ท่องเที่ยวในเมืองเหงา กับ ‘รุ่งเช้า’ ของผู้ประกอบการ

ท่องเที่ยวในเมืองเหงา กับ ‘รุ่งเช้า’ ของผู้ประกอบการ

…วิกฤต โอกาส ? การปรับตัวของผู้ประกอบการรายย่อยในเมืองเชียงใหม่ และคนตัวเล็กตัวน้อย เปลี่ยนแปลงตัวเองไปอย่างไรบ้าง ในวันที่เมืองไม่เคยเหงากลายเป็นเมืองเหงา และ ‘โควิด-19’ จะยังอยู่ …

เหงากว่าการไม่มีแฟน เห็นทีจะเป็นโควิด-19 ที่ทำเอาคนไทยทั้งประเทศทั้งหนาวทั้งเหงา ทว่าตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา เราต่างใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปียันท้ายปีกันเลยทีเดียว และเริ่มต้นปี 64 กับโรคระบาดโควิด-19 อีกครั้ง ซึ่งยังคงกระทบวงการการท่องเที่ยวของประเทศเราอย่างสาหัส มองเห็นจากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวบางตาอย่างสังเกตเห็นได้ชัด

เมื่อเดือนแห่งความกังวลใจของคนเชียงใหม่ผ่านพ้นไป และแม้โรคระบาดโควิด 19 ในเชียงใหม่ตัวเลขเป็น 0 แต่ก็ยังคงไร้วี่แวว นักท่องเที่ยวต่างถิ่นอยู่ดี จะมีก็มีแต่คนเชียงใหม่ที่ยังคงออกมากันอยู่บ้างให้เห็น

เมื่อการเดินทางระหว่างประเทศยังไม่สามารถกลับมาเป็นปกติ การกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศแทนจึงเป็นเรื่องที่จะทำได้ในตอนนี้ และถึงแม้ประเทศไทยจะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวบางส่วน มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศมาได้ระยะหนึ่ง แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ยังฟื้นตัวไม่มากในหลาย ๆ จังหวัด รวมไปถึงจังหวัดเชียงใหม่


จากสถิติการท่องเที่ยวภาคเหนือตอนบน นักท่องเที่ยวและรายได้ 3 ไตรมาส 2563 (ม.ค.-พ.ย.) จังหวัดเชียงใหม่ ต้นปี 2563 ในเดือนมกราคม ถือเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่มากที่สุดใน 3 ไตรมาส โดยมีจำนวนกว่า 1.03 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 728,372 คน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 307,723 คน ซึ่งก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนถึง 10,438.24 ล้านบาท

ทว่าแนวโน้มและทิศทางค่อยๆ ดิ่งลงมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งในเดือนเมษายน พบว่ามีนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงต่ำสุด จนเหลือจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 3,523 คน แบ่งสัดส่วนเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 2,707 คน นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 816 คน และสร้างรายได้ประมาณ 41.14 ล้านบาท เท่านั้น 

ต่อมาสถานการณ์ท่องเที่ยวเชียงใหม่ค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม มิถุนายน ถึงกรกฎาคม ก่อนร่วงลงเล็กน้อยในเดือนสิงหาคมและกันยายน กระทั่งทะยานขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี ตุลาคมและพฤศจิกายน โดยในเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้น เชียงใหม่มีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนถึง 926,358 คน ซึ่งส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศกว่า 917,933 หรือคิดเป็นร้อยละ 99.09 %

ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดทำโดย : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว (CTRD) สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ตัวผู้เขียนเองลองลงมาเดินย่านใจกลางเมืองเชียงใหม่ ที่เราเป็นคนเชียงใหม่แท้ ๆ ยังแทบไม่ค่อยได้มาเดิน อย่างถนน ย่านถนนช้างม่อย เดินเชื่อมไปยังย่านไนท์บาซาร์ ถนนลอยเคราะห์ เพียง 1 วันบอกความไม่เหมือนเดิมของเมืองเชียงใหม่ได้อย่างสินเชิง ที่จากภาพในอดีตที่นักท่องเที่ยวเดินกันทั้งกลางวันและกลางคืน


