเสริมอาชีพ รายได้ ปลูกผัก เรื่องที่อาศัยเป็นความมั่นคงทางที่อยู่ เมืองชุมแพมี 13 โครงการ 1,052 ครัวเรือน  มีบ้าน มีนารวม 38 ไร่ โควิด-19 รอบแรกทำให้เรารู้ว่าต้องสร้างภูมิคุ้มกันของชุมชน ต้องมีข้าวในเล้า ซึ่งได้มีการวางแผนไว้นานแล้ว มีการออมทำนารวม ทำโรงน้ำดื่ม ทำให้พี่น้องลดรายจ่าย ถ้าพี่น้องติดเชื้อขึ้นมาคงต้องปิดชุมชน พี่น้องทำงานก่อสร้าง เมื่อนายเลิกจ้างก็กลับมาบ้าน แต่บ้านชนบทพออยู่ได้ตามไร่นา แต่บ้านในเมืองอยู่กัน 5-6 คน และมีการเตรียมการเฝ้าระวังในชุมชน ถ้ามีหลังหนึ่งติดก็ต้องปิดชุมชนเพื่อป้องกัน แม้ที่อยู่อาศัยขนาดจำกัด แต่เรามีข้าว น้ำ อาหาร พริก และผักในชุมชน นอกจากนั้นที่ชุมแพยังมีการระดมทุนภายในไว้ช่วยพี่น้องในวิกฤต มีการออมทรัพย์ครอบครัวละ 50 บาท วิกฤตมาทำให้พี่น้องลำบาก ทุกคนเป็นหนี้ กู้หมดนอกจากระเบิดเพื่อความอยู่รอด

ที่ชุมแพเราฝึกเรื่องการออม วันนี้มีเงินร่วม 2 ล้านกว่า ออมจากปี 53 มีหน่วยงานเข้ามาช่วยสมทบ ทำให้คนเข้ามาร่วมกันมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ โควิด-19 มาร่วมกันทำเจลล้างมือ เราขายข้าวที่เราปลูกมาขายกองทุนเราเอง ทำให้เกิดความสามัคคีในชุมชน  ในช่วงโควิดก็มีการให้สมาชิกถอนเงินออมได้ แต่ไม่ปล่อยกู้ คนจะอยู่รอด ต้องมีการรวมกลุ่มรวมตัว รัฐบาลจะช่วยได้ต้องมาช่วยในชุมชน ถ้าจะสนับสนุนต้องเน้นคนในชุมชนเป็นหลัก ถ้าให้ยั่งยืนรัฐบาลต้องสนับสนุนตรงไปที่ชุมชน เรื่องวัคซีนการจัดการควรตั้งหลักที่ชุมชนทางรอดมุ่งพัฒนาชุมชน

นายณัฐวุฒิ กรมภักดี เครือข่ายเพื่อนคนไร้บ้านบ้านโฮมแสนสุขจังหวัดขอนแก่นกล่าวว่าเมืองใหญ่ผู้คนหลากหลาย มีกลุ่มคนที่มาหางานทำ เป็นประชากรแฝง แรงงานต่างด้าว รวมทั้งคนจนดั้งเดิม ซึ่งเป็นกลุ่มคนเปราะบาง จากวิกฤตโควิด-19 คนกลุ่มเปราะบางมีความเสี่ยงการติดเชื้อหากไม่ถูกจัดการก็จะเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อได้ สถานการณ์คนไร้บ้าน ตอนนี้ยังไม่มีรายงานข้อมูลการติดเชื้อ แต่วิกฤตนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โควิด-19 เป็นภาพที่ทำให้เห็น ว่า คนจนเจอสถานการณ์ที่ไม่มีการจ้างงาน เป็นแรงงานรับจ้างรายวันไม่ได้อยู่ในระบบ ทำให้ตกงานขาดรายได้ ส่งผลถึงอาหารการกินในครัวเรือน  

แนวทางการขับเคลื่อนในพื้นที่ กลไกเครือข่ายชุมชนชาวบ้านจะต้องเชื่อมโยงกับท้องถิ่น สร้างพื้นที่การพูดคุยหารือ ไม่ต้องรอกลไกกลางของรัฐ ท้องถิ่น ภาคี ช่วยกันทำเรื่องอาหาร เรื่องระบบสำรองอาหาร พื้นที่อาหารชุมชนเมือง ทั้งอาหาร ผัก ไก่ไข่ ทำอย่างไรจะเชื่อมโยงภาคชนบท เชื่อมโยงทรัพยากร ระบบการระดมทรัพยากรในยามวิกฤต สร้างคลังอาหารประชาชนในอนาคต

ในระดับพื้นที่ คนจนเมือง ตกงานขาดรายได้ ทำอย่างไรจะมีระบบการจ้างงานระยะสั้นในภาวะวิกฤต สร้างพื้นที่ระดมทรัพยากร จ้างงานกลุ่มคนเปราะบางระยะสั้น ถ้าหากระดมทุนได้มากก็สามารถจ่ายเป็นค่าแรงขั้นต่ำให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้ ทำอย่างไรความเป็นชุมชนอีสาน จะเป็นระบบที่ดูแลกันได้โดยที่ไม่ต้องรอรัฐ การรับมือดีที่สุด คือการให้คนรับวัคซีนที่มีคุณภาพทั่วประเทศอย่างไร เรื่องนี้เราส่งเสียงทำให้ดังได้ การเข้าถึงวัคซีนควรไม่ซับซ้อน ควรง่าย ทำอย่างไรรัฐจะมีระบบสวัสดิการที่โอบอุ้มดูแลทุกกลุ่มคนได้ และสร้างเครือข่ายต่อรองเชิงอำนาจกับรัฐในท้ายสุด  

นายสว่าง สุขแสง เครือข่ายเศรษฐกิจและทุนชุมชนภาคอีสาน กล่าวว่า วันนี้ทุกคนลำบากหมด วันนี้บ้านก็กลับไม่ได้ มีกระแสกดดัน ต้องกักตัว ไม่พบปะผู้คน ในพื้นที่มีชาวบ้านแอบขึ้นรถตู้ในขณะที่ตนเองป่วย สุดท้ายก็ต้องให้รถพยาบาลมารับและตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด ทำให้ความเอื้อเฟื้อในชุมชนลดลงเพราะความกลัววิตก และเกิดการลักเล็กขโมยน้อยในชุมชน  ที่ตำบลหนองแคน มีข้าวหอมมะลิ และมีการรวมทุนเปิดร้านอาหาร ศูนย์กระจายอาหารชุมชน และพัฒนาแอปพลิเคชันสั่งส่งอาหารในชุมชน โดยได้จัดทำโครงการคนรุ่นใหม่อีสานคืนถิ่น เพื่อสร้างพลังเครือข่ายยกระดับการผลิต การซื้อขายแลกเปลี่ยนกันที่เป็นทั้งทางเลือก และเป็นทั้งทางรอดเพราะเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นเราไม่สามารถแก้คนเดียวได้ แต่เป็นปัญหาสังคมที่สั่งสมมานาน ในขณะที่ชุมชนเองมีการเคลื่อนตัวเรื่องการประกอบการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ฝึกการทำแผนธุรกิจชุมชน สร้างเครือข่ายในระดับภาคอีสานอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลต้องปลดล็อคการบริหารจัดการเรื่องวัคซีน โดยการกระจายอำนาจ และงบประมาณมาที่ท้องถิ่นให้จัดการตนเอง  

ส่วนข้อเสนอต่อการพัฒนาธุรกิจชุมชน ผู้ประกอบรายเล็กน้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงการส่งเสริมของภาครัฐได้ รัฐบาลต้องปลดล็อคระบบการเงินที่สามารถส่งเสริมชาวบ้านรากหญ้าให้ชุมชนจัดการตนเอง แม้จะเรียกร้องต่อรัฐ และเรียกร้องต่อตนเองภายใต้สิทธิอำนาจที่เจ้าของมีอยู่ เช่นการวร้างความมั่นคงทางอาหาร ธนาคารชุมชน เงินออม เราสามารถดำเนินการได้ การพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน ชาวบ้านมีศักยภาพในการผลิตสามารถพัฒนาระบบเศรษฐกิจ เราสามารถทำได้ ไม่ต้องเรียกร้องรัฐบาล เรามีทางเลือกทางเดียวคือ ช่วยกันฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นให้สามารถจัดการตนเองได้

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ชุมชนยังคงเป็นพลังทางสังคมที่สำคัญในการลุกขึ้นมากอบกู้วิกฤต โอบอุ้มดูแลผู้คนตามวิถีท้องถิ่นที่ คนอีสานบ่ถิ่มกัน แม้จะทุกข์ยากแค่ไหน ชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็งและจัดการตนเองได้ ยังเป็นทางเลือก และทางรอดในคราเดียวกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