พิษโควิดเริ่มส่งผลถึงเศรษฐกิจปากท้อง

พิษโควิดเริ่มส่งผลถึงเศรษฐกิจปากท้อง

พิษโควิดเริ่มส่งผลถึงเศรษฐกิจปากท้อง พบปรากฏการณ์ดิ้นรนของประชาชนจากหลายพื้นที่ รวมถึงความพยายามช่วยเหลือประคับประคองกัน หลายหมู่บ้านล็อกดาวน์ตนเองคุมสถานการณ์เข้ม ขณะที่เขตเมืองที่ถูกกึ่งล็อกดาวน์คุมเข้มการค้าขาย ผู้ประกอบการยื่นเรื่องผ่อนปรนและเสนอให้มีมาตรการเยียวยา 

การระบาดของโควิด-19 อย่างแพร่หลายจนทางการได้ออกมาตรการด้านสาธารณสุขโดยควบคุมการเคลื่อนย้ายหรือรวมกลุ่มในหลายพื้นที่ มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

เริ่มต้นที่ภาคอิสาน

ที่ชุมชนเหล่านาดี​ 12 จังหวัดขอนแก่น  ซึ่งเป็นชุมชนริมทางรถไฟในเขตเทศบาล​นครขอนเเก่น​ ชาวบ้านร่วมมือกันจัดตั้งร้านอาหารราคาถูก​ ราคาเริ่มต้น​ 15 บาท​ บริเวณ​หน้าศาลาประชาคมของชุมชน​ เพื่อช่วยเหลือเเละบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ​จากการเเพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมกันนี้ยังได้มีการเเบ่งปันอาหารสู่ผู้เปราะบาง​เจ็บป่วยสูงอายุในชุมชน​ นอกจากนี้ยังมี โรงครัวกลางชุมชนเหล่านาดี กับโครงการปันสุข 8กล่อง 8ชีวิต 120 บาท  คนที่มาทำบุญเอาเงินมาบริจาคซื้อวัตถุดิบ ที่ให้กินฟรีมีผู้ป่วยติดเตียง 8 คน คนในชุมชน135 หลังคาเรือน และพี่น้องจากโฮมแสนสุข ใครที่ยังสามารถพอดูแลตัวเองได้ทำงานได้ ก็จะมีให้ซื้อในราคาที่ถูกลง อีกพื้นที่ บ้านลูกรัก ร้านก๋วยเตี๋ยวปิดไป2 สัปดาห์ ขาดรายได้ แต่ศูนย์จะต้องมีเงินเพื่อดูแลเด็ก ๆ จึงเปิดร้านขายเสื้อผ้ามือสอง จากที่มีคนมาบริจาค แล้วก็มีการปลูกผักไว้กินเองด้วย

ขณะที่ในเขตตัวเมืองขอนแก่น ภาคประชาชน หน่วยงาน สถาบันการศึกษา ติดตั้ง “ตู้เต็มใจ” แบ่งปันห่วงใยพี่น้องชาวขอนแก่น สู้ภัยโควิด-19 เบื้องต้นมี 6 จุด คือ 1.หน้ามหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2.หน้าวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3.ชุมชนบ้านกอก 4.ชุมชนบ้านเป็ด 5.ชุมชนโนนทัน 3 และ 6.ชุมชนบ้านศิลา เพื่อแบ่งปันอาหารแห้ง น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภคในชุมชน

แผนที่พิเศษ ปักหมุดตู้เต็มใจ ตู้ปันสุข จุดบริจาคอาหารสิ่งของ และกิจกรรมของชุมชนสู้โควิดทั่วประเทศไทยที่ภาคพลเมืองร่วมปักหมุดแบ่งปันกับ C-Site https://www.csitereport.com/covidcommunity

ภาคเอกชนเริ่มขยับตัว แบ่งปันอาหารให้ชุมชน โดยที่ ตำบลห้วยแก อำเภอชนบท จ.ขอนแก่น ร่วมด้วยช่วยกันบริจาคอาหารให้กับหมู่บ้านที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 และนำไปแจกจ่ายให้ทุกหลังคาเรือนที่มีผู้กักตัว และโรงพิมพ์ เค แอนด์ เค เซ็นเตอร์กรุ๊ป  จัดทำโรงทานจิตกุศล แจกข้าวให้ฟรี ให้กลุ่มคนที่เดือดร้อน

