เข้าสู่ปีที่ 2 หลังจากที่โควิด-19 เขย่าโลกอย่างรุนแรง ส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนในทุกระดับ ทุกมิติ ทุกพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงการท่องเที่ยว การเดินทางที่ต้องหยุดชะงัก ลมหายใจของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเริ่มแผ่วเบา คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศได้ยากขึ้น นักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามาไทยน้อยลง
แต่ในวิกฤตมีโอกาส การท่องเที่ยวสัมผัสวิถีบ้าน ๆ “การท่องเที่ยวชุมชน” ได้กลับมาเป็นอีกหมุดหมายใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ ในหลายพื้นที่หลายชุมชน รวมถึงที่อำเภอภูผาม่าน จ.ขอนแก่น
นี่เป็นครั้งแรกหลังจากที่ “กานต์” ได้มาทำงานและใช้ชีวิตที่ จ.ขอนแก่น จะพาผู้อ่านออกเดินทางไปกับตัวอักษรและภาพถ่ายจากมือถือ พาไปรู้จักและสัมผัส “ภูผาม่าน” แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติกับวิถีชุมชน พูดคุยกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่สร้างความร่วมมือกับชุมชน ด้วยการปรับตัวด้วยการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสื่อสารเล่าเรื่องราวการท่องเที่ยวของชุมชน ผ่านเพจ วิวผาม่าน – View Phaman ในอีกแง่มุม
“มันพิสูจน์ได้ว่าการท่องเที่ยวชุมชนมันเกิดเม็ดเงินในชุมชนจริงแล้ว สองคือชุมชนได้มีกระบวนการเรียนรู้การทำท่องเที่ยวแบบใหม่ มีกระบวนการจัดการแบบมีระบบ ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วย…”
กุลชาติ เค้นา (กุล) คนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจกลับภูผาม่านบ้านเกิด ปัจจุบันเป็นนักออกแบบที่ทำงานอยู่บ้าน มีธุรกิจส่วนตัว ฟาร์มคิด (Farm kits) เป็นพื้นที่เรียนรู้ของคนที่สนใจการท่องเที่ยว การทำเกษตร
“มีการจองล่วงหน้า มีการรู้ข้อมูลล่วงหน้าว่าลูกค้าจะมากี่คน จัดคิววินมอเตอร์ไซค์อย่างไรบ้าง ล่องเรืออย่างไร ใครเป็นคนล่อง แล้วมันก็เป็นเรื่องที่เรียนรู้แบบใหม่หมดเลย แม้แต่ผมเองหรือชุมชนก็จะมีข้อกังวลอยู่ว่าพอมีคนมารู้จักเยอะ ชุมชนก็จะมีผลกระทบเรื่องการจราจร คนก็จะเริ่มอยากเข้ามาในกลุ่ม ก็เป็นข้อดีก็ได้ครับ มันก็จะกลายเป็นว่าทุกคนอยากมีรายได้” พี่กุล อธิบายทั้งข้อดีและความกังวลในใจ
จุดเริ่มต้นเป็นมาอย่างไร
