เรื่อง: สิริกัญญา ชุ่มเย็น ภาพ: ปธานิน กล่อมเอี้ยง / สิริกัญญา ชุ่มเย็น
“พื้นที่ที่เขาต่อสู้มันเป็นสิทธิ์เดิมที่ถือครองทำประโยชน์มา ไม่ใช่ว่าไปบุกรุกเอาพื้นที่ป่ามาเป็นของตัวเองแบบที่คนทั่วไปในสังคมเข้าใจ พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เดิมที่รัฐเข้ามาประกาศทับซ้อน ชาวบ้านพยายามอธิบายให้สังคมเข้าใจอยู่ตลอด จนกระทั่งมีการต่อสู้แย่งสิทธิ์กัน สุดท้ายชาวบ้านกลายเป็นผู้เสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา”
…………..
ความคับข้องใจมากมายถูกเก็บงำไว้ตลอดการเดินทางจากกรุงเทพมหานคร สู่ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เมื่อทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า แม้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงหลายต่อหลายครั้ง หลังชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วร้องเรียนไปถึงคณะทำงานระดับพื้นที่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จนได้ข้อสรุปว่า การปลูกสร้างสวนป่าคอนสารขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) นั้นทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎรที่อยู่มาก่อนจริง และรัฐบาลในปี 2550 ยังมีคำสั่ง ให้ดำเนินการยกเลิกเพิกถอนสวนป่าและนำที่ดินมาจัดสรรให้กับราษฎรผู้เดือดร้อน
แต่ดูเหมือนว่าระยะเวลาที่ผ่านมาเกินครึ่งอายุคน ไม่ได้ทำให้ชาวชุมชนแห่งนี้ได้ผืนดินทำกินเพียงเล็กน้อยของพวกเขากลับคืน ซ้ำยังต้องติดตามเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐตลอดมา ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงแต่อย่างใด
ล่าสุด ปัญหาเก่าเก็บที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังนี้ ถูกตอกย้ำด้วย ‘ยุทธการทวงคืนผืนป่า’ ในแผนแม่บทป่าไม้ ภายใต้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มาจากการรัฐประหาร โดยพยายามเช็คบิลชาวบ้านในพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกว่าที่เคย!
จุดมุ่งหมายของเราคือ สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสานใน จ.ชัยภูมิ เพื่อพูดคุยกับ ปราโมทย์ ผลภิญโญ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ผู้รับรู้และร่วมต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวเคียงข้างพี่น้องชาวชุมชน ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยหวังจะไขปริศนาหลายประการ ก่อนที่รอยเท้าของพวกเขาจะจางหายไปจากบ้านเกิด
++การที่ชาวบ้านร้องเรียนมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี แต่ยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ คิดว่าสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาอะไรชัดที่สุด
ปัญหาที่แท้จริงของการจัดการทรัพยากรป่าไม้คือ เรื่องการผูกขาดอำนาจการจัดการไว้ที่หน่วย งานรัฐ และไม่พยายามเปลี่ยนแปลงความคิดหรือทัศนะให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงคือชาวบ้าน ในกฎหมายป่าไม้ทุกฉบับก็ไม่มีพื้นที่สำหรับเรื่องสิทธิของชาวบ้านในการเข้าไปบริหารจัดการเลย
นี่คือใจกลางของปัญหาการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทย เมื่อเกิดกรณีพิพาทสิทธิ์ก็มีข้อจำกัดในเรื่องระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งชาวบ้านเข้าไม่ถึง จนกระทั่งมีการร้องเรียน แต่สุดท้ายก็ไปติดอยู่ที่ตัวนโยบายหรือกฎหมายเหล่านี้ นี่คือบทเรียนสำคัญของทุกกรณี ทุกปัญหาที่ชาวบ้านเรียกร้อง
