รุ่งโรจน์ เพชระบูรณิน : รายงาน
17 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00 – 12.00 น. เครือข่ายองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส จัดเวทีโสเหล่ออนไลน์ อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ : พลังชุมชนกู้วิกฤตโควิด-19 คนอีสานบ่ถิ่นกัน EP 1. “ถามข่าวไทพี่น้อง” ร่วมโสเหล่เว้าจา โดย อ.สังคม เจริญทรัพย์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, นายวิรัตน์ สุขกุล เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนภาคอีสาน, นายชูชาติ ผิวสว่าง เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคอีสาน, ผศ.ดร. สักรินทร์ แซ่ภู่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และน.ส.เฉลิมศรี ระดากูล สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สนง.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินวงโสเหล่โดย น.ส.นาตยา สิมภา และน.ส.วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง สำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส และถ่ายทอดสัญญาณสดผ่านเพจ สถาบันพัฒนาองค์ชุมชน /อยู่ดีมีแฮง และThaiPBS
เราต้องให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ในพื้นที่ คนที่อยู่กับปัญหา ต้องมีบทบาทมีส่วนร่วมในการออกแบบการเฝ้าระวัง การเยียวยา การแก้ปัญหารายได้และปากท้อง
อ.สังคม เจริญทรัพย์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การเกิดโควิด-19 หรืออุบัติภัยใหม่ในกาลข้างหน้า คนอีสานอาศัยพลังพี่น้องในพื้นที่ตำบล จังหวัด ภาค และเครือข่ายต่างๆ ทั้งเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยภาคอีสาน เป็นการรวมพลังแก้ปัญหาจากพื้นที่ ซึ่งองค์กรชุมชนมีบทบาทสามารถแก้ไขได้โดยร่วมมือกับภาคีท้องที่ท้องถิ่นและหน่วยงาน นอกจากที่ภาคอีสานแล้ว ขบวนองค์กรชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ก็ดำเนินการตั้งแต่วิกฤตรอบแรก และรอบสอง ซึ่งในการระบาดระลอก 3 เราต้องให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ในพื้นที่ คนที่อยู่กับปัญหา ต้องมีบทบาทมีส่วนร่วมในการออกแบบการเฝ้าระวัง การเยียวยา การแก้ปัญหารายได้และปากท้อง โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เช่นในการจัดการเรื่องฉีดวัคซีน ให้ชุมชนให้ชาวบ้านมีส่วนในการจัดการได้ไหม
การแก้โควิด-19 ในรอบสามมีความรุนแรงถึงชุมชน พี่น้องหลายพื้นที่รวมกลุ่มเฝ้าระวังดูแลตนเอง การแก้ปัญหาอย่างจริงจังต่อเนื่องต้องแก้ในพื้นที่ เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนบางแห่งมีมติอนุมัติงบประมาณกองทุนเพื่อช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องที่ถูกกักตัวในเบื้องต้น
โดยในภาพรวมของขบวนองค์กรชุมชนทั้งประเทศ ได้มีการออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา หลักสำคัญที่เสนอคือเรื่องการมีส่วนร่วม การรับฟังความเห็น การหาวัคซีน การจัดการในชุมชน ซึ่งในคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดควรจะมีสัดส่วนองค์กรชุมชนเข้าร่วมด้วยเพื่อมีส่วนในการส่งเสริมสนับสนุน รวมทั้งควรมีการทบทวนการออกกฏหมายใดที่จำกัดสิทธิประชาชน เช่น ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน และเรื่องการกระจายอำนาจ เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะเปิดพื้นที่ให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการแก้ปัญหา ประเทศจะผ่านวิกฤต ต้องใช้มากกว่าเครื่องมือรัฐในการแก้ปัญหา
ในชนบทการป้องกันความมั่นคงทางอาหารในระยะกลางไม่น่ากังวล ที่น่ากังวลคือในเขตเมือง คนจนเมือง บ้านไม่มี อาหารการกินลำบากกว่าเขตชนบท สวัสดิการชุมชนจะเป็นคลังอาหารอย่างไร จะไปหนุนช่วยเมืองอย่างไรนี่เป็นโจทย์สำคัญของเครือข่าย
