“ปันอาหาร ปันชีวิต” สู้โควิด-19 (อีกครั้ง)

“ปันอาหาร ปันชีวิต” สู้โควิด-19 (อีกครั้ง)

จาก 2563 ถึง 2564 เวลาขวบปีที่ทั่วโลกและประเทศไทยเผชิญวิกฤติโควิด-19  โรคติดต่อร้ายแรงที่ทำหน้าที่เหมือนกองหน้าในทีมฟุตบอล เขี่ยบอลส่งต่อให้วิกฤติอื่น ๆ ไม่ยอมทำประตูจบเกมเสียที เริ่มจากวิกฤติสุขภาพ ส่งต่อเศรษฐกิจ สังคมและอาหาร ทุกหย่อมหญ้า ทุกพื้นที่ ทุกชุมชน

ปีนี้ 2564 ผู้เขียนไม่ได้อยู่ที่กรุงเทพมหานครอย่างปีที่ผ่านมา แต่ยังติดตามสถานการณ์ข่าวสารบ้านเมืองทั่วทุกสารทิศ แม้ตัวเองจะย้ายถิ่นฐานมาปักหลักอยู่ที่เมืองขอนแก่น แต่ความห่างไกลของระยะทางและการที่ต้องรักษามาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่ต้องเข้มงวด นี่จึงเป็นเหตุที่เราทำได้เพียงถามไถ่กันผ่านโทรศัพท์มือถือกับ “พี่ปุ้ย” หรือ วรางคนางค์ นิ้มหัตถา หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) “กลุ่มปันอาหาร ปันชีวิต” ซึ่งเริ่มโครงการนี้เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ถึงแผนการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางกลางเมืองใหญ่ในสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ที่หลายคนอาจชักหน้าไม่ถึงหลัง

โควิด-19 กลับมาอีกแล้ว “ปันอาหาร ปันชีวิต” ปีนี้เตรียมการระลอก 3 อย่างไรบ้าง

จากการระบาดตั้งแต่รอบแรกเมษายน 2563 เรามีเงินบริจาคอยู่ก้อนหนึ่งที่เราบริจาคอาหารต่อเนื่องคือการช่วยเหลือให้คนเปราะบางในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ได้เข้าถึงอาหารที่ดีมีคุณภาพ พอบริจาคในช่วงวิกฤติรอบแรกเสร็จแล้วยังมีเงินคงเหลืออยู่ส่วนหนึ่ง เนื่องจากเราใช้เงินแบบประหยัดมาก อะไรที่เราทำกันเองได้ ช่วยกันเองได้ เราก็เชิญชวนอาสาสมัครมาทำงานก็เลยยังพอมีเงินบริจาคเหลืออีกก้อนหนึ่ง ซึ่งเราคิดว่าเงินบริจาคก้อนนี้จริง ๆ แล้ว ตั้งใจจะเอาไปใช้ในการฟื้นฟูกลุ่มชุมชนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้เขาสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ในด้านอาหาร คือการสนับสนุนให้มีพื้นที่ผลิตอาหารของชุมชนหรือการสร้างงานสร้างอาชีพจากเรื่องของเกษตรกรรม แต่สรุปเงินก้อนนี้ก็ยังไม่ทันได้ใช้ก็มาเกิดวิกฤติรอบ3 มาก่อน

ในปีนี้การดูแลเรื่องกลุ่มคนเปราะบางเรามีความชัดเจนและมีความลึกมากขึ้น เนื่องจากว่าเงินบริจาคก็ไม่ได้มีมากเราก็เลยว่าเราจะช่วยเหลือชุมชนที่มีกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มแรก คือคนที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านอยู่ในชุมชนนั้น กลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มที่สอง คือกลุ่มคนที่ตกงาน 100% ไม่มีงานทำต้องหยุดงาน กลุ่มที่สาม ก็คือกลุ่มคนที่ตกงาน ลดเวลางานและรายได้ลดลง 50% ขึ้นไป 

เราส่งมอบอาหารครั้งแรกไปแล้วเมื่อ 30 เมษายน 2564 ซึ่งเราจะส่งมอบอาหารทุกวันศุกร์ ส่งไปแล้ว 7 ชุมชน แล้วก็ทำข้อมูลกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด เราคิดว่ามันน่าจะมีสถานการณ์เหมือนรอบแรกเรื่องของการขนส่งจากพื้นที่เสี่ยง ถ้าคนจากพื้นที่อื่นเข้ามาในพื้นที่สีโซนแดงที่เราอยู่คือที่ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ที่เรารวบรวมผลผลิตในรอบนี้คิดว่าการขนส่งอาจจะลำบาก เราก็เลยพยายามหาเกษตรกรในกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรยั่งยืน กลุ่มเกษตรธรรมชาติ ในพื้นที่รอบ ๆ กรุงเทพฯและปริมณฑลก่อนว่าตอนนี้มีผลผลิตอะไรที่ได้รับผลกระทบบ้างเช่น ล้นตลาดไม่สามารถระบายได้เราจะช่วยเป็นส่วนแรกก่อน แล้วในเดือนพฤษภาคมตลอดทั้งเดือนมีผลผลิตอะไรบ้างที่ไม่สามารถระบายได้เพราะตลาดเกือบทั้งหมดปิดโดยเฉพาะตลาดในพื้นที่ในหน่วยงานราชการ มีกลุ่มเกษตรกรที่เรา Mapping เอาไว้ในการช่วยเหลือในรอบนี้อยู่ประมาณ 10 กลุ่ม อยู่ในโซนสุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม อ่างทอง ลพบุรี แล้วก็มีอีกกลุ่มที่เชียงใหม่ แล้วก็ที่สุรินทร์ที่มีผลผลิตพวกหอมแดงที่ยังไม่สามารถระบายได้ แล้วก็ที่ขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผลผลิตกระเทียมอินทรีย์ที่มีค้างในพื้นที่

“เราส่งมอบอาหารวันที่ 30 เมษายน 2564 เราช่วยเหลือไปประมาณ 1,100 คน จาก 7 ชุมชน”

ในทุกสัปดาห์ที่เราส่งมอบอาหารให้กับกลุ่มคนเปราะบางเสร็จแล้ว ในรอบต่อไปเราก็จะประสานกับกลุ่มแกนนำเพื่อให้ทำข้อมูลใหม่อีกรอบว่า กลุ่มคนที่ได้รับความช่วยเหลือไปแล้วในรอบแรกสถานการณ์เป็นยังไงบ้าง ดีขึ้นไหม หรือยังต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ ปรากฏว่ารอบที่แล้วเราส่งมอบอาหารวันที่ 30 เมษายน 2564 เราช่วยเหลือไปประมาณ 1,100 คน จาก 7 ชุมชน ปรากฏว่าข้อมูลของกลุ่มคนเปราะบางในรอบสัปดาห์นี้พบว่า ในแต่ละชุมชนมี กลุ่มคนเปราะบางเพิ่มขึ้นเกินเท่าตัว แล้วเราก็ได้รับการประสานงานจากคลองเตยดีจังด้วย ก็มีการพูดคุยกันว่าของเราเป็นกลุ่มของสด ข้าวอินทรีย์ ผักสด ผลไม้อินทรีย์ แล้วก็ไข่ไก่เหมาะกับกลุ่มที่ต้องทำครัวกลางในการเอาไปช่วยเหลือคนในชุมชน ซึ่งทางผู้ประสานก็บอกมาว่าตอนนี้เขาดูแลอยู่ประมาณ 20 ชุมชน ซึ่งมีครัวกลางหมุนเวียนกันไปในแต่ละวันอยู่แล้วซึ่งก็เลยคิดว่าเราจะช่วยส่งอาหารไปดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ รอบนี้ก็กลายเป็นว่าการบริจาคอาหารในวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 นี้ปรากฏว่าเราจะต้องดูแลกลุ่มคนเปราะบางประมาณ 4,000 คน ใน 10 ชุมชน

เริ่มต้นช่วยเหลือเร่งด่วน จากนั้นต้องสร้างความยั่งยืน

กลุ่มเปราะบางที่เราช่วยเหลือเรื่องอาหารในการระบาดรอบแรก เราก็คิดว่าถ้าช่วยเหลือแบบนี้ไปมันไม่ยั่งยืน เราก็เลยคิดว่าให้ชุมชนสามารถที่จะมีพื้นที่ผลิตอาหาร พื้นที่เพาะปลูก ทำเกษตร ที่จะสามารถดูแลตัวเองในด้านอาหารในภาวะที่วิกฤติเกิดขึ้นหรือแม้แต่วิกฤติผ่านพ้นไปแล้วก็สามารถที่จะฟื้นฟูเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย การมีรายได้เสริมจากการทำเกษตรในเมือง ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเราทำไป 30 ชุมชน เชียงใหม่ 11 ชุมชน และกรุงเทพฯ 19 ชุมชน 

ปรากฏว่าในปีนี้ที่การระบาดรอบ 2 และ รอบ 3  ทั้ง 30 ชุมชนที่เคยให้เราช่วยเหลือในการส่งมอบอาหารไม่มีอยู่ในผังรายชื่อของการต้องช่วยเหลือในรอบนี้เลย อย่างเช่น สมุทรสาคร เราช่วยรอบล่าสุดก็แค่ตอนวิกฤติหนัก ๆ กลายเป็นว่าสวนผักดาดฟ้าที่เขาทำกันอยู่มันสามารถทำให้เขาดูแลตัวเองและคนในองค์กรและคนที่อยู่รอบ ๆ ได้  หรือแม้แต่ชุมชนอื่น ๆ เราสอบถามข้อมูลเขาบอกว่าเขาสามารถช่วยเหลือดูแลกันได้ในความวิกฤติในรอบที่ 3 นี้ ขอให้เอาเงินบริจาค อาหาร ไปช่วยเหลือกลุ่มอื่นที่ยังไม่มีพื้นที่ผลิตอาหารของตัวเองเขาระบุมาแบบนี้ “คนทำงานเองก็รู้สึกตื่นเต้นไปกับประเด็นนี้” เราก็พยายามถามเขานะว่า “จริงหรอ ไม่เอาจริง ๆ หรอ” เขาก็บอกว่าไม่เอา เอาไปช่วยคนเลย

โควิดระลอก 3 กับการสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน

เราเห็นว่าการระบาดที่มันมาต่อเนื่องกลุ่มที่เราสามารถไปสนับสนุนให้เขามีพื้นที่อาหาร ตรงนี้เขารอดไปแล้วระดับหนึ่งอย่างน้อยก็ 30 -40 % ที่เขาสามารถดูแลกันได้ เราก็เริ่มมาทำข้อมูลว่า วิกฤติที่ผ่านมามีอีกหลายกลุ่มหลายชุมชนมากที่ยังประสบปัญหาต่อเนื่อง

ปีนี้เราโชคดีอย่างหนึ่ง คือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นว่าในช่วงวิกฤตรอบแรกที่เกิดขึ้นมันเห็นรูปธรรม โมเดลบางอย่างว่า เกษตรในเมืองสามารถช่วยยกระดับการพึ่งตนเองด้านอาหารในภาวะวิกฤติของกลุ่มคนเปราะบางในเมืองได้ ปกติเราทำงานกับสำนัก 5 สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ แต่ว่าปีนี้โชคดีที่สำนัก 6 ซึ่งเป็นสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม เขาทำโครงการเรื่องของเศรษฐกิจฐานรากเพื่อฟื้นฟูวิกฤติโควิดในกลุ่มคนเมือง กลุ่มคนเปราะบางขึ้นมาด้วย ก็เห็นว่าสวนผักคนเมืองน่าจะเป็นเครือข่ายที่สามารถทำเรื่องนี้ได้ดี

เป้าหมายของเรา หนึ่ง การทำเกษตรในเมืองช่วยส่งเสริมให้เขาสามารถที่จะเข้าถึงอาหารได้  สอง คือการทำเกษตรน่าจะเป็นจุดที่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากได้ และเป้าหมายที่สาม คือเราพยายามเติมทักษะเรื่องความรอบรู้ สุขภาพ และการวางแผนการเงินให้กับกลุ่มเปราะบาง

“ต่อให้วิกฤติระลอก 3 จบไป แต่ความเปราะบางที่ต้องเผชิญ คือเรื่องของเศรษฐกิจที่อาจจะต้องดูแลตัวเองแบบนี้ไปอีกระยะหนึ่ง”

พวกเขาต้องรอดและอยู่ได้ ในทุกวิกฤติ

จะน้ำท่วม จะอะไรก็แล้วแต่เรารู้สึกว่าถ้าเกิดมันมีการเตรียมการ อย่างน้อยการเริ่มต้นทำ ณ ตั้งแต่วันนี้ อย่างแรกที่เรารู้สึกว่าเขาได้แน่นอนคือ 1. เขามีความรู้ มีทักษะบางอย่างที่ถ้ามีวิกฤติอะไรเกิดขึ้นเขาสามารถงัดเอาความรู้เหล่านั้นมาใช้ได้ 2. ถ้ามีความรู้แล้ว เริ่มมีพื้นที่ผลิตอาหารของตัวเองและทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีวิกฤติมาหรือในภาวะปกติ เขาก็สามารถที่จะเข้าถึงแหล่งอาหารของชุมชนเองได้ ที่ทุกคนร่วมกันและสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ เป็นสวัสดิการร่วมกันได้

สวนผักถาวร: ปลูก ปัน วันละมื้อ ก้าวข้ามวิกฤติด้วยระบบอาหารยั่งยืน

คือเราอยากให้เห็นความตื่นตัวของ 30 ชุมชนที่เป็นโครงการใหม่ คืออาจจะเริ่มต้นในช่วงที่เริ่มเห็นวิกฤติในระลอก 3 ด้วยนะ แต่ชุมชนไม่ได้กลัวว่าวิกฤติมาฉันจะต้องขังตัวเองอยู่ที่บ้าน ไม่ใช่! แต่เขาเห็นว่า นี่แหละเป็นวิกฤติที่เป็นจุดเริ่มต้นให้เขายิ่งต้องเร่งสร้างพื้นที่อาหารของตัวเองเพราะเห็นแล้วว่ามันไม่สามารถออก ๆ ไปนอกชุมชนได้ ต่อไปการเข้าถึงอาหารอาจจะเป็นเรื่องลำบาก คือไม่ล็อกดาวน์ ไม่เคอร์ฟิว ผลผลิตยังมีทั่วไป ห้างก้ยังเปิดแค่ลดเวลาลงแค่นั้นเอง แต่เขาคิดว่าการแพร่ระบาดตรงนี้การที่ออกไปข้างนอกชุมชนมันจะทำให้เขามีความเสี่ยง ฉะนั้นการมีแหล่งอาหารในบ้าน แหล่งอาหารในชุมชนที่แค่เดินออกไป 10 ก้าว 20 ก้าว ก็สามารถเก็บผักมากินได้”

ผ่านมา 1 ปี ที่ผู้เขียนได้รู้จักพูดคุยกับทีมงาน “ปันอาหาร ปันชีวิต” วลีนี้ ยิ่งเห็นชัดถึงความเชื่อมโยงและความสำคัญของ “ปากท้อง” กับ “ชีวิต” และการแบ่งปันเพราะหากไม่มีอาหารคงเป็นการยากที่จะดำเนินชีวิตให้พอมีแรงผ่านพ้นเรื่องราวในแต่ละวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังถูกท้าทายอีกครั้ง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีปัจจัยการผลิตอย่าง “ที่ดิน” จำกัด ยังไม่นับเรื่อง เวลา ความรู้ หรืออื่น ๆ ในการดูแลผลผลิตให้เมืองใหญ่มีอาหารกินเองได้อย่างเพียงพอ

ถ้าเปรียบโควิด-19 เป็นเหมือนกีฬาฟุตบอล นาทีนี้ผู้ชมรอบสนามของลุ้นใจจดจ่อ และต่างขอภาวนาให้หมดเวลา จบเกมเสียที เพราะตอนนี้ประชาชนในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะชุมชนแออัดเมืองในกรุงเทพฯ ซึ่งรับบทบาทเสมือนผู้เล่นในสนาม ดูจะอ่อนแรงเหลือเกิน เพราะนับแต่เกมนี้ที่มีโควิด-19 เป็นผู้เล่นหลักเริ่มเขี่ยบอล ส่งต่อไปยังวิกฤติสุขภาพ ลามไปจนถึงวิกฤติเศรษฐกิจ และสังคม ตั้งแต่ปี 2563 เกมนี้ก็ช่างยาวนาน แต่ยังพอมีหวังเมื่อประชาชนอีกกลุ่มที่ทำหน้าที่กองเชียร์ข้างสนามมีความพยายามส่งต่อพลังผ่านอาหารเหล่านี้ไปยังทุกคน เพื่อหวังให้มีแรงรอกรรมการสักคนลุกขึ้นมาทำหน้าที่ให้สัญญาณจบเกมนี้ หรือพักนอกเวลาเพื่อเติมแรงสักที.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