ชาวนายุคโควิด ชีวิตมีหนี้ นักวิชาการระดมหาทางออก แนะรัฐร่วมหนุนทุกมิติ

ชาวนายุคโควิด ชีวิตมีหนี้ นักวิชาการระดมหาทางออก แนะรัฐร่วมหนุนทุกมิติ

งานศึกษาของมูลนิธิชีวิตไท พบเกษตรกรมีปัญหาชำระหนี้จากสถานการณ์โควิด ซ้ำถูกเจ้าหนี้นอกระบบเอาเปรียบเพราะไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย แนะภาครัฐ-หน่วยงานเกี่ยวข้องส่งเสริมศักยภาพเกษตรกร สร้างกติกาให้ชัด ปรับสินเชื่อให้สอดคล้องกับวิถีการผลิต

23 ก.พ. 2564 มูลนิธิชีวิตไทจัดโครงการเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง “ชีวิตหนี้ นิยามใหม่การปรับตัวชาวนายุคโควิด-19” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทยในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2563 ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ปี 2563 พบว่า ครัวเรือนชาวนาส่วนใหญ่มีภาวะหนี้สินสูง เฉลี่ย 3.4 ก้อน และมีหนี้คงค้างเฉลี่ย 416,143 บาทต่อครัวเรือน โดยครัวเรือนร้อยละ 50 มีหนี้สินคงค้างเกิน 300,000 บาท และร้อยละ 30 มีหนี้สินคงค้างเกิน 600,000 บาท โดยมาจาก 3 แหล่งหลัก คือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สหกรณ์และกองทุนหมู่บ้าน และหนี้นอกระบบ

จากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาในปี 2563 พบว่า ทำให้เงินโอนจากสมาชิกในครัวเรือนชาวนาลดลงจากปกติเฉลี่ยเดือนละ 5,309 บาท เหลือเพียงเฉลี่ยเดือนละ 2,541 บาท ทำให้ครัวเรือนเกษตรเกือบร้อยละ 60 เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้

เพ็ญนภา หงษ์ทอง นักวิชาการอิสระ นำเสนอ งานศึกษาบทเรียนกระบวนการยุติธรรมคดีหนี้เกษตรกรว่า เกษตรกรไม่มีความเข้ารู้เรื่องกฎหมายและไม่ตระหนักถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ผลสุดท้ายจึงจบลงด้วยการประนีประนอมที่ฝ่ายโจทก์หรือเจ้าหนี้เป็นฝ่ายได้เปรียบและเกษตรไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะเจ้าหนี้นอกระบบที่มักใช้วิธีแปลงให้เป็นหนี้ในระบบด้วยการนำใบมอบอำนาจไปจดจำนองที่ดินของเกษตรกรเอง

เพ็ญนภากล่าวว่า หากเกษตรกรมีนักกฎหมายคอยช่วยเหลือแนะนำจะช่วยให้เกิดการประนีประนอมที่เป็นธรรมกับฝ่ายจำเลยมากขึ้น

ด้านจารุวัฒน์ เอมซ์บุตร SIAMLab คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งศึกษาเรื่อง “บทเรียนการบริหารจัดการหนี้เพื่อรักษาที่ดินของเกษตรกร” กล่าวว่าปัจจัยส่วนบุคคลของตัวเกษตรกร เช่น ความซื่อสัตย์ การใจสู้ และครอบครัวที่คอยสนับสนุนมีผลต่อการชำระหนี้ พร้อมกับต้องหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อหารายได้เสริม ประหยัดต้นทุน และเรียนรู้วิธีบริหารจัดการทรัพย์สิน ทั้งนี้ บทบาทของผู้นำกลุ่มกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรยังมีส่วนสำคัญมากอีกด้วย

จารุวัฒน์เสนอว่าภาครัฐจะต้องจัดทำแนวทางพัฒนาเกษตรกรใน 3 ด้านเพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน ได้แก่ ด้านการสื่อสาร ด้านทุนสนับสนุน และด้านข้อมูลข่าวสาร

ขณะที่เกียรติศักดิ์ ยั่งยืน นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เกษตรกรจะออกจากวงจรหนี้หรือบรรเทาลงได้ต้องปรับตัวใน 2 ด้านหลักคือการปรับตัวในการผลิตสู่ระบบอินทรีย์ ตั้งแต่การบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดิน ปรับระบบเกษตรกรรมสู่การทำนาอินทรีย์ ปรับตัวสู่การเป็นชาวนานักคัดและปรับปรุงพันธุ์ข้าว อีกด้านคือการพัฒนาช่องทางการตลาดผลผลิตอินทรีย์ให้หลากหลาย

