คุยกับเครือข่ายคนกรีดยาง: “แก้ปัญหายางพารา ต้องมองเรื่องคน ไม่ใช่ราคา”

คุยกับเครือข่ายคนกรีดยาง: “แก้ปัญหายางพารา ต้องมองเรื่องคน ไม่ใช่ราคา”

คุยกับเครือข่ายคนกรีดยาง สุวิทย์ ทองหอม

“แก้ปัญหาเรื่องยางพารา ต้องมองเรื่องคน ไม่ใช่ราคา”

 

20161101150011.jpg

 

มีมุมไหนของเรื่องปัญหายางพาราที่สังคมไทยไม่ค่อยได้รับรู้บ้าง?

ยางมันเหมือนเป็นมายา ว่าเจ้าของสวนยางต้องรวย คำเหล่านี้มันฝังอยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว แต่ลืมนึกไปว่า ยางปลูกในประเทศไทยมา 100 ปี 3 ชั่วรุ่น 25-30 ปี โค่น ตอนแรกอาจจะมีแปลงนาแปลงใหญ่ แต่ทุกวันนี้แบ่งมรดกสามชั่วรุ่น มันเลยเป็นยางแปลงเล็ก ดังนั้น บริบทยางภาคใต้เป็นยางแปลงเล็กเพราะปลูกมานาน ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบทะเล ตรงกลางเป็นภูเขา พื้นที่ปลูกยางจะน้อยมาก ที่เหลืออยู่คือป่าสงวน คืออุทยาน และดินทะเล การขยายพื้นที่ปลูกยางจึงน้อยมาก ยางที่มีอยู่เดิมก็ถูกแบ่งเป็นมรดกกลายเป็นยางแปลงเล็ก ยางแปลงเล็กบริบทในการแก้ปัญหานี่คนละเรื่องแล้ว ราคายางจะเป็นยังไงมันไม่ได้ตอบโจทย์แล้ว วันนี้มันต้องมาตอบคำถามว่า คนทำสวนยางมาตั้งแต่แรก ความมั่นคงชีวิตมันอยู่ตรงไหน ทำไมคนทำสวนยางต้องจนลง แต่คนซื้อยาง ไม่มียางตั้งแต่ต้นกลับรวยเอา รวยเอา มันคืออะไร มันต้องตอบตรงนี้ให้ได้ใช่มั้ย

 

ความมั่นคงในแง่ไหน?

ก็ตั้งแต่เรื่องชีวิต ความเป็นอยู่ สวัสดิการ ไม่ใช่อยู่กับกลไกการตลาดจะขึ้นหรือจะลง

 

เหมือนชาวนามั้ย? ที่พ่อค้าคนกลางรวย ชาวนาจน? จริงๆ ยางต่างจากข้าวมั้ย?

มันต่างกัน ยางมันมีภาษี มีเงินของมันอยู่ ข้าวไม่มีนะ การเก็บภาษีส่งออก เก็บทั้งหมดกองไว้แล้วมาจ่ายให้คนเฉพาะกลุ่ม แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ปลูกยาวอยู่ ยางทั้งหมดประมาณ 20-30 ล้านไร่ แต่ได้รับการชดเชยจริงๆ ไม่ถึง ภาษียางที่ส่งออกหรือที่เรียกว่า CESS เก็บทั้งหมดไม่ว่ายางนั้นจะปลูกไว้ที่ไหนในประเทศไทย เก็บหมดมากองไว้ แต่เวลาจ่ายคืน จ่ายคืนเฉพาะคนที่มีเอกสารสิทธิ์

 

คือไปเชื่อมโยงกับที่ดิน?