++สภาพความเป็นอยู่โดยรวมของชาวบ้านบริเวณสวนป่าคอนสารเป็นอย่างไร
ความลำบากของชาวบ้านก็คือเรื่องเศรษฐกิจ เขาไม่มีพื้นที่ทำมาหากิน ภายหลังการต่อสู้ ชาวบ้านก็เจอเรื่องคดีความ ในกรณีของสวนป่าคอนสาร หลังจากมีคนเข้าชุมชนบ่อแก้วในปี 2552 อีกไม่เกินหนึ่งเดือนต่อมา ทาง อ.อ.ป. ก็เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน ทำให้ต้องดิ้นรนต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม สภาพที่เกิดขึ้นต่อเนื่องคือ ชาวบ้านต้องแบกรับทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม คดีความ สิทธิที่ถูกลิดรอนไป
สำคัญกว่านั้นคือความไม่ปลอดภัย เพราะในช่วงเข้าพื้นที่ ทางเจ้าหน้าที่สนธิกำลังกันมาทั่วภาคอีสาน มีอาวุธครบมือล้อมไว้จำนวนมาก มีการจำกัดสิทธิ์คนเข้าไปในพื้นที่ มีการถ่ายรูปและทำบันทึกต่างๆ เป็นหลักฐาน ซึ่งสถานการณ์ช่วงนั้นถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงมาก
++บอกว่าชาวบ้านต้องการสิทธิ์ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องการจัดการทรัพยากร ที่ผ่านมามีอะไรที่ทำแล้วเป็นรูปธรรมบ้าง
ในช่วงรัฐบาล คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่พิพาทไปพลางก่อนจนกว่ากระบวนการแก้ปัญหาจะได้ข้อยุติ จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านเข้าพื้นที่เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 พื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ที่ชาวบ้านเข้าไปแล้วทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพ มีการผลิตเพื่อการยังชีพระดับครอบครัว หรือเป็นรายได้เสริม สภาพการใช้ที่ดินก็เปลี่ยน จากที่เคยมียูคาลิปตัสซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยวเพียงชนิดเดียว ก็เปลี่ยนเป็นพืชท้องถิ่น พืชอาหาร ที่ชาวบ้านปลูก
ปัจจุบันต้องบอกว่ามีความหลากหลายของอาหารมากขึ้น ถ้าประเมินผลก็สามารถเลี้ยงตัวเองในระดับครอบครัวได้ และสามารถยกระดับไปสู่การขยายผลในทางเศรษฐกิจ ทั้งหมดทั้งปวง ทำกันในรูปของเกษตรกรรมปลอดสารพิษ โดยมุ่งหวังสู่เกษตรอินทรีย์
หลังจังหวัดมีคำสั่งให้ออกจากพื้นที่เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2557 เรายังไม่มีการดำเนินการตามคำสั่งนั้น เพราะมีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านให้มีการชะลอเรื่อง สุดท้ายทางสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือมายังผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิให้ชะลอการดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการกระทบสิทธิ์พี่น้อง ประเด็นที่ชาวบ้านต้องดำเนินการต่อคือ ผลักดันแผนการจัดการทรัพยากรที่ดินของชาวบ้าน โดยเงื่อนไขสำคัญในการจัดการรูปแบบโฉนดชุมชนคือ
1.คณะกรรมการมีกฎระเบียบข้อบังคับในการใช้ประโยชน์
2.มีการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งกรณีสวนป่าของพี่น้องชุมชนบ่อแก้วมีการจำแนกที่ดินไว้ 5 ประเภท ได้แก่ พื้นที่สิทธิการใช้ส่วนบุคคล พื้นที่แปลงรวมของสมาชิกในชุมชน พื้นที่สาธารณะของชุมชน พื้นที่ป่าชุมชนซึ่งมีการจำแนกไว้ 2 แปลง ที่เป็นป่าธรรมชาติและจะเข้าไปดูแล และส่วนสุดท้ายเป็นพื้นที่ในการพัฒนากิจกรรมด้านเศรษฐกิจร่วมกัน ทั้งหมดทั้งปวงมีรูปแปลงชัดเจน
