คนทวายแถลง การลงทุนใหม่ต้องเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล

คนทวายแถลง การลงทุนใหม่ต้องเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล

สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association – DDA) แถลง “การลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในโครงการทวาย ต้องเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล” เนื่องในวาระการประชุมการประชุมสุดยอดผู้นำญี่ปุ่น-อาเซียน ที่มีขึ้นในวันที่ 13-15 ธันวาคม 2556 ซึ่งทางคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-พม่า (JCC) เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ได้ระบุว่าทางรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าจะใช้โอกาสในการร่วมประชุมครั้งนี้ในการหารือกับนายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเพื่อขอให้สนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในพม่าด้วย

โดยสมาคมพัฒนาทวาย ได้ส่งคำแถลงข่าวมายังสื่อมวลชน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่น หน่วยงานด้านการพัฒนา และนักลงทุน ระงับการลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone: DSEZ) ในแคว้นตะนาวศรี ประเทศพม่า จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติสากล  ดังนี้

สมาชิกในหมู่บ้านซึ่งอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือทวาย

การลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในโครงการทวายต้องเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล

11 ธันวาคม 2556

ในวาระที่การประชุมสุดยอดผู้นำญี่ปุ่น-อาเซียน (Japan-ASEAN Summit) จะมีขึ้นในปลายสัปดาห์นี้ สมาคมพัฒนาทวาย ( Dawei Development Association: DDA) ขอเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่น, หน่วยงานด้านการพัฒนา และนักลงทุน ระงับการลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone: DSEZ) ในแคว้นตะนาวศรี ประเทศพม่า จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติสากล  ทั้งนี้ จะมีการหารือกันถึงการลงทุนของญี่ปุ่นในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำญี่ปุ่นและสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ในระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2556 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พม่าและไทยได้เข้ามาบริหารโครงการแทนที่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาความล้มเหลวในการระดมทุน และการตัดสินใจเรื่องแหล่งพลังงานสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย

นักลงทุนญี่ปุ่นจะต้องไม่ลงทุนในอุตสาหกรรมสกปรกที่จะทำร้ายชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านได้เคยหยิบยกประเด็นความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาพึ่งพิงอาศัย  ทั้งนี้ ในวันที่ 4 มกราคม 2555 ประชาชนหลายพันคนได้รวมตัวกันต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งนับเป็นขบวนการทางสังคมครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในทวาย และต่อมาโครงการดังกล่าวก็ได้ถูกยกเลิกไป

“ชุมชนท้องถิ่นไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่เพียงพอ ชาวบ้านถูกบังคับให้ออกจากที่ดินของพวกเขาโดยไม่ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม และพวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพที่เหมาะสม หลังจากการถูกโยกย้าย นอกจากนี้ ยังไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิในปัจจุบัน  ทั้งนี้ ปัญหาทั้งหมดนี้ต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่จะมีนักลงทุนใหม่เข้ามาลงทุน” ทาน ซิน (Thant Zin) ผู้ประสานงาน สมาคมพัฒนาทวาย (DDA) กล่าว

“ประเทศญี่ปุ่นมีแนวระเบียบปฏิบัติ (guidelines) ในการป้องกันผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนอันเกิดจากโครงการ และด้วยข้อกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับโครงการที่มีอยู่จนถึงบัดนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นและนักลงทุนต้องมั่นใจว่าจะปฏิบ๗ติตามแนวระเบียบปฏิบัติ (guidelines) ดังกล่าว ก่อนที่จะมีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายด้วย” ทาน ซิน กล่าว

บริษัท มิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น ได้เห็นชอบที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ 

“จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลพม่า และบมจ. อิตาเลียนไทยฯ  ยังมิได้กระทำการใดใดสักเท่าไรในการปกป้อง สิทธิ วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมของชุมชนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย   ดังนั้น นักลงทุนรายใหม่ๆ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ ที่สอดคล้องตามหลักมาตรฐานสากล” ทาน ซิน กล่าว

