วิกฤติโควิด-19 วิน (มอเตอร์ไซค์) ไม่วิน

วิกฤติโควิด-19 วิน (มอเตอร์ไซค์) ไม่วิน

89,292 คน และ 5,343 วิน คือ วินมอเตอร์ไซค์ ในกรุงเทพมหานครที่ได้รับอนุญาต ปี 2563 ของกรมการขนส่งทางบก นี่คือแรงงานนอกระบบกลุ่มใหญ่ที่ทำงานตอบสนองต่อการขยายตัวของเมือง และกระจายตัวครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่

เสี่ยงติดเชื้อ คือ สิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องเผชิญ จากสถานการณ์ที่วิกฤติโรคระบาดขยับใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกวัน แต่พวกเขาหลายคนบอกว่า “กลัวอดตาย มากกว่ากลัวติดโรค”

000

บรรยากาศวินมอเตอร์ไซค์ ลาดพร้าว 101
ที่มาภาพ: รุ่งโรจน์ เปรมจิราพงศ์

“เงียบอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน” คือคำบอกเล่าถึงซอยลาดพร้าว 101 ที่เคยคึกคัก

ถนนความยาว 2.5 กิโลเมตร เชื่อมถนนลาดพร้าวกับวัดบึงทองหลาง มีมอเตอร์ไซค์วิน มีทั้งหมด 364 คน แบ่งจอดกัน 18 จุดกระจายไปตลอดเส้น รอให้บริการคนนับพันที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

วินวิ่งปกติ 1 วันได้ผู้โดยสาร 40-50 คน ทุกวันนี้ 15-20 คน ถือว่าหรูแล้ว ล่าสุดวิ่งรอบเช้าได้ 3-4 คน จากปกติต้องได้ 10 คน

เฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย ในวันที่ผันตัวมาทำอาชีพค้าขายปลาเผา ร่วมกับการขับวิน เล่าถึงสถานการณ์ที่วินลาดพร้าว 101 ซึ่งล่าสุดมีข่าวคราวแม่ค้าตลาดสดปากซอยเสียชีวิตแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด ทำให้ตลาดต้องปิดทำการฆ่าเชื้อ และมีการปิดตลาด 15 วันเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ช่องทางทำกินยิ่งตีบตัน

“รอบนี้หนักกว่าทุกรอบ… ที่ผ่านมาแค่เป็นการระบาด ไม่ถึงตัวเรา แต่คราวนี้มันอยู่กับเรา ทั้งปากซอย ในซอย … ในชุมชน ในตลาดก็มีคนติด”

พี่เฉลิมเล่าว่า ช่วงโควิดระบาดรอบ 1 รอบ 2 ยังพอหากินได้ แต่โควิดระบาดรอบ 3 นี้แทบ ไม่มีรายได้ และความเงียบนี้ไม่ได้เงียบแค่เพราะผู้โดยสารที่ระแวงไม่อยากขึ้นมอเตอร์ไซค์ แต่คนขับวินก็ระแวงความปลอดภัยของตัวเองด้วย เพราะแม้แต่วินมอเตอร์ไซค์ด้วยกัน ที่เคยขับผ่านเห็นหน้ากันในซอยก็มีคนติดไปแล้ว แต่เป็นการติดจากคนในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน

นั่นทำให้วินหลายคนไม่ออกวิ่ง บางคนเลือกที่จะลดจำนวนรอบของการวิ่งให้น้อยลง และบางคนเลือกช่วงเวลาในการวิ่ง แต่สิ่งที่ทำให้หลาย ๆ คนยังคงต้องวิ่งรถ เพราะรายได้แบบวันต่อวัน “ไม่ทำก็อด” นั้นผลักดันให้ต้องเร่งขยับ เพื่อหาเลี้ยงปากท้อง