ใช่ แล้วคนที่ปลูกยางแต่ไม่มีเอกสารที่ดินมันมีเยอะมาก

ประเด็นที่เราเห็นในภาคใต้ที่เป็นปัญหาหนัก เป็นเรื่องของคน เรื่องความมั่นคงในชีวิต เรื่องที่ดินทำกิน เป้าหมายที่สุดของคนกรีดยาง คือต้องมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ทุกวันนี้เราศึกษาเรื่องชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า เมื่อยางโดนโค่น จากเกษตรกรกลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกินถาวร

 

สัดส่วนของคนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์กับคนที่มีเป็นเท่าไหร่?

ยังไม่มีตัวเลขนะที่แน่นอนนะ แต่ไปดูข้อมูลเรื่องที่ดินได้ เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินมันเท่าไหร่แล้วตอนนี้ เฉพาะที่ตรงเรานำเสนอให้ผู้ว่าฯไปสำรวจ 84,000 ครัวเรือนทำสวนยาง ที่ไม่มีสวนยางเป็นของตัวเอง 8,000 กว่า รวมกับมียางเล็กน้อยแล้วไปกรีดให้คนอื่นอีกเป็น 20,000 ครัวเรือน จากตัวเลข 84,000 นะ หลายเปอร์เซ็นต์ คนเหล่านี้ถ้าไม่มีความมั่นคงในชีวิตเรื่องที่ทำกิน เรื่องอาชีพจะอยู่ยังไง? โดยเฉพาะคนกรีดยาง ถึงช่วงที่เจ้าของสวนโค่นยาง เขาไปไหน? ต้องเร่ร่อน ชีวิตความเป็นอยู่ ต้นทุนด้านสังคมและสุขภาพมันมีอยู่ มีโรคประจำตัว เพราะทำงานภายใต้คาร์บอน คุณภาพชีวิตจะอยู่ยังไง? เราคำนึงมาก เพราะทุกวันนี้รายได้เขาต่อวันมันจะน้อย เพราะเขาทำงานเป็นครัวเรือน ไม่ใช่เป็นคน ตามตัวเลขที่ออกมามันอยู่ที่ 3,000 กว่าบาทต่อคน

 

ที่บอกว่าเป็นครัวเรือนนี่คือเป็นแรงงานทั้งบ้านเลย?

คนที่ไปกรีดยางเขาเข้าไปอยู่ในสวนทั้งครอบครัว ช่วยกันทำ แล้วมาเฉลี่ยกัน มองไม่เห็นทิศทางว่าในอนาคตจะมีความเป็นอยู่ยังไง จะส่งลูกเรียนยังไง ความมั่นคงในชีวิตไม่มีเลย แล้วเงินที่ได้มาเขาก็เอาไปซื้อข้าวสาร มันโยงกันไปหมด เดิมภาคใต้เรามีข้าวพอกิน แต่วันนี้ตั้งแต่ยางราคาขึ้น หลายคนเปลี่ยนไปปลูกยางกันหมด นาข้าวถูกเอาไปปลูกยาง ไม่มีข้าวกิน ทีนี้ก็ลำบาก เราเลยมาพูดว่าคนทำสวนยางมันต้องมีสวัสดิการ ตอนแรกก็มีคนท้วงติงว่า ถ้าทำสวัสดิการมันหมายถึงต้องเอาภาษีของพี่น้องทุกอาชีพมาใช้ เราบอกไม่ใช่มันมีเงิน CESS อยู่ แต่เงิน CESS จ่ายไม่ครบไงเมื่อก่อน เวลาเก็บเก็บทุกหยดของน้ำยาง แต่เวลาจ่ายคืน จ่ายคืนเฉพาะคนที่มีโฉนดที่ดินและให้ปลูกแทน แค่นั้นเอง แล้วคนที่เหลือจะทำยังไง? คนส่วนนี้จึงต้องได้รับการดูแล และอาชีพชาวสวนยางยังจะต้องมีอยู่ ต้องเอาเงินส่วนนี้เข้ามา