นักลงทุนที่จะลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายต้องปฏิบัติตามหลักปฏิบัติสากลในการปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเคารพสิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิมตาม ‘หลักการยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้าและเป็นอิสระ’ (Free, Prior, Informed Consent – FPIC); การเปิดเผยข้อมูลในเวลาและรูปแบบที่เหมาะสม  รวมถึงดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งในช่วงการวางแผน, การดำเนินงาน และการติดตามผลของโครงการ;  ไม่กระทำการบีบบังคับหรือขมขู่ให้ชาวบ้านและชุมชนต้องโยกย้ายโดยไม่สมัครใจ  หลีกเลี่ยงการโยกย้ายอย่างไม่สมัครใจหากกระทำได้  หรืออย่างน้อยที่สุดต้องฟื้นฟูมาตรฐานความเป็นอยู่และโอกาสทางรายได้ของชาวบ้านที่ถูกโยกย้าย  และมีมาตรการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ.

 

—————————————————————————————————-

 

โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย : ลำดับเหตุการณ์สำคัญ  (ปี 2551-2556)

รวบรวมโดย โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA)

 

2551

9 พฤษภาคม 2551

รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมเพื่อการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย และการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมสู่กรุงเทพฯ

19 มิถุนายน 2551

รัฐบาลพม่าลงนามบันทึกความเข้าใจกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เพื่อการศึกษาความเป็นไปได้ ในโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายและการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมสู่กรุงเทพฯ 

 

2553

ชาวบ้านเริ่มสังเกตเห็นการก่อสร้างในพื้นที่ และชาวบ้านบางคนเริ่มร้องเรียนว่าที่ดินของเขาถูกบุกรุก หรือทำลายโดยปราศจากการแจ้ง หรือได้รับการยินยอม

2 พฤศจิกายน 2553

บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ลงนามกรอบข้อตกลงกับการท่าเรือพม่า โดยบริษัทได้รับสัมปทานในการสร้าง ดำเนินการ และถ่ายโอน (BOT) ในโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย (รวมถึงอุตสาหกรรมหนัก เช่น โรงเหล็ก โรงงานปุ๋ย โรงไฟฟ้า และสาธาณูปโภคอื่น ๆ), ถนน, ทางรถไฟ, ท่อก๊าซ, ท่อน้ำมัน และอาคารที่พักอาศัย

 

2554

19 กรกฎาคม 2554

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู เข้าระงับการก่อสร้างถนนเชื่อมจากโครงการทวายมาประเทศไทยของ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เนื่องจากชาวบ้านได้ร้องเรียนว่าที่ดินของพวกเขาถูกบริษัททำลายและไม่ได้รับการดูแลหรือจ่ายค่าชดเชยใดๆ ถนนสายนี้มีระยะทาง 160 กิโลเมตร ตัดผ่านชุมชนชาวกะเหรี่ยง 21 หมู่บ้าน

15 ธันวาคม 2554

สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association หรือ DDA) จัดแถลงข่าวที่กรุงย่างกุ้ง โดยออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลต่อโครงการซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวน 32,279 คน โรงเรียน 21 แห่ง และวัด 23 แห่ง จาก 19 หมู่บ้านต้องย้ายออกจากพื้นที่ และเรียกร้องรัฐบาลและผู้พัฒนาโครงการต้อง; 1) ยึดถือแนวทางการพัฒนาสีเขียวอันยั่งยืน คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนในพื้นที่โครงการทวาย 2) ดำเนินการโดยยึดเอาความปรารถนาของประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ 3) ทำการประเมินผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบทางสังคม (SIA) ในมาตรฐานสากล และ 4) เพื่อการพัฒนาสีเขียวอันยั่งยืน ผลประโยชน์และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ควรได้รับการพิจารณา

 