000

บรรยากาศวินมอเตอร์ไซค์ ลาดพร้าว 101
ที่มาภาพ: รุ่งโรจน์ เปรมจิราพงศ์

ค่าผ่อนรถ – ค่าเช่าบ้าน – ค่าน้ำ – ค่าไฟ – ค่าโทรศัพท์ – ค่าส่งลูกเรียน ฯลฯ คือค่าใช้จ่ายประจำของวินส่วนใหญ่ นอกจากค่าอาหารการกินรายวัน

“กลัว แต่ต้องทำ” พี่เฉลิมบอก และอธิบายถึงวิธีดูแลตัวเองคือการใส่หน้ากาก และใส่หมวกกันน็อกเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง อีกทั้งยังหมั่นล้างมือกันบ่อยเท่าที่สถานการณ์จะอำนวย

หวังว่าจะคุมโรคให้ได้ใน 1-2 เดือนนี้ ไม่อย่างนั้นคงอยู่ได้ยาก

ทุกวันนี้มองหาช่องทางกู้หนี้ยืมสิน ยังลำบาก เพราะเจ้าหนี้นอกระบบไม่ค่อยปล่อยให้กู้ เพราะรู้ว่ามีแนวโน้มจะไม่ได้เงินคืนกลับไป

ส่วนมาตรการช่วยเหลือนั้นน้อยมาก… จากเมื่อปีที่แล้วมีการแจกถุงยังชีพบ้าง แจกอาหาร แต่ปีนี้ยังไม่เห็น

สำหรับวินมอเตอร์ไซค์เรื่องพื้น ๆ อย่างหน้ากากอนามัยบางทีก็หายาก หน่วยงานต่าง ๆ ประกาศให้ระวังตัว แต่กลับไม่มีการช่วยเหลืออะไรในเรื่องการป้องกัน บางคนต้องเย็บหน้ากากผ้าใช้เอง

“แจกแล้วไม่ใช้จะจับกัน อันนั้นไม่ว่า แต่ตอนนี้คนไม่มีต้องทำยังไง” พี่เฉลิมวิจารณ์ถึงมาตราการจับปรับคนไม่ใส่หน้ากากของรัฐ ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

เมื่อถามว่าความช่วยเหลืออะไรที่ต้องการ เฉลิมบอกว่า ให้ขออะไร… ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้ เลยคิดไม่ออกว่าจะขอความช่วยเหลืออะไร เพราะที่ผ่านมาแค่ขอหน้ากากก็ยังไม่ได้ ลงทะเบียนคนละครึ่งไม่กี่นาทีก็เต็มต้องไปแย่งกัน คนแก่ ๆ ไม่ถนัดเรื่องอย่างนี้ มันก็เข้าไม่ถึง เสนอว่ามาตรการอย่างนี้ควรเป็นการแจกแบบถ้วนหน้า

ตอนนี้มันเหมือนกับการโปรยทาน บางคนได้ บางคนไม่ได้ บางคนก็ไม่อยากได้ แต่ที่เห็นแน่ ๆ คือมีคนตกหล่นเต็มไปหมด

000

บรรยากาศวินมอเตอร์ไซค์ ลาดพร้าว 101
ที่มาภาพ: รุ่งโรจน์ เปรมจิราพงศ์

“ไข้ตัวนี้มันเหมือนไข้หวัด เป็นแล้วหายได้ แต่คนที่ไปก่อนกำหนดมีโรคอื่น ๆ แทรกซ้อนด้วย ใครรู้ตัวว่าสุขภาพไม่ดีก็ต้องระวังตัว” พี่เฉลิมให้คำอธิบายถึงโรคติดเชื้อโควิด – 19

ข้อมูลข่าวสารที่พี่เฉลิมได้รับ ขับเคลื่อนผ่านมือถือ ผ่านโซเชียลมีเดีย ใครส่งไลน์มาบอกว่าอะไรดี ควรดูแลตัวเองอย่างไร หากทำได้ก็พยายามทำ อย่างการดื่มน้ำขิง น้ำมะนาวร้อน ไม่กินน้ำเย็น ฯลฯ สารพัดข้อมูลที่อ่านแล้วเอามาดูแลตัวเอง แก้ได้ไม่ได้ไม่รู้ อย่างน้อยก็สบายใจที่ได้ทำ

