เครือข่ายเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ร่วมรับฟังสถานการณ์ความปลอดภัยทางอาหารและผลการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ พร้อมร่วมมือในการขับเคลื่อนประเด็นอาหารปลอดภัยให้เป็นวาระระดับจังหวัด
10 มีนาคม 2564 ที่บ้านสวนซุมแซง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสานจัดงาน “มหกรรมอาหารปลอดภัยมหาสารคาม” โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดและนักวิชาการด้านการเกษตร เพื่อร่วมกันรับฟังสถานการณ์อาหารระดับชาติด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรและอาหาร และแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนประเด็นอาหารปลอดภัยในพื้นที่ รวมถึงมีบูธจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรของเครือข่ายตลาดสีเขียวมหาสารคาม
หนึ่งประเด็นที่ถูกหยิบเอามาพูดถึงเป็นเรื่องสำคัญคือการรายงานผลการเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ ซึ่งคุณปรกชล อู๋ทรัพย์ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ThaiPAN) ได้ช่วยอธิบายและสรุปเนื้อหาให้เกษตรกรได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น
“ที่ผ่านมาทั่วโลกพูดถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารมาโดยตลอด แต่น้อยมากที่จะพูดเรื่องของอาหารปลอดภัย เรื่องความมั่นคงทางอาหารกับเรื่องอาหารปลอดภัยจำเป็นต้องถูกพูดควบคู่กันไป เพราะถ้าเรามีอาหารเยอะ แต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มันก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร”
คุณปรกชลยังอธิบายเพิ่มเติมว่าปัจจุบันในประเทศไทยมีสารเคมีทางการเกษตรที่ถูกขึ้นทะเบียนและรอประกาศเฝ้าระวังไว้กว่า 600 ชนิด บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่ายังมีสารเคมีบางตัวที่ถูกแบนอยู่ เพราะที่ประกาศเฝ้าระวังมีแค่ประมาณ 200 ชนิดเท่านั้น
สอดคล้องกับข้อมูลจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (ThaiPAN) ที่เปิดผลการตรวจสอบผักและผลไม้ประจำปี 2563 โดยสุ่มตรวจผักผลไม้ทั้งหมด 509 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ โดยส่งตัวอย่างทั้งหมดไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการในประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งสามารถตรวจวัดผลได้ครอบคลุมสารเคมีกำจัดแมลงและเชื้อรา (ไม่รวมสารเคมีกำจัดวัชพืช) กว่า 500 ชนิด และได้รับรองมาตรฐานระหว่างประเทศ (ISO17025)
พบว่า มีผักและผลไม้มากถึง 58.7 % ที่พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน ทั้งนี้โดยผักที่พบการตกค้างเกินมาตรฐานมากที่สุดคือ มะเขือเทศผลเล็ก พริกขี้หนู พริกแดง ขึ้นฉ่าย คะน้า พบตกค้างเกินมาตรฐานทั้งหมดทุกตัวอย่าง (100%) จากที่เก็บมาชนิดละ 16 ตัวอย่าง ผักผลไม้ที่พบการตกค้างรองลงมาได้แก่ กะเพรา (81%) มะระ (62%) ผักบุ้ง (62%) หัวไชเท้า (56%) บร็อกโคลี (50%) ถั่วฝักยาว (44%) แครอท (19%) กระเจี๊ยบเขียว (6%) และหน่อไม้ฝรั่ง (6%) ส่วนมันฝรั่งพบการตกค้างในระดับไม่เกินมาตรฐาน และข้าวโพดหวานไม่พบการตกค้างเลย
ในส่วนของผลไม้ที่พบสารพิษตกค้างมากที่สุดตามลำดับได้แก่ องุ่นแดงนอก (100%) พุทราจีน( 100%) ส้มสายน้ำผึ้ง (81%) ฝรั่ง (60%) แก้วมังกร (56%) น้อยหน่า (43%) ที่พบการตกค้างน้อยได้แก่ ลองกอง (14%) ส้มแมนดารินนำเข้า (13%) และส้มโอไม่พบการตกค้างเกินมาตรฐาน
จากข้อมูลเบื้องต้นทำให้เครือข่ายเกษตรกรชาวมหาสารคามมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าควรมีการผลักดันประเด็นอาหารปลอดภัยอย่างจริงจัง และได้แลกเปลี่ยนหาข้อเสนอแนวทางความร่วมมือในการขับเคลื่อนประเด็นอาหารปลอดภัย โดยหวังว่าจังหวัดมหาสารคามจะเป็นเมืองหลวงด้านอาหารปลอดภัยและมีปริมาณสารปนเปื้อนในผักและผลไม้ให้น้อยที่สุดจนเหลือ 0%