คนที่เป็นเจ้าของสวน ราคายางทรุดยังไงก็ยังมีที่ดิน แต่คนกรีดมันจะไม่มีอะไรเลย ยิ่งราคายางทรุดก็ต้องเป็นแรงงานอพยพ มันจะลำบากมาก วันนี้ที่เราเสนอ พ.ร.บ.การยางให้เอาคนกรีดยางเข้าไปรวมด้วยเมื่อถูกถึงชาวสวนยาง มันเลยเกิดมักผลของการที่รัฐบาลบอกว่าให้จ่ายเงินชดเชยไร่ละ 1500 บาท ก็จะต้องแบ่งให้คนกรีดยางด้วย แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่ครบน่ะนะ มันเป็นการเริ่มศักราชใหม่ของคนทำสวนยาง มันเปิดมิติใหม่ เริ่มมีการแก้ปัญหาแล้ว เริ่มเอาคนกรีดยางเข้ามา

วันนี้ที่เราทำในเครือข่าย เราเสนอว่ารัฐบาลต้องมาทำกองทุนข้าวสารให้เรามาบริหารจัดการ ทำให้เป็นรูปธรรม ให้เป็นโมเดล ตอนนี้ที่พัทลุงเป็นไปได้ เขาไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องข้าวสารแล้ว เพราะทุกวันนี้ที่เรียกร้องให้ยางขึ้นราคา ไม่ได้เอาเงินไปทำอะไรหรอก เอาไปซื้อข้าวสารกิน ถ้ามีกองทุนข้าวสารขึ้นมามันบอกว่าเรามีความมั่นคงชีวิตส่วนหนึ่งคือมีข้าวกินแน่ ส่วนการจัดการที่ดินในสวนยาง คุณปลูกพืชผสม มันก็มีรายได้เสริม อยู่ได้พอสมควร ถ้าเราทำได้แบบนี้มันน่าจะมีทางรอด เป็นทางเลือกให้ชาวสวนยาง

ถ้าถามว่าคนกรีดยางเยอะมั้ย  ลองมองง่ายๆว่า ถ้าคุณมีสวนยาง 30 ไร่ คุณกรีดเองไม่ได้หรอก ต้องมีอย่างน้อย 2 ครัวเรือนเข้าไปอยู่ เพราะข้อมูลงานเชิงวิชาการบอกว่า คนกรีดยางกรีดได้คนละ 10 ไร่ ถ้าคุณมี 30 ไร่คุณต้องจ้างคนกรีดแล้ว ยิ่งคนที่มี 100 ไร่ก็ยิ่งต้องมีคนกรีดเข้ามาเยอะ

เรามีความเชื่อว่า ยางจะราคาตกยังไง อาชีพชาวสวนยางต้องอยู่ จะเปลี่ยนอาชีพไม่ได้ มันเป็นเชิงวัฒนธรรมนะทางใต้น่ะ เป็นวิถีไปแล้วนะ การจะเปลี่ยนอาชีพมันไม่ใช่เรื่องง่าย

 

ทั้งๆ ที่ทิศทางตลาดโลกยางเหมือนจะล้นตลาดแล้ว?

เราเชื่อว่าคำพูดนั้นคือวาทกรรมที่มีคนพูดออกมาให้สังคมเชื่อ ในขณะที่ในครัวเรือนใช้ตลอด แล้ววันนี้รัฐบาลก็พยายามให้คนจนออกจากระบบยาง เช่น คนที่ขอทุนสงเคราะห์ ถ้าไม่อยากปลูกยางแล้ว ให้เงินเพิ่มไปปลูกปาล์มซะไป ออกจากระบบเลย จ้างให้ออก ไม่เห็นบริษัทใหญ่ๆ บอกฉันจะเลิกปลูกยางเลย มีแต่จะปลูกเพิ่มๆ กำลังจะผูกขาดยางใช่มั้ย?