2555

4 มกราคม 2555

สมาคมพัฒนาทวายร่วมกับชาวทวายจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ชายหาดเมามะกัน โดยเรียกร้อง “การพัฒนาสีเขียว” ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

5 มกราคม 2555

องค์กรภาคประชาชนไทย 18 องค์กร ออกแถลงการณ์กรณีโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยถึงความเหมาะสมในการนำเงินสาธารณะจำนวน 5.2 หมื่นล้านบาท และเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างทางหลวงพิเศษรองรับโครงการนี้ รวมถึงการที่กฟผ.เจรจาเพื่อทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากประเทศพม่าในสัดส่วนที่สูงมากจนอาจกระทบต่อความมั่นคงของระบบพลังงานไทยในอนาคต และแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น

7 มกราคม 2555

สมาคมพัฒนาทวายยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีไทย ในระหว่างการจัดการประชุมร่วมทวิภาคีเพื่อหารือในความร่วมมือในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายระหว่างรัฐมนตรีของสองประเทศที่เมืองทวาย โดยได้แสดงความกังวลต่อปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการโครงการในวิถีทางซึ่งแสดงถึงความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ อีกทั้งยึดมั่นต่อหลักการสิทธิมนุษยชน

9 มกราคม 2555

นายอู คิน หม่อง ซอ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานไฟฟ้า (ลำดับที่ 2) แถลงต่อสื่อมวลชนที่กรุงย่างกุ้งว่า จะไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย เพราะจะเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา

6 เมษายน 2555

กะเหรี่ยงหมู่บ้านตะบิวชองในพม่า ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตัดถนนเชื่อมระหว่างนิคมอุตสาหกรรมทวายกับประเทศไทย ประท้วงและเดินออกจากห้องประชุมในขณะที่คณะนักวิชาการจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ขอชี้แจงการสำรวจข้อมูลเพื่อจะใช้ประกอบการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยชาวบ้านไม่เชื่อมั่นว่าจะเกิดความเป็นกลางในการจัดทำรายงาน เพราะนักวิชาการเดินทางมากับ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เจ้าของโครงการ และทางบริษัทฯ เองก็ไม่สามารถให้คำตอบชัดเจนในเรื่องการชดเชยที่เกิดจากความเสียหายของการขยายถนน  ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อชาวบ้าน เพราะบริษัทฯ ได้ก่อสร้างถนนรุกเข้าไปในที่ทำกิน แต่ไม่เคยดูแลหรือเยียวยา จนชาวบ้านได้ประกาศปิดถนนห้ามบริษัทเข้ามาก่อสร้าง ซึ่งบริษัทก็ได้เลี่ยงไปก่อสร้างที่อื่นก่อน และยังทิ้งปัญหาไว้

18 สิงหาคม 2555

นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม นายวีรวัธน์  ธีรประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมเป็นวิทยากรในการแถลงข่าว “หยุดอุ้มโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย หยุดขยายหนี้สาธารณะ” ตั้งคำถามต่อจริยธรรมและธรรมาภิบาลในโครงการ และแสดงความไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลไทยเข้าสนับสนุนโครงการนี้โดยใช้เงินแผ่นดิน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างหนี้สาธารณะ ยังเป็นการอุ้มเอกชนให้ลงทุนในประเทศที่ไม่มีความพร้อมในการปกป้องสิทธิมนุษยชน และมาตรการป้องกันผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ โดยมีองค์กรภาคประชาสังคม 42 องค์กรได้ร่วมลงนามในแถลงการณ์นี้ด้วย

กันยายน 2555

รายงานวิจัยขององค์กรสิทธิมนุษยชนเนเธอร์แลนด์ที่ร่วมกับกลุ่มท้องถิ่นระบุว่า ทาง บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ถูกชาวบ้านกล่าวหาในเรื่องการยึดที่ดินของชาวบ้าน การจ่ายค่าชดเชยที่ต่ำ และการบังคับให้ชาวบ้านโยกย้าย และได้ประเมินตัวเลขของผู้ที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาการยึดที่ดินขนานใหญ่ในพื้นที่ทวายว่าอาจสูงถึง 500,000 คน

20 กันยายน 2555

ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมเพื่อต่อต้านโครงการที่พวกเขาบอกว่า เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมสกปรกและไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยชาวบ้านในหมู่บ้านกาโลนท่า ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเพื่อนำมาใช้ในโครงการ ได้ทวงถามถึงบัญญัติหลัก 4 ข้อเกี่ยวกับการลงทุนของต่างชาติที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เคยดำริไว้ นั่นคือ 1) ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนพม่า 2) ปกป้องศักดิ์ศรีแห่งรัฐ 3) ปกป้องอธิปไตยของชาติ และ4) การลงทุนของต่างชาติต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างถนนยังได้ติดตั้งป้ายคัดค้านโครงการที่มีใจความว่า “หยุดสร้างมาบตาพุดอีกแห่งในทวาย”

4 ตุลาคม 2555

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้หารือกับนายเซ็ทซึโอะ อิอูจิ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) ประจำประเทศไทย ซึ่งยืนยันจะร่วมมือพัฒนาพื้นที่ทวาย ในลักษณะ 3 ประเทศ คือไทย พม่า และญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแก่โครงการต่างๆ

28 ตุลาคม 2555

ชาวบ้านในพื้นที่นาบูเล ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย บอกว่าโครงการนี้ทำให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ไม่สามารถปลูกพืชผลได้ตามฤดูกาล และเจ้าหน้าที่โครงการยังสั่งให้พวกเขาย้ายไปปลูกที่อื่นด้วย กลุ่มท้องถิ่นในทวายที่ชื่อ Tavoyan Voice ยังได้กล่าวว่า โครงการทวายสร้างประโยชน์เฉพาะนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่เท่านั้น ในขณะที่ชาวท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้รับเคราะห์กรรมในเรื่องผลกระทบ

15 พฤศจิกายน 2555

แผนการสร้างเขื่อนที่บ้านกาโลนท่าเพื่อนำน้ำไปใช้ในเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายถูกต่อต้านจากชาวบ้าน เนื่องจากทั้งหมู่บ้าน 182 หลังคาเรือนจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ และชาวบ้านกว่า 1.000 คนต้องย้ายออกจากพื้นที่ ชาวบ้านกล่าวว่า บริษัทขอเดินทางมาเจรจา เพราะการคัดค้านของชาวบ้านทำให้โครงการทวายต้องล่าช้าออกไป แต่ในวันที่เจ้าหน้าที่ทางการและ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เดินทางไปที่หมู่บ้านเพื่อพูดคุยถึงแผนการโยกย้าย ชาวบ้านต้อนรับด้วยป้ายที่เขียนว่า “ไม่เอาเขื่อน” และ “ไม่ย้าย”

22 พฤศจิกายน 2555

องค์กรท้องถิ่นในทวาย ชื่อ Tavoyan Voice ออกมาตอบโต้ข่าวที่ทาง บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ระบุกับสื่อว่ามีการโยกย้ายชาวบ้านส่วนใหญ่ออกจากพื้นที่ไปแล้ว ซึ่งแหล่งข่าวในพื้นที่กล่าวว่า ยังไม่มีชาวบ้านสักคนเดียวที่ย้ายออกจากพื้นที่ การออกมาให้ข่าวของทางบริษัทเป็นความพยายามที่จะทำให้เห็นว่าโครงการมีความคืบหน้าเพื่อดึงดูดนักลงทุน แต่ในความเป็นจริงแล้ว แผนการโยกย้ายประชาชนกว่า 32,000 คนของทางบริษัทกำลังเผชิญกับการต่อต้านจากชาวบ้านซึ่งไม่ต้องการย้ายออกจากพื้นที่

