เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคนในนี้ คงจะเห็นปรากฏการณ์หลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นในสังคม ชุมชนที่มีการประกอบการเรื่องการทอผ้าผื้นเมืองชนิดต่าง ๆ ที่พยายามปรับเปลี่ยนจากใช้สารเคมีในการผลิต มาสู่การผลิตด้วยสีจากธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลักในทุก ๆ กระบวนการผลิต เต็มเต็มสิ่งที่ขาดหายอย่างเรื่องเล่า หรือ Story ของผ้าและชุมชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นครับว่าตลาดในโลกยุคใหม่ ความต้องการของผู้ซื้อผ้านั้นเปลี่ยนไป หันมาใส่ใจที่มามากขึ้น ใส่ใจเรื่องราวมากขึ้นและใส่ใจชุมชนมากขึ้น
ชีวิตนอกกรุง วันนี้จึงนำเรื่องราวการปรับเปลี่ยน การสร้างเอกลักษณ์ ความโดดเด่นและเรื่องราวของการทอผ้าพื้นเมืองจากดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องการทอผ้า จ.กาฬสินธุ์ มาแบ่งปันเพื่อให้เห็นกระบวนการและอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับการปรับเปลี่ยนของชุมชน
กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านดงน้อย ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ลุ่มทอผ้าที่เคยทอด้วยการใช้สีย้อมฝ้ายจากเคมีภัณฑ์ยี่ห้อต่าง ๆ แต่เมื่อผลิตออกมาล้วกับพบว่าราคาขายนั้นต่ำมาก รายได้ของสมาชิกเดือนละ 100 กว่าบาท แม้กระทั่งวันละ 7 บาท ก็ยังมี นี่คือรายได้ที่ถูกบอกเล่าผ่านวงสนทนาเล็ก ๆ ระหว่าง ชีวิตนอกกรุง กับแม่ดอกแก้ว ประธานวิสาหกิจกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านดงน้อย
แม่ดอกแก้ว เปี่ยวรัฐหิรัญ เล่าว่า กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านดงน้อย หมู่ที่ 3 ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เป็นหนึ่งในกลุ่มทอผ้า ที่ชาวบ้านรวมตัวกันทักทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ จนสามารถสร้างรายได้ เลี้ยงปากท้องสมาชิกในชุมชนพร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย ทักทอให้เป็นหมวกคลุมผม ผ้าคลุมไหล่ พวงกุญแจและหมอนไดโนเสาร์ อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์
ผลิตภัณฑ์ประกอบไปด้วยผ้าคลุ่มไหล่ หน้ากว้าง 60 เซนติเมตร ผ้าคล้องคอ หน้ากว้าง 40 เซนติเมตร ย้อมสีธรรมชาติจากสมอไทย (ส้มมอ) ผ้ามัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติย้อมคราม ลวดลายแบบโบราณ ผ้าสายฝนเป็นผ้าคลุมไหล่ ราคา 300 บาท รวมถึงผลิตภัณฑ์เราแปรรูปมาเป็นไดโนเสาร์ เป็นผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ เราจะใช้ฝ้ายทักทอแล้วมาตกแต่ง
กว่าจะสามารถผลิตและย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติได้ก็ต้องเจอกับปัญหาหลายอย่าง ทั้งเรื่องสีที่ไม่ติดทนนาน หรือได้สีที่ไม่สวยงาม ซึ่งชุมชนเราเริ่มจากการใช้องค์ความรั้ที่สืบทอดกันมาจากผุ้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งยังไม่มีการนำนวัตกรรมสมัยใหม่เข้าไปร่วมในการย้อมสี ทางกลุ่มจึงประสานขอความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยกาสินธืให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเองเขาก้มีโครงการหนุนเสริมชุมชนอยู่แล้ว
“จะส่งอาจารย์แต่ละฝ่ายมาถามหาปัญหา เรามีปัญหาอะไรบ้าง บอกปัญหาของกลุ่มเราไปคือสีย้อมไม่ติดผ้า ก็ส่งอาจารย์ด้านนี้ลงมาเลย”
องค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยเข้ามาก็คือองค์ความรู้ในเรื่องของการใช้กระบวนการ ที่เขาเรียกว่า “มอร์แดนท์” ในการทำให้เกิดเฉดสีใหม่ ๆ มันจะมีตัวแปรในการทำให้สีมันเปลี่ยน การเอาสนิม เอาปูนขาว สารส้ม มาประกอบในการล้าง สมมติ เราย้อมฝาง ย้อมเสร็จเราก็ไปล้างด้วยโคลน ก็จะให้อีกเฉดสีหนึ่ง ไปล้างกับสารส้มก็จะให้อีกสีหนึ่ง โดยชาวบ้านไม่ต้องไปซื้อสีกระปุก เป็นสีแต่ละเฉด แต่ว่าหาของที่มีอยู่ในชุมชนเอามาเป็น “มอร์แดนท์”
อาจารย์ อภิรดี ดอนอ่อนเบ้า จากสาขาวิชานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ระหว่างการสนทนาหน้าเตาต้มเปลือกไม้ที่กลังเดือดผุด ๆ พร้อมให้สีสดสวยกับผ้าฝ้ายที่เตรียมย้อม
จะมีอาจารย์จากหลาย ๆ คณะเข้ามา เชี่ยวชาญในเรื่องไหน ก็จะเข้ามาหนุนเสริม เช่น ในทางของสาขานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาชุมชนเอง มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของกระบวนการช่วงกลางน้ำ เราก็มาช่วยแม่ ๆ ในช่วงกลางน้ำ แล้วเราก็ส่งต่อให้กับอาจารย์ที่เชี่ยวชาญ การตลาดก็จะเป็นคณะบริหารฯ ที่ให้แม่ ๆ เข้าไปอบรมในเรื่องของการขายบนตลาดออนไลน์ต่าง ๆ
ลักษณะของการทำงาน เราจะพยายามให้กลุ่มที่ได้รับการพัฒนาไปแล้ว เป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มที่กำลังพัฒนา ก็จะช่วยในเรื่องของการกระจายองค์ความรู้ อย่างของบ้านดงน้อยเองตอนนี้กลุ่มสามารถที่จะเป้นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มอื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงได้
ดร. กิตติ์ธนัตถ์ ญาณพิสิษฐ์ สาขาวิชานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เล่าให้ชีวิตนอกกรุงฟังถึงความสำคัยที่ต้องปรับเปลี่ยนและสร้างแนวคิดของชุมชนและวิชาการให้ไปในทิศทางเดียวกัน
เป้าหมายหลัก คือ เรื่องการยกระดับรายได้ ทำอย่างไรให้กลุ่มวิชาหกิจที่อยู่ในชุมชน มีรายได้เพิ่มมากขึ้น รายได้เพิ่มมากขึ้น หมายถึง ยอดขายที่เพิ่มขึ้น หรือสินค้าที่มันดีขึ้น บ้านดงน้อย เราพบว่า เขาทอผ้าฝ้ายมาก่อน เขามีสวนฝ้าย มีการเข็นฝ้ายได้เราก็เอาจุดเด่นของเขาเรื่องฝ้ายมาพัฒนา เราก็มองว่าของเขามัดหมี่ได้ หรือไม่ทอแบบมัดหมี่ทอเป็นพื้นสลับกันแบบธรรมดาก็ได้ ง่าย ๆ แต่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ แต่เราก็ใช้จุดเด่นของเขาในการย้อมสีธรรมชาติที่อาจจะสลับสี หรือใช้สีที่เป็นไปตามเทรนด์
“บางทีชาวบ้านที่จะเข้าไปเปลี่ยนแค่สีธรรมชาติก้รู้สึกคิดหนัก เพราะว่าเขาไม่เคยทำหรือเขาก็มีความกังวล ขายไม่ได้ ต้นทุนสูง หรือทำไม่ได้ สีไม่สม่ำเสมอ หรือทำแล้วสีมันซีดอันนี้เรามีเทคโนโลยี แต่ว่านวัตกรรมนี้เราก็ต้องคุยกับเขาเพื่อให้เขายอมรับเทคโนโลยีเราให้ได้ เราก็ต้องไปคุย หาตัวอย่างหรืออาจจะต้องพาไปดูงาน หรือหาข้อมูลให้เขาดูเยอะ ๆ ว่ามันสามารถที่จะทำได้โดยหลักวิชาการ”
ในทุกกระบวน ทุกขั้นตอนของการหนุนเสริมส่งต่อองค์ความรู้สู่งชุมชนนั้น ไม่เป็นเพียงหวังสร้างรายได้ให้ชมุชนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงบทบาทการเป็นแหล่งวิชาการใกล้บ้าน จะต้องทำให้ปากท้องคนในชุมชนอิ่มและอยู่รอดได้ นั่นก็หมายถึงการอยู่รอด ของมหาวิทยาลัยด้วย อาจารย์อภิรดี ดอนอ่อนเบ้า กล่าวเพิ่มเติมว่า
ชุมชนมีความคาดหวังกับมหาวิทยาลัยอย่างหนึ่ง คือ บทบาทของการเป็นพี่เลี้ยงหนุนเสริม เป็นบัดดี้ก็ได้ เป็นเพื่อนก็ได้ เป็นเสี่ยวก็ได้ในการทำงานพัฒนา เพราะฉะนั้นหลาย ๆ โครงการที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ลงไปก็พยายามที่จะใช้องค์ความรู้ของอาจารย์แต่ละคณะในการไปลงพัฒนา
โจทย์ในการแก้ปัญหา ล้วนมีความแตกต่างทั้งบริบทและต้นทุนของพื้นที่ งานวิชาการที่จะเข้าไปหนุนเสริมเพื่อยกระดับและแก้ไขปัญหาของชุมชนนั้นก็จะต้องยืดหยุ่น ง่ายต่อการใช้สำหรับชาวบ้าน ชุมชนเองก็ถือเป็นห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ที่จะทำให้รู้ว่าสิ่งที่ค้นคว้าในรั้วมหาวิทยาลัยจะสามารถทำได้จริงหรือไม่ และนี่คือเรื่องราวของ วิชาการเดินดินและกินได้ ใน Localist ชีวิตนอกกรุง