ส่วนวัคซีน… พี่เฉลิมบอกว่า ถ้าให้ฉีดตอนนี้ไม่มีใครอยากฉีด เพราะทั้งรัฐบาล หมอ ไม่มีใครการันตี แถมจีนคนผลิตเองก็บอกว่าแก้ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ คนก็ไม่กล้าฉีด เพราะกลัวฉีดแล้วตาย พร้อมยกตัวอย่างข่าวพยาบาลฉีดวัคซีนแล้วเกิดผลข้างเคียงจนเสียชีวิต

“คนกลัวตายจากยาที่เอามาฉีด ไม่รู้ว่าเราจะแพ้ยาตัวนี้หรือเปล่า ดังนั้น ล้างมือ ใส่แมสป้องกันตัวเอง หลีกเลี่ยงที่เสี่ยง น่าจะดีกว่า”

เหตุผลอีกอย่างที่น่าสนใจของพี่เฉลิมคือ การอธิบายว่า ถึงวินมอเตอร์ไซค์จะเป็นอาชีพกลุ่มเสียง เพราะต้องเดินทางออกไปพบเจอคนมากหน้าหลายตา แต่การเป็นอาชีพที่อยู่กลางแจ้ง อยู่กับแดด โอกาสติดเชื้อมันก็น้อยลง

“โรคนี้ระบาดในบ่อน ในผับบาร์ ห้องแอร์ เราวิเคราะห์กันเองว่ามันเป็นโรคของผู้ดี”

000

บรรยากาศวินมอเตอร์ไซค์ ลาดพร้าว 101
ที่มาภาพ: รุ่งโรจน์ เปรมจิราพงศ์

ทุกวันนี้ “รถติด” ยังคงเป็นภาพชินตาบนถนนลาดพร้าว 101 เพราะยิ่งวิกฤตโควิด คนที่ต้องเดินทางก็จะนิยมใช้รถส่วนตัว เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะในรถโดยสารสาธารณะ และมอเตอร์ไซค์ก็ยังเป็นทางเลือก เพราะปลอดภัยกว่าสองแถว หรือรถเมล์ อย่างน้อยก็เจอกันแค่คนอีก 1 คน

แต่โอกาสเรื่องการส่งของ ส่งอาหาร หรือพัสดุ นั้นน้อยมาก เนื่องจากมีแพลตฟอร์มมารับหน้าที่นี้แทน เพราะวินไม่มีอัตราค่าโดยสาร-ค่าจ้างที่ชัดเจน ทำให้คนมองว่าไม่มีมาตรฐาน

วินสู้เขาไม่ได้ในการให้บริการ มีแต่จุดแข็งเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจกันในชุมชน

อย่างวินที่วิ่งประจำในซอย เห็นกันทุกวัน อยู่ในชุมชน คุ้นเคยกัน ใครเป็นอะไรก็รู้กัน สอบถามกันได้ ทำให้เชื่อมั่นและไว้ใจกันได้มากกว่า

แต่รายได้ที่ได้มาจากคนกลุ่มนี้ก็เป็นรายเล็กรายน้อย ได้เงินครั้งละ 10-20 เป็นส่วนใหญ่ มันจึงเป็นเงินจากการเก็บเล็กผสมน้อย ต่างจากการจ้างเหมาของแพลตฟอร์มขนส่ง ที่ได้เงินครั้งละเป็นกอบเป็นกำกว่า

“ขนส่งขนาดใหญ่ (จำนวนเยอะ) แต่บริการขนาดเล็ก” คือคำอธิบายถึงวินมอเตอร์ไซค์สำหรับพี่เฉลิม

000

รายการไทยพีบีเอสสู้โควิด-19 ประจำวันที่ 4 พ.ค. 64

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