ด้านนายวิรัตน์ สุขกุล ประธานเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนภาคอีสาน ระบุว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนภาคอีสานมีการประชุมหารือเครือข่ายฯ เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์และแนวทางการรับมือกับโควิด ปัจจุบันเฉพาะภาคอีสานมีกองทุนสวัสดิการชุมชน 2,000 กว่าแห่ง เงินหมุนเวียนหนึ่งพันกว่าล้าน เป็นทุนที่เกิดจากฐานคิดการช่วยเหลือเกื้อกูลตามวิถีคนอีสาน ที่ฮักแพงแบ่งปัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กองทุนสวัสดิการชุมชนได้ใช้ทุนที่มีช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องทั้งการระดมข้าวของสิ่งจำเป็น จัดทำครัวกลาง และอื่นๆ ในสถานการณ์นี้ยังมีการปรับระเบียบกองทุนสวัสดิการผู้นำภาค เพื่อช่วยเหลือดูแลแกนนำในการทำงานท่ามกลางสภาวะความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด ในระดับพื้นที่จังหวัด ตำบล มีการระดมข้าวปลาอาหาร โคราช ชัยภูมิ ขอนแก่น อุบล ในเขตเมืองจะได้รับผลกระทบมาก จุดไหนมีกองทุนจะได้เสริมการช่วยเหลือกัน
ส่วนที่จังหวัดอำนาจเจริญ ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อจำนวน 47 คน กว่าครึ่งเป็นคนที่อยู่ในอำเภอชานุมานที่ติดมาจากภายนอก จนมีการปิดหมู่บ้านบ้านโสกแต้ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญได้ระดมข้าวของ หน้ากาก น้ำดื่ม รวมมูลค่ากว่า 5-6 หมื่นบาทไปร่วมสมทบเยียวยา
นายวิรัตน์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการระบาดในรอบแรก ชุมชนในเขตเมืองและชนบทมีแผนตั้งรับพอสมควร องค์กรชุมชนทั้งเมืองชนบทมีการจัดทำแผนการตั้งรับภาวะวิกฤต พื้นที่ที่อยู่ในชนบทก็มีการตั้งรับได้ดี มีการทำแผนเฝ้าระวัง การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การจัดตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์ และกองทุนสัตว์เลี้ยง มีการสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ทุกตำบลทำเขตอนุรักษ์พื้นที่อาหารของตนเอง เช่น การเข้าไปมีส่วนในการจัดการความมั่นคงทางอาหาร / พื้นที่แหล่งน้ำ เซบก เซบาย ฯลฯ ก็จะมีการทำที่สงวนพันธุ์ปลา ในชนบทการป้องกันความมั่นคงทางอาหารในระยะกลางไม่น่ากังวล ที่น่ากังวลคือในเขตเมือง คนจนเมือง บ้านไม่มี อาหารหารกินลำบากกว่าเขตชนบท สวัสดิการชุมชนจะเป็นคลังอาหารอย่างไร จะไปหนุนช่วยเมืองอย่างไรนี่เป็นโจทย์สำคัญของเครือข่าย ทำอย่างไรชุมชนจะมีภูมิคุ้มกันอุบัติภัยที่เกิดขึ้นในอนาคต
รัฐควรเห็นความสำคัญกับการกระจายอำนาจ สร้างกระบวนการพลเมืองตื่นรู้ เราจะอยู่ท่ามกลางสภาวะวิกฤตอย่างไร เตรียมการรองรับอย่างไร รัฐต้องพิจารณา เพราะโควิดจะอยู่กับเราอีกนาน
นายชูชาติ ผิวสว่าง เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคอีสาน กล่าวว่าสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่จังหวัดขอนแก่น ยังมีผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง แต่ยังสามารถเดินทางไปมาได้ แต่ใช้ความระมัดระวัง ด้านเศรษฐกิจมีภาวะซบเซาการค้าการจับจ่ายลดลง ในส่วนพื้นที่ชนบท มีแตกต่างจากรอบ1-2 เฟส 3 มาเร็วจำนวนผู้ติดเชื้อมาก ปัจจุบันหลายชุมชนยังตั้งหลักไม่ติด พี่น้องที่ได้รับผลกระทบ สามารถแบ่งเป็น 1) ชุมชนเมืองที่ก่อรูปมานาน ชุมชนลักษณะนี้สามารถช่วยเหลือและแบ่งปันพี่น้องชุมชนเมืองได้ 2) ส่วนที่ได้รับผลกระทบจะเป็นชุมชนที่ตั้งใหม่ จำพวกนี้จะตั้งตัวไม่ทัน 3) กลุ่มชนบท แบ่งเป็น สองส่วน ส่วนที่หนึ่งตั้งหลักอยู่ในชุมชนทำเกษตร มีความมั่นคงทางอาหาร ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้น ที่น่าห่วงใยคือพี่น้องชนบทที่ไปใช้แรงงาน และตกงาน กลับบ้าน กลุ่มนี้จะตั้งตัวไม่ติด เพราะยังต้องซื้ออยู่ซื้อกิน ในภาวะวิกฤตครั้งนี้ คนในพื้นที่เขตชนบทไม่น่ากังวลเท่าไหร่ เพราะมีความสามารถในการผลิตอาหาร
