ชีวิตนอกกรุง : วิชาแก้จน บนวิถีเกษตร อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

ชีวิตนอกกรุง : วิชาแก้จน บนวิถีเกษตร อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

คำว่า จน ต่างมีความหมายและการตีความที่แตกต่างกันออกไปตามวิถีและองค์ความรู้ของแต่ละคนครับ บางคนอาจจะบอกว่า

“จน คือ จนเงิน จนทอง จนใจ จนที่ทำกิน จนความรู้ จนโอกาส จนพฤติกรรม จนความคิดหรือจะจนแล้วจนอีก”

ไม่ว่าจะจนแบบไหนก็ต่างเป็นเรื่องของการตีความและให้ความหมายกันไปครับ  แต่ความจนที่เราสามารถวัดได้และถูกนำมาเป็นโจทน์ของการพัฒนาเริ่มตั้งแต่ครัวเรือน ชุมชน อำเภอ จังหวัด ภูมิภาค และระดับประเทศ คือ ความจนที่วัดจากฐานข้อมูลรายได้ประชากรที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เมื่อโจทน์ในระดับพื้นที่คือเงินรายได้ที่ไม่เพียงพอ หรือมีหนี้สิน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะต้องแก้ไขปัญหา

ชีวิตนอกกรุง วันนี้ชวนคุณผู้อ่านมาร่วมเดินทางและเรียนรู้ หรือ “ศึกษาดูงานแบบทิพย์” เหมือนที่วัยรุ่นกำลังฮิตกันในช่วงนี้อยู่ เราเริ่มต้นกันที่นี่ ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น จากฐานข้อมูลขององค์การบริหารส่วนตำบลจะพบว่า พื้นที่จะแบ่งชุมชนออกเป็น 2 ส่วน คือ ชุมชนที่มีที่ตั้งอยู่เดิมแล้ว และอีกบางส่วนคือชุมชนที่ถูกโยกย้ายมาจากพื้นที่รับน้ำของการก่อสร้างเขื่อนอุบลรัตน์เมื่อหลายสิบปีก่อน มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินให้ที่นี่ บางคนเรือนก็มีเฉพาะที่อยู่อาศัย บางครัวเรือนมีพื้นที่ทำกินเล็กน้อย ในส่วนของปัญหาที่นี่คือ ความยากจน ที่ประชากรไม่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ใช้จ่ายในครัวเรือน และใช้หนี้สิน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะพิสูจน์งานวิชาการหรืองานวิจัยของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานในพื้นที่ ที่จะลงมาทำงานแก้ไขปัญหาด้วยองค์ความรู้ทางด้านวิชาการที่มีอยู่

“เรามาสำรวจกันว่าอะไรที่เป็นจุดเด่นที่ชาวบ้านทำแล้วสามารถที่จะเป็นอาชีพในอนาคตให้กับเขาได้ เราก็ได้รับองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้ามาทดลองกิจกรรมต่าง ๆ ตอนนี้เรามีกิจกรรมที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ 1 คือ ไก่ประดู่หางดำ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว มะพร้าวน้ำหอม การปลูกอ้อยแบบสมัยใหม่ลดการเผา และกลุ่มปลูกผักปลอดภัย ที่เป็นกิจกรรมหลัก ๆ ที่สามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านอยู่ตอนนี้”

พี่ชะอม อนุชภูมิ จารุจินดา หัวหน้าพื้นที่ต้นแบบโครงการปิดทองหลังพระ ฯ จ.ขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติบว่า นอกจากการส่งเสริมให้ชาวบ้านประกอบอาชีพแล้ว ต้องมีเรื่องของตลาดนำการผลิต ต้องมีเรื่องของความรู้ เช่น กลุ่มเลี้ยงไก่พื้นเมือง เราสอนให้ชาวบ้าน สามารถที่จะผลิตลูกไก่ได้ในชุมชน และมีกลุ่มเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถจะขุนไก่ได้ ขุนไก่ 1 วันต้องใช้อาหารเท่าไร เราต้องมาคิดร่วมกัน หลังจากนั้นก็ส่งจำหน่าย มีการทำสัญญากับทางพ่อค้าแม่ค้า รวมถึงตอนนี้กลุ่มมีการประกันราคาร่วมกันเอง เพื่อ 1 คือมีเงินเก็บของกลุ่มที่จะใช้ดูแลกลุ่มในอนาคต อีกส่วนหนึ่งก็คือเมื่อเวลามีปัญหา กลุ่มก็สามารถนำเงินสำรองเหล่านั้นไปช่วยชาวบ้าน ช่วยกันเองได้

“ปัจจุบัน เกษตรกรแต่ละกลุ่มของตำบลทุ่งโป่งมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ว่าจุดไหนที่ชาวบ้านจะสามารถพึ่งพาตัวเงอได้ เช่น กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ มีรายได้ต่อเดือน 236,541.8 บาท กลุ่มเลี้ยงไก่พื้นบ้านสามารถขายได้สูงสุด 3,850 ตัวต่อเดือนจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10,000 ตัวต่อเดือน และกลุ่มอื่น ๆ”

(เสื้อขาว) อนุชภูมิ จารุจินดา หัวหน้าพื้นที่ต้นแบบโครงการปิดทองหลังพระ ฯ จ.ขอนแก่น

ที่ผู้เขียนได้บรรยายมา คุณผู้อ่านคงจะเห็นถึงความสำเร็จของการสร้าง ส่งเสริม หนุนเสริมชุมชนด้วยองค์ความรู้ด้านวิชาการใช่ไหมครับ คำถามต่อมาคือ กระบวนการแบบไหนที่ส่งผลทำให้การใช้งานวิชาการรับใช้ชุมชน เป็นงานวิชาการที่เดินดินและกินได้ ผู้เขียนได้สัมภาษณ์อีกหนึ่งบุคคลที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญของการหนุนเสริมชุมชน รศ. ดร.วุฒิไกร บุญคุ้ม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่นำงานวิชาการเข้าไปหนุนเสริมการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้น

ต้องใช้หลักการของการทำงานแบบมีส่วนร่วมนี่คืออันที่ 1 ตอนที่เราจะเข้าไปครั้งแรกต้องเข้าไปในลักษณะของการพูดคุย ไปทำความรู้จักกับเขา ทำให้เขารุ้สึกผ่อนคลายว่า เรามาช่วย หลังจากนั้นพอคุ้นเคยกันแล้วเราก็เริ่มพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและความต้องการของเขา เขาจะได้เห็็นภาพว่า ณ ตอนนี้เรากำลังเข้ามาช่วยนะ และทุกคนมีส่วนร่วมโดยที่เราไม่ต้องบอกว่ามาช่วยฉันคิดหน่อยสิ มาช่วยผมคิดหน่อยสิ ไม่จำเป็น

“ถ้านักวิชาการเป็นคนกำหนด ชาวบ้านเขาจะไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร แต่ถ้าเราเริ่มต้นด้วยกันตั้งแต่การวางแผน การพูดคุยปัญหาถึงสิ่งที่เราจะทำร่วมกัน ตอนดำเนินการก็ดำเนินการไปด้วยกัน ปรับกลยุทธ์การทำงานอย่างต่อเนื่อง”

รศ. ดร.วุฒิไกร บุญคุ้ม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ขั้นตอนของของการแก้จน จะแบ่งออกเป็น 3 เฟส

เฟสแรก คือ เราเน้นไปที่ให้เขามีอาหารโปรตีนกินได้เพียงพอ ก็คือเอาชีวิตเขาก่อน

เฟสที่ 2 เริ่มทำเป็นกึ่งอาชีพ เริ่มขายหารายได้เข้าครอบครัว

เฟสสุดท้าย คือ เขาสามารถยึดเป็นอาชีพได้ ซึ่งตัวนี้เป็นตัวสุดท้ายที่เราจะเห็นภาพว่า เขาจะหลุดพ้นเส้นแบ่งความยากจน และยังมีเงินเพียงพอใช้ในครัวเรือนหรือไม่

ปฏิบัติการแก้จนบนวิถีชีวิตจริงของคนทุ่งโป่ง  ค่อย ๆ พัฒนาไปสู่การรวมตัวเป็นกลุ่มอาชีพ ปลูกผักปลอดสารพิษ กลุ่มมะพร้าวน้ำหอม กลุ่มปลูกข้าวเชิงพาณิชย์ กลุ่มปลูกอ้อย กลุ่มข้าวโพดหวาน รวมถึงกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง ที่กำลังเติบโตได้ดี

พี่ชะอม อนุชภูมิ จารุจินดา หัวหน้าพื้นที่ต้นแบบโครงการปิดทองหลังพระ ฯ จ.ขอนแก่น เล่าต่อว่า ในตอนที่เราเริ่มเฟสที่ 3 คือการทำอย่างไรให้ชาวบ้านสามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้ นอกจากปลูกผัก ปลูกมะพร้าว ปลูกข้าวโพด ปลูกอ้อยแล้ว การเลี้ยงไก่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ชาวคุ้นเคย และมีภูมิปัญญาอยู่เดิมแล้ว แต่เราจะพัฒนาให้เป็นอาชีพได้อย่างไร

“ชาวบ้านทุกคนก็จะบอกว่าตัวเองมีไก่ เรามาทำการตลาดให้ บอกว่าวันนี้จับไก่มา 100 ตัว ชาวบ้านไม่สามารถทำได้ สาเหตุคือ ไก่พวกนี้ 1 ไม่ได้อยู่ในคอก 2 เขาไม่สามารถประเมินได้เลยว่าไก่ตัวเองน้ำหนักเท่าไร”

ขอบคุณภาพ รศ. ดร.วุฒิไกร บุญคุ้ม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ. ดร.วุฒิไกร บุญคุ้ม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าว่า เราไม่ได้เอาลูกไก่ไปให้ในครั้งแรก เพราะว่าปกติแล้วชาวบ้านจะคุ้นชินกับการมีคนเอาของมาให้ ไม่ใช่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเพียงอย่างเดียวนะครับ ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่เขาหวังดีที่จะให้ แต่เรารู้แล้วว่าการให้แบบนี้มันไม่ได้ยั่งยืนและไม่ประสบความสำเร็จ เราไปในลักาณะของการมีส่วนร่วม เขาเองจะเริ่มตั้งแต่ปัญหาก่อน เขามีปัญหาอะไร เขามีทรัพยากรอะไรในพื้นที่

“เราก็เลยมองว่างั้นจะพาให้ไก่ที่เขาเลี้ยงอยู่ในปัจจุบันนี้ ให้กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเขาได้ พอเริ่มแบบนี้เขาก็จะมีความสนใจ”

ภูมิปัญญาชาวบ้านของเขามีและดีด้วย หลายอย่างผมเองก็ต้องไปเรียนรู้ แต่ในขณะเดียวกัน บางองค์ความรู้ก็อาจจะยังต้องการความรู้เพิ่ม เช่น การจัดการโรงเรียนอย่างมีคุณภาพ การให้ความสำคัญในเรื่องสุขาภิบาลของโรงเรือน การรักษาสุขภาพ การป้องกันก่อนรักษา เหล่านี้เราค่อย ๆ เติมให้เขา ก็จะเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยการทำงานร่วมกัน

ตะวันเกือบจะลับขอบฟ้าได้เวลาเตรียมไก่ส่งขายครับ ปัจจุบันกลุ่มเลี้ยงไก่พื้นบ้านตำบลทุ่งโป่งสามารถขายไก่ประดู่หางดำ kku55 เฉลี่ยประมาณ 2,634 ตัวต่อเดือน หรือสูงสุดอยู่ที่ 3,850 ตัว เดือน  แม่วันทอง แสนงาม เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองประดู่หางดำ ต.ทุ่งโป่ง เป็นอีกหนึ่งคนที่สามารถขุนไก่ส่งขายตลาดได้อย่างต่อเนื่องจากการหนุนเสริมความรู้วิชาการต่าง ๆ

แม่วันทอง แสนงาม เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองประดู่หางดำ ต.ทุ่งโป่ง กล่าวว่า ชุดที่จับขายล่าสุด 600 – 700 ตัว ได้กำไร ไม่เยอะ ได้ขาดอยู่นิดหน่อยจะครบ 10,000 บาท คือชุดวันที่ 2 ผ่านวันที่ 2 มาไม่กี่วันถึงวันที่เราจับ และจะมีอีกชุดเป็นวันที่ 23 ก็จะได้จับ จะครบ 2 เดือน และอีก 1 ชุด 600 ตัว พันธุ์ไก่เราก็จะมีกลุ่ม ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถ้าเราต้องการลูกไก่ เราจะโทรสั่งจองกับกลุ่มเลี้ยงไก่พื้นบ้านฯ จะมีเจ้าหน้าที่เขาจัดคิวให้ ถึงคิวเขาจะโทรมาถามเราว่าพร้อมหรือยัง คอกสำหรับลงลูกไก่พร้อมหรือยัง ถ้าพร้อมเขาจะมาส่ง เราก็จะอนุบาลไว้ 1 เดือน หรือ 3 สัปดาห์ เราก็ขยายไปเล้าใหญ่ เราก็ดูแลอีก 1  เดือน หรือ 1 เดือนครึ่ง เราก็จะจับขายแล้ว

แม่วันทอง แสนงาม เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมืองประดู่หางดำ ต.ทุ่งโป่ง

เมื่อมีเกษตรกรผู้ขุนไก่ขาย ก็ต้องมีคนผลิตลูกไก่เพื่อส่งให้สมาชิก แต่ปัจจุบันกลุ่มผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง ต.ทุ่งโป่งกำลังประสบปัญหา ผู้ขุนไก่มีเยอะ แต่ผู้ผลิตลูกไก่มีน้อย จึงทำให้เกิดลักษณะของขอควด ผู้ผลิตลูกไก่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ  พ่อคำไพร ต้นโลห์ เกษตรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง ต.ทุ่งโป่ง คือ 1 ราย ที่ผลิตลูกไก่ส่งให้สมาชิก

พ่อคำไพร ต้นโลห์ เกษตรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง ต.ทุ่งโป่ง กล่าวว่า จุดนี้เป็นคอขวด ตลาดมีรองรับอยู่แล้วสำหรับรับซื้อไก่ สมาชิกที่เลี้ยงไก่ขุน เขาเลี้ยงปริมาณเยอะอยู่แล้ว แล้วเกิดการจองลูกไก่เป็นระยะ บางช่วงก็ 1 – 2 เดือน  3 เดือนก็มีถึงจะได้ลูกไก่ กระบวนการผลิตลูกไก่จะเริ่มตั้งแต่ การค้นหาพ่อ แม่ พันธุ์ไก่ที่สมบูรณ์ตามหลักวิชาการ  ไก่ตัวไหนที่สภาพสวยงาม ตัวโต ขนสวยดี ขาไม่งอนิ้วไม่งอ ผมก็จะคัดเลือกเอาตัวใหญ่ ๆ ขอซื้อเขามาในช่วงที่อายุประมาณก่อนที่เขาจะจับขายเป็นไก่ขุน คัดมาแล้วผมก็นำมาเลี้ยงในนี้ต่อจนกว่าจะได้อายุ 6 เดือน บางตัวเร็ว ก็ 5 เดือน เริ่มไข่ แต่จะไข่เล็ก ๆ เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 20 – 30 เซนติเมตรประมาณนั้น ผมก็ปล่อยให้ไก่ออกไข่ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ ถึงจะจับไก่ตัวผู้ใส่ แต่ไก่ตัวผู้จะต้องอายุประมาณ 8 – 9 เดือน จึงจะใช้เป็นพ่อพันธุ์ได้

พ่อคำไพร ต้นโลห์ เกษตรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง ต.ทุ่งโป่ง