“กำลังจะดีอยู่แล้วเชียว ก่อนหน้านี้นักท่องเที่ยวเริ่มมาเดินแล้วเชียว เมื่อก่อนนี้นักท่องเที่ยวเดินลากกระเป๋าก๊อก ๆ แก๊ก ๆ ไม่เคยเงียบขนาดมาก่อนนี้เลย”

ป้าพัน ผู้ประกอบการร้านขายไส้อั่วเจ้าเก่าของชุมชนช้างม่อย ในจังหวัดเชียงใหม่ ป้าเปิดร้านมาตลอด แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่เศรษฐกิจซบลงอย่างต่อเนื่อง เพราะถึงอย่างไรแล้ว ยังคิดว่าของกิน ยังคงขายได้อยู่ แม้ในวันนี้ที่ลูกค้าต่างจังหวัดและต่างชาติที่เป็นเป้าหมายหลักของที่นี่จะหายไป แต่เรายังคงต้องพยายามและดิ้นรนปรับตัวกันต่อ ป้าพันบอกกับเรานะคะว่า จากปกติขายหน้าร้านมีลูกค้ามาซื้อและมานั่งกินอย่างไม่ขายสาย ในวันนี้เงียบเหงา จึงหาวิธีปรับ ตอนนี้ลูกสาวพยายามที่จะขายออนไลน์มากขึ้น ใช้ช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ขายได้และอยู่รอด ลองทำชุดข้าวกล่องพื้นเมืองตอบโจทย์คนออกจากบ้านน้อยลง และต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ที่หวังว่าในปีนี้จะมีจัดขึ้น พูดถึงสิ่งที่ยังหวังยังคงมีความหวังเสมอในเรื่องของการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ป้าพันบอกว่า

“อย่างน้อยให้คนกลับมาเที่ยวบ้างก็ยังดี คนต่างจังหวัดเที่ยวในประเทศก่อนก็ยังดี” อยากให้ถนนสายนี้ กลับมาคึกคัก อีกครั้งตอนนี้แทบไม่มีเหลือผู้คนเดิน หลาย ๆ เริ่มทยอยปิดตัวไป


เช่นเดียวกับ ผู้ประกอบการเกสท์เฮาส์ เดินถัดมาจากร้านไส้อั่วป้าพัน สี่ถึงห้าตึก เป็นที่หนึ่งที่ตัวผู้เขียนเองเดินสะดุดตา อาจเป็นเพราะช่วงเวลานั้นหิวข้าวหรือเปล่าไม่แน่ใจ เจอกับป้าย ข้าวราคาถูก รับทำข้าวกล่อง อาหารกลางวันราคาถูก เป็นอีกผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องปรับตัวไม่น้อย “ใจ” เป็น แผนกต้อนรับของเกสท์เฮาส์ที่นี่ ใจบอกว่าก่อนหน้านี้ช่วงปลายปี เป็นช่วง High Season คนจองเกสท์เฮาส์เข้ามาเต็ม หลังโควิดระลอกสองระบาด คนโทรมายกเลิกการจอง ทำเอาตั้งตัวกันแทบไม่ทัน ตอนนั้นหลังจากที่ซื้อของมาเพื่อเตรียมครัวเพราะนอกจากจะขายห้องแล้วที่นี่ก็ขายอาหารอีกด้วย ตอนนั้นไม่รู้จะทำอย่างไร หัวหน้ากับเราตัดสินใจ เราลองขายอาหารกันดูสักตั้งไหม หัวหน้าเรียกระดมพลลูกน้อง 4-5 ชีวิต ยังไงเราก็เลือกไม่ทิ้งกัน  มีประโยคหนึ่งที่ใจบอกกับตัวผู้เขียนว่า

“เรามีหน้าที่เป็นแผนกต้อนรับ ตอนนั้นเราทุกคนถอดหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบหน้างานออกไปก่อน สุดท้ายแล้วทุกคนเลือกไม่ได้ว่าเราจะต้องทำหน้าที่ไหนหน้าที่เดียว ไม่ว่าจะหน้าที่ไหน สุดท้ายเมื่อเกิดวิกฤติเราก็ต้องมาช่วยกันในครัว”