3. แผนการใช้ประโยชน์ การพัฒนา ว่าที่ดินทั้งหมดมีแผนปฏิบัติการอะไรบ้าง เช่น การผลิตในรูปของเกษตรกรรมอินทรีย์ในแต่ละปี ต้องพัฒนาระบบน้ำ เพาะพันธุ์พืชพันธุกรรมท้องถิ่น เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม
++อยากให้ฉายภาพตัวอย่างความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา
ต้องเล่าให้ฟังแบบนี้ ชาวบ้านอยู่กันมาก่อนมีการประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามในปี 2516 โดยมีหลักฐานชัดเจนเป็นใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ พอปี 2521 อ.อ.ป. ได้ปลูกสร้างสวนป่าทั่วประเทศใช้ระบบสมาชิกโครงการหมู่บ้านป่าไม้ ซึ่งเงื่อนไขการเป็นสมาชิกจะมีเอกสารแผนปฏิบัติการปลูกสร้างสวนป่าว่า สำหรับสมาชิกให้ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ ที่ดินทำกิน 5 ไร่ และมีการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน
แต่เท่าที่เห็น มีการเข้ามาผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่หลากหลายวิธี หนึ่ง… อ้างว่าชาวบ้านบุกรุกป่าสงวน ก็ดำเนินการทางกฎหมาย สอง… อันนี้เราไม่รู้ว่าฝีมือใคร คือเมื่อชาวบ้านไม่ออกจากพื้น หลังจากนั้นมีกลุ่มอันธพาลเข้ามาขับไล่ รายสุดท้ายคือ นายวรรค โยธาธรรม ซึ่งออกจากพื้นที่ในปี 2529 วันดีคืนดี มีมือมืดนำวัตถุระเบิดซึ่งเป็นอาวุธสงครามไปฝังไว้ใต้ถุนบ้าน
เช้าวันต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้าไปตรวจค้น บอกว่ามีอาวุธสงครามร้ายแรงไว้ในครอบครอง แล้วก็ฟ้องดำเนินคดีที่ศาลจังหวัดภูเขียว พ่อวรรคขายควายไป 7 ตัว เพื่อหาเงินมาสู้คดี ในที่สุดศาลก็ยกฟ้อง แต่ที่ดินของแก 50 ไร่ ปัจจุบันเหลืออยู่ 2 ไร่ ที่ยังมีสภาพใช้ประโยชน์ได้ ที่เหลือกลายเป็นสวนยูคาลิปตัสของ อ.อ.ป. บ้านเรือนก็ไม่มี ต้องย้ายตัวเองมาอยู่กับญาติที่หมู่บ้านห้วยไห ต.ทุ่งพระ จนกระทั่งปัจจุบัน ตอนนี้พ่อวรรคยังมีชีวิตอยู่ อายุประมาณ 90 ปี
++ทำไมชาวบ้านไม่ยอมเสียสละออกไป เพื่ออนุรักษ์ผืนป่าให้คนทั้งประเทศ
คุณต้องเข้าใจข้อเท็จจริงหนึ่งว่า พื้นที่ที่เขาต่อสู้มันเป็นสิทธิ์เดิมที่ถือครองทำประโยชน์มา ไม่ใช่ว่าไปบุกรุกเอาพื้นที่ป่ามาเป็นของตัวเองแบบที่คนทั่วไปในสังคมเข้าใจ พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เดิมที่รัฐเข้ามาประกาศทับซ้อน ชาวบ้านพยายามอธิบายให้สังคมเข้าใจอยู่ตลอด จนกระทั่งมีการต่อสู้แย่งสิทธิ์กัน สุดท้ายชาวบ้านกลายเป็นผู้เสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา
ส่วนประเด็น การมีชาวบ้านอาศัยอยู่จะทำให้ป่าเสื่อมโทรม มันมีบทพิสูจน์หลายกรณี เช่น พี่น้องชนกลุ่มน้อยในภาคเหนือที่มีวิถีการรักษาป่า คนอีสานก็เหมือนกัน การตั้งถิ่นฐานชุมชนหนึ่งๆ ก็มีการจำแนกจัดสรรที่ดินไว้เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น พื้นที่ราบก็เป็นที่ทำนา สูงขึ้นมาหน่อยก็เป็นที่ตั้งชุมชน มีพื้นที่ป่าสำหรับเป็นที่สิงสถิตของผีปู่ผีย่า ซึ่งจะได้รับการหวงแหนไว้เป็นพื้นที่ป่าของหมู่บ้านนอกจากนี้ยังมีพื้นที่สาธารณะของชุมชน ป่าชุมชน ซึ่งมีการจำแนกจัดสรรไว้ เพราะชาวบ้านรู้ว่านี่คือแหล่งทำมาหากิน
พิจารณาดูให้ดีจะพบว่าชาวบ้านไม่ใช่ผู้ทำลายป่า แต่การลดลงของพื้นที่ป่าส่วนใหญ่มาจากนโยบายการให้สัมปทานทำไม้ในอดีต ซึ่งมายกเลิกเมื่อต้นปี 2532 นโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายด้านความมั่นคงในอดีต นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลงมาก ส่วนประชาชนเป็นผลต่อเนื่องจากนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งต้องดูกันว่านโยบายมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงประโยชน์ในการใช้พื้นที่อย่างไร
เมื่อสังคมสามารถเข้าใจตรงนี้ได้ ผมคิดว่าทัศนคติจะเปลี่ยน เพียงแต่ว่าเวลานี้สังคมยังคล้อยตามกับแนวคิดของรัฐว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือผู้บุกรุก ซึ่งตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริง
++จริงๆ แล้วแผนแม่บทป่าไม้มีประโยชน์กับใคร
ข้อเท็จจริงและสาระสำคัญในแผนคือ การเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40% ของพื้นที่ประเทศ นั่นเท่ากับต้องเพิ่มเป็นจำนวน 26 ล้านไร่ โดยมาตรการในการเพิ่มพื้นที่ให้เป็นไปตามเป้าหมาย ในระยะปีที่ 1 คือการทวงคืนผืนป่า ซึ่งการทวงคืนดังกล่าวได้สร้างผลกระทบมาแล้วในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงชุมชนบ่อแก้ว
ในความเป็นจริงต้องมีการตรวจสอบว่าที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติจำนวน 1,221 ป่าสงวน มีการใช้ประโยชน์อย่างไร ใช้ประโยชน์โดยใคร และมีการเปลี่ยนแปลงการถือครองอย่างไร ต้องดูประวัติให้ชัดเจน ซึ่งเรามีเฉพาะตัวเลขว่ามีนายทุนเข้าไปถือครองต่อจากชาวบ้าน เช่น มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ มีการสวมสิทธิ์กัน เหล่านี้เป็นข้อมูลที่ยังไม่ปรากฏ หรือในกรณีที่ปรากฏก็เป็นข้อมูลฝ่ายเดียวจากทางหน่วยงาน ไม่มีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลของภาคประชาสังคมร่วมด้วย
แผนแม่บทพูดชัดเจนว่า จะดำเนินการกับนายทุนหรือผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่เข้าไปถือครองที่ดินของรัฐเป็นหลัก ส่วนชาวบ้านเป็นลำดับรองลงไป แต่ในทางปฏิบัติจริงกลายเป็นว่ามาเล่นงานแต่กับชาวบ้าน เกษตรกร ซึ่งหน่วยงานรัฐบางส่วนก็ยอมรับแล้วว่าที่ผ่านมาได้ข้อมูลจากกรมป่าไม้ จากกรมอุทยาน แต่เวลาดำเนินการก็เหมารวมไปทั้งหมด ไม่ได้จำแนกว่าตรงนี้มีที่มาที่ไปของการต่อสู้เรื่องสิทธิ์ มีกระบวนการแก้ปัญหาแล้วยังไง ตรงนี้นายทุนเข้ามาถือครองต้องดำเนินการยังไง ไม่มีการจำแนกแยกแยะ สุดท้ายก็ใช้กำปั้นเหล็ก
สิ่งที่สรุปได้ชัดสุดในเวลานี้คือประชาชนที่มีเรื่องพิพาทสิทธิ์ในเขตป่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนผลประโยชน์ที่หน่วยงานจะได้รับ คงไม่ต่างอะไรกับในอดีต เพราะเขาผูกขาดอำนาจอยู่แล้ว แผนแม่บทป่าไม้ก็เสริมแนวคิดเรื่องการผูกขาดอำนาจการจัดการป่าไว้ที่รัฐเหมือนเช่นในอดีตเท่านั้นเอง
++ทำไมการทวงคืนผืนป่าให้ได้ 40% จึงต้องดำเนินการเข้มข้นกันช่วงนี้
ผมคิดว่ามาตรการนี้ ทาง คสช. ได้มอบหมายให้ กอ.รมน. และกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้จัดทำแผนขึ้นมา อนุมัติในวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ความเร่งรีบตรงนี้ผมคิดว่าอาจมี 2 ส่วน คือเป็นการผลักดันของทางกรมป่าไม้หรือกรมต่างๆ ภายใต้การทำงานของกระทรวงทรัพยากรฯ ที่จะใช้ช่วงสถานการณ์พิเศษในการดำเนินการ ซึ่งอาจมีผลต่อเนื่องไปถึงงบประมาณ การนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ หรือไม่ อันนี้ยังประเมินไม่ได้ แต่สิ่งที่ปรากฏคือเป็นความเร่งรีบที่ทางกระทรวงเสนอ ผลักดันมา เพื่อที่จะยึดกุมพื้นที่ให้ได้
++ยกเรื่องงบประมาณขึ้นมา มีข้อสงสัยอะไรหรือ
สิ่งที่ควบคู่กันคือเรื่องของอำนาจกับผลประโยชน์ กฎหมายป่าไม้ทุกฉบับให้อำนาจเจ้าพนักงานเป็นผู้บริหารจัดการโดยเบ็ดเสร็จ นี่คือวิธีคิดแบบระบบกรรมสิทธิ์ของรัฐ เมื่อมีอำนาจแล้ว การเข้าไปจัดการย่อมมีเรื่องของงบประมาณ ผลประโยชน์ต่างๆ เรื่องนี้เป็นที่แน่ชัดว่ามีการตรวจสอบของกรรมาธิการเกษตรในอดีต เช่น เรื่องการปลูกป่าไร่ละ 3,000 บาท ในหลายพื้นที่มีการคอร์รัปชั่นงบประมาณไปจำนวนมาก
ต่อมาคือปลูกป่าแล้วไม่มีการติดตาม ไม่มีการบำรุงดูแล อัตราการรอดตายของไม้ที่ปลูกก็ไม่มีการประเมินผลอย่างแท้จริงว่าปัจจุบันมีเท่าไร อย่างโครงการฝายแม้ว ในหลายพื้นที่ที่เป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ก็ชัดเจนว่าได้รับงบประมาณจำนวนมาก แต่ไปดำเนินการจริงไม่ถึง 20% แล้วงบประมาณที่เหลือก็ไม่รู้ไปอยู่ตรงไหน
++การเข้ามาจัดการปัญหาของรัฐบาลจากการรัฐประหาร มีความแตกต่างจากรัฐบาลก่อนๆ อย่างไร
หลังรัฐประหารมีคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาพื้นที่ป่า คือคำสั่งที่ 64/2557 และ 66/2557 เมื่อเดือนมิถุนายน คำสั่งที่ 64 มุ่งเน้นการปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในขณะที่คำสั่งที่ 66 มีข้อยกเว้นสำหรับชาวบ้านผู้ไร้ที่ดินทำกิน ผู้มีรายได้น้อย แต่พอปฏิบัติจริง หน่วยงานก็เลือกใช้เฉพาะคำสั่งที่ 64 มาดำเนินการ ในกรณีของสวนป่าคอนสาร มีประกาศจังหวัดมาติดในพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ให้ออกจากพื้นที่ภายในหนึ่งเดือน หากพ้นกำหนดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด
ประเด็นคือเมื่อมีเรื่องที่กระทบสิทธิ์ การแสดงความเห็น การต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและนโยบายสาธารณะที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นวิถีปกติของชาวบ้านจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ ก็ถูกจำกัดอย่างเบ็ดเสร็จโดยกฎอัยการศึก หรือจะเป็น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
++ในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งชาวบ้านโดนไล่ออกไปแล้ว ชะตากรรมของพวกเขาหนักหนาสาหัสแค่ไหน
ในกรณีของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทป่าไม้ เฉพาะภาคอีสานที่เห็นชัดเจนที่สุดคือกรณีพี่น้องชุมชนเก้าบาตร ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ถูกเจ้าหน้าที่สนธิกำลังกันผลักดันออกจากพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ชะตากรรมของชาวบ้านส่วนใหญ่ที่เป็นคนไร้ที่ดินทำกินต้องระเหเร่ร่อนทำมาหากิน เช่น ไปรับจ้างก่อสร้าง ไปทำงานบริการในภาคใต้
บางส่วนไปทำงานที่ภาคตะวันออก มีรถตู้มารับในช่วงเช้าแล้วก็มาส่งในช่วงค่ำ ทั้งสามีภรรยาปล่อยลูกไว้เรียนหนังสือในหมู่บ้าน บางคนก็รับจ้างในท้องถิ่นของตัวเองเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว สภาพชีวิตทั่วไปเป็นแบบนี้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ พวกเขากำลังมีความฝันในการมีชีวิตใหม่ มีดินที่สักแปลงในการผลิต มีจินตนาการที่จะอยู่กันเป็นชุมชน
ในวันที่ 19 พฤษภาคม ปี 2552 ชาวบ้านเข้าไปอยู่ในพื้นที่หลังจากเอกชนได้หมดอายุสัญญาให้เช่าจากกรมป่าไม้ แต่แล้วปี 2557 มาตรการตามแผนแม่บทป่าไม้ก็ทำให้พวกเขาถูกไล่ออกมา ชีวิตกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง
และมีอีกหลายกรณี เช่น พี่น้องบ้านจัดระเบียบ อ.ภูพาน โดนทางการตัดต้นยางพาราไป 380 กว่าไร่ แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุก 37 ราย โดนทั้งคดีอาญา ทั้งการตัดฟันอาสินต่างๆ บางรายโดนรื้อบ้าน หรือ ที่ป่าสงวนแห่งชาติภูพาน อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์ ที่นี่ก็โดนตัดยางพาราไปจำนวนมากและถูกฟ้องดำเนินคดี และบางรายถูกจำคุก