ด้าน ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรติดอยู่ในวงจรหนี้สินคือการมีผลิตภัณฑ์หรือสินเชื่อทางการเงินที่ไม่เหมาะสมกับลักษณะอาชีพ ดังนั้น เธอจึงเสนอว่าสินเชื่อและการชำระหนี้ของเกษตรกรควรมีความยืดหยุ่น เช่น ชำระตามรอบการผลิตเพื่อให้รอบรายรับกับรายจ่ายในการทำเกษตรได้สอดคล้องกันมากขึ้น หรือมีการกำหนดแรงจูงใจอย่างการลดดอกเบี้ยบางส่วน การลดต้นลดดอก หรือมีรางวัลให้กับเกษตรกรที่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ก่อนครบกำหนดชำระในเดือนมี.ค. สำหรับหนี้ ธ.ก.ส. เป็นต้น

นอกจากนี้ยังต้องให้องค์ความรู้การบริหารจัดการหนี้สินแก่เกษตรกร การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย รวมถึงเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอย่างการทำประกันภัยพืชผลหรือการใช้เทคโนโลยีเก็บข้อมูลในพื้นที่มาประมวลผลเพื่อคำนวณแนวโน้มผลผลิตในแต่ละรอบการผลิต

ในส่วนเกษตร บุญชู มณีวงษ์ จากกลุ่มพันธมิตรเกษตรกรบ้านนางบวช จ.สุพรรณบุรี และสุนทร คมคาย จากกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี ที่ปรับตัวจนสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้มีแนวทางคล้ายคลึงกันคือการเพิ่มความรู้ด้านการบริหารจัดการเงินและหนี้สิน ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้เสริมผ่านช่องทางต่างๆ  จนหนี้ที่มีอยู่บรรเทาลงไปมาก

“ผมคิดว่าการทำเกษตรอาจต้องมีหลายช่องทางเพื่อกระจายความเสี่ยงในการจัดการ ตอนกู้ก้อนโตอาจต้องวางแผนใช้หนี้เพราะบางอย่างต้องอาศัยเวลา เช่น การกู้มาพัฒนาแหล่งน้ำหรือที่ดินจะไม่ให้รายได้ในเร็ววัน แต่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่มาก แล้วในวงการเกษตรมันแปรปรวน มีความเสี่ยงสูง ผมมีความรู้ ทำเกษตรเป็น ช่วงแรก ๆ ก็แทบเอาตัวไม่รอด ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ สำคัญสุดคือการตลาด เราจะชัดเจนว่าจะปลูกอะไรและขายได้แน่นอน ลดความเสี่ยงว่าจะใช้หนี้ไม่ได้ ทำช่องทางผลิตให้มีความหลากหลายและรู้ว่าจะขายได้เท่าไหร่” สุนทรกล่าว

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ นำเสนอนโยบายและกลไกการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร 3 ขั้นตอนว่า ขั้นตอนแรกต้องปรับแก้กติกาหรือสัญญาสินเชื่อ ระบบติดตาม และบังคับหนี้สินให้มีความเป็นธรรม เช่น การกำหนดให้สถาบันการเงินแสดงรายละเอียดการคำนวณดอกเบี้ยค้างชำระ ดอกเบี้ย ปรับ และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ให้ชัดเจนและโปร่งใส ต้องเข้มงวดกับการห้ามทำสัญญาเงินกู้ใหม่ที่รวบเอาเงินต้นและดอกเบี้ยเดิมมาเป็นยอดเงินต้นก้อนใหม่

ประการที่ 2 ต้องมีการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อปรับโครงสร้างหนี้สินโดยกลไกปกติ การเพิ่มแรงจูงใจของสถาบันการเงินและลูกหนี้ในการเข้าร่วมไกล่เกลี่ยหนี้สิน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการฟ้องร้องดำเนินคดี

และประการสุดท้าย ต้องเพิ่มทางเลือกและขีดความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกร เช่น การเข้าถึงตลาดที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นและมีความแน่นอนมากขึ้น การจัดการโครงสร้างการผลิตให้สามารถจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงมีช่องทางเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อปรับโครงการสร้างการผลิตและการตลาด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