ซึ่งเราก็ทำได้จริง ๆ ตอนนี้ในช่วงตั้งแต่ 11 โมงถึง บ่าย 3 คนสั่งอาหารเราเยอะมากในครัววุ่นวายสุด ๆ ในช่วงนี้ทำอะไรได้เราก็ทำกันไปก่อน เพื่อให้สุดท้ายแล้ว แต่ละคนไม่ต้องกลับบ้าน แม้ว่าวันนี้เราจะยอมโดนลดเงินเดือนก็ตาม แต่ยังไงเราก็มีความหวังว่าไม่นาน เชียงใหม่เมืองที่ยังคงมีเสน่ห์ผู้คนก็จะกลับมา


ผู้เขียนลืมบอกไปว่า ผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่ได้คุยนี้ ป้าดา ประธานชุมชนย่านช้างม่อย แกแนะนำกับผู้เขียนแทบจะทั้งหมด ป้าดาไม่รอช้าไปกันต่อ ป้าดาแนะนำให้ไปที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ชื่อร้าน Mitte Mitte ลองไปคุยกับเขาดูไหม? เขาเป็นคนรุ่นใหม่นะ? กลับมาบ้านมาพัฒนาบ้านของตัวเอง รีโนเวทบ้านเก่าให้เป็นร้านกาแฟ ซึ่งในใจเราก็คิดว่า สวนกระแสดีนะช่วงโควิดระลอกสองแท้ ๆ นักท่องเที่ยวยังบางตา ยังมีคนกล้าที่จะเสี่ยงอยู่ ผู้ประกอบการร้านนี้ เธอชื่อว่า “วีราภา” หรือ วิน เจ้าของผู้ประกอบการร้านกาแฟ Mitte Mitte เดินวนไปมา ร้านติดกับร้านป้าพัน ไส้อั่วของเรานี่เอง

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

วิน เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า บ้านหลังนี้เป็นของอาม่าของวิน ซึ่งปล่อยทิ้งร้างไว้ประมาณ 16 ปีมาแล้ว ตอนย้ายออกไปเพราะวินต้องไปเรียนต่อต่างประเทศและทำงาน เมื่อตัดสินใจที่จะกลับมาบ้านหลังนี้อีกครั้ง ตอนนั้นมาเพราะอากง อาม่าอยากจะขายบ้านหลังนี้ แต่เมื่อวินเดินเข้ามาในบ้าน วินพบกับความรู้สึกว่าบ้านหลังนี้คือความทรงจำ มีเรื่องราวที่เราผูกพันกับทั้งตัวบ้าน ที่ยังมีรอยการวัดส่วนสูงของวิน และพี่ของวิน และวินรู้สึกผูกพันชุมชนนี้ ซึ่งวินกลับมามองย่านนี้ วินรู้สึกว่ามันเปลี่ยนไปมาก ตอนย้ายออกไปเพราะกิจการครอบครัวโตขึ้น ตอนนี้ย่านนี้มีความเปลี่ยนแปลงจากแต่ก่อนอย่างสิ้นเชิง วินจึงตัดสินใจอยากทำอะไรสักอย่างกับบ้านหลังนี้ วินตัดสินใจทำร้านในช่วงโควิดระลอกแรก เพราะเรามองว่า อย่างน้อยเป็นการรีโนเวทบ้านก็ยังดี และเราทำไม่ได้อยากให้ร้านได้ดีอย่างเดียว วินอยากทำและพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ไปด้วย เพราะวินเกิดและเป็นคนที่นี่

บวกกับคอนเซ็ปต์ร้านของเรา และชื่อร้านที่ชื่อว่า Mitte Mitte วิน ตั้งตามชื่อย่าน ในเมืองเบอร์ลิน ที่วินเคยไปอาศัยอยู่ ย่านเบอร์ลินในความรู้สึกเป็นย่านที่ไม่มีกรอบแต่มันก็มีกฏในตัวมัน และวินประทับใจในการดูแลเมืองของเขาเป็นแบบช่วยเหลือกันจึงเป็นไอเดียของการทำร้านนี้ ตั้งแต่การทำอาหาร การดูแลลูกค้า และคนในร้าน วินอยากให้ร้านเราเป็นที่รักของคนแถวนี้ และอยู่ร่วมกันไปให้ยาว ๆ คิดว่าการอยู่ของเมืองจะดีขึ้นได้ถ้าเราพึ่งพากัน และเราคิดไว้ว่าเป้าของร้านในตอนนี้คือ