28 พฤศจิกายน 2555

สื่อระบุว่า รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวายจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2556 ในขณะที่ชาวบ้านมีข้อกังขาว่า โครงการได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 แต่ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เพิ่งจะว่าจ้างให้ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด, บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Assessment) ในพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย, พื้นที่สร้างเขื่อนที่หมู่บ้านกาโลนท่า และพื้นที่ก่อสร้างถนนเชื่อมต่อมายังประเทศไทย ตามลำดับ ซึ่งการศึกษาเพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อเดือนกันยายน ปี 2554 และจนถึงบัดนี้ ยังไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินสิ่งแวดล้อมใด ๆ แก่ชาวบ้าน

 

2556

17 มกราคม 2556

นายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในการนี้ นายอะเบะได้พูดคุยกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยเกี่ยวกับประเด็นการพัฒนา ซึ่งรวมถึงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น รายงานว่าประเทศญี่ปุ่นได้แสดงความสนใจที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายในประเทศพม่า

19 มกราคม 2556

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย พร้อมทั้งเสริมว่า การขยายตัวของการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของญี่ปุ่นเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานของโครงการนั้น จะช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ของโครงการ เนื่องจากเงินกู้ดังกล่าวจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยในช่วงเริ่มต้นของโครงการ

25 มกราคม 2556

นักปั่นจักรยานและนักกิจกรรมในประเทศพม่าเริ่มการรณรงค์ปั่นจักรยานเป็นเวลา 10 วัน จากย่างกุ้งไปยังโครงการทวาย เพื่อรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากโครงการ

5 มีนาคม 2556

สมาคมพัฒนาทวายได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประเทศไทย ที่กรุงเทพมหานคร ระบุถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธชุมชนอันเกิดจากโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยชี้ให้เห็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นโดยบริษัทไทยและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ – ไม่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลและไม่มีการปรึกษาหารืออย่างเหมาะสมกับชนพื้นเมืองท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ คนท้องถิ่นกว่า 32,000 คน ยังต้องประสบกับการโยกย้ายถิ่นฐานโดยไม่สมัครใจและการให้ค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม

28 มีนาคม 2556

ชาวบ้านจากหมู่บ้านชาคาน ในเขตเท็งจี ถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นให้ย้ายออกจากหมู่บ้าน เพื่อเปิดทางให้กับการก่อสร้างโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านปฏิเสธที่จะย้าย เนื่องจากได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวมานานหลายทศวรรษ และได้ดำรงชีวิตโดยการหาปลาและทำนาเกลือมาหลายชั่วอายุคน

12 พฤษภาคม 2556

ประชาชนในท้องถิ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อจากทวายไปยังประเทศไทย ได้ปฏิเสธการเข้าร่วม “การประชุมสาธารณะเพื่อปรึกษาหารือ” จัดโดยสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถูกว่าจ้างโดย บมจ. อิตาเลียนไทยฯ เพื่อทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านกล่าวว่าคณะนักวิจัยล้มเหลวหลายต่อหลายครั้งในการให้ข้อมูลเรื่องการทำการศึกษา และล้มเหลวในการชี้แจงประเด็นที่สำคัญอย่างการชดเชยความเสียหายอันมีต่อที่ดินและพืชผล พวกเขายังกล่าวถึงการดำเนินการของ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ และคณะนักวิชาการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการทำการศึกษาหลังจากที่การก่อสร้างได้เริ่มไปแล้ว และทรัพย์สินของชาวบ้านได้รับความเสียหายไปแล้วว่า เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการ “ขาดจริยธรรม”

24 มิถุนายน 2556

กลุ่มจับตาทวาย (Dawei Watch) กล่าวว่าชาวบ้านในทวายกำลังวางแผนที่จะฟ้อง บมจ. อิตาเลียนไทยฯสำหรับการสูญเสียที่ดินจากการที่บริษัทได้ตัดถนนผ่านที่ดินของชาวบ้านในเมืองเยบิว นอกจากนี้ ตามรายงานของเจ้าของพื้นที่เพาะปลูกที่เสนอต่อศาลพิเศษในเขตอำเภอตะลายยาร์ยังระบุว่า ชาวบ้าน 14 คน ได้โต้แย้งถึงจำนวนเงินค่าชดเชยที่บริษัทเสนอให้สำหรับการสูญเสียพื้นที่เพาะปลูกและวิถีชีวิตของพวกเขา

29 กรกฎาคม 2556

นาย ทูรา ตวง ลวิน ประธานคณะกรรมการบริหารการจัดการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ประกาศถึงความพยายามที่จะดึงประเทศญี่ปุ่นเข้าเป็นพันธมิตรในทางยุทธศาสตร์ของโครงการทวาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้รับเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดในการจัดหาไฟฟ้า ทั้งนี้ ยังได้กล่าวถึงจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการจากรัฐมนตรีประเทศพม่าและประเทศไทยที่ส่งถึงประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 24 เมษายน เพื่อเชิญชวนให้ร่วมลงทุนในโครงการ

4 สิงหาคม 2556

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศพม่ากล่าวว่า พวกเขายังคงเชื่อมั่นว่าประเทศญี่ปุ่นจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงการทวาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นกล่าวกับว่า ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาหลาย ๆ ตัวเลือกเพื่อเข้าร่วมในโครงการทวาย นาย มาซากิ ทากาฮาระ ผู้บริหารองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ประจำย่างกุ้ง กล่าวด้วยว่า ประเทศญี่ปุ่นสามารถช่วยเหลือในสิ่งที่ญี่ปุ่นเชี่ยวชาญผ่านการวางแผนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสามารถพิจารณาเรื่องการจัดหาทุนสำหรับโครงการด้วย โดยเขากล่าวว่า “การสนับสนุนการพัฒนาและการเชื่อมโยงในภูมิภาคนี้ ถือเป็นงานของประเทศญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค”

9 กันยายน 2556

ชาวบ้านในพื้นที่ทำการปิดถนนที่หมู่บ้านตะบิวชอง เพื่อประท้วง บมจ. อิตาเลียนไทยฯ  โดยกล่าวหาว่าบริษัทไม่รักษาสัญญาที่เคยระบุว่า จะชดเชยความเสียหายจากการสร้างถนนสำหรับโครงการทวาย โดยทางกลุ่มผู้ประท้วงยังได้ออกแถลงการณ์วิจารณ์ถึง “ค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใส” ที่บริษัทดำเนินการ

29 กันยายน 2556

ชาวบ้านทวายเรียกร้องให้ระงับโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยกล่าวว่าบริษัทไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยตามที่ได้สัญญาไว้  ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่เริ่มไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากไร่สวนของพวกเขาถูกทำลายจากการก่อสร้างโครงการโดยที่พวกเขาไม่เคยรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการมาก่อน

16 ตุลาคม 2556

สื่อ Eleven Media ของพม่ารายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวในที่ประชุมร่วมพม่า-ไทย-ญี่ปุ่น ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังดำเนินการพิจารณาครั้งใหม่เกี่ยวกับการเข้าร่วมในโครงการทวาย โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการขนส่ง นาย ฮัน ซิน ในฐานะประธานกรรมการดำเนินงานโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย กล่าวว่า “รัฐบาลญี่ปุ่นสนใจเข้าลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แต่ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจใดๆ และหากรัฐบาลญี่ปุ่นต้องการลงทุนในโครงการนี้จริง ก็จะต้องใช้วิธีการระดมทุนในทางสาธารณะ”

21 พฤศจิกายน 2556

คณะกรรมการประสานงานร่วม ไทย-พม่า ให้ความเห็นชอบกรอบข้อตกลงโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายฉบับใหม่ และมีการลงนามในสัญญา 3 ฉบับ คือ

1. สัญญาระหว่างคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (DSEZ Authority) กับบริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ซึ่งถือหุ้นร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลไทย และรัฐบาลพม่าฝ่ายละ 50% (เงินทุนจดทะเบียนเบื้องตัน 12 ล้านบาท) โดย SPV จะเป็นผู้ประสานงานและที่ปรึกษาหลักหลักของคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย รวมไปถึงการเชิญชวนนักลงทุนที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในโครงการ ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ลงทุนในโครงการนี้

2. สัญญาร่วมสามฝ่าย (Tripartite Memorandum) ระหว่าง บมจ. อิตาเลียนไทยฯ คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และ SPV โดยเนื้อหาสำคัญระบุถึงสิทธิการดำเนินงานที่เหลืออยู่ของ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ ก่อนส่งมอบงานให้กับนิติบุคคลย่อย (SPC) รับช่วงในการดำเนินงานต่อไป ซึ่งสิทธิในการดำเนินงานของ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ  ก่อนที่จะมีการประมูลโครงการเกิดขึ้น คือการซ่อมแซมและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มีกรก่อสร้างไปแล้วบางส่วนในโครงการทวาย เช่น ถนน และท่าเรือขนาดเล็ก

และ 3. สัญญาในการยกเลิกสิทธิสัมปทานเดิมของบมจ. อิตาเลียนไทยฯ ที่ได้มีการทำสัญญาเป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทวายที่ บมจ. อิตาเลียนไทยฯ  เคยลงนามร่วมกับคณะกรรมการบริหารท่าเรือพม่า โดยสิทธิดังกล่าวจะคืนให้กับ SPV เพื่อนำไปสู่การประมูลโครงการต่างๆ ในทวาย โดย SPV จะได้สิทธิในการบริหารโครงการตามกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของพม่าเป็นเวลา 75 ปี และมีการขยายสัญญาการลงทุนได้อีก 25 ปี

นาย เซต อ่อง รองผู้ว่าการธนาคารกลางพม่า กล่าวว่าตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นได้เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดการยังได้เชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นส่งข้อเสนอทางธุรกิจสำหรับการพัฒนาโครงการชุดแรกด้วย อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายว่าญี่ปุ่นจะประกาศแผนการลงทุนของตนในโครงการทวายในการประชุมฉลองความสัมพันธ์ 40 ปี อาเซียน-ญี่ปุ่น ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ในเดือนธันวาคม 2556

21 พฤศจิกายน 2556

ชาวบ้านทวายปิดถนนทวาย-บ้านพุน้ำร้อน ช่วงหลักกิโลเมตรที่ 37-38 และยึดรถ 3 คันของ บมจ. อิตาเลียนไทย โดยกล่าวว่า บมจ. อิตาเลียนไทย ไม่รับผิดชอบในการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเรือกสวนไร่นาซึ่งถูกทำลายนับแต่บริษัทเริ่มก่อสร้างถนนในปี 2554

22 พฤศจิกายน 2556

บริษัท มิตซูบิชิประกาศจะร่วมกับ บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) และ บมจ. อิตาเลียนไทย ในสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 30, 50 และ 20 ตามลำดับ เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 7,000 เมกะวัตต์ในทวาย ซึ่งถือว่ามีขนาดเท่ากันกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 7 โรง โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ 3,000 เมกะวัตต์ จะใช้ในโครงการทวาย และอีก  4,000 เมกะวัตต์ จะขายให้ประเทศไทย ทั้งนี้ คาดว่าโรงไฟฟ้าส่วนแรกจะจ่ายไฟฟ้าได้ในปี 2558

25 พฤศจิกายน 2556

สำนักข่าวอิระวดี รายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นและภาคเอกชน ได้หันกลับมาสนใจโครงการทวายอีกครั้งหลังจากที่เคยแสดงท่าทีเมินเฉยต่อข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว “โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภูมิภาคนี้” นายทาดาชิ เมเอดะ กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) ได้กล่าวในงานสัมมนาธุรกิจที่กรุงย่างกุ้ง ซึ่งจัดโดยนิเคอิ บริษัทสื่อชื่อดังของญี่ปุ่น.

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