โดย : เหมืองแร่เมืองเลย
ข้อพิพาทระหว่างบริษัททุ่งคำ จำกัด กับชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเป็นชุมชนในพื้นที่รอบเหมืองทองคำที่ได้สร้างมาตรการดูแลรักษาและปกป้องชุมชนของตัวเองจนเหมืองต้องหยุดกิจการและยื่นฟ้องชาวบ้านร่วม 4 คดี แบ่งเป็นคดีแพ่งและอาญาอย่างละ 2 คดี รวมเงินต้น 120 ล้านบาท และต้องจ่ายเพิ่มอีกวันละ 10 ล้านบาท จนกว่าจะยอมรื้อกำแพงและถูกฟ้องคดีอาญาข้อหาบุกรุก ทำให้เสียทรัพย์สินอีก 2 คดี มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวม 4 คดี 20 คน
ต่อมาวันที่ 6 ธันวาคม ชาวบ้าน 22 คน ได้รับ “หมายเรียกผู้ต้องหา” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ออกโดย ตำรวจภูธรวังสะพุง จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556
บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และ อบต.เขาหลวง ได้กล่าวหาชาวบ้าน 22 คน ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายฯ กระทำการปิดกั้นทางหลวงหรือนำสิ่งใดมาขวางฯ ร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ฯ เป็นข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับกฎหมายอาญา โดยขอให้ดำเนินคดีกับกลุ่มชาวบ้านในกรณีก่อกำแพงปิดถนนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้รื้อกำแพงออกของเจ้าพนักงาน ได้แก่ แกนนำ ชาวบ้านที่ไปแจ้งความแสดงตัวเป็นเจ้าของกำแพงจากเหตุการณ์ที่ อบต.เขาหลวง ยกกำลังมารื้อถอนกำแพงเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2556 และกลุ่มผู้ก่อสร้างกำแพง 3 ครั้ง และเฝ้าระวังไม่ให้มีการทำลายกำแพง
วันที่ 10 มกราคม 2557 ชาวบ้าน 18 คน ได้ไปให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่สอบสวน พ.ต.อ.สมพงษ์ หงษ์ไพลิน ที่สถานีตำรวจภูธรวังสะพุง ตามหมายนัด ส่วนอีก 4 ราย มาให้การไม่ได้เนื่องจากเป็นการเรียกที่กะทันหัน โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
“เป็นการแจ้งความฟ้องร้องดำเนินคดีที่ไม่มีมูลความจริง และหมายเรียกที่เจ้าหน้าที่ส่งมานั้นก็กะทันหัน สร้างความสับสนวุ่นวายกับชาวบ้านที่ได้รับหมาย จนผู้ถูกกล่าวหา 4 ใน 22 คน ไปตามนัดหมายเรียกไม่ได้ และทำให้ชาวบ้านทั้ง 22 แทนที่จะต้องเอาเวลาไปทำมาหากินกลับต้องเอาเวลาส่วนหนึ่งมาเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับคดี” นางอาภรณ์ นินทรีย์ ผู้ถูกฟ้อง กล่าว
ด้าน สุทธิเกียรติ คชโส จากศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม แสดงความเห็นต่อการแจ้งความในครั้งนี้ว่า เป็นข้อหาที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามฐานความผิด อย่างไรก็ตามเมื่อตำรวจสอบเสร็จแล้วทำสำนวนส่งให้อัยการ สั่งฟ้องไม่ฟ้องก็ขึ้นอยู่กับอัยการ
สุทธิเกียรติ กล่าวถึงประเด็นที่เขาติดใจ “ทำไม อบต.เขาหลวง ซึ่งเป็นรัฐ จึงแจ้งความชาวบ้าน ร่วมกันกับบริษัททุ่งคำ ซึ่งเป็นเอกชน การทำแบบนี้ทำให้คิดได้ว่า อบต.กับ บริษัททุ่งคำมีผลประโยชน์ร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของประชาชน”
เมื่อวานนี้ 20 ม.ค. 2557 ศาลจังหวัดเลยนัดชี้สองสถานในคดีแพ่ง 50 และ 70 ล้าน และนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญากับชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด
9.00 น. ชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลยกว่า 80 คนได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดเลยตามนัดความคืบหน้าทางคดี
คดีที่ 1 คดีแพ่งเลขที่ พ 974/56 ระหว่าง บริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดย นายสราวุธ สารวงษ์ (โจทก์) และนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ พร้อมพวกรวม 7 คน (จำเลย) ถูกโจทก์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมูลค่า 70 ล้านบาท จากการสร้างกำแพง-โครงหลังคาเหล็กเพื่อป้องกันการนำสารพิษเข้ามาในหมู่บ้าน ศาลได้ทำการไกล่เกลี่ยแต่ไม่สำเร็จ ศาลจึงนัดสืบพยานต่อไป
คดีที่ 2 คดีแพ่งเลขที่ พ 859/56 ระหว่างบริษัท ทุ่งคำ จำกัด (โจทก์) และ นายสมัย ภักดิ์มี พร้อมพวกรวม 14คน (จำเลย) ถูกโจทก์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมูลค่า 50 ล้านบาท โดยในคดีมีการฟ้องร้องคนที่เสียชีวิตไปแล้ว คือนายจำเนียร คุณนา จำเลยที่ 9ในคดีดังกล่าวด้วย ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไป
คดีที่ 3 คดีอาญา เลขที่ อ4542/56 นัดมาเพื่อไต่สวนมูลฟ้องที่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดย นายสราวุธ สารวงษ์ เป็นโจทก์ฟ้องร้อง นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ พร้อมพวกรวม 7 คน เนื่องจากโจทก์อ้างว่าชาวบ้านกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ได้กระทำการก่อสร้างกำแพงโครงหลังคาเหล็กครอบถนนสายบ้านนาหนองบง (ไปคุ้มน้อย) เมื่อ 11 ต.ค. 56
การก่อสร้างดังกล่าวนำไปสู่การฟ้องร้องจำเลยที่เป็นชาวบ้าน 7 คน ในข้อหาก่อสร้างสิ่งกีดขวางทางสาธารณะรุกล้ำเข้าไปในที่ของโจทก์ เป็นเหตุให้รบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ โดยพยานของโจทก์ คือนายสราวุธ สารวงษ์ พนักงานของโจทก์ (บริษัททุ่งคำ จำกัด)
นางพรทิพย์ หงษ์ชัย ชาวบ้านนาหนองบง หนึ่งในผู้ถูกฟ้องคดียืนยันปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เธอกล่าวว่า “การก่อสร้างกำแพงเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ชาวบ้านพึงกระทำได้เพื่อปกป้องทรัพยากรและวิถีชีวิตของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ”
ทั้งนี้ ในวันดังกล่าว ทนายของขาวบ้านได้ทำการนำเอกสารซักค้านการสืบพยานโจทก์ในคดีดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้นเพราะวันนี้มีการสืบพยานโจทก์ไปเพียง 1 ปาก ยังเหลือพยานโจทก์อีก 1 ปาก คือกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด นาย บัณทิต แสงเสรีธรรม ศาลจึงจะทำการนัดไต่สวนมูลฟ้องในคดีนี้อีกในวันที่ 17 ก.พ. 2557
ขณะเดียวกัน นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ชาวบ้านนาหนองบง ได้รับมอบหมายจาก นายพุฒ อินทสอน เป็นตัวแทนในการยื่นฟ้องกลับ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่แจ้งความเท็จ เนื่องจาก นายพุฒ อินทสอน ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีแพ่งมูลค่า 50 ล้านบาท นั้น เป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้อาศัยอยู่ใน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำ อีกทั้งนายพุฒยังไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุอีกด้วย
สำหรับคดีที่ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด และ อบต.เขาหลวง ได้กล่าวหาชาวบ้าน 22 คนนั้น วันนี้ 21 ม.ค.2557 ชาวบ้าน 4 คนที่เหลือจาก 22 คน ที่ไม่ได้ไปให้ปากคำเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 ได้ไปสถานีตำรวจเพื่อให้ปากคำ
นางสาวนงนุช เบ้าหล่อทอง ชาวบ้านนาหนองบง กล่าวย้ำในเรื่องนี้ว่า การที่ อบต.เขาหลวง มาเป็นโจทก์ยื่นฟ้องชาวบ้านร่วมกับบริษัทนั้น ทำให้เห็นถึงความเอนเอียงของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆ ที่ อบต.นั้นควรยืนอยู่ข้างประชาชน แต่กลับไปยืนข้างนายทุนแล้วทำร้ายประชาชนเสียเอง
ด้าน นายวสันต์ พานิช ทนายของชาวบ้านในความคดีแพ่ง-อาญา กล่าวว่า คดีอาญาตอนนี้ยังไม่ดำเนินการอะไร รอให้กรรมการผู้จัดการของบริษัทโจทก์มาไต่สวนมูลฟ้องในวันที่17 ก.พ. 2557 แต่ท่าทีของศาลในวันที่ คือ คดีอาญา หยุดเอาไว้ก่อนจนกว่าคดีแพ่งจะสิ้นสุด