คำว่ากลับบ้านของแต่ละคนมีความหมายต่างกัน บางคนกลับมาเยี่ยมเยือน มาเติมพลังแรงใจกับคนที่บ้าน บางคนคือการกลับมาใช้ชีวิตต่อเมื่อบั้นปลายชีวิต บางคนอยากกลับมาดูแลครอบครัว และมีอีกมากมายร้อยแปดความหมาย แต่ทุกการกลับบ้านจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องดูเงื่อนไขแต่ละคน ว่ากลับแบบเป็นทางที่เลือก หรือหมดทางเลือก อย่างไรก็ตามปัจจุบันกระแสการหวนคืนถิ่นฐานบ้านเกิดกำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศ จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 จากพิษเศรษฐกิจ หรือพอแล้วกับชีวิตที่นอกบ้าน อยากเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ที่บ้านเกิด
ไม่ว่าจะกลับมาด้วยเหตุผลใด กระแสคนรุ่นใหม่กลับบ้าน ก็จะมีส่วนเปลี่ยนทิศทางของท้องถิ่น เพราะนอกจากหอบความรัก ความหวัง ความฝันกลับมา ยังมีทักษะองค์ความรู้จากต่างถิ่นติดตัวมาด้วย นี่เป็นพลังสำคัญที่จะมาเติมเต็มช่องว่างของสังคมต่างจังหวัด
อีสานมี Character ของมัน เราเลยรู้สึกว่าเราอยากดึง Character ที่มีอยู่ของอีสานให้คนรู้จักมากขึ้น
นี่คือมุมมองของ”หมิว” พรพิมล มิ่งมิตรมี ลูกหลานคนอีสาน ชาวบ้านหนองส่าน ต.โคกภู อ.ภูพาน จ.สกลนคร ที่เคยจากบ้านห่างถิ่นเข้าไปเรียนและทำงานในเมืองกรุง รวมแล้วกว่า 10 ปี ได้อยู่ในสายงานด้านศิลปะ การอนุรักษ์โบราณวัตถุ โบราณสถาน การมองเห็นความงาม มองเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม จึงเป็นทักษะสำคัญที่ติดตัวกลับมา เป็นต้นทุนที่จะพาตัวเองและชุมชนไปต่อ
กลับมาบ้านเราก็มาสำรวจก่อนอย่างแรก จากตัวเราที่มีความรู้เรื่องนี้แล้วเราทำอะไรได้ ช่วงแรกที่กลับมา ยังไป ๆ มา ๆ สกลนคร-กรุงเทพ เราก็ยังมีงานที่เป็นฟรีแลนซ์ที่ใน กทม. กลับมาทำเรื่องที่จะมาอยู่บ้าน ก็เลยกลายเป็นช่วงรอยต่อ เป็นช่วงที่เราไม่มีวันหยุดเลย กลับบ้านแทบทุกอาทิตย์ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าทำอะไรได้บ้างที่บ้าน ก็เลยเริ่มจากการสำรวจก่อน
การกลับบ้านเป็นความฝันของหลายคน แต่ใช่ว่ากลับมาแล้วทุกคนจะสามารถอยู่ได้ เพราะแต่ละคนมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เป็นด่านที่ต้องเคลียร์ให้ได้ก่อนไปต่อ ทั้งเรื่องเงินที่ต้องเลี้ยงปากท้อง เรื่องงานที่ต้องตอบโจทย์ชีวิตที่บ้าน เรื่องครอบครัวที่ต้องดูแล สำหรับคุณหมิวได้เริ่มเคลียร์ด่านเหล่านี้ตั้งแต่ยังไม่ออกจากงาน จนพร้อมจริง ๆ จึงกลับมาบ้าน มีเงินสำรองสำหรับตั้งตัว มีอาชีพเสริมจากการทำสีธรรมชาติขาย พร้อมพูดคุยกับครอบครัวจนเกิดความเข้าใจ ทำให้เริ่มต้นได้ไม่ยาก เมื่อตัวเองอยู่ได้จึงอยากเป็นอีกแรงที่จะช่วยพัฒนาบ้านเกิด โดยใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ ที่เรียกว่า Design thinking
“สำรวจ ตั้งคำถาม แก้ปัญหา มันเรียกทั้งกระบวนการนี้ว่า Design thinking ขั้นตอนแรกก็คือเปิดใจ มองด้วยสายตาคนภายนอกว่าบ้านเรามันมีอะไร อย่ามองด้วยสายตาคนภายใน ถ้ามองด้วยสายตาคนภายในเรารู้สึกว่าเราชิน ต่อมาก็คือหาปัญหา ไม่ได้แก้ได้ทุกอันค่อย ๆ แตะไปทีละอันตามปัจจัยแวดล้อม ตามกำลังไปเรื่อย ๆ ต่อมาก็เริ่มทำ Prototype คือต้นแบบของการลองทำ ขึ้นแบบมาว่ามันจะเป็นไปได้ ก็ลองผิดลองถูกกับมัน”
มองชุมชนอย่างเข้าใจ มีกระบวนการคิดวิเคราะห์ ทำให้เห็นทั้งปัญหาและของดีในชุมชน ซึ่งที่บ้านหนองส่าน เป็นชุมชนที่มีปัญหาคล้ายกันที่อื่น ๆ ในภาคอีสาน นั่นคือปัญหาขาดแคลนวัยแรงงาน หนุ่มสาวออกไปทำงานต่างถิ่น มีแค่เด็กกับคนแก่ที่อยู่บ้าน นั่นทำให้ชุมชนขาดพลังความคิดจากคนรุ่นใหม่ เมื่อคุณหมิวรับรู้และเข้าใจปัญหา จึงพยายามหาทางแก้โจทย์ชุมชน ผ่านการจัดการท่องเที่ยว
พอสำรวจในหมู่บ้านเสร็จ เราก็เห็นถึงความหลากหลาย เราจึงเลือกเอาความหลากหลายมารวมกันเป็นการท่องเที่ยว ซึ่งมันได้ชูศักยภาพของคนหลาย ๆ แบบ หลาย ๆ ประเภท
การทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ การทำเกษตรกรรม และวิถีภูมิปัญญาการทำงานหัตถกรรม เป็นสิ่งธรรมดาที่หลายชุมชนในภาคอีสานมี แต่เมื่อมองในมุมของคนนอก เห็นว่ามันขายได้ คุณหมิวจึงได้ร้อยเรียงผู้คนมาร่วมกัน เป็นการท่องเที่ยวที่ดำเนินการโดยคนในชุมชน ใช้วิถีดั้งเดิมเป็นจุดขาย เน้นสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวแก่กลุ่มคนเมือง และคนต่างประเทศ ซึ่งคุณหมิวจะเติมทักษะการจัดการกลุ่ม การบริการ การนำเที่ยว ชวนคิด ชวนออกแบบ วางแผนท่องเที่ยวในช่วงเริ่มต้น จากนั้นสมาชิกที่เข้าร่วมจะจัดการกันเอง
มีนักท่องเที่ยวมาจากเกาหลี ญี่ปุ่น รัสเซีย มาเป็นครอบครัวก็มี ป้าไม่นึกว่ามันจะมีแบบนี้ ป้าเป็นเกษตรกร คิดว่ามันลำบาก ทำนามันสกปรก ใครจะอยากมา แต่พอมันมีแบบนี้ มีคนมาเที่ยวป้าก็ภูมิใจ รู้สึกว่ามีคุณค่า
ป้าอ้อย เกษตรกรในชุมพูดคุยพร้อมใบหน้าเปื้อนยิ้ม หลังจากที่สวนเล็ก ๆ ที่ลงแรงทำกับคนในครอบครัว ปลูกพืชผสมผสาน มีคนมาท่องเที่ยวเยี่ยมเยือน ซึ่งป้าอ้อยได้กลายเป็นครูภูมิปัญญา พานักท่องเที่ยวทำกิจกรรมเรียนรู้วิถีชาวนา เก็บพืชผักจากสวนมาทำอาหาร พาดำนา เกี่ยวข้าว ที่ทำเป็นประจำอยู่แล้วมาถ่ายทอดแก่คนที่ต้องการประสบการณ์ สร้างทั้งรายได้และความภูมิใจแก่ป้าอ้อย
นอกจากนี้ยังมีป้าอึก ที่ทำผ้าย้อมสีธรรมชาติ เป็นผู้ถ่ายทอดภูมิปัญญาแก่นักท่องเที่ยว พาลองทำ ลงมือปฏิบัติจริงตั้งแต่ขั้นตอนการนำฝ้ายมาทำเป็นเส้นใย จนถึงการย้อมสีธรรมชาติ นักท่องเที่ยวจะได้ทั้งความรู้ และผ้าที่ตัวเองย้อมกลับบ้านไป มีลุงประมวลที่นำรถอีแต๊ก มาขับพานักท่องเที่ยวเดินทางไปทำกิจกรรมในชุมชน มียายดอที่มีฝีมือทำอาหารท้องถิ่นมาทำอาหารต้อนรับนักท่องเที่ยว และอีกหลายคนที่ร่วมเป็นทีมงานเป็นการประกอบการกลุ่มขึ้นมา
ขอบคุณภาพจาก กลุ่มจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านหนองส่าน ขอบคุณภาพจาก กลุ่มจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านหนองส่าน ขอบคุณภาพจาก กลุ่มจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านหนองส่าน ขอบคุณภาพจาก กลุ่มจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านหนองส่าน ขอบคุณภาพจาก กลุ่มจัดการท่องเที่ยวชุมชนบ้านหนองส่าน
กิจกรรมนำเที่ยว บริการ และดูแลนักท่องเที่ยว ชาวบ้านจะแบ่งหน้าที่ดูแลกันเอง คุณหมิวจะคอยช่วยเหลือในการทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ผ่านแฟนเพจในเฟซบุ๊ก ถ่ายภาพกิจกรรมมาเล่าเรื่องราวสื่อสารออกไป จนถึงการรับนักท่องเที่ยวส่งต่อให้กลุ่ม และใช้ทักษะด้านศิลปะมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมสีธรรมชาติ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เช่น ช่วยแนะนำการใช้โทนสีที่กำลังได้รับความนิยม แนะนำเพิ่มเติมลวดลายที่ทันสมัย เป็นต้น
เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่ชุมชนกำลังเผชิญ คือ ช่องว่างระหว่างวัย จากที่มีเด็กกับคนแก่เป็นประชากรส่วนใหญ่ คุณหมิวได้ชวนเด็ก ๆ วัยเรียนเข้ามาเรียนรู้จากกิจกรรมการท่องเที่ยวด้วย อย่างกิจกรรมการทำ “ขันหมากเบ็ง” ที่นำใบต้องมาประดิษฐ์เป็นเครื่องไหว้บูชาพระ สอนโดยยายล้อมวัย 70 กว่าปี จะได้เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุย ระหว่างผู้สูงอายุกับลูกหลานด้วย
ยายก็ดีใจที่เห็นลูกหลานมาเรียนรู้ด้วย ปกติคนรุ่นนี้ทำแบบนี้ไม่เป็นแล้ว ดีใจที่เขามาเรียนรู้ จะได้สืบต่อไว้
ยายล้อมเล่าด้วยความดีใจ ที่เห็นลูกหลานมาเรียนรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งจากที่เริ่มก่อตั้งการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านหนองส่านเมื่อปี 2559 ก็มีเยาวชนหลายรุ่น หมุนเวียนกันเข้ามาร่วมทำกิจกรรม ซึ่งคุณหมิวมองว่าการท่องเที่ยวไม่ได้แค่สร้างรายได้แก่ชุมชน ยังเป็นเครื่องมือหนึ่งในการอนุรักษ์สืบสานมรดกของบ้านเกิดด้วย
ล้อม ดวงปากดี ครูภูมิปัญญาด้านงานหัตถกรรม
เรามองว่าการพัฒนาและการอนุรักษ์ไปควบคู่กันได้ มันไม่จำเป็นต้องหยุดนิ่ง อีกแนวทางคือการส่งต่อ กระจายข้อมูลให้ผู้คนได้รับรู้มากที่สุด เพราะมันไม่มีอะไรอยู่ได้ตลอดไป เสื่อมสลายได้ตามเวลา เชื่อว่าการส่งต่อเป็นอีกแนวทางที่จะให้มันอยู่ได้ อย่างน้อย ๆ ก็จะเป็นข้อมูลให้ผู้คนได้นึกถึง
ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปี ที่เริ่มทำการท่องเที่ยว ได้สร้างเงินหมุนเวียนในชุมชนบ้านหนองส่านหลายแสนบาท มีสมาชิกที่ดำเนินการหลัก และทีมงานเสริมรวมกันกว่า 30 คน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการท่องเที่ยวแบบบ้าน ๆ ที่ผสานภูมิปัญญา และความรู้ความสามารถคนรุ่นใหม่ ได้นำชุมชนไปต่อได้อย่างมีทิศทาง แน่นอนว่าแต่ละคนมีความสามารถ มีต้นทุนที่ต่างกัน หากคนท้องถิ่นเข้าใจ คนรุ่นใหม่อยากพาชุมชนพัฒนา เชื่อว่ากระแสการกลับมาบ้านของคนรุ่นใหม่ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของท้องถิ่น