ทำความเข้าใจ เมื่อต้องไปโรงพยาบาลสนาม

ทำความเข้าใจ เมื่อต้องไปโรงพยาบาลสนาม

สิ่งที่กำลังผุดขึ้นมากมาย เพื่อรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิดในตอนนี้ นั่นคือ “โรงพยาบาลสนาม”

จากที่เคยเป็นที่คัดค้านต่อต้าน แต่นาทีนี้ดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่หลายจังหวัดกำลังต้องการให้เกิดขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยยังต้องการทำความเข้าใจเมื่อต้องเข้าไปใช้บริการ โรงพยาบาลสนาม ไม่ได้เป็นพื้นที่ดูแลผู้ป่วยอาการหนัก มีเพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาการไม่มาก แต่สามารถดูแลใกล้ชิดเพื่อเฝ้าระวังลดอัตราเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อ และหากเกิดเหตุฉุกเฉินต่อผู้ป่วยจะมีกระบวนการส่งต่อที่รวดเร็ว ปลอดภัย แน่นอนว่าย่อมไม่ได้สะดวกสบายเหมือนโรงพยาบาลทั่วไปหรืออยู่บ้าน แต่หัวใจ คือ ความปลอดภัยทั้งกับผู้ปฏิบัติงาน ผู้ใช้บริการและชุมชนโดยรอบ

ต้นปี 2564 ผมได้ไปติดตามสถานการณ์โควิดระบาดที่มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อรอบการระบาดใหญ่ในกลุ่มก้อนแรงงานเพื่อนบ้าน มีข้อสังเกตุการจัดการของที่นั่นน่าสนใจ    

ศูนย์กลางการระบาดครั้งนั้น อยู่ที่ที่ตลาดกลางกุ้ง ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร คนที่นั่นส่วนใหญ่เป็นแรงงานเพื่อนบ้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้ให้จัดตั้งสถานที่ป้องกันและควบคุมโรคตามมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ให้ใช้ที่สนามกีฬาจังหวัดสมุทรสาคร ตำบลมหาชัย อำภอเมืองสมุทรสาคร เป็นโรงพยาบาลสนามเป็นแห่งแรก โดยให้ชื่อว่า “ศูนย์ห่วงใยคนสาคร”   

ชื่อที่ถูกตั้งเพื่อลดความหวาดกลัว และเชื่อมความรู้สึกร่วมกันจัดการกับปัญหาโรคระบาดร่วมกันของคนสมุทรสาคร แต่ก็กำหนดเงื่อนไขในพื้นที่ควบคุมอย่างเข้มงวดมาก โดยห้ามบุคคลใดที่ไม่ได้รับอนุญาต เข้าหรือออกจากสถานที่ป้องกันและควบคุม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรค เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนที่อาศัยอยู่พื้นที่โดยรอบ

ต่อมาเมื่อสถานการณ์ขยายวง มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมา คำสั่งดังกล่าวได้ขยายผลให้อำนาจท้องถิ่นในการสร้างโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ของตนเองเพื่อรองรับและดูแลประชาชนในพื้นที่ของตนเองควบคุมการระบาดในพื้นที่ด้วย เช่นที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าทราย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 7

ผมได้คุยกับคุณสิริบูรณ์ ทองบางเกาะ นายก อบต.ท่าทราย บอกว่าโรงพยาบาลสนาม หรือ ศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 7 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าทราย อ.เมือง จ. สมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามที่มีขนาด 760 เตียง เป้าหมายแรกเพื่อที่จะดูแลประชาชนในพื้นที่เนื่องจากในพื้นที่มีประชาชน รวมถึงแรงงานจำนวนมาก เนื่องจากในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง เพราะมีโรงงานมาก โดยการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเป็นคำสั่งของจังหวัดสมุทรสาครที่ให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดการตั้งโรงพยาบาลสนาม หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือสนับสนุนจะมีการหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด หากทางจังหวัดอนุญาตแล้วท้องถิ่นสามารถดำเนินการตั้งแต่จัดซื้ออุปกรณ์ที่ขาดแคลนได้ โดยใช้งบของท้องถิ่น

การกระจายการจัดการ และการสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการโรงพยาบาลสนามโดยมีส่วนร่วม เป็นหลักการสำคัญหลักการหนึ่ง ที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบาดวิทยาและด้านการแพทย์ กำหนดเป็นแนวทางจัดตั้ง เพราะการสร้างการมีส่วนร่วมลักษณะนี้ ไปจนถึงมีการให้ข้อมูลสื่อสารกับคนในชุมชนผ่านกลไกประชาคม ท้องถิ่น และ อสม. เป็นสิ่งสำคัญ  และยังสามารถใช้วิธีการของตรวจเชิงรุกในพื้นที่ อำเภอ ตำบล ที่พบผู้ติดเชื้อได้ด้วย

ด้านการจัดการสภาพแวดล้อมของพื้นที่ เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการขยะติดเชื้อ ขยะทั่วไป ระบบน้ำดี น้ำเสีย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากจังหวัดสมุทรสาครพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากทางจังหวัดมีบริษัทที่รับจ้างเหมาในการกำจัดขยะติดเชื้อโดยเฉพาะทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลท่าทราย ประสานงานและให้บริษัทที่มีความชำนาญจัดการให้

เมื่อมีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกจำนวนมาก โรงพยาบาลสนามที่รัฐจัดให้ไม่เพียงพอ จังหวัดสมุทรสาครยังใช้โมเดล สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการหรือโรงงานในพื้นที่ เมื่อพบกลุ่มก้อนผู้ติดเชื้ออยู่ในกลุ่มของโรงงาน ทางจังหวัดก็ได้ขอความร่วมมือให้สถานประกอบการ แบ่งพื้นที่ตัวเองส่วนหนึ่ง จัดสร้างเป็น รพ.สนาม (Factory Quarantine) และให้คนงานของตัวเอง เข้ารับการรักษา โดยเตรียมพื้นที่อย่างน้อย 20% ของจำนวนแรงงานที่มีซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี ในการระบาดรอบที่ผ่านมา จังหวัดสมุทรสาครมีโรงพยาบาลสนามรวม 10 แห่งในเขตอำเภอเมือง รองรับผู้ป่วยกว่า 2,000 เตียง (ไม่ร่วม Factory Quarantine) 

“Bubble &Seal” ยังเป็นมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่สมุทรสาครใช้ควบคุม นั่นคือ

  • Bubble = การควบคุมการเดินทางจาก ต้นทาง – ปลายทาง /ปลายทาง – ต้นทาง (ห้ามแวะระหว่างทาง) ในช่วงที่มีการควบคุมการแพร่  ระบาด 
  • Seal = การควบคุมพื้นที่ที่เกิดการระบาดด้วยการห้ามออกนอกพื้นที่อีกด้วย

พื้นที่ควบคุมที่มีคนป่วยไข้มาอยู่รวมกันย่อมส่งผลต่อความเครียด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สมุทรสาครจึงมีการจัดการกับความรู้สึกของผู้เข้ามาที่ศูนย์ เช่น เมื่อมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้ามาวิธีการคือจะมีกิจกรรมละลายพฤติกรรม ให้ทุกคนคุ้นชินก่อนในวันแรก และทุกวันจะมีกิจกรรมเต้นแอโรบิกเพื่อเป็นการออกกำลังกายในช่วงเช้าเพื่อคลายเครียด ซึ่งได้รับความร่วมมือกับกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องกักตัวอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่อง 10- 14 วัน

ในหลายจังหวัด โรงพยาบาลสนามกำลังทยอยเกิดขึ้นรองรับสถานการณ์ มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าประจำการเพื่อเฝ้าระวังชีวิตฝ่าวิกฤติโควิดระบาดระลอกใหม่ และหลายแห่งเริ่มมีผู้ป่วยทยอยเข้าอยู่เพื่อเฝ้าระวังกันแล้ว แน่นอนว่า โรงพยาบาลสนาม ไม่ได้เป็นพื้นที่สะดวกสบายเหมือนการใช้ชีวิตปกติ แต่เป็นพื้นที่ของความรับผิดชอบร่วมกันที่ทุกฝ่ายต้องอดทนเพื่อผ่านพ้นเวลาเหมือนฝันร้ายนี้ไปด้วยกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