“ต้องเล่าถึงว่าเราทำธุรกิจส่วนตัวก่อน แล้วเรามองว่าพื้นที่ภูผาม่านเรามีศักยภาพพอ ที่จะทำท่องเที่ยว เราขับเคลื่อนด้วยการผลักดันธุรกิจส่วนตัวให้มันไปเป็นคนที่รู้จัก แต่มันก็ยังไม่กว้างพอ ครั้งแรกเราพยายามเสาะหา เราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อขับเคลื่อนให้มันใหญ่ขึ้น พอดีกับมีพี่ๆ ในขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) มาเยี่ยมชม มีหนึ่งทริปที่ม่านสีชมพู คนอำเภอสีชมพู ไปเยี่ยมคนภูผาม่าน จุดประเด็นว่าเราน่าจะทำท่องเที่ยวเชื่อมเข้าหากัน มันก็เกิดกระบวนการมาเรื่อย ๆ ครับ ทีนี้มันก็มีจุดหนึ่งที่อยากผลักดันภูผาม่านเป็นที่ท่องเที่ยว
ก่อนหน้านี้เราก็ไม่รู้ เพิ่งมาอยู่ที่นี่ได้ปีกว่า เราก็พยายามหามุมมองใหม่ ๆ พยายามเก็บภาพโลเคชั่นต่าง ๆ ก็มีพี่แดงช่างภาพ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มาช่วยผลักดัน มีจัดกิจกรรมถ่ายรูปของช่างภาพทั่วประเทศมาจัดกิจกรรม บังเอิญไปเจอหนึ่งจุดที่มันน่าสนใจคือจุดหนองน้ำ “เงาสะท้อนน้ำ” ที่ชาวบ้านเรียกว่า “หนองสมอ” ก็เลยไปทดลองถ่ายรูปแล้วเอากาแฟไปดริป แล้วถ่ายผ่านเฟซบุ๊กตัวเองแล้วลองเปิดเพจขึ้นมาด้วยการทดลองว่าจะมีลูกค้ามาจริง ๆ ไหม ปรากฎว่าเพื่อนในเฟซบุ๊กมาเป็นลูกค้า มันก็เริ่มเรียนรู้กระบวนการว่าพอมีสื่อมาแตะพอมีคนมาหาโซเชียลเน็ตเวิร์ค อินเตอร์เน็ตมันมีพลังครับ เราก็มีกลุ่มลูกค้าเริ่มสนใจเรื่อย ๆ
เราก็เริ่มไปแตะชาวบ้าน เริ่มจากทำธุรกิจส่วนตัวก่อนแล้วก็ไปทำธุรกิจที่มันเกี่ยวกับชุมชน เพราะว่าเรามองว่าเราทำคนเดียวไม่ได้หรอกเพราะว่าเราไปใช้ทรัพยากรของชุมชน
เราเลยไปเจอปู่คนหนึ่งกำลังพายเรือหาปลา ก็เลยไปกวักเรียกมาลองล่องเรือให้ผมหน่อย ผมอยากล่องเรือดูแล้วถ่ายคลิปวีดีโอไลฟ์สดดูว่ามันจะสามารถพัฒนาไปต่อจากดริปกาแฟ แล้วเชื่อมเป็นอีกทริปหนึ่งไหม เอาคนมาล่องเรือด้วย มันก็เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ไปเรื่อย ๆ ทีนี้กลายเป็นว่าคนมาดริปกาแฟก็อยากล่องเรือ ก็เริ่มมีคนนถ่ายรูปลง จากคนหนึ่งกลายเป็นคนพายเรือเป็น 4-5 คน
ทีนี้ยังไม่ทันมองว่าตัวเองเป็นท่องเที่ยวชุมชนหรอก ยังไม่ได้มีการร่วมกลุ่มกันแบบถูกต้อง พอล่องเรือ ดริปกาแฟมันเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่เกิดขึ้น ก็จะมีปัญหาอีกอย่างว่ามีคนเริ่มเอารถมาจอดในพื้นที่ชุมชน ใช้ทรัพยากรชุมชนมากขึ้นเราก็เลยหารือกับทีมก็ต้องยกเครดิตให้กับทีมวิวผาม่าน- View Phaman ก็ต้องเอ่ยชื่อเพราะว่ามันมีน้อง ๆ ที่พลักดันกันมาช่วยอยู่ แต่ผมเป็นคนพื้นที่เป็นคนพลักดันหลักแต่น้อง ๆ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คน ก็ปรึกษากันว่าเราจะแก้ปัญหาเรื่องทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างไร ก็ทดลองอีกครั้งผมว่าเรื่องทดลองเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยวหรือว่าอะไรก็ตาม ก็เลยให้หนึ่งในคนพายเรือเอารถซาเล้งตัวเองมาขับรถรับส่งนักท่องเที่ยว เราบอกลูกค้าว่าอย่าเอารถลูกค้าเข้ามานะ ให้เอารถไปจอดตรงนี้ เราจะมีคนพาเข้ามา มันก็เริ่มแตะไปเรื่อย จะเรียกว่าเป็นชุมชนท่องเที่ยวก็อาจจะใช่
พอเริ่มขยับ มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง
ถ้ามองในแง่ดีก็จะมีหลายจุดครับ หนึ่งคือเราไม่ได้โตแค่คนเดียว ชุมชนเขามีรายได้ มันคือการพิสูจน์ข้อหนึ่งว่าการที่เรากำลังผลักดันอยู่นี้มันเกิดเม็ดเงินจริงในชุมชนไหม ตอนนี้แต่ละคน คนพายเรือ คนขับวินมอเตอร์ไชค์ พ่อค้าแม่ค้า ผมคิดว่าได้เงินคนละ 150 บาท ของทุกเช้า สมาชิกนี้ประมาณ 8-9 คน ที่อยู่ในกลุ่ม ไม่รวมผมกับไม่รวมที่ดริปกาแฟ
หนึ่ง คือ มันพิสูจน์ได้ว่าการท่องเที่ยวชุมชนมันเกิดเม็ดเงิน ในชุมชนจริงแล้ว สอง คือ ชุมชนได้มีกระบวนการเรียนรู้การทำท่องเที่ยวแบบใหม่ มีกระบวนการจัดการแบบมีระบบ ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วย มีการจองล่วงหน้า มีการรู้ข้อมูลล่วงหน้า ว่าลูกค้าจะมากี่คน จัดคิววินมอไซค์อย่างไรบ้าง ล่องเรืออย่างไร ใครเป็นคนล่อง แล้วมันก็เป็นเรื่องที่เรียนรู้แบบใหม่หมดเลย แม้แต่ผมเองหรือชุมชนก็จะมีข้อกังวลอยู่ว่าพอมีคนมารู้จักเยอะ ชุมชนก็จะมีผลกระทบเรื่องการจราจร คนก็จะเริ่มอยากเข้ามาในกลุ่ม ก็เป็นข้อดีก็ได้ครับ มันก็จะกลายเป็นว่าทุกคนอยากมีรายได้ ก็ต้องมาร่วมกลุ่มกันเพื่อสนทนาประชาคมว่า ใครบ้างจะเข้ามา ก็เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่อีก ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หน่วยงานรัฐก็เริ่มมองเห็น มันมีกลุ่มนี้ขึ้นมาแล้ว หน่วยงานรัฐจะเข้ามาผลักดันให้มันเกิดเป็นองค์กรได้จริง ๆ อย่างไรบ้าง ผมว่ามันมีข้อดีมากกว่าข้อเสียครับ
คิดว่าอะไรทำให้คนรู้จักที่นี่