ทางเครือข่ายเพื่อนคนไร้บ้าน บ้านโฮมแสนสุข จ.ขอนแก่น ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการ และนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น จะลงพื้นที่สำรวจกลุ่มคนไร้บ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น เพื่อสำรวจปัญหา และนำไปสู่การออกแบบช่วยเหลือดูแล

ที่ชุมชนลับแล ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นชุมชนที่มีประชากรหนาแน่น บริเวณข้างสถานีรถไฟอุบลราชธานีและรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง  เช่นการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ  การภัยพิบัติ และผลักดันโฉนดชุมชนทำสัญญาเช่าระยะยาวกับการรถไฟ เป็นต้น ในวิกฤตโควิด-19 รอบที่ 3 ชุมชนที่นี่หาหนทางที่จะเดินต่อไปให้ได้ ด้วยการปรับพื้นที่ว่าง ๆ เล็กในชุมชนให้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารและสวนสมุนไพรสร้างภูมิคุ้มกันให้สมาชิกชุมชนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สู้โรคภัย โดยสมาชิกชุมชนร่วมกันสืบค้น หาความรู้ สรรพคุณทางอาหารและยาในพืชผักสมุนไพรต่างๆ และกำหนดร่วมกันว่าจะปลูกอะไรบ้างนอกเหนือจากพืชผักสวนครัวในครัวเรือน แล้วร่วมตัวปลูกพืชผักสวนครัวและส่งเสริมให้ปลูกกระชายมากเป็นพิเศษ ทั้งที่บ้านและแปลงรวม รวมทั้งทำกิจกรรมส่งเสริมการกินอาหารเป็นยากับชุมชนด้วยเช่น ขนมจีนน้ำยาสมุนไพร น้ำกระชายผสมมะนาวและน้ำผึ้ง  และให้มีกิจกรรมส่งเสริมให้ชุมชนมีสติและใช้ปัญญาสู้โควิด

ขณะที่ กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ชุมชนและที่ดินทำกิน ต.บุ่งหวายและ ต.หนองกินเพล จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อยู่ระหว่างพยายามแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินถูกนายทุนออกโฉนดทับที่ เมื่อต้องเผชิญกับโควิด-19 ครั้งนี้  ส่งผลให้สมาชิกซึ่งเป็นคนยากจนอยู่แล้ว ประสบปัญหา ขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัว จึงรวมกลุ่มใช้พื้นที่เล็ก ๆ ในชุมชน ปลูกพืชผักและเลี้ยงปลาดุก เพื่อหวังให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้

นางหนูเดือนแก้ว บัวขาว แกนนำกลุ่ม พาชาวบ้านปลูกพืชผักอินทรีย์ นอกเหนือจากการปลูกกินในครัวเรือน และในชุมชน ยั้งเน้นการผลิตเมล็ดพันธ์เพื่อหนุนเสริมพี่น้องคนจนในเมือง ซึ่งมีพื้นที่เล็ก ๆ สามารถปลูกกินในครัวเรือน แต่อาจไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ กลุ่มพิทักษ์สิทธิ์ชุมชนและที่ดินทำกินต.บุ่งหวายและ ต.หนองกินเพล จังหวัดอุบลราชธานี จึงรับอาสาที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ด้วย โดยเตรียมไว้เพื่อแจกจ่าย ส่งเสริมให้พี่ผู้ที่สนใจทั่วไป ให้หันมาปลูกพืชผักสมุนไพรอินทรีย์ ไว้กินเองในครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายและสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย “ใข้พื้นที่ปัญหาเพื่อแก้ปัญหา” เป็นทางออกของชุมชน

ส่วนสถานการณ์การระบาดในพื้นที่อิสาน อุดรธานีเตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2 เพื่อรองรับผู้ป่วยได้อีก 500 เตียง ที่อาคารคลังสินค้าใหม่ของนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี สำรองไว้กรณีฉุกเฉิน หากมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากจนทำให้โรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 เต็ม

ที่นครราชสีมา ยังคงมีผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 25 ราย โรงพยาบาลมหาราช เปิดลงทะเบียนรับวัคซีนโควิด-19 ออนไลน์ช่วยเหลือภาคประชาชน ที่อายุเกิน 60 ปี และอายุไม่ถึง 60 ปีแต่มีโรคแทรกซ้อน  โดยเปิดให้บริการสายด่วน 20 คู่สาย โทร. 044-235777 044-235888 เพื่อให้ประชาชนโทรมาลงทะเบียน จองคิวฉีดวัคซีนได้ หลังจากหลายคนประสบปัญหาการใช้งานแอปพลิเคชั่น “หมอพร้อม”

ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา คาดว่า ผลเสียหายด้านเศรษฐกิจจากโควิด-19ในพื้นที่มากว่าครึ่งเกิดกับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยในส่วนของธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หมุนเวียนที่สำคัญของโคราช ผู้ประกอบการจึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้ชาวโคราชและเตรียมพร้อมแผนกระจายการฉีดวัคซีน

ที่ภาคเหนือ

ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงอยู่ในหลักสิบหลายวัน แต่ก็พบคลัสเตอร์ใหม่ใน ใน 2 อำเภอ พื้นที่ 2 หมู่บ้าน คือ บ้านแม่อ้อใน (หย่อมบ้านห้วยน้ำฮาก) หมู่ที่ 8 ตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว ระบาดเป็นกลุ่มก้อน รวม 10 ราย และพื้นที่บ้านไร่ หมู่ที่ 5 ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง ซึ่งพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนเช่นกัน รวม 8 ราย จึงมีการออกประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ กำหนดพื้นที่ควบคุมการเข้า-ออก มีผลตั้งแต่ วันที่ 4 – 17 พฤษภาคม 2564 โดย

  1. งดการเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ ทั้ง 2 หมู่บ้าน โดยไม่มีเหตุจำเป็น
  2. ขอความร่วมมือให้ประชาชน ทั้ง 2 หมู่บ้าน งดการเดินทางออกนอกหมู่บ้าน และให้อยู่ในเคหสถาน งดทำกิจกรรมรวมกลุ่ม โดยไม่จำเป็น
  3. จัดระเบียบ ระบบ และควบคุมติดตามผู้เดินทางเข้า-ออกหมู่บ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน และดำเนินป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดในพื้นที่

บรรยากาศที่ ต.หารแก้ว อ.หางดง จ.เชียงใหม่  คณะทำงานอสม., รพสต.,ท้องที่ท้องถิ่น ซึ่งผลัดเปลี่ยนเวรยามมาประจำการทางเข้าออกหมู่บ้าน ซึ่งเปิดทางเข้าออกทางเดียว นับตั้งแต่วันที่ 4-17 พฤษภาคม 2564และกำหนดให้ หมู่ 5 และหมู่ 6 เป็นพื้นที่ “ควบคุม” นับตั้งแต่วันที่ 4-17 พฤษภาคม 2564  และจากการที่มีมาตรการ “ควบคุมเข้มงวด” และมีคำสั่งห้าม 20 ครอบครัว ที่มีความเสี่ยงสูงไม่ให้ออกนอกพื้นที่ ชุมชนหมู่บ้านอื่นๆ ของตำบลหารแก้วที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง จึงได้ร่วมมือกันบริจาคอาหารและร่วมทำอาหาร (ข้าวกล่อง) เพื่อนำไปแจกให้กับเพื่อนบ้านที่มีความจำเป็นต้องกักตัว ซึ่งปรากฏว่าได้มีการบริจาคอาหารทั้งอาหารสด อาหารแห้ง จากเพื่อนสมาชิกในตำบลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งข้าวปลาอาหารแห้งจากวัดขันแก้ว และการบริจาคเงินจากบุคคลภายนอกที่ทราบข่าวอีกจำนวนหนึ่ง เพื่อจะได้เป็นค่าอาหารสำหรับผู้ที่ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน คุณสนธยา ดอกสีเมือง ประธาน อสม. บอกว่า นับจากนี้ไป ทางคณะทำงาน ได้แก่ อสม., รพสต., ท้องที่ ท้องถิ่น จะมาประจำการทางเข้าออกหมู่บ้าน รวมถึงส่งข้าวปลาอาหาร น้ำดื่ม ให้กับครอบครัวที่ถูกกักตัว 20 ครอบครัว สำหรับเจ้าหน้าที่ อสม. ของหมู่ 5 และหมู่ 6 รวมแล้วประมาณ 30 คน จะผลัดเปลี่ยนกันมา  

การยกระดับเข้มงวดด้านสาธารณสุข ส่งผลต่อปากท้องของคนหาเช้ากินค่ำในเชียงใหม่ คนขับรถตู้จ้างเหมาเพื่อนำเที่ยวในเชียงใหม่ บอกว่า ตั้งเเค่โควิด-19ระบาดไม่มีงานเข้ามาเลย ต้องหาทางดิ้นรนเพื่อเป็นค่าผ่อนรถ ปรับท้ายรถหาผลไม้ตามฤดูกาลมาขาย ริมทาง

บริเวณถนนเส้นสันทราย-ดอยสะเก็ด เดิม 2 ข้างทางทั้งไปและกลับ จะเห็นบรรยากาศการค้าขายริมถนนตอนเช้าฝั่งขาเข้าเมืองจะคึกคัก เพราะพ่อค้าแม่ค้าขายข้าวเหนียวหมูปิ้งบอกก็พอขายได้ แต่ลดลงเพราะว่ามาตรการ work from home และช่วงปิดเทอมทำให้คนออกมาน้อยลงการค้าขายริมถนนฝั่งขาเข้าเชียงใหม่จะขายเฉพาะตอนเช้า

ส่วนฝั่งขาออกจะขายกลางวันไปจนถึงช่วงค่ำ หรือดึก เน้นลูกค้าคนทำงาน เลิกงานกลับออกจากเมืองจะเเวะซื้อ แต่เมื่อเชียงใหม่โดนมาตรการไปด้วยก็คือเป็นพื้นที่สีแดงเข้มร้านขายเฉพาะแบบซื้อกลับบ้าน และขายได้ถึงสามทุ่มเท่านั้น หลายร้านที่เปิดในช่วงเย็นคือตั้งแต่ 4 โมงเย็นเป็นต้นไป เมื่อระยะเวลาเปิด สั้นลงเพราะขายได้แค่ 21.00น. หรือสามทุ่ม ซึ่งหลายร้านไม่คุ้มการลงทุน หรือจ้างลูกน้องประจำร้าน

และหากเราเข้าไปในตัวเมืองเชียงใหม่ จะพบเห็นกับบรรยากาศของผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากมาย ทั้งย่านประตูท่าแพ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ คูเมือง และสถานที่อื่น ๆ ในเขตตัวเมือง พบภาพแปลกตาที่น่าใจหาย ป้ายติดหน้าอาคารพาณิชย์ขายตึกพร้อมเบอร์ติดต่อมีเพิ่มมากขึ้นจนสังเกตได้

ร้านค้าร้านอาหารบริเวณหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เคยคึกคักกลับเงียบเหงาและเปิดจำหน่ายเพียงบางพื้นที่เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นช่วงเวลาปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แต่อีกส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้านทำให้ผู้ค้าบางรายซึ่งจำหน่ายอาหารที่จำเป็นจะต้องปรุงและรับประทานที่ร้านไม่สามารถจำหน่ายได้ ร้านค้าบางส่วนปรับตัวด้วยการเข้าสู่ระบบเดลิเวอรี่ก็สามารถที่จะมียอดจำหน่ายได้บ้างแต่สำหรับร้านที่ไม่มีระบบการส่งหรือการสั่งผ่านแอปพลิเคชันก็จะเงียบเหงาและซบเซา

ในจังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ประกอบการขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ มีร้านอาหารกว่า 14,000 ร้าน มีพนักกงานที่เกี่ยวเนื่องกว่า 100,000 คน เป็นกิจการที่ต้องลงทุนสูง ทั้งการจ้างพนักงาน วัตถุดิบที่จะต้องสต๊อกล่วงหน้า หลายร้านเลือกที่จะหยุดกิจการชั่วคราว เพราะประเมินจากซื้อกลับบ้านหรือtake away ต้นทุนยังสูงแต่รายรับเหลือเพียงแค่ 10%  โดยในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ประกอบการร้านอาหารในเชียงใหม่ ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ขอให้ผ่อนปรนมาตรการสามารถนั่งรับประทานอาหารในร้านได้โดยวางเงื่อนไขตามมาตรการสาธารณสุข เช่นร้านที่เคยนั่งได้ 100% ก็ปรับเว้นระยะห่างให้สามารถนั่งได้ไม่เกิด 50% และเสนอให้มีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้าง คือ

  1. มาตรการยืดหรือขยายเวลาการผ่อนชำระหนี้ทั้งเงินทุนรวมถึงการผ่อนรถ
  2. สินเชื่อSoft loan ที่จริงจังปรับเงื่อนไขลดลงให้สามารถเข้าถึงได้จริงสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย
  3. ข้อเสนอที่จะช่วยเหลือลูกจ้างในระบบตามมาตรา 33
  4. ข้อเสนอช่วยเหลือลูกจ้างนอกระบบ
  5. ช่วยเหลือผู้ประกอบการเช่นการขยายขยับเวลาการชำระภาษีหรืองดเว้นภาษีบางอย่างเช่น ภาษีท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นภาษีป้ายภาษีโรงเรือนภาษีที่ดิน รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระทุกเดือน

สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้คือผู้ประกอบการให้พนักงานประจำร้านหยุดงาน และไม่จ่ายค่าจ้างเนื่องจากว่าเขารับค่าจ้างเป็นรายวันอยู่แล้วดังนั้นลูกจ้างก็ต้องดิ้นรนหางานทำเองบางคนเลือกที่จะไปขับแกรป เพื่อที่จะได้รายได้ประจำวันซึ่งบางคนเพิ่งซื้อรถมอเตอร์ไซต์ใหม่ ก็อาจจะโดนยึดในอีกสองเดือนข้างหน้า หากมาตรการรัฐไม่ออกมาให้บริษัทไฟแนนซ์ยืดระยะเวลาการผ่อนค่างวด

ในเชียงใหม่ยังมีการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการขนส่งอาหารจองเชียงใหม่เอง คือ Ant Delivery เพราะApplication จากต่างประเทศ มีส่วนต่างสูง เปิดบริการเต็มรูปแบบวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ มีร้านอาหารเข้าร่วมกว่า 500 ร้านค้าในเชียงใหม่

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภาคเหนือ พบว่า แค่สามเดือนล่าสุดในปี 64 คือ เดือน มกราคม-มีนาคม มีกิจการแจ้งปิดในเชียงใหม่ ตัวลงรวม 148 กิจการ ส่วนหนึ่งเกี่ยวเนื่องจากพิษโควิด-19 และมาตรการกึ่งล็อกดาวน์

ที่จังหวัดลำปาง พ่อค้าแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวได้รับผลกระทบ ยอดตกไม่มีคนกล้าออกมานั่งรับประทานที่ร้าน พ่อค้าก๋วยเตี๋ยวรายนี้จึงหันเปลี่ยนแนวพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสให้กับตัวเองด้วยการ ออกไปเร่ขายให้บริการทำให้รับประทานร้อน ๆ กันถึงหน้าบ้านแทน และสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้นแทนจากเดิมที่เคยเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวเป็นประจำอยู่ที่ย่านตัวอำเภอแม่เมาะ

นายอำนาจ ทองอ่อน พ่อค้าก๋วยเตี๋ยว อายุ 50 ปี หลังจากที่เจอพิษโควิด-19 ระลอกเมษายน 2564 ทำให้ยอดขายตก ไม่มีคนออกจากบ้านมาซื้อเพราะกลัวติดเชื้อโควิด-19 รายได้ไม่พอกับรายจ่ายภายในครอบครัว จึงได้คิดกับภรรยา ดัดแปลงวิธีการขายก๋วยเตี๋ยว เพื่อให้บริการถึงลูกค้า อยู่ที่ไหนเราจะไปหา นำก๋วยเตี๋ยวขึ้นบนรถกระบะแล้วตระเวนขายไปตามหมู่บ้าน ในอำเภอแม่เมาะ ผลการตอบรับของลูกค้าได้การตอบรับดี สำหรับมาตรการในการป้องกันโควิด-19 ได้สวมแมสตลอดเวลา มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และใส่ชามหรือใส่ถุงให้ลูกค้านำไปกินที่บ้านได้เลย สถานที่ๆตระเวนขายประจำทุกวันก็จะเริ่มขายในที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ บ้านห้วยรากไม้ บ้านเวียงสวรรค์ บ้านใหม่มงคล บ้านหัวเสือ โดยเริ่มออกขายตั้งแต่ 10.00 – 16.00 น. ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ก๋วยเตี๋ยวหมู น้ำตก ต้มยำ เย็นตาโฟ ราคา ชามละ 30 บาท ทุกเมนู

ภาคใต้

เครือข่ายภัยพิบัติชุมชน จ.นครศรีธรรมราช หนุนอาหารของใช้ให้คนกักตัว 14 วัน เริ่มต้นที่ ม.11 ต.ช้างซ้าย อ.พระพรหม ผ่านกิจกรรม #ส่งพกส่งห่อสู้ภัยพิบัติโควิด ด้วยการรวบรวม ข้าว ปลา อาหาร เพื่อส่งมอบให้กับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อให้ผู้กักตัวสามารถกักตัวได้โดยไม่เดือดร้อนมากนัก และลดการเดินทางเพื่อไปหาซื้ออาหารหรือข้าวของเครื่องใช้ระหว่างการกักตัว

เครือข่ายหนองธง จ.พัทลุง ส่งมอบสิ่งของที่เปิดรับบริจาคให้กับชาวบ้านหมู่ 13 บ้านทุ่งค่าย ต.หนองธง อ.ป่าบอน และปิดรับบริจาค เนื่องจากเริ่มมีหน่วยงานเข้ามาทำในส่วนนี้ ทางทีมงานกำลังวางแผนที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนในส่วนอื่น ๆ ที่ทางชุมชนยังขาดเหลือ

ที่จังหวัดชุมพร เครือข่ายอาสาสมัครชุมชน อสม. ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  ในพื้นที่ต.นาขา อ.หลังสวน จ.ชุมพร  ร่วมกันเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กลุ่มเด็กเยาวชนในชุมชนหมู่บ้าน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19  ที่เด็ก ๆ ไม่ไปโรงเรียนเพราะเลื่อนเปิดเทอมเป็นวันที่ 1 มิถุนายน ช่วยกันจัดพื้นที่ สร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆในชุมชน ตอนนี้มีเด็ก ๆ เยาวชนสนใจ กว่า 13 คน และกิจกรรมนี้ได้รับความร่วมจากผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยฯ  มาสมัครเป็นครู พร้อมสนับสนุน บอร์ด สนับสนุนพัดลม  อาหาร ให้กับเด็กๆ

ชาวเลพังงา กลับมาใช้พื้นที่ธรรมชาติหาเลี้ยงปากท้อง ปลูกต้นจากทะเลและปล่อยพันธุ์หอยในป่าชายเลน โดย 25 ชุมชนชาวเล 4 อำเภอ ในจังหวัดพังงา มี 6 ชุมชนที่ไม่อยู่ติดชายฝั่ง แต่ทุกชุมชนยังคงพึ่งพาป่าชายเลน  สถานการณ์ภัยพิบัติโรคโควิด-19 การกลับมาใช้พื้นที่ธรรมชาติหากินเลี้ยงปากท้องกันเกือบทั้งหมด คนรุ่นใหม่ชาวเลมอแกน-มอแกลนน้ำเค็ม ยังคงเหลือภูมิปัญญา แต่ปัญหาคือธรรมชาติที่เหลือน้อย ดูจากที่ชาวเลน้ำเค็มเริ่มนำอาหารทะเลมาแปรรูปจำหน่าย ปริมาณที่ได้น้อยกว่าที่ประเมินไว้ ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดการฟื้นฟูโดยการเพิ่มจำนวนพืช สัตว์ ในพื้นที่ธรรมชาติ  โดยทำกิจกรรม “ปลูกต้นจากทะเลและปล่อยพันธุ์หอยในป่าชายเลน”  โดยคณะทำงานกองเลขาฯ เครือข่ายชาวเลฯ จังหวัดพังงา

ชุมชนชาวเลใน 3 อำเภอของจังหวัดพังงา รวมถึงชุมชนชาวเลซอยสุพรรณ บ้านน้ำเค็ม หมู่ที่ 2 ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ดำเนินการสำรวจข้อมูล และช่วยเหลือเบื้องต้นกับกลุ่มเปราะบางไปแล้ว และเพื่อต่อยอดการอนุรักษ์ธรรมชาติและวิถีชีวิตชาวเลในป่าชายเลนให้เกิดจิตสำนึกการดูแลและใช้ประโยชน์จากคุณค่าหรือมูลค่าในความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติเป็นการเพิ่มจำนวนของสัตว์น้ำ ป้องกันการทรุดตัวของริมตลิ่งรวมถึงแหล่งธรรมชาติในการดำรงวิถีชีวิตชาวเลและชุมชนได้รับการดูแลร่วมกันจากทุกฝ่ายมากขึ้น

สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในภาคใต้

กลุ่มจังหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้อสูงต่อเนื่อง และส่วนใหญ่จะพบในพื้นที่ชุมชนมากขึ้น สุราษฎร์ธานี +62 (คลัสเตอร์งานแต่ง งานบวช งานศพ ในชุมชน), นครศรีธรรมราช +35 (คลัสเตอร์งานแต่ง งานบวช งานศพ ในชุมชน), สงขลา +36 (กลุ่มร้านอาหาร สถานบันเทิง), ปัตตานี +32 (กลุ่มร้านอาหาร สถานบันเทิง), กระบี่ +28 (ตลาด และแหล่งท่องเที่ยว), พัทลุง +18, ยะลา +18, ตรัง +9, ระนอง +9, ภูเก็ต +12 (พบผู้ติดเชื้อใหม่เป็นกลุ่มนักพนัน)  กลุ่มจังหวัดที่สถานการณ์ดีขึ้น สตูล 0, นราธิวาส +1, พังงา +1, ชุมพร +3,

อย่างไรก็ตามพบว่า พื้นที่ภาคใต้มีการปิดโรงพยาบาลหลายแห่ง คือจังหวัดพังงา โรงพยาบาลพังงาปิดหอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทำให้หมอและพยาบาลต้องกักตัวเกือบทั้งตึก และย้ายผู้ป่วยภายในหอทั้งหมดรวม 6 เตียงออกไปรักษาต่อในห้องเดี่ยว บุคลากรทางการแพทย์สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมดได้รับการกักตัวในโรงพยาบาลพังงา พร้อมทำการตรวจหาสารพันธุกรรมของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต่อไป

จังหวัดตรัง ปิดโรงพยาบาลรัษฎาและรพ.สต. 6 แห่งในอำเภอรัษฎา หลังพบบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อรวม 51 คน มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนมาก รวมทั้งผู้เข้ามาใช้บริการของโรงพยาบาลรัษฎา ระหว่างวันที่ 20-27 เม.ย.ที่ผ่านมาด้วย ขณะที่ผู้ป่วยในต้องโอนย้ายเข้ารักษาที่โรงพยาบาลห้วยยอดทั้งหมด.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