เซ้ง-เช่า-ขายต่อกิจการ… เมื่อไปต่อไม่ไหว อะไรคือทางออก?

เซ้ง-เช่า-ขายต่อกิจการ… เมื่อไปต่อไม่ไหว อะไรคือทางออก?

ก่อนช่วงการระบาดระลอกใหม่ ผู้เขียนได้ลงไปสำรวจย่านต่าง ๆ ในเมืองเชียงใหม่ ที่ในวันนั้นที่ดูเหมือนทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มฟื้นตัวจากการปรับตัว เพียงชั่วพริบตา…ฤดูกาลการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย กลับมาอีกครั้ง และครั้งนี้ดูเหมือนจะหนักขึ้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบจาก COVID-19 ยังส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวที่ทำให้เมืองเชียงใหม่ที่ลุกกันแทบไม่ไหว ทรุดลงไปกว่าเดิม

ในตอนนี้ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่จังหวัดเชียงใหม่ นับถึงวันนี้ (4 พฤษภาคม) ยอดผู้ติดเชื้อ 3,766 ราย เสียชีวิต 40 ราย ซึ่งนอกเหนือจากตัวเลขที่กระทบจิตใจหลาย ๆ คนแล้ว ยังมีผู้ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากมาย ผ่านไปตามถนนที่คุ้นเคย ทั้งย่านถนนนิมมานเหมินท์ ย่านถนนช้างคลาน ย่านถนนท่าแพ ย่านถนนลอยเคราะห์ และย่านเขตคูเมืองเชียงใหม่ ปรากฏการณ์ป้ายติดหน้าอาคารพาณิชย์ขายตึกพร้อมเบอร์ติดต่อ มีเพิ่มมากขึ้นจนสังเกตได้ สะท้อนได้ถึงสถานการณ์ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของธุรกิจในพื้นที่ ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากกว่า 60-70% ของมูลค่าเศรษฐกิจมวลรวมในพื้นที่

“เชียงใหม่พอมาเจอโควิดระลอก 3 อีกครั้งทำให้ธุรกิจหมดโอกาสตุนรายได้ในช่วงเทศกาลที่ผ่านมา ต้องกลับมาเริ่มต้นที่ศูนย์กันใหม่” และด้วยมาตรการที่ออกมา ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กที่ต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก จึงเป็นภาพการติดป้ายเซ้งร้านจำนวนมากมายที่เกิดขึ้น

พี่จุน รองนายกมัคคุเทศก์ เชียงใหม่กล่าว
ภาพตึกย่านถนนนิมมานเหมินท์ จากหมุด https://www.csitereport.com/newsdetail?id=0000017992
ภาพตึกในคูเมืองเชียงใหม่

การศึกษา วิจัยผลกระทบ “โควิด” กับทิศทาง “ท่องเที่ยว” โดย ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการแผนการศึกษาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย ทิศทางการท่องเที่ยวไทยในอนาคต เน้นศึกษาไปที่ 2 ด้าน คือ ผลกระทบด้านธุรกิจท่องเที่ยว และด้านเศรษฐกิจโดยรวม โดยดูผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบแรก และระลอก 2 เท่านั้น ไม่รวมผลกระทบระลอก 3 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ขณะนี้ พร้อมทั้งย้ำว่าผลที่ได้ครั้งนี้เป็นข้อมูลเพียง 50% ของงานวิจัยทั้งหมด โดยผลที่ได้ คือ ในภาพรวมนั้นการแพร่ระบาดของโควิดทั้ง 2 ระลอกที่ผ่านมาทำให้ตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจหลาย ๆ ด้านลดลง ไม่ว่าจะเป็น GDP อัตราเงินเฟ้อ สวัสดิการสังคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการส่งออก การนำเข้า การบริโภค มีเพียงการลงทุนเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากเงินทุนไหลเข้าจากประเทศอื่น โดยเฉพาะจากประเทศที่มีการหดตัวทางเศรษฐกิจสูงกว่า

ส่วนผลกระทบต่อตลาดแรงงานพบว่า แรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สาขาโรงแรม ที่พัก และอาหาร โดยคาดว่ามีผู้ว่างงาน 1.29 ล้านคนและมีรายได้ลดลงร้อยละ 46 อย่างไรก็ตาม หากดูในภาพรวมพบว่าโควิด-19 ทำให้คนไทยกลายเป็นคนจน และคนเกือบจนมากขึ้นจาก 9.8 ล้านคนเป็น 13.8 ล้านคน (ระลอกแรก) และเพิ่มเป็น 17 ล้านคนในระลอก 2 นอกจากนี้ยังพบว่ามาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐยังเข้าไม่ถึงคนท่องเที่ยวมากนัก

และเมื่อค้นดูข้อมูลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภาคเหนือ พบว่า ในปี 2564 เพียงแค่สามเดือนล่าสุด คือเดือน มกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม มีกิจการแจ้งปิดในเชียงใหม่ ตัวลงรวม 148 ราย และเปรียบเทียบกันในปี 2562 สถิติการยกเลิกการจดทะเบียนนิติบุคคลรายจังหวัด หรือการยกเลิกธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ ถึง 818 ราย และ 2563 สถิติการยกเลิกการจดทะเบียนนิติบุคคลรายจังหวัด หรือการยกเลิกธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ ถึง 748 ราย (อ้างอิงจาก : ข้อมูลนิติบุคคลรายจังหวัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้าภาคเหนือ) ที่มีการระบาดในระลอกที่ 1/2 ซึ่งรวม ๆ แล้ว มีธุรกิจปิดตัวไปกว่า 1,566 ราย อาจเนื่องจาก จากพิษโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ในระลอกแรก

ในปัจจุบัน หลังจากเชียงใหม่ได้มีการยกระดับมาตรการทางด้านสาธารณสุขเพื่อควบคุมโรคเข้มข้นขึ้นในเรื่อย ๆ ซึ่งล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยกระดับมาตรการร้านอาหาร ห้ามนั่งรับประทานในร้านซื้อกลับได้อย่างเดียว และเปิดได้ไม่เกิน 21:00 น. สิ่งที่ตามมาตอนนี้ผู้ประกอบการหลายรายที่กำลังจะฟื้น กลับกระทบหนัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ ที่ต้องลงทุนสูงทางพนักงานในร้านวัตถุดิบที่จะต้องสต๊อกล่วงหน้า หลายร้าน เลือกที่จะหยุดกิจการชั่วคราว เพราะประเมินจากซื้อกลับบ้านหรือ take away ต้นทุนยังสูงแต่รายรับเหลือเพียงแค่ 10% นอกจากในเมืองแล้ว ร้านค้ารายย่อยในพื้นที่ชุมชน หรือพื้นที่กึ่งเมืองก็ได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน

เสียงจากแม่ค้าตลาดฟ้าฮ่าม – ป้าพรแกเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว ที่ตลาดฟ้าฮ่าม แกบอกว่า ตั้งแต่มีมาตรการงดนั่งกินที่ร้านทำให้ลูกค้าและยอดขายของแกลดน้อยลง บางร้านถึงกับต้องปิดตัวไปเพราะลูกค้าประจำของร้านหายไปหลายคน โรงอาหารแห่งนี้เป็นเหมือนโรงอาหารของคนในชุมชนเพราะปกติแล้วจะมีลูกค้ามานั่งเป็น เพราะแถวนี้มีบริษัท ร้านค้าและเป็นย่านของชุมชน ซึ่งหลายที่ให้พนักงานทำงานที่บ้านตามมาตรการ หลายที่เริ่มปิดตัวชั่วคราวไป ซึ่งแกบอกว่า การมีมาตรการแต่ไม่มีการเยียวยา ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้นแต่รายย่อยในชุมชนก็ได้รับผลกระทบหนัก หลายคนตั้งคำถามว่าขณะที่แนวโน้มการติดเชื้อใหม่ลดลง มาตรการคุมเข้มสูงสุดที่มีอยู่ในตอนนี้จะทำให้ ปากท้องของคนตัวเล็ก ๆ แบบพวกเขาก็เริ่มแย่ลงเช่นกัน

ปรากฏการณ์ติดป้ายปิดธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะรายย่อยต้องปิดตัวเป็นเหมือน ฤดูใบไม้ร่วง ที่กำลังเกิดขึ้นในทั่วประเทศและหลานที่ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ตามมาด้วยคลื่นแรงกระแทกผู้คนตกงานจำนวนมหาศาล ซึ่งนี่เป็นหนึ่งโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องรีบหาวิธีจัดการกับปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของผู้ประกอบการหลายด้านในพื้นที่ ที่พร้อมจะเดินหน้าต่อ หลาย ๆ เสียงมีข้อเสนอถึงแนวทาง ณ ตอนนี้ที่ สำคัญที่จะทำให้สบความเร็จและผ่านวิกฤตินี้ไปได้ คือ การเร่งระดมฉีดวัคซีนเพิ่มความมั่นใจ หากสามารถวางแผนการฉีดวัคซีนได้ตามแผน ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว และพร้อมการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวภายในประเทศให้ได้เร็วที่สุด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