ผมมองว่ามันเป็นเอกลักษณ์เป็นอัตลักษณ์ของภูผาม่านจริง ๆ ภูผาม่าน คือ ภูเขาที่มันเป็นลูกเงาสะท้อนน้ำนั่นแหละครับ มันเท่อยู่แล้ว เอาง่าย ๆ คือมันเท่มาก ถ้ามอง ถ้าถ่ายภาพธรรมดาแล้วอยู่กับทุ่งนาก็เท่สุด ๆ แล้ว ประเด็นคือมันพอดีกับมันไปกระทบกับเงาสะท้อนน้ำ แบบมิลเลอร์ แบบคมกริบเลย ประเด็น คือ บางวันมันออกเป็นสีชมพู เพราะว่าพระอาทิตย์มันออกชมพู กระทบกับภูเขาออกเป็นสีส้ม บางวันก็ส้มม่วง พอถ่ายรูปออกมา คนไปยืนอยู่ตรงสะพานไม้ครับ มุมมหาชนนั้นมันกลายเป็นว่านี่มันประเทศไทยไหมนี่ ขอนแก่นมันมีแบบนี้ด้วยเหรอ มันกลายเป็นมุมที่แปลกใหม่ ถือว่าแปลกใหม่ในขอนแก่นมาก ๆ ครับ
เริ่มต้นตั้งไข่แล้ว ต้องไปต่ออย่างไรบ้าง
จริง ๆ ก็จะมีหน่วยงานที่กำลังเป็นที่ปรึกษาอยู่สถานบันพัฒนาชุมชนของตัวขอนแก่นเอง เขาก็เป็นที่ปรึกษาให้อยู่ครับ เขาก็มองว่ามันเป็นเรื่องใหม่ที่คนที่มาร่วมกัน มันก็ไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน มันไม่เหมือนกับการจัดตั้งท่องเที่ยวชุมชนแบบคนในหมู่บ้านนี้รวมกลุ่มกันมันไม่ใช่ มันกลายเป็นว่าคนหลายหมู่บ้านมันมารวมกลุ่มกัน มันก็จะมีเกี่ยวกับหน่วยงานราชการ หลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้อง
ตอนนี้กำลังขยับไปเรื่อย ๆ ครับว่า ใครเเป็นคนต่อจิ๊กซอว์ให้ ถ้าเกิดจะร่วมกลุ่มกันรัฐวิสาหกิจชุมชน ใครบ้างที่ต้องเข้ามาผลักดันให้ พอโดยตัวชุมชนผมเองก็เป็นเรื่องใหม่ครับ ทีมก็เป็นเรื่องใหม่หมดเลย ถือว่าก็อยู่ในช่วงตั้งไข่ครับ ทางในอำเภอก็บอกว่าค่อย ๆ ไปแล้วดูไปเรื่อย ๆ ว่าคนไหนจริตตรงกัน คนไหนจริตไม่ตรงกัน ค่อย ๆ ระมัดระวังเพราะว่าการรวมกลุ่มกันก็ต้องเข้าใจว่าร้อยพ่อพันธุ์แม่ เราผลักดันเป้าหมายเดียวกันไหมถ้าคนละเป้าหมายมันก็ควรจะแยกไปผลักดันคนละเป้าหมาย แบบนี้ครับพอคนมาเยอะ ๆ แล้วเราก็ต้องมากรองความคิดกันก่อน ไม่อย่างนั้นมันวงแตกครับ
พูดได้ว่าเป็นคนที่มีแนวคิดเหมือนกันมาร่วมกันทำไหม
ก็ยังไม่ถึงขั้นนั้นครับ เขาก็อาจไม่ได้มีเรื่องที่ต้องการผลักดัน แต่เขารู้ว่าการทำแบบนี้มันเป็นรายได้เสริมของเขาเอง แล้วเขาก็เคารพการบริหารจัดการของเราเพราะว่าเราก็บอกเสมอว่าเราจัดการแบบนี้นะ เรื่องขยะเราจัดการช่วยกันนะ คนเข้ามาเราต้องผ่านกระบวนการทำข้อตกลงร่วมกันนะ คือ ส่วนใหญ่เขาไม่ได้มีแนวคิดที่อยากจะผลักดันท่องเที่ยวหรอก แต่เขาก็สังเกตอยู่ว่ามันมีการคุยมาเรื่อย ๆ หลายปีแต่มันไม่เกิดขึ้นพอเราได้จุดประเด็นแล้ว เราต่อจิ๊กซอว์ไปเรื่อย เขาก็รู้สึกว่ามันก็เกิดรายได้จริง ๆ เขาก็ค่อย ๆ มาหาเราตอนนี้ก็เริ่มโตขึ้นครับ
มองภาพการทำงานในอนาคตอย่างไรต่อ
ก็ต้องยอมรับผมว่าก็มองไม่ค่อยออกมันอาจจะเป็นในรูปแบบใหม่ก็ได้ หรืออาจจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาใช้พื้นที่ทรัพยากร ในรูปแบบใหม่ก็ได้ มันอาจจะเป็นรูปแบบที่เคยเห็นในห้วยกระทิง หรือแพทางอื่นอย่างนี้เราก็ต้องยอมรับความจริง ถ้าเกิดเราเป็นคนเริ่มต้น แต่ชุมชนเป็นคนตัดสินใจ ไม่ว่าจะไปในทิศทางไหนชุมชนเขาเห็นกระบวนการที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว ชุมชนเป็นคนเลือกครับ
แต่สำหรับผม ผมมองว่าการท่องเที่ยวภูผาม่านมันควรจะมีจุดขาย หมายความว่าเราต้องตั้งคำถามเสมอว่า ทำไมคนถึงต้องมาภูผาม่าน มาทำไม จุดขายภูผาม่านคืออะไร อัตลักษณ์ที่คนมาแล้วรู้สึกว่านี่คือภูผาม่านอย่างล่าสุดครับ ลูกค้าผมเหมารถตู้มาจากกรุงเทพฯเพื่อมาถ่ายรูปวิวสะท้อนน้ำ ลูกค้าจากสงขลานั่งเครื่องบินมาลงขอนแก่น เช่ารถจากขอนแก่นมาถ่ายรูปหนองสมอ คำถามคือเราต้องสื่อสารกับคนในพื้นที่ว่าคนมาเพราะว่าอะไร ถ้ามีแบบนี้แล้วคนอาจจะไม่มาก็ได้หรือมาก็ได้
มองไกล ๆ คือการสร้างการตระหนักรู้ของชุมชนครับว่าทรัพยากรของเรามีความสำคัญมาก ถ้าคุณขยับแบบไหนก็ตาม ผลกระทบก็ต้องมี แต่เราก็ต้องยอมรับความจริงว่านั้นเป็นการตัดสินใจของพวกเราเอง ผมมองว่าการสร้าง ecosystems ในการสร้างการตระหนักรู้ในชุมชนมันเป็นเรืองสำคัญครับ
คนเริ่มรู้จักมากขึ้น เราวางแผนรับมือทั้งเรื่องทรัพยากรและการสื่อสารกับสังคมภายนอกอย่างไร
สำหรับผมผมคิดเรื่องนี้มาตั้งแต่เริ่มแล้ว คือ สังเกตว่าผมทำไมต้องให้จองล่วงหน้าทำไมถึงจำกัดแค่นี้ ช่วงเวลาประมาณนี้ 6 โมงครึ่งถึง 8 โมงเช้า เราต้องการรักษาธรรมชาติมันอยู่วิถีชีวิตที่มันไม่กระทบไม่ใช่อยู่ดี ๆ ไปถ่ายวีดีโอชาวบ้านหาปลาไปสื่อสารกับข้างนอก
แต่ก่อนมีคนถอดเสื้อหาปลาอยู่ดี ๆ มีคนไปอัดวีดีโอแล้วออกสื่อข้างนอก คนที่เคยถอดเสื้อหาปลาก็ไม่กล้านะ มันคือผลกระทบ เราพยายามสื่อสารตลอดครับว่า การทำธุรกิจท่องเที่ยวมันเติบโตอยู่แล้วครับ แต่ทำอย่างไรเราจะทำให้คนในชุมชนเราไม่ได้รับผลกระทบ ผมก็เลยพยายามสื่อสารตลอด บางคนก็บอกว่าให้คนมาเรื่อย ๆ เลยไม่เป็นไรหรอก แต่ผมรู้สึกว่าคนที่เคยไปเห็นข้างนอกแล้วมาเล่าให้คนที่ไม่เคยเห็น ความเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบนั้นคนในพื้นที่ไม่อิน แต่เราพยายามสื่อสารตลอดในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร จัดการได้ไหม”
