คำต่อคำมติพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 กุมภาฯ

คำต่อคำมติพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 กุมภาฯ

 
 
คำต่อคำมติพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557
 
ผมจะขออนุญาตแถลงมติของพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ขออนุญาตว่า การแถลงอาจจะยาวสักนิดนึง เพราะว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แล้วก็มีความจำเป็นในการทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ก็ตาม 
 
ผมเรียนว่า วันนี้ที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารพรรค และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ได้มีมติว่า พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปี 2557 
 
มตินี้เป็นข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากการพิจารณา และกระบวนการที่มีความรอบคอบและการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อย่างแท้จริง โดยในการประชุมนั้นได้มีการรายงานจากเลขาธิการพรรคฯ ซึ่งได้มีการสอบถามความคิดเห็นของสาขาพรรคทั่วประเทศ ต่อกรณีการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น และแนวทางของพรรคฯ รวมไปถึงการให้รองหัวหน้าพรรคในทุกภาค ซึ่งได้มีการไปประชุมปรึกษาหารือกับอดีต สส. ของแต่ละภาค ความเห็นของทุกฝ่ายไปในทางเดียวกัน คือเห็นพ้องต้องกันว่า พรรคฯ ไม่สมควรส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง 
 
เหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจเช่นนี้ เพราะวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้มองเห็นว่าการเมืองของประเทศไทยได้อยู่ในภาวะที่ล้มเหลว มาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 8 – 9 ปี สืบเนื่องจากระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการทางประชาธิปไตยได้ถูