21 เมษายน 2564 คือ วันสุดท้ายที่รัฐบาลมาเลเซียประกาศให้แรงงานต่างชาติที่อาศัยในเมืองโดยผิดกฎหมายกลับประเทศ
2-3 วันที่ผ่านมา ที่ด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มีแรงงานจากประเทศไทยทยอยเดินทางกลับมาจำนวนมาก ยังไม่นับรวมกระแสข่าวแรงงานบางส่วนข้ามรั้วเข้ามาทางพรมแดนธรรมชาติตามแนวชายแดน และยังมีแรงงานอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยตามกำหนดเส้นตายในวันนี้ได้
ท่ามกลางความเข้มงวดของมาตรการที่มาเลเซียจากการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ เฟซบุ๊กกลุ่ม “พี่น้องคนไทยในมาเลเซีย” ที่เปิดขึ้นเพื่อให้ข้อมูลกับคนในประเทศมาเลเซียต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในแง่มุมต่าง ๆ ดูเหมือนจะเป็นที่รวมของสารพัดคำถาม ความคิดเห็น และข้อเสนอของแรงงานไทยในมาเลเซียที่กำลังเผชิญความบีบคั้น
อะไรคือโจทย์สำคัญที่ต้องเร่งแก้? ทีม TheCitizen.plus สัมภาษณ์พิเศษ อาจารย์รุสนันท์ เจ๊ะโซ๊ะ นักวิชาการชาวไทยเชื้อสายมลายูปาตานี ปัจจุบันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมลายา กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แอดมินเฟซบุ๊กกลุ่ม “พี่น้องคนไทยในมาเลเซีย”
สถานการณ์แรงงานในมาเลเซียตอนนี้เป็นอย่างไร?
ตั้งแต่ที่มาเลเซียประกาศให้แรงงานหรือคนต่างชาติที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ออกจากมาเลเซียภายในวันที่ 21 เมษายนนี้ เท่าที่ดูไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นประเทศอื่น อย่างเช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ทยอยกลับไปกันมาก ในส่วนคนไทยมีความวุ่นวายพอสมควร การลงทะเบียนในระบบเพื่อแจ้งความประสงค์ที่จะเดินทางกลับได้เฉพาะวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ เท่านั้น แต่เมื่อตรวจสอบในระบบโควตา วันละ 150 คนก็เต็มทุกด่าน แม้ตอนนี้จะเปิดให้เดินทางกลับได้ทุกวันเฉพาะคนที่ลงทะเบียนได้เท่านั้นที่สามารถเดินทางได้
เรื่องที่เป็นห่วงตามมาก็คือ การลักลอบผ่านพรมแดนธรรมชาติ อาจจะเพิ่มขึ้นไหม?
แรงงานเองก็กลัว อย่างคนที่ลักลอบเข้ามาหรือเข้ามานานเกินกำหนดเป็นปีแล้ว เขาไม่กล้าที่จะเข้าโครงการคนกลับบ้าน เพราะกลัวที่จะโดนขึ้นบัญชีดำ เป็นสิ่งที่แรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ไม่กล้าที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ เลยหาช่องทางกลับไปยังช่องทางธรรมชาติ เราต้องดูหลังจากวันที่ 21 เมษายนนี้ ถ้าทางการมาเลเซียออกมาตรการเข้มงวด คงต้องทะลักกลับเยอะ ทางการไทยต้องเตรียมความพร้อม แต่อย่างไรก็ต้องเปิดรับไม่ใช่ผลักดันไม่ให้เข้าประเทศ คนไทยต้องได้กลับบ้าน จะผิด จะถูก อย่างไรก็ควรต้องเปิดด่านรับเขา
สำหรับเพจเฟซบุ๊ก “พี่น้องคนไทยในมาเลเซีย” ทำอยู่ตอนนี้ มีคนเข้ามาสอบถามข้อมูลจำนวนมาก เราพยายามให้ข้อมูลสำคัญที่ทางการประกาศ และให้คำแนะนำถ้าจะอยู่ต่อ อยู่อย่างไรให้ถูกต้อง แต่ถ้าอยู่ต่อบนความเสี่ยง เราไม่แนะนำที่จะอยู่ อยากให้กลับไปตั้งหลักก่อน ตอนเปิดประเทศค่อยกลับมาอีกครั้ง
กลุ่มแรงงานที่มีปัญหาในการลงทะเบียนเพื่อขอเดินทางกลับไทยตอนนี้มีกลุ่มไหนบ้าง?
กลุ่มแรกคือคนที่เข้ามาใช้แรงงานอย่างถูกต้องจะไม่มีปัญหามากนัก ถ้าเขายังมีพาสปอร์ต สามารถลงทะเบียนได้เลย แต่อีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มที่พาสปอร์ตหมดอายุ ใบข้ามแดนหมดอายุ ต้องไปขอเอกสารเดินทางฉุกเฉินที่ทางที่สถานกงสุล เป็นอีกขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา เพราะว่าจะไปเลยไม่ได้ต้องการจองคิวและมาลงทะเบียน ถึงจะกลับได้
อีกกลุ่มคือกลุ่มที่เข้ามาไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก เข้ามาแบบไม่มีเอกสารใด ๆ และเข้ามาช่วงที่มีการปิดประเทศแล้ว ในช่วงโควิดมีการลักลอบเข้ามา ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องเลือกว่าจะเข้าโครงการส่งคนกลับบ้าน ถ้าไม่มีเอกสารต้องไปเอาใบ CI เป็นหนังสือเดินทางชั่วคราว ถึงจะสมัครเข้าโครงการต้องรอคิว ซึ่งโครงการนี้ก็จะหมดเดือน 30 มิถุนายน 2564 นี้
ข้อเสนอทางออกต่อรัฐบาล หรือหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องคืออะไรต่อเหตุการณ์นี้?
ตอนนี้แรงงานผิดกฎหมายที่ตกค้างที่มาเลเซียน่าจะอยู่ที่หลายหลักพันคน ข้อมูลที่มีการรายงานคนไทยที่เดินทางกลับจากมาเลเซีย 28,000 คน นึ่คือเข้าทางระบบ ส่วนที่ไม่อยู่ในระบบคิดว่ามีจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ สำหรับข้อเสนอสำหรับแก้ปัญหาแรงงานไทยที่อยากกลับบ้าน คือควรเปิดให้ลงทะเบียนกลับได้ทุกวัน และเสนอว่าต้องเพิ่มโควตาของคนลงทะเบียน อาจจะจาก 150 คน เป็น 200 คน แต่เราก็เข้าใจว่า ที่ไทยเองก็มีสถานการณ์โควิด เข้าไปก็ต้องกักตัว สถานที่กักตัวต้องพร้อม ไม่อยากให้เกิดความเสี่ยงไปสู่ชุมชน ซึ่งคิดว่าทางรัฐบาลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงพยายามแก้ปัญหานี้อยู่ แต่อยากแก้ให้เร็วที่สุด
คนที่จะกลับหลังจากวันที่ 21 เมษายนมีเยอะ เราบอกให้ลงไปในวันที่ว่าง วันไหนด่านไหนที่ว่างให้ลงทะเบียนไว้ เพราะถ้าเลยวันที่ 21 เมษายน ไปแล้ว อาจจะมีมาตรการเข้มงวด อาจะมีปฏิบัติการจับกุม
ทำไมทางมาเลเซียประกาศให้แรงงานกลับประเทศ?
ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศมาเลเซีย อยู่ที่วันละ 2,000 รายหลายวันติดต่อกัน แต่เพิ่มขึ้นในกลุ่มเมืองใหญ่ รัฐใหญ่ ๆ ซึ่งมีตัวเลขสูง อย่างสลังงอร์ ปีนัง กัวลาลัมเปอร์ หรือโจโฮร์ และซาราวัก ที่ค่อนข้างหนักมาก ซึ่งที่ติดกับบ้านเราก็จะเป็น รัฐกลันตัน ก็มีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าห่วงเช่นเดียวกัน นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทางการจะต้องระมัดระวังอย่างเต็มที่ และเมื่อไปดูข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิดเอง กลุ่มคนต่างชาติจำนวนมาก 1 แสนกว่าคนที่ติดโควิด จากจำนวนคนที่ป่วยทั้งหมดตอนนี้ 3.6 แสน หรือ 3.7 แสนแล้ว ซึ่ง 1 ใน 3 เป็นชาวต่างชาติอันนี้ก็เป็นภาระที่รัฐบาลที่เขาจะต้องรักษา และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องไม่ผ่อนผันอีกแล้ว
สถานการณ์โควิดเป็นโอกาสให้มาเลเซียจัดระเบียบแรงงานด้วยหรือไม่?
ความพยายามจัดระเบียบของแรงงานต่างชาติที่เข้ามาอยู่อย่างผิดกฎหมายก็พยายามทำมานานแล้ว เพียงแต่ยังทำไม่ได้ เพราะช่องทางธรรมชาติต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องการคอร์รัปชันก็มีส่วนที่ทำให้จัดการปัญหานี้ไม่ได้ แต่ ณ ตอนนี้ เมื่อมีสถานการณ์โควิด ก็เป็นโอกาสดีที่จะสะสางปัญหาทั้งหมด และตอนนี้มีการวางระบบใหม่ เป็นระบบที่สามารถตรวจข้อมูลแบบ one stop service อย่างกรณีที่มีเเรงงานเข้ามาทำงานเเล้วหนังสือเดินทางหมดอายุ มีการจ้างคนไปต่อหนังสือเดินทางโดยที่เจ้าตัวไปได้เอง หรือมีการปลอมเเปลงเอกสาร อันนี้ทางการมาเลเซียมีระบบการตรวจสอบที่มีความปลอดภัยสูง
ผู้ประกอบการร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซียได้รับผลกระทบอย่างไรไหม?
การทำงานในประเทศมาเลเซียมีมาตรการให้รับคนในประเทศมาเลเซียก่อน ทางออกของร้านอาหารต้องจ้างคนท้องถิ่นทำ มีหลายร้านที่ต้องปิดตัวลง อย่างเจ้าของร้านที่กลับไปตั้งแต่ปีที่แล้ว แล้วกลับเข้ามาไม่ได้ ร้านถูกยึดเพราะไม่ได้จ่ายค่าเช่า หลายร้านถูกปิดไปเยอะ ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่ยุคทองของต้มยำกุ้งอีกต่อไปแล้ว เหตุการณ์มันเปลี่ยนไปไม่เหมือนยุคทองในอดีต การปรับตัวของผู้ประกอบ ถ้าหลังจากนี้มีการเปิดประเทศกลับมาอีกครั้ง ก็ต้องเข้าระบบได้อย่างถูกต้อง ต้องมีการจดทะเบียน ค่าจ้างแรงงานต้องมีแบบ work permit เข้าระบบอย่างถูกต้อง
มีแรงงานบางส่วนอยากอยู่ต่อ หรือแม้ว่ารู้ว่าเสี่ยง แต่ยังต้องอยู่ไหม?
เขายอมอยู่อย่างเสี่ยงที่นี่ คือเรื่องมีงานทำ อย่างน้อยก็ยังมีรายได้ ค่าจ้างอยู่ 40-50 ริงกิต ต่อวัน ซึ่งถ้ากลับไปเมืองไทยไม่มีงานทำ หรือมีงานแต่ก็ได้น้อยมาก หลาย ๆ คนที่มาเล่าให้เราฟังว่า เขากลับมาแล้ว ซึ่งมาโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ก็พยายามที่จะไปตั้งตัวที่บ้านแล้ว เช่น พยายามขายของ เปิดร้าน ขายของริมถนน แต่เขาบอกว่าไม่ได้เลย เงินที่จะให้ลูกไปโรงเรียนยังไม่พอ ก็ตัดสินใจที่จะกลับเข้ามาอีก ซึ่งรู้ว่าเสี่ยงแต่เขาก็ยอมเสี่ยง เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาโครงสร้างของบ้านเรา เศรษฐกิจแย่ไปหมด กำลังซื้อไม่มี ขายไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็เลยกลับมาอีกครั้ง และอยู่ที่นี่อย่างน้อยได้เงิน ได้งานแน่นอน สำหรับข้อเสนอในพื้นที่ ทำอย่างไรก็ได้ให้พื้นที่บ้านเราต้องมีงานรองรับ งานอะไรก็แล้วแต่ เป็นลูกจ้าง หรือค้าขาย
อีกปัญหาหนึ่งก็คือการปรับตัว บางคนอยู่ที่นี่มา 20-30 ปี ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่ เขาทำงานในมาเลเซียมาโดยตลอดจบป.6 เข้ามาอยู่ในมาเลเซีย กลับไปบ้านก็ทำงานไม่เป็น ออกหาปลาหรือกรีดยางไม่เป็น เพราะว่าเขาไม่เคยทำงานแบบนั้น เป็นความลำบากที่คนเราเหล่านี้ปรับตัวไม่ได้ มีปัญหาเรื่องของภาวะด้านจิตใจด้วย ซึ่งเราไม่ค่อยเข้าไปดูแลเรื่องของจิตใจ อย่างบางคนกลายเป็นซึมเศร้าก็มีเยอะ เมื่อปรับไม่ได้ แล้วกลับไปอยู่บ้านกลายเป็นภาระของครอบครัว ครอบครัวก็ไม่ได้เข้าใจว่าทำไมไม่อยู่มาเลเซีย
แต่หลายคนก็เข้ามาระบายกับเราว่า เขาอยู่บ้านทางบ้านก็ไม่ค่อยเข้าใจ ดุด่า ว่าทำไมไม่กลับไปมาเลย์ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่หลายคนก็อาจจะไม่ทราบ ว่าสภาพของคนที่กลับจากมาเลย์ ไม่ใช่แค่ตกงาน ไม่มีรายได้ แต่ในเรื่องของสภาพจิตใจด้วย
โควิดและสถานการณ์การเมืองในมาเลเซีย
รัฐบาลก็พยายามที่จะเรียกคะแนนนิยมจากคนของเขาเอง เพราะตอนนี้รัฐบาลถูกวิจารณ์เยอะมาก ในเรื่องของการจัดการโควิด-19 ซึ่งไม่เหมือนตอนปีที่แล้ว เพราะที่รัฐบาลนี้เข้ามาด้วยที่คนมองว่าการเมืองไม่เสถียร รัฐบาลใหม่เข้ามาเขาก็แก้สถานการณ์โควิด-19 ได้ดีในช่วงแรก ปีที่แล้วมาเลเซียทำได้ดีมากอันดับ 1 ของอาเซียน ตอนนั้นก็มีความชื่นชมจากประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งเริ่มมีการพลาดในช่วงการแพร่เชื้อระลอก 2 ส่วนหนึ่งเกิดจากการเลือกตั้งซ่อม ที่ซาบะฮ์ และมีต่างชาติฟิลิปปินส์ กับอินโดนีเซีย ที่ลักลอบเข้ามาอีก ซึ่งเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ในช่วงระลอก2 ใช้เวลาหลายเดือนกว่าเหตุการณ์จะเบาลง
ซึ่งคนก็ไม่ค่อยเข้าใจ ว่าทำไมรัฐบาลจัดการไม่ได้ แล้วทำไมต้องมีการเลือกตั้ง ทำไมนักการเมืองต้องมองแค่ในเรื่องของการเมือง พอมาถึงระลอก 3 เกิดจากการเปิดเมืองที่มากขึ้น เพราะถ้าไม่เปิดเมืองเศรษฐกิจก็แย่ ทุกอย่างก็เชื่อมโยงกันหมดเลย ทุกอย่างสามารถก่อให้เกิดสถานภาพของรัฐบาลได้หมดเลย และเขาต้องพยายามในเรื่องของการเมือง เพราะรัฐบาลตอนนี้ เป็นรัฐบาลที่ได้เสียงปริ่มน้ำ ซึ่งชนะห่างกันเพียงไม่กี่เสียงเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องกู้ความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับมา หนึ่งในนั้นก็คือการแก้ไขปัญหาในเรื่องของแรงงานต่างชาติ