นอกจากนั่งคุยและจิบกาแฟดริปกับพี่กุลสักพักใหญ่ ๆ กานต์ก็ได้คุยกับพ่อทองดี คร่องชอบ หรือ หลายคนเรียกว่า “ปู่ทอง” อีกสมาชิกของทีมพายเรือที่เล่าถึงเรื่องราวการท่องเที่ยววิถีชีวิตคนภูผาม่าน
“ดีขึ้นเยอะเลย ก่อนหน้านี้ไม่มีอะไร ถ้ามาก็มาหาปลาธรรมดา ตอนนี้มีคนเข้ามาเยอะ มีความสวยงามขึ้นเยอะบ้านเราเลยมีชื่อเสียงมากขึ้น มีเพื่อนเยอะขึ้น ก่อนหน้านี้ไม่มีอะไร หากินเฉย ๆ ตื่นเช้าเราก็ออกมา ออกมาตั้งแต่ ตี 4 รายได้ก็พอได้อยู่ พายเรือบ้าง หาปลาบ้าง ก็ได้ 200-300 บาท บางวันก็ได้เยอะ บางวันก็ไม่ได้ ถ้าลงเรือได้ 200-300 บาท ก็อยากให้มีแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะไม่มีน้ำ เพราะว่ามันเอาความสวยงามภูผาม่าน ก็มีคนมาแบบนี้ครับ”
“ช่วงเช้าเราจะออกมารับนักท่องเที่ยว พอสายแดดออกเราก็ไปทำนาตามวิถีชีวิตปกติครับ” สุบิน คร่องชอบ คนขับชาเล้งรับนักท่องเที่ยว ที่วันนี้กานต์ก็มีโอกาสได้ใช้บริการด้วย
“ถ้าจะมาเที่ยวภูผาม่านนะครับ ต้องจองทางเพจ มันจะมีเพจวิวภูผาม่านที่เปิดไว้ มีจองได้ ถ้าเกิดมาแล้วทางเพจเขาจะบอกว่ามีสถานที่จอดรถคือตลาดกกเกลือแล้วจะมีวินมอไซค์คือรถซาเล้งครับ จะพาเข้ามาเพราะว่าที่ให้จอดตรงนั้น เพราะถ้าเกิดทางผ่านที่เข้ามาทางนี้มันสวนทางกันยากครับเพราะชาวบ้านเขาก็มาทำนา ก็เลยให้จอดที่นั้นเพราะมีทั้งห้องน้ำและร้านค้า”
มีความกังวลอะไรไหมคะถ้านักท่องเที่ยวมาเยอะ
“กังวลตรงที่ว่าถ้ารถนักท่องเที่ยวเข้ามา ถ้าชาวนาจะออกมันสวนทางกัน ทางที่มาไม่มีทางหลบหลีกกัน ถนนมันเล็กรถสวนทางกันมันจะยาก เลยให้จอดรถที่ตลาดกกเกลือครับ ตอนเช้าแค่เวลาพอได้ หลังจากออกจากการท่องเที่ยวชาวบ้านก็จะไปทำนาทำสวนมีเวลาไปทำอย่างอื่นครับ”
มากกว่าการได้บันทึกภาพวิวสะท้อนน้ำของ “ภูผาม่าน” ที่หนองสมอ วันนี้กานต์เองเหมือนได้ออกเดินทางย้อนไปถึงแนวคิดและที่มาของ “พี่กุล” คนรุ่นใหม่ ซึ่งมองเห็นคุณค่า มองเห็นโอกาสจากทรัพยากรของชุมชน และยังมีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าด้วยความร่วมมือของทุกคน โดยเอาจุดแข็ง เอาประสบการณ์ วิชาความรู้ที่ตัวเองมีมาเป็นส่วนสำคัญในการตั้งไข่และค่อย ๆ เริ่มก้าวเดินไป เป็นอีกทางเลือกที่สร้างโอกาสและสร้างรายได้ ให้ชุมชนพัฒนาทำการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน