สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวางในทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนยากจน และกลุ่มเปราะบาง ที่มีหลักประกันและความมั่นคงในชีวิตที่น้อยกว่าประชาชนทั่วไป อย่างสถานการณ์ระลอกแรก ในจังหวัดสงขลากลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบในเรื่องการขาดแคลนอาหาร และสถานการณ์ล่าสุดได้รับความเดือนร้อนเรื่องรายได้และต้องว่างงานก็ทำเด็ก ๆ เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา
อย่างตอนนี้กลุ่มเปราะบางในพื้นที่บ่อยาง จ.สงขลา มีทั้งกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว กลุ่มกระปุกอ้วน (เด็กนอกระบบการศึกษาและเด็กกลุ่มเสี่ยง) กลุ่มพัฒนาอาชีพคนพิการตำบลบ่อยาง รวมถึง กลุ่มสตรีชุมชนแหลมสนอ่อน ได้หาทางสร้างอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวในยามที่โควิด – 19 กำลังแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 เนื่องจากตลาด 3 แห่งของเมืองบ่อยางได้รับคำสั่งปิดเพราะเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
คุณบุณย์บังอร ชนะโชติ ศูนย์บ่อยางสงขลาพึ่งพาตนเอง เล่าให้ฟังว่า โจทย์สำคัญของกลุ่มเปราะบางเหล่านี้จะหาเงินที่ไหนมามาประทังชีวิตให้อยู่รอดในเต่ละวัน หลายคนมาปรึกษากับศูนย์บ่อยางพึ่งพาตนเอง และร่วมกันคิดออกแบบร่วมกันว่าจะต่อยอดจากสถานการณ์โควิด-19 เมื่อรอบที่แล้วเป็นรูปแบบจาก “ปิ่นโตตุ้มตุ้ย” ซึ่งก่อนหน้านี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการปรุงอาหารบรรจุปิ่นโตที่ได้จากการบริจาค เป็นการเปิดพื้นที่บริเวณที่ทำการศูนย์บ่อยางฯ เป็น “ตลาดนัดชุมชนแหลมสนอ่อน” เพื่อเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นในครัวเรือนเพื่อสร้างช่องทาง สร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับผู้ได้รับความเดือดร้อนทุกคน ทุกครัวเรือน
ตลาดนัดแห่งนี้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำและพัฒนาทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะสามารถเว้นระยะห่างได้อย่างปลอดภัยตามมาตรการของรัฐ รวมกับพื้นที่ของชุมชนแหลมสนอ่อนเป็นพื้นที่ที่มีอากาศที่โล่ง โปร่ง ถ่ายเทสะดวก ตามลักษณะของชายทะเล อีกทั้งยังร่มรื่นด้วยป่าสนและต้นไม้ใหญ่สองข้างทาง ทำให้กลุ่มเปราะบางส่วนหนึ่งของเมืองบ่อยาง สงขลา ได้ยกระดับตนเองขึ้นมาเป็นผู้ที่สามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รอรับความช่วยเหลือแต่เพียงอย่างเดียว
ขนิษฐา วีรการ กลุ่มเปราะบางในพื้นที่บ่อยาง จ.สงขลา เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ขายที่ตลาดหน้าอำเภอแต่ตอนนี้ตลาดถูกสั่งปิด ทำให้ไม่มีสถานที่ขายของและดีใจมากที่ทางศูนย์บ่อยางฯ เปิดตลาดและโอกาสให้กลุ่มเปราะบางที่ต้องการหน้าร้านหรือต้องหาพื้นที่ทำมาหากิน ให้มีรายได้แม้จะไม่เยอะเเต่ก็ทำให้อยู่ได้ในช่วงนี้
ในขณะที่แม่ ๆ กำลังขายของ เด็ก ๆ ก็มาช่วยกันนำดินลงถุงเพื่อเพาะชำต้นอ่อนตำลึงเพื่อเตรียมไว้ขายลูกค้าที่สนใจซื้อต้นอ่อนไปปลูกเอง วิสาหกิจชุมชนสวนผักกลางป่าสนได้จ่ายค่าขนมเป็นกำลังใจให้แก่เด็ก ๆ ในเวลาเดียวกัน กลุ่มกระปุกอ้วนของชุมชนเก้าเส้ง ก็ช่วยกันผลิตน้ำยาต่าง ๆ ที่ใช้ในครัวเรือนนำมาฝากขาย
ส่วนกติกาของตลาดนัดชุมชนแห่งนี้น่าสนใจมากเลย คือใช้ ศีล 5 ข้อตามหลักพุทธศาสนาเป็นข้อกำหนดในการปฏิบัติ เริ่มต้นทำได้จริง คือ การขายสินคัาเต็มตาชั่ง สินค้าคุณภาพปลอดภัย เช่น ผักปลูกเอง ปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมี อาหารทะเลเน้นสัตว์น้ำชายฝั่งจากชาวประมงพื้นบ้าน น้ำดื่มหรือเครื่องดื่ม คุณภาพมาตรฐานและราคาที่เหมาะสมเหล่านี้เป็นต้น
นอกจากนี้ทางศูนย์บ่อยางฯ บอกว่าหากคนเปราะบางในชุมชนมีความเสี่ยงต้องกักตัว 14 วัน ทางศูนย์ฯ พอจะมีกำลังสนับสนุนอย่างน้อยวันละ 2 มื้อ ส่วนเรื่องสุภาพจิตมองว่าเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากในชุมชนเองมีผู้สูงวัยและเด็กเรามีอาสาสมัครพอจะช่วยกันได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่สามารถใช้สื่อสารปรึกษากันได้
หากใครอยากจะแวะไปอุดหนุนหรืออยากจะช่วยเหลือสามารถไปกันได้ที่ตลาดนัดชุมชนแหลมสนอ่อน เปิดทุกวัน ระยะเริ่มต้นเปิดช่วงก่อนเที่ยงจนถึง เวลา 18.00 ถ้าไปช้าสินค้าบางอย่างอาจจะหมดได้คะ.