ทิศทางข้างหน้าขององค์กรชุมชนอีสาน และในช่วงที่ผ่านมา จุดเน้นคือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เรื่องนี้เราจะขับเคลื่อนอย่างไรภายใต้ภาวะภัยอุบัติใหม่ เราจะทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ยกระดับการสร้างความมั่นคงทางอาหารรองรับภัยอุบัติใหม่อย่างไร ในขณะเดียวกันมีคนตกงานกลับบ้าน องค์กรชุมชนจะออกแบบรับมืออย่างไรกับคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน
ในสถานการณ์เช่นนี้ อยากให้รัฐบาล ให้ความสำคัญกับเรื่องยาสมุนไพรพื้นบ้าน ภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน ที่ช่วยในการป้องกันรักษาการแพร่ระบาดของโรค และรัฐควรเห็นความสำคัญกับการกระจายอำนาจ สร้างกระบวนการพลเมืองตื่นรู้ เราจะอยู่ท่ามกลางสภาวะวิกฤตอย่างไร เตรียมการรองรับอย่างไร รัฐต้องพิจารณา เพราะโควิดจะอยู่กับเราอีกนาน ในขณะที่ชุมชนกำลังตั้งหลักได้ มีการกระจายอำนาจการจัดการแก้ไขปัญหาโดยชุมชน และทุกภาคส่วน ต้องผนึกกำลังสร้างการตื่นรู้ให้ชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นมาฟื้นฟู วันนี้ชุมชนชนบท และชุมชนเมือง จะช่วยเหลือ ซึ่งกันอย่างไร เป็นโจทย์ที่ต้องร่วมกัน
ความแตกต่างระหว่างโควิดรอบแรกกับรอบสาม เห็นได้ชัดเจนว่าคนอ่อนล้ามากจากรอบแรกถึงปัจจุบัน แต่มิติที่ชุมชนทำได้ดีขึ้นคือการช่วยเหลือกัน แต่มิติเศรษฐกิจกลับยิ่งอ่อนล้ามาก
ด้าน ผศ.ดร. สักรินทร์ แซ่ภู่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวถึงการทำงานกับชุมชนริมรางรถไฟ คนไร้บ้าน คนเปราะบางในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา และสืบเนื่องถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ได้ดำเนินการสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนริมทางรถไฟ และคนไร้บ้าน ซึ่งจากการดำเนินโครงการในช่วงการแพร่ระบาดระลอก 2 พบว่า พื้นที่ปลูกผัก 2.7 ตารางเมตร สามารถลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน 1 ครัวเรือน ได้ระหว่าง 600- 1,000 บาท/เดือน และชุมชนมีความสามารถช่วยตัวเองจนขยับมาช่วยคนอื่น
ความแตกต่างระหว่างโควิดรอบแรกกับรอบสาม เห็นได้ชัดเจนว่าคนอ่อนล้ามากจากรอบแรกถึงปัจจุบัน แต่มิติที่ชุมชนทำได้ดีขึ้นคือการช่วยเหลือกัน แต่มิติเศรษฐกิจกลับยิ่งอ่อนล้ามาก ร้านค้าหลายแห่งติดป้ายเซ้งร้าน เป็นผลกระทบกับเศรษฐกิจฐานรากชัดเจน
โครงการปันสุขริมราง จากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค เป็นการทำงานต่อเนื่อง จากความมั่นคงทางอาหาร โจทย์ใหญ่ สร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น เป็นความสามารถในการปรับตัว อย่างน้อยลดรายจ่าย 600-1,000 บาท มีการนำผลผลิตจากแปลงไปสู่รถก๋วยเตี๋ยวป๊อกๆ ในชุมชน ในส่วนบ้านโฮมแสนสุข คนไร้บ้าน เป็นการฟื้นฟู แบ่งปัน ในช่วงวิกฤตรอบนี้ มีการปันสุขริมราง มีการร่วมกับการรถไฟฯ ชุมชนเริ่มมีความเข้าใจไม่แตกตื่นมาก เช่น ชุมชนเหล่านาดี 12 จากเมื่อครั้งก่อนทำโรงทาน ครั้งนี้จัดตั้งเป็นร้านอาหารราคาถูก เป็นร้านอาหารจานเดียวของชุมชน รองรับปากท้องในชุมชนและคนเปราะบาง ในด้านการจ้างงานเดิมคนไร้บ้าน ทำงานผ่านแพลตฟอร์มการจ้างงาน ซึ่งมีงานเข้ามาให้คนไร้บ้านพอสมควร เมื่อวิกฤตหนักเข้าการจ้างงานก็ซาลง เป็นไปได้ไหมที่หน่วยงานรัฐ จะมาใช้บริการแรงงานจากกลุ่มคนเหล่านี้
โลกนี้จะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่แค่โรคระบาดอย่างเดียว แต่เป็น Social Disturbs คนเราจะสูญเสียทักษะในการปรับตัว เสนอว่า การโสเหล่ครั้งถัดไป น่าจะมีวงสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่เป็นความท้าทายใหม่ สร้างการเปลี่ยนแปลงในจุดที่เขายืน ในทรัพยากรที่เขามี
ผศ.ดร. สักรินทร์ กล่าวต่อว่า สัญญาณโควิด-19 มันบอกเราว่า โลกนี้จะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่แค่โรคระบาดอย่างเดียว แต่เป็น Social Disturbs คนเราจะสูญเสียทักษะในการปรับตัว เสนอว่า การโสเหล่ครั้งถัดไป น่าจะมีวงสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่เป็นความท้าทายใหม่ สร้างการเปลี่ยนแปลงในจุดที่เขายืน ในทรัพยากรที่เขามี เช่น คนกลับบ้านมาทำพิซซ่าขาย ที่สามารถปรับตัวอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนตนเอง เขาปรับตัว เขาคิดเขาทำอะไร ความรู้คนรุ่นเราอาจไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพราะปัจจุบันเป็นโลกที่คนรุ่นใหม่จะอยู่ต่อ เรียนรู้การใช้โอกาสสร้างการเปลี่ยนแปลงชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมคิด นี่น่าจะเป็นคำตอบของอนาคต
พอช.เป็นกลไกรัฐ แต่เป็นเครื่องมือประชาชน ที่จะเชื่อมโยง แปลงความต้องการภาคประชาชน สู่การปฏิบัติในเชิงนโยบายของภาครัฐ โดยมีหลักคิดที่ว่า “พื้นที่เป็นตัวตั้ง องค์กรชุมชนเป็นหลัก” หนุนเจ้าของปัญหาให้ลุกขึ้นมาแก้ไขโดยร่วมมือกับท้องถิ่นท้องที่และภาคี
ด้านนางสาวเฉลิมศรี ระดากูล ผู้อำนวยการภาค สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สนง.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้มาเร็วและแรง องค์กรชุมชนจะปรับตัวอย่างไร สถาบันฯ จะปรับตัวการอย่างไร ที่ผ่านมาก็ได้ใช้การวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) ประชุมหารือขับเคลื่อนการทำงานมากขึ้น ระหว่างพี่น้องขบวนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายที่อยู่อาศัยที่ดินทำกิน เครือข่ายองค์กรชุมชนเหล่านี้พยายามช่วยตัวเองในเบื้องต้น เช่น พี่น้องริมรางรถไฟ พี่น้องเครือข่ายสวัสดิการ เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน เครือข่ายบ้านมั่นคง ได้มีการระดมข้าวของอาหารปัจจัยการช่วยเหลือเบื้องต้น ในวิกฤตที่เป็นเรื่องใหญ่ มีเรื่องดีๆ จะขยายอย่างไร บนทุนวิถีวัฒนธรรรมอีสาน
อย่างไรก็ดี พอช.มีบทบาทส่งเสริมให้องค์กรชุมชนมีบทบาทในการประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนมาร่วมไม้ร่วมมือกัน เพราะโควิดเป็นเรื่องใหญ่ ในระยะเร่งด่วนได้มีการสนับสนุนพื้นที่จังหวัดสีแดง อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา หารือขบวน หนุนเรื่องเฉพาะหน้า สนับสนุนชุมชนเมือง สนับสนุนบางส่วนตามที่ขบวนองค์กรชุมชนเสนอมา ทำให้รอบนี้สามารถรับมือได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมระหว่างชุมชนเมืองกับชนบท มีการประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการหนุนช่วยชุมชน นอกจากนั้นยังมีการสนับสนุน การพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่กลับจากเมืองให้มาอยู่บ้าน และหนุนเสริมระบบสวัสดิการแกนนำขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน ที่ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยง
ทั้งนี้ พอช.เป็นกลไกรัฐ แต่เป็นเครื่องมือประชาชน ที่จะเชื่อมโยงแปลงความต้องการภาคประชาชน สู่การปฏิบัติในเชิงนโยบายของภาครัฐ โดยมีหลักคิดที่ว่า “พื้นที่เป็นตัวตั้ง องค์กรชุมชนเป็นหลัก” หนุนเจ้าของปัญหาให้ลุกขึ้นมาแก้ไขโดยร่วมมือกับท้องถิ่นท้องที่และภาคี นางสาวเฉลิมศรี กล่าวในตอนท้าย
อย่างไรก็ตาม การจัดเวทีโสเหล่ออนไลน์ อยู่ดีมีแฮงโสเหล่ : พลังชุมชนกู้วิกฤตโควิด-19 คนอีสานบ่ถิ่นกัน ในตอนถัดไป วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2564 เวลา 10:00 – 12:00 น. และถ่ายทอดสดผ่านเพจ สถาบันพัฒนาองค์ชุมชน /อยู่ดีมีแฮง และ ThaiPBS อย่าลืมติดตามรับชมรับฟังกันครับ