ข้อมูลทางวิชาการมีเยอะ แต่ขาดการส่งเสริมที่เป็นจริงเป็นจังให้ชาบ้านทำได้ และมีการสร้างภาพว่าอุตสาหกรรมยางเป็นเรื่องของบริษัทยักษ์ใหญ่ เป็นของสูง เป็นของที่ชาวบ้านแตะไม่ถึง แต่ชาวบ้านเขาก็ไปอบรมทำฟองยางมา มันทำได้ ผมตอนแรกยังคิดว่า ทำอุตสาหกรรมยางมันต้องทำล้อรถ ล้อเครื่องบิน มันใหญ่มาก เรามีหน้าที่เพียงแค่กรีดยางส่งโรงงานผลิตอย่างเดียว แต่เอาเข้าจริงมันไม่ใช่ มันทำได้

 

แต่มีคนบอกว่ามันก็เหมือนเรือเล็กที่ไหลอยู่ในน้ำเชี่ยว ต่อให้มีกัน 85% ก็ต้องตายหมดอยู่ดี มันต้องเป็นเรือใหญ่เท่านั้นถึงจะรอด ตรงนี้คิดยังไง?

ถ้าเชื่ออย่างนั้นก็ไม่ต้องคิดใหม่เนอะ ดูยางรัดของ มันไม่จำเป็นต้องสร้างโรงงานขนาดใหญ่เลย มันทำเป็นอุตสาหกรรมเล็กๆ ทำใต้ถุนได้ แล้วไม่มีเทคโนโลยีชั้นสูงเลย

อุตสาหกรรมมันต้องอยู่ใต้ถุน ไม่ใช่อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม ต้องอยู่ใต้ถุนบ้าน ไม่ใช่ทำอุตสาหกรรมแล้วไล่คนออกจากชุมชน มันต้องให้ชาวบ้านทำได้ แปรรูปได้ เล็กๆ น้อยๆ ต้องทำได้

แต่ปัญหาหนึ่ง คือ คนยังไม่ตื่นรู้  คิดว่ายางไม่ใช่ปัญหาเราเป็นปัญหาที่ผู้มีอำนาจต้องแก้ ยังไม่ตื่นรู้ว่าเราจะจัดการตัวเองได้ยังไง ตอนปีที่แล้วที่ให้ขึ้นราคายาง พอถามชาวบ้าน ถามคนกรีดยาง เขายังบอกว่าขอให้ยางขึ้นราคา ผมเลยถามว่า แล้วยางคุณมีกี่แผ่น เขาบอกว่า ไม่มี เขาขายน้ำยางสด ผมถามว่า งั้นคุณเรียกร้องเพื่อใครล่ะ? เขาตอบ ไม่รู้ เห็นเขาพูดอย่างนั้น ความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่รู้จักแม้กระทั่งตัวเองว่าเราคือใคร หลายคนบอกราคายางแผ่นรมควันต้องเท่านั้น เท่านี้ ผมถามคุณทำกี่แผ่น เขาบอกฉันไม่เคยทำยางแผ่นรมควันเลย ถามกลับไปว่าแล้วยางแผ่นรมควันเป็นของใคร? ของบริษัทส่งออก เพราะฉะนั้นวันนี้ปัญหาคุณคืออะไร ถามไปถามมา บอกว่า ปัญหาฉันคือไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ดินทำกินของตัวเอง ลูกไม่ได้เรียน สุขภาพร่างกายย่ำแย่ ผมบอก นี่แหละปัญหาของคุณ

ทุกวันนี้ บางทีเราเรียกร้องเพื่อใครไม่รู้ ถ้าเรียกร้องวันนี้ ยางจะแก้ปัญหาเดือนกุมภา มีนา ยางปิดกรีด ไม่มียางชาวบ้านแล้ว รัฐบาลขึ้นราคามาได้ใคร? เป็นอย่างนี้มาตลอด พาราไดม์คิดเรื่องยางมันต้องเปลี่ยน ต้องมาคิดเรื่องคน ถ้าคิดแต่เรื่องราคา เราจะกลายเป็นเครื่องมือของใครก็ไม่รู้ตลอด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