++เพื่อไม่ให้อนาคตต้องถูกไล่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต้องแก้ไขที่จุดไหน และพอจะมีทางเยียวยาชาวบ้านได้หรือไม่
มาตรการระยะสั้นคือต้องยกเลิกแผนแม่บทป่าไม้ฉบับนี้ ยุติไปเลยให้ชัดเจน ลำดับต่อมาคือรากฐานความคิดในการผูกขาดการจัดการป่าของรัฐ ซึ่งมันไปปรากฏอยู่ในระเบียบ กฎหมายต่างๆ รวมถึงกฎหมายป่าไม้ 5 ฉบับ ซึ่งเรายื่นข้อเสนอให้มีการทบทวนมาตลอดในส่วนของภาคประชาชน ต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับบริบทสังคมปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการ ซึ่งอันนี้คือปัญหาสำคัญที่สุดของการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในประเทศไทย
ส่วนในเรื่องของการเยียวยา หนึ่ง… อย่างที่กล่าวไป เราพยายามยื่นข้อเสนอกับรัฐบาลให้มีการยกเลิกแผนแม่บทป่าไม้ในนามของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งปรากฏว่าจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุง ทบทวนสาระสำคัญที่เป็นปัญหาหรือข้อจำกัดในแผน สอง… เจรจาให้เกิดการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด มีองค์ประกอบของฝ่ายประชาชนและมีคณะกรรมการร่วม เพื่อศึกษาว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทจำนวนเท่าไร อย่างไร และจะมีมาตรการในการเยียวยาอย่างไร แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่มีหลักประกันว่าจะได้ผล เพราะการดำเนินการยังไม่มีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ
++มีเรื่องอะไรที่คุณคิดว่าสำคัญที่สุดและอยากสื่อสารไปถึงสังคม
ผมคิดว่าเรื่องสำคัญที่สุดคือทัศนคติของสังคม การมองประชาชนว่าเป็นผู้บุกรุก ผมคิดว่าข้อนี้เป็นปัญหาหลักของสังคมไทย ไม่ใช่เฉพาะเรื่องป่าไม้ แต่หมายถึงเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่ต้องมีความเท่าเทียม มันเป็นเรื่องที่ผู้คนในสังคมต้องเข้าใจให้มาก ศึกษาข้อเท็จจริงให้ละเอียด เพราะที่ผ่านมาสังคมมักคล้อยตามไปกับแนวคิดของรัฐที่ถูกปลูกฝังกันมานานว่า ชาวเขาหรือเกษตรกรเป็นผู้บุกรุก คือตัวการทำให้เกิดการลดลงของพื้นที่ป่า ในขณะที่ข้อเท็จจริง สังคมไม่ได้ดูเลยว่าการลดลงของพื้นที่ป่า การเสื่อมสภาพของทรัพยากรมันมาจากปัจจัยอะไรกันแน่ ถ้าหากว่าเราเข้าใจชัดเจนขึ้น สังคมก็น่าจะเกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
“ผมคิดตลอดเวลาว่าพวกเราเป็นคนหรือเป็นอะไร สัตว์บางชนิดเหนือกว่าคนอย่างพวกเรา เขาคุ้มครองมันทุกอย่าง ผมแค่อยากถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเอายังไงกับเราแน่ จะใช้การจัดการทรัพยากรร่วมกันแบบไหน จะให้เราลงทะเลหรือไปอยู่ตรงไหน ผมไม่ได้พูดเกินจริง คนเราจะอยู่ป่าหรือที่ไหนก็ได้ แต่ชุมชนต้องมีส่วนร่วม รัฐต้องพูดต้องทำกับเราด้วยความจริงใจ ไม่ใช่จะโยนความผิดให้ชุมชนอย่างเดียว”
นิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ่อแก้ว วัย 67 ปี ผู้ลงหลักปักฐานอยู่ที่ชุมชนบ่อแก้วแห่งนี้ ตั้งแต่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เข้ามาดำเนินการปลูกสร้างสวนป่า ตามเงื่อนไขการสัมปทานป่าไม้ ในปี 2521 และยังคงต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินตามสิทธิ์ที่ควรได้รับจนถึงทุกวันนี้