คนจนเมืองสลัม 4 ภาค แถลงพร้อมรับวัคซีนแม้ยังกังวล แนะรัฐบาลโอนเงินเข้าบัญชีคนจนโดยตรงพยุงชีวิต 3 พันต่อเดือน

คนจนเมืองสลัม 4 ภาค แถลงพร้อมรับวัคซีนแม้ยังกังวล แนะรัฐบาลโอนเงินเข้าบัญชีคนจนโดยตรงพยุงชีวิต 3 พันต่อเดือน

วันนี้ 26 พ.ค. 2564 เครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมกับเครือข่ายชุมชนเมืองผู้ได้รับผลกระทบจากรถไฟ แถลงข่าว สถานการณ์คนชุมชนแออัดภายใต้การระบาดโควิด-19 ระลอกสาม และข้อเสนอแนะชีวิตที่เลือกไม่ได้ ภายใต้การบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ระลอกสามนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อชาวชุมชนแออัดเป็นอย่างมาก อีกทั้งการแพร่กระจายเชื้อยังมีความรุนแรง และรวดเร็วกว่า 2 ระลอกที่ผ่านมา

ความต่างจากสองครั้งที่ผ่านมานั้นคือ ครั้งนี้ชุมชนแออัดถูกผลกระทบอย่างรุนแรงในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กลายเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ทั้งที่หลายชุมชนมีมาตรการการป้องกันการติดเชื้ออย่างเข้มงวด มาตั้งแต่ระลอกแรก ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองคนเข้า-ออก ภายในชุมชนตนเอง การจัดอบรมในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกลายเป็นกระแสของการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมาระยะหนึ่ง ซึ่งการติดเชื้อของคนในชุมชนแออัด พบว่าส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ที่ต้องออกไปประกอบอาชีพในการให้บริการกับคนเมือง ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ขับรถส่งอาหาร เป็นแม่บ้าน เป็นพนักงานในโรงงาน ร้านอาหาร เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านี้ไม่สามารถประกอบอาชีพอยู่ที่บ้านได้

เครือข่ายสลัม 4 ภาค และ เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) จึงร่วมกันทำแบบสอบถาม เพื่อรวบรวมความเห็นชาวชุมชนแออัดต่อสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยเห็นว่า ความรุนแรง และความรวดเร็วในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในปัจจุบัน รุนแรงกว่ารอบที่หนึ่ง และมาตรการการป้องกันที่ดีที่สุดคือการได้รับการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงกระจายไปในคนทุกกลุ่มของสังคม แต่พบว่ามาตรการการของรัฐไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่คนในสังคมเผชิญอยู่ การนำเสนอข้อมูลที่สับสน ระบบการกระจายวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ และวัคซีนไม่เพียงพอ และไม่มีตัวเลือกของชนิดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพกว่าผลของแบบสอบถามที่สำรวจหมด 639 หลังคาเรือน ใน 10 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, สมุทรสาคร, ตรัง, สงขลา, นครศรีธรรมราช, ขอนแก่น, บึงกาฬ และฉะเชิงเทรา ได้สะท้อนความเห็นที่สำคัญใน 3 ประเด็น คือ

1. ประเด็นการรับวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 จากการสอบถามเราพบว่ามีร้อยละ 59 พร้อมที่จะฉีดวัคซีน แต่ภายใต้ความพร้อมที่บอกมานั้นเนื่องจากภาระหน้าที่การงานที่มีความจำเป็นต้องฉีด และมีความกังวลต่อสุขภาพเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อที่รุนแรงและขยายวงกว้าง ดังที่จะเห็นได้จากการตอบแบบสอบถามมีถึง 54 ที่ให้ความเห็นต่อประสิทธิภาพวัคซีนว่า “ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่สามารถบรรเทาความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19” และอีกร้อยละ 9 มีความเห็นว่าวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพในการปกป้องเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

2. ประเด็นความเดือดร้อนของชาวชุมชนในช่วงวิกฤตโควิด-19 จากการสอบถามเราพบว่าโดยรวมผลจากแบบสอบถามมีผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด -19 เกือบทั้งหมด มีเพียงร้อยละ 1 ที่ตอบว่าไม่ได้รับผลกระทบ และในจำนวนร้อยละ 99 ที่ได้รับผลกระทบ จำแนกได้หลายรูปแบบ เช่น ชาวชุมชนร้อยละ 28 ที่ประกอบอาชีพอิสระ มีคนมาใช้บริการลดลง และร้อยละ 26 ที่ประกอบอาชีพค้าขาย ยอดการขายลดลง แสดงให้เห็นว่าประชากรในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่ไม่เป็นทางการ เป็นแรงงานนอกระบบ และได้ผลกระทบต่อวิกฤตโควิด-19 ระลอกสามครั้งนี้อย่างหนัก

เนื่องจากในแบบสอบถามยังพบอีกได้ว่า มีร้อยละ 26 ที่ชาวชุมชนไม่มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และร้อยละ 19 ไม่มีเงินที่จะไปผ่อนส่งหนี้สินต่างๆ เช่น บ้าน รถยนต์ ได้ การแก้ปัญหาเอาตัวรอดของชาวชุมชนด้านเศรษฐกิจคือ ร้อยละ 16 ต้องไปกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย ร้อยละ 12 ต้องเอาเงินออมของตนเองออกมาใช้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้ สะท้อนถึงการชดเชยเยียวยาไม่ได้สามารถเยียวยาได้อย่างครอบคลุม ปิดรอยแผลด้านเศรษฐกิจของชาวชุมชนได้ไม่มิด

3. ประเด็นข้อเสนอในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน จากการสอบถามเราพบว่ามาตรการความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ชาวชุมชนต้องการคือ เงินชดเชยเยียวยาที่รัฐบาลอนุมัติมาให้นั้น ควรเป็นรูปแบบผ่านเข้าบัญชีส่วนตัวเพื่อที่ประชาชนสามารถเบิกเงินสดไปใช้จ่ายด้านอื่นๆ ได้ มีจำนวนถึงร้อยละ 50 เนื่องจากหากให้ผ่านทางแอปพลิเคชันแล้วจะถูกจำกัดใช้ได้ในเพียงบางอย่างเท่านั้น และมีร้อยละ 36 ต้องการให้รัฐเพิ่มเงินเยียวยาจากเดิม

ผลจากการสอบถามชาวชุมชนสะท้อนให้เห็นว่า การรับวัคซีนเพื่อที่จะหยุดความรุนแรงในการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในปัจจุบันนั้นชาวชุมชนส่วนใหญ่พร้อมที่จะรับวัคซีน หากแต่ยังมีความกังวลในเรื่องประสิทธิภาพที่ทางรัฐบาลบริหารอยู่นั้นว่าเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาหรือไม่ และในการสื่อสารของรัฐบาลในเรื่องมาตรการฉีดวัคซีนในหลายครั้งทางสื่อไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน สร้างความสับสนต่อประชาชนเป็นอย่างมาก

ดังนั้นเครือข่ายสลัม 4 ภาค และเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) จึงขอเสนอแนะต่อรัฐบาลในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ระลอกที่สามดังนี้

1. รัฐบาลต้องชี้แจงระบบการแจกจ่ายวัคซีนแบบโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจนทั้งในภาพรวมประเทศ และในระดับพื้นที่แต่ละจังหวัด เพื่อป้องกันการทุจริตในการใช้โควต้าวัคซีนไปใช้ในประเด็นทางการเมืองเพื่อหาเสียงล่วงหน้า

2. รัฐบาลต้องมีเวทีสาธารณะให้ประชาชนซักถามในการบริหารวัคซีน รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีน ชนิดต่างๆ โดยเปิดกว้างให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญได้ซักถาม เช่น แพทย์, นักวิชาการ, เครือข่ายประชาชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

3. รัฐบาลต้องรับฟังข้อเสนอที่ประชาชนสะท้อน เพื่อให้มีการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปปฏิบัติ

4. เพิ่มเงินเยียวยา ในรูปแบบที่โอนตรงไปให้ประชาชน เพื่อความหลากหลายในการใช้เงินตรงจุดกว่า จำนวน 3,000 บาทต่อเดือน

5. ในการแปรญัตติปีงบประมาณ 2565 ที่กำลังจะเปิดสภาอภิปรายนี้ จะต้องลดค่าใช้จ่ายด้านที่ไม่จำเป็นลงไป เช่น งดให้งบประมาณในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร และนำไปเพิ่มในส่วนที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น นำไปซื้อวัคซีนตัวอื่นที่ได้รับการรับรองจาก WHO ทุกชนิด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน

6. ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ หน่วยงานรัฐต่าง ๆ ควรหยุดการดำเนินคดีไล่รื้อชาวชุมชน เพราะจะเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ยากลำบากไม่มีที่อยู่อาศัย ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน เสี่ยงต้องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเป็นอย่างยิ่งเครือข่ายสลัม 4 ภาค และชมฟ. หวังว่าเสียงสะท้อนนี้จะสื่อสารไปยังรัฐบาล เพื่อนำไปปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของประชาชน เรายังคงติดตามข้อเรียกร้องนี้จนกว่าจะมีการดำเนินการอย่างใกล้ชิด.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