ไก่ นับตั้งแต่วันเอาไข่เข้าตู้จนถึงวันที่ฟักตัวใช้เวลา 21 วัน ก็คือ 3 สัปดาห์พอดี ใช้ไฟจากโทรศัพท์เอามาส่องแบบนี้เลย คือ ยกแผงออกมาส่องติดเลย เราจะเห็นดำ ๆ  ไข่เหล่านี้เป็นไข่ที่ใกล้จะฟักออกมาเป็นตัวแล้ว ก็เลยเป็นสีดำสนิทเลย เห็นไหม ด้านล่าง มีขนแล้ว วันที่ 14 ผมจะต้องย้ายจากตรงนี้ เอาไปเข้าตู้ฟักเลย พอแตกออกมาได้ในวันพฤหัสบดี ผมก็จะเอาออกจากตู้นี้ไปอนุบาลไว้ในคอกอนุบาลของผมอีกครั้งหนึ่ง

“อาจารย์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นครับ เขาจะออกมาแนะนำ มานัดประชุมแนะนำวิธีการดูแล การเลี้ยง การให้อาหาร หลังจากนั้นจะให้กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกมาติดตาม จะมาดูว่าคอกไก่เรามีข้อบกพร่องตรงไหน มีอุปสรรค มีปัญหาอะไร เช่น ระบบน้ำ ระบบอาหารเพียงพอไหม ความสะอาดเป็นเช่นไร เขาจะมาดู”

จากจุดเริ่มต้นของการใช้งานวิชาการเข้าไปค้นหาปัญหา จับกลุ่มพูดคุย รวมตัวเป็นกลุ่มอาชีพ พร้อม ๆ กับการหนุนเสริมด้วยองค์ความรู้วิชาการสมัยใหม่ สร้างในสิ่งที่ไม่มี เพิ่มเติมในจุดที่ขาดหาย ร่วมแก้ปัญหา พร้อมตั้งเป้าหมายไปพร้อมกัน

“ตอนนี้การทำงานแบบมีส่วนร่วมถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้น เพียงแต่ว่าหลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าการทำงานแบบมีส่วนร่วม ไม่เพียงเฉพาะหน่วยงานในพื้นที่กับเกษตรกร หรือ ว่าในชุมชน แต่ต้องมาตั้งแต่ระดับนโยบายของประเทศลงมาถึงระดับลจังหวัด ตำบล อำเภอ” รศ. ดร.วุฒิไกร บุญคุ้ม กล่าวทิ้งท้าย

“การที่เราให้องค์ความรู้กับเขามันยั่งยืนกว่า มันยาวนานกว่า กว่าจะเรียนรู้ กว่าจะเข้าใจในแต่ละช่วงแต่ละขั้นตอน เมื่อประสบความสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เขาย่อมไม่ถึงมันไปง่าย ๆ เพราะถูกเรียนรู้ร่วมกันมาและซึมซับเข้าไปจนเป็นเนื้อเดียวกับตัวชาวบ้าน ตัวชุมชน” พี่ชะอม อนุชภูมิ จารุจินดา กล่าวทิ้งท้ายเช่นกัน

โจทน์ในการแก้ปัญหา ล้วนมีความแตกต่างทั้งบริบทและต้นทุนของพื้นที่ งานวิชาการที่จะเข้าไปหนุนเสริมเพื่อยกระดับและแก้ไขปัญหาของชุมชนนั้นก็จะต้องยืดหยุ่น ง่ายต่อการใช้สำหรับชาวบ้าน สำหรับชุมชนจะเป็นห้องทดลองที่จะบอกได้ว่า “งานวิชาการต้องเดินบนดินและสามารถกินได้” สำหรับผู้เขียนเองหวังว่าการศึกษาดูงานแบบทิพย์ครั้งนี้จะช่วยให้หลาย ๆ คนที่กำลังเจอปัญหา หรือ กำลังหาทางออกจากอะไรบางอย่าง งานวิชาการ สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้บ้านอาจจะสามารถช่วยแก้ปัญหาหรือชี้แนะแนวทางให้กับเราได้ ไม่มาก็น้อย ตราบที่เรากล้าที่จะเดินเข้าไปหาสิ่งเหล่านั้น และนี่คือเรื่องราวของ วิชาแก้จน บนวิถีเกษตร

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