ร้านเราเปิดตัวเป็น home made แต่ในอนาคตเราอาจขยายเป็น ช้างม่อย made

อย่าง ป้าพัน วิน เห็นร้านป้าพันขายไส้อั่วตั้งแต่เด็ก ๆ และตอนเด็ก ๆ วีชอบไปนั่งกินร้านแกประจำ ใส้อั่วแกอร่อย และตอนนี้วินเห็นตอนนี้ว่าแกก็ได้รับผลกระทบจากการที่นักท่องเที่ยวมาน้อยลง วินจึงทดลองเอาไส้อั่วป้าพัน นำมาแปรรูป ทดลองผสมกับเมนูของเธอ เป็นอีกหนึ่งช่องทางการขาย เราเอาไส้อั่วป้าพันมาแปรรูปขายในเบเกอรี่ เพราะไส้อั่วป้าพันเรากินได้ตั้งแต่เด็ก แปลว่า มันไม่เผ็ดเกินไปสำหรับเด็ก เพราะฉะนั้นคนต่างชาติหรือคนไทยกินได้ ร้านวินจะมีนักท่องเที่ยวที่ตกค้างในประเทศมากินเยอะ หรือคนหลากหลายวัยเช้ามา เมื่อเขากินเขาติดใจอยากซื้อกลับบ้าน วินจะแนะนำร้านป้าพันให้ ซื้อแล้วกลับไปกินที่บ้านได้ เป็นการช่วยเหลือกันอย่างหนึ่งหรือผสมผสานระหว่าง สินค้าที่เป็นสินค้าดั้งเดิมอยู่แล้วบวกกันแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมันก็ไปกันได้

ตัวผู้เขียนฟังวินเล่าแล้ว สิ่งที่ตัวผู้เขียนมองเห็น ที่เรามักพูดกันว่า เชียงใหม่เป็นเมืองปราบเซียน ก็ปราบจริง ๆ แหละ แต่ถ้าเราลองใช้มุมมองความคิดที่นอกจากการทำการตลาดเพียงอย่างเดียว แล้วมองหา solutions ที่ว่า ต้นทุนของบ้านเรามีอะไร ในพื้นที่เรามีอะไร ที่ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว แต่เราเข้าไปทำงานร่วมและปรับ เก่าไม่ต้องไป ใหม่ก็มาได้ และในเมื่อการท่องเที่ยวที่เป็นแบบเดิมไม่สามารถกลับมาได้ ถ้าสิ่งที่มีอยู่เดิมในพื้นที่และคนรุ่นใหม่ที่เข้าไปหรือกลับบ้าน ช่วยกันต่อลมหายใจของชุมชนให้ไปด้วยกัน เมืองจะน่าอยู่แค่ไหน ถ้าเราไม่ได้มองเพียงแค่เรื่องการท่องเที่ยว แต่หากเรามองไปให้ถึงการที่พัฒนาเมืองและชุมชนให้ยั่งยืน นี่อาจจะเป็นวิธีที่ทำให้เมืองอยู่ร่วมกันได้ และพัฒนาและเติบโตไปพร้อมกัน

ในเรื่องของความหวังด้านการท่องเที่ยว วิน บอกกับผู้เขียนว่า ถึงทางรอดของเชียงใหม่อาจจะยังไม่ชัดเจน แต่สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือ ทำเป้าหมายของเราเป็นหลัก คือ

“ทำคาเฟ่ ที่มีพื้นให้กับคนทุกคน ให้ครอบครัว และคนทุกวัยมาพักผ่อน และนอกเหนือไปจากนั้นมีพื้นที่ให้คนในชุมชนได้มาปรึกษาหารือกันได้ จริง ๆ”

วินจบสถาปนิกมา เราพยายามไม่เข้าไปสอนคนในพื้นที่ แต่ใช้วิธีแชร์ความรู้ที่เรามีให้กับ ป้า น้า อา หลาย ๆ คน ที่เข้ามาปรึกษาเช่นเขามีตึกเก่าตรงนี้เข้าทำแบบเราได้ไหม เราก็พยายามที่จะช่วยเขาคิดว่าจริง ๆ เราคิดว่าย่านที่เราอยู่ ถ้าเราขายเหมือนกันทั้งย่าน ล้มทีมันจะล้มหมด เราจึงแนะนำว่าต้นทุนของเรามีอะไร เราปรับเอาดีไหม ทำธุรกิจอะไรที่สามารถเชื่อมกันและทำให้ย่านนี้กลับมามีชีวิต

โควิดสิ่งที่ วิน มองเห็นอีกอย่างคือ นักท่องเที่ยวที่ออกมาเที่ยวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เป็น Local ที่ออกมาใช้จ่ายใน Local มากขึ้น วินเห็นว่ามันเป็น Dynamic ที่ดี จากแต่เดิมที่เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวแบบอุตสาหกรรมพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งถ้าเที่ยวแบบอุสาหกรรม เที่ยวเสร็จกลับไป มันไม่ได้เข้าถึงชุมชน ไม่ได้เข้าถึงความเป็นศิลปะการท่องเที่ยว แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือผู้ประกอบการหลาย ๆ คน เริ่มได้มีเวลาคิดและทดลองมากขึ้น ซึ่งคิดว่าอนาคตจะเป็นการท่องเที่ยวที่ผูกติดกับความเป็นเชียงใหม่มากขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่รูปแบบอุตสาหกรรมแบบก่อน และเราก็หวังว่าการท่องเที่ยวในอนาคตจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรองรับเทรนกากรท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ในอนาคต


ย้อนกลับมาที่เรื่องคนตัวเล็กตัวน้องกันต่อ ตัวผู้เขียนไหน ๆ ไหน ๆ ก็ได้มาลงพื้นที่แล้ว จึงลงมาเดินกันต่อตรงถนนลอยเคราะห์ ผู้เขียนเดินมาถึงสะพานคลองแม่ข่า หยุดมองวิวสะพานแม่ข่า สะดุดกับเด็กน้อยสองคนวิ่งเล่นไปมา และเจอกับพี่ฝน ทักผู้เขียน “น้ำปั่น น้ำผลไม้ไหมจะ”

พี่ฝน แกเป็นคนขายของในย่านไนท์บาร์ซ่า มา 10 ปีแล้ว เธอเคยขายของในรถเข็น ตอนที่ตลาดไนท์บาซาร์กำลังเฟื่องฟู ช่วงที่นักท่องเที่ยวมากันเยอะแยะเต็มไปหมด เธออาศัยอยู่ที่ชุมชนคลองแม่ข่า แต่ก่อนเดือนหนึ่งเธอได้รายได้เยอะพอเลี้ยงลูกทั้งสองคน และพูดเป็นเสียงเดียวกันกับผู้ประกอบการ อื่น ๆ ว่า ส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ ที่มาย่านนี้ มาพักในโรงแรมและเดินเที่ยว ช่วงที่โควิดเข้ามา เราขายไม่ได้เลย ไม่มีคนมาซื้อของเลย พยายามปรับตัวบ้าง เอาน้ำมาขาย ขายน้ำผลไม้ น้ำปั่น ถ้าไม่ขายก็ไม่รู้จะทำอะไรที่ไหนก็ไม่จ้าง งานก็ไม่มีให้ทำ มีลูกต้องไปโรงเรียนอีกสองคน แต่ยังดีที่ยังเจอคนใจดีเจ้าของหอก็ลดราคาให้เธอและให้เธอเปิดร้านเล็ก ๆ ขายของหน้าหอพัก

ในเรื่องของความหวัง พี่หวังมากนะ พี่หวังอยู่ตลอดว่าอยากให้นักท่องเที่ยวกลับมาฟื้นเร็ว ๆ อยากให้ดีขึ้นไวไว ก็ได้แต่หวัง เธอยังบอกผู้เขียนอีกว่าการเข้าถึงสิทธิของรัฐนั้น เธอก็ยังเข้าไม่ถึง ใช้ไม่เป็น ขายไปวัน ๆ ได้เท่าไหร่กินเท่านั้น อยู่กันแบบประหยัด เพราะกลับบ้านไม่ได้ลูก ๆ ต้องเรียนต่อในเมือง ถึงอย่างไรแล้วก็ดิ้นรนกันต่อไป


เดินกันต่อไป เริ่มมืดตะวันตกดิน ตัวผู้เขียนเดินออกมาอีกหน่อยจากสะพานคลองแม่ข่า มายัง ถนนลอยเคราะห์ ก็ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเงียบเหงา ร้านแต่ละร้านนั้น พึ่งพาเพียงลูกค้าชาวต่างชาติทั้งนั้น ทั้งผับบาร์ ร้านนวด ร้านนั่งดื่ม ต่างก็ยังคงเปิดอยู่บ้างแม้จะไม่มีลูกค้านั่ง

เราเดินมาเจอ พี่ อาบา แลพุ : เธอมีอาชีพเดินขายดอกไม้ ย่านถนนไนท์บาซาร์ เดินขายไปถึงถนนลอยเคราะห์ และข้ามไปขายยังอีกฝั่งของท่าแพ เดินอย่างนี้ประจำทุก ๆ วัน เพราะหลัก ๆ อาชีพเธอคือขายดอกไม้ให้นักท่องเที่ยวตามร้านนั่งดื่ม หรือตามถนน ปกติแล้วเธอบอกว่า ถนนเส้นนี้จะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จะชอบมานั่งเล่น เดินลากกระเป๋าไปมาทุกวัน ครั้งหนึ่งดอกไม้เธอเคยขายหมดมีคนซื้อ แต่พอโควิดมา ขายไม่ได้เลย วันหนึ่งได้ 20-40 บาท ทุกวันนี้ก็ดีแล้ว อย่างน้อยก็ได้ขาย ส่วนดอกไม้เธอพยายามให้อยู่ได้ทั้งอาทิตย์ ตอนนี้เธอเลือกไม่ได้แล้วว่าเราจะทำอาชีพอะไร เพราะไม่มีอาชีพไหนให้ทำ ยังดีบ้านเช่าที่เราอยู่คนให้เช่าใจดี เดือนไหนมี 200 ก็จ่ายเขา เดือนไหนไม่มีเขาสงสารเราเขาก็ให้อยู่ไปก่อน สิทธิ์ต่าง ๆ ก็เข้าไม่ถึงหรอกนะ อย่างน้อยมีบัตรสีฟ้าช่วยก็ยังดีขึ้นมาหน่อย ไปแลกข้าวสารมากินก็ดีใจแล้ว พี่ยังจะสู้ต่อไปเพราะลูกสาวคนสุดท้ายยังเรียนคงเรียนอยู่ ไม่อยากให้เขาไปทำงานก่อสร้าง หวังอยู่ในใจว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา คนก็จะกลับมาซื้อดอกไม้ของเรา


นี่คงเป็นเสียงส่วนหนึ่งของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และคนตัวเล็กตัวน้อย ได้รับความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจในเชียงใหม่ พวกเขายังคงยืนอยู่ในสายของการท่องเที่ยว แม้บางคนจะพอมีทางออกในแบบที่พอประคับประคองตัวเองไปได้เพื่ออยู่รอด หรือแม้บางคนก็ยังกัดฟันสู้ชีวิต เพราะยังมีภาระอยู่ข้างหลัง


จากการลงพื้นที่วันนั้น ทำให้เราคิดและตั้งคำถาม ผู้เขียนไม่รอช้าชวนคุยต่อกับ กับ อาจารย์ ดร.กรวรรณ สังขกร นักวิจัย (ชำนาญการพิเศษ) และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พูดคุยกับ ตัวผู้เขียน ในสถานการณ์การท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ มุมมองและทิศทางการปรับตัวของผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในเมืองในช่วงนี้ ต้องทำอย่างไร ?

อาจารย์ ดร.กรวรรณ สังขกร นักวิจัย (ชำนาญการพิเศษ) และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“อย่างที่ทราบกันดีว่า จังหวัดเชียงใหม่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงมาก ปัจจุบันนี้ในช่วงไวรัสโควิด-19 ทั้งระลอกใหม่และระลอกเก่าที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่วนคนภาคการท่องเที่ยวมีความพยายามที่จะพัฒนาตัวเอง และหาอะไรเพื่อเรียกนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ของตัวเอง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ นั้นเพราะเรื่องของโควิดยังไม่ลงตัว ซึ่งบทเรียนสำคัญที่เราได้รับจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ คือเราอาจจะต้องมองหากลุ่มตลาดที่กว้างกว่าเดิมไม่ใช่แค่ชาวต่างชาติ ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวภายในออกเดินทาง”

จริง ๆ แล้วเชียงใหม่ของเราเกือบจะดีขึ้นมาแล้วในช่วงปีใหม่ ทั้งเรื่องของการจองโรงแรมและจองทัวร์เข้ามา การเดินทางโอเคทุกอย่าง พอโควิดระลอกสองเข้ามา ทุกอย่างเริ่มดาวน์ลงไปอีกครั้ง เพราะผู้ประกอบการรที่ฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้งเขามีความเตรียมพร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง พอมาเจอสถานการณ์แบบนี้แย่กันหมดทุกราย หมดกำลังใจและ การท่องเที่ยวของเชียงใหม่และในภาคเหนือตอนบนเอง ค่อนข้างจะลำบาก ทำให้เรารู้ว่าจริง ๆ ที่ผ่านมา ทางภาคเหนือ ทางเชียงใหม่ และประเทศไทยเราพึ่งพานักท่องเที่ยวเยอะมาก ตอนนี้ถ้าถามว่าไทยเที่ยวไทยพึ่งได้ไหม พึ่งได้บ้างแต่ก็ยังไม่มาเท่าที่ควร คือ 30 %

ในส่วนของเชียงใหม่ตอนนี้ การท่องเที่ยวที่เราดูโรงแรมขนาดใหญ่ ค่อนข้างจะอยู่ลำบาก หลายโรงแรมต้องปิดตัวลงในช่วงนี้ชั่วคราว ร้านอาหารในตัวเมืองถ้าเราออกมาดูในตัวเมืองเชียงใหม่ตอนกลางคืน เช่น คูเมืองเงียบและเราไม่เคยเห็นบรรยากาศแบบนี้มาก่อน ร้านปิดเร็ว คนไม่ค่อยจะออกมา ความพยายามผลักดันท่องเที่ยวในเมือง ถ้าไม่มีคนก็จะลำบาก

เพราะคนเริ่มออกไปเที่ยวนอกเมืองมากขึ้น คนไปหาธรรมชาติมากขึ้น เจอบรรยากาศเจอธรรมชาติ เป็นไลฟ์สไตล์ของคนในยุคนี้มากกว่า คนในเมืองและผู้ประกอบการเองต้องปรับตัวเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลับมามากขึ้น

ตอนนี้เป็นโจทย์ที่ไม่ใช่เฉพาะเชียงใหม่ หลาย ๆ ที่ ที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เกิดขึ้นเยอะมาก กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พอเรียนจบแล้ว และออกไปทำงานที่อื่นต่างจังหวัดบ้าง และพอเกิดวิกฤติพวกเขาเหล่านี้ก็ต้องกลับบ้านและกลับมาหางานทำที่บ้าน พอกลับมาบ้านแล้วเราจะทำอะไรดี ทำอะไรที่อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ที่อยู่ในบ้านของตัวเองดี คนเหล่านี้ก็จะนำเรื่องของการครีเอทีฟเข้ามาในชุมชนมากขึ้น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เหล่านี้เมื่อเข้าออกไปข้างนอกเขามักจะเจอกับประสบการณ์ใหม่ ๆ เจอสิ่งใหม่ ๆ ที่จะสามารถปรับใช้กับชุมชน กับธุรกิจที่อยู่ในชุมชนที่พวกเขาสามารถดำเนินการต่อไปด้วยกันได้

อย่าง “ย่านช้างม่อย” ในตอนนี้มีหลายร้านมากที่ผู้คนจะเริ่มพัฒนาขึ้นมา เริ่มจากการที่เรามองเห็นว่าย่านนี้เราผ่านแทบจะทุกวัน ก็คือร้านทั่วไปแต่พอเขาเริ่มปรับ ปรับตัวและปรับแต่ง พอมีผู้คนสนใจเริ่มมากขึ้นคนก็มาถ่ายรูป ทำให้คนรู้จักตรงนี้มากขึ้น แม้แต่ร้านขายหวายสานเราก็ขับผ่านไปมา แล้ววันหนึ่งที่เป็นจุดใหม่ที่ทุกคนต้องมาและไปถ่ายรูป ทำให้ธุรกิจรอบข้างได้ประโยคจากคนที่มาเที่ยวและถ่ายรูปเพิ่มมากขึ้นด้วย

อาจารย์มองว่าเทรนด์ของการท่องเที่ยวจะเปลี่ยน ผู้คนจะไม่ค่อยเที่ยวในที่แมสอีกแล้ว ที่ที่คนเยอะ ๆ ไม่มีแล้ว หลาย ๆ คนจะเที่ยวแบบขับรถเที่ยวเอง ต้องการหาการท่องเที่ยวในแบบเชิงเรียนรู้ มีประสบการณ์ที่ผู้คนที่ไปเที่ยวจะสัมผัสถึงบรรยากาศ และระวังถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม คำนึงถึงเรื่องไปไหนแล้วไม่มีโควิด เรื่องการป้องกันตัวเองเราต้องเจออยู่

ที่นี่กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่จะเอามาทำและพัฒนาให้เข้ากับของตัวเองจะทำอย่างไร เพื่อที่ดึงตรงนี้มาให้เกิดประโยชน์ได้เพิ่มมากขึ้น เราจะต้องมองดูว่านักธุรกิจรุ่นใหม่อาจจะเห็นคุ้นและ เราคุ้นเคยกับสิ่งที่อยู่ในบ้านเรา และชุมชนจนเรารู้สึกว่ามันไม่แตกต่างและไม่ตื่นเต้น แต่ถ้ามองอีกด้วนหนึ่งสิ่งที่มีอยู่ตรงนี้ นักท่องเที่ยวที่เข้าเขาคิดว่ามันเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขา ทำอย่างไรที่จะทำให้ตรงนี้ของเรา เตะตาและกลับมาเที่ยวเรื่อย ๆ

ดังนั้นผู้ประกอบการในช่วงนี้ต้องลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ทุกอย่างหันกลับมาที่การกิน การอยู่ ชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น ทำอะไรถึงจะขายได้ เลือกอาหารที่ขายได้ คนเข้าไปกิน เรียนรู้ร่วมกับพื้นที่และชุมชน และปรับตัวรองรับกลุ่มตลาดที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงใส่ใจเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัย เป็นอีกช่องทางที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาต่อยอดพัฒนา เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและรองรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ในอนาคต

นี่อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชะตากรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นเช่นไรต่อไป แน่นอนว่าผู้ประกอบการและแรงงานในภาคการท่องเที่ยวหลายส่วยมีการปรับตัวมาโดยตลอด แต่การฟื้นตัว ด้านการท่องเที่ยวเชียงใหม่ยังคงต้องอาศัยเวลาพอสมควร โจทย์ท้าทายตอนนี้คือ ทำอย่างไรไม่ให้เมืองเงียบเหงา ไม่เช่นนั้นผลกระทบจากโควิด-19 จะขยายวงกว้างมากขึ้น และจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการและแรงงานในภาคการท่องเที่ยว ทุกคนยังคงอยู่รอดในภาวะวิกฤติแบบนี้ ที่นอกจากรัฐจะเยียวยาและช่วยเหลือแล้ว จะทำอย่างไรให้ยั่งยืน…

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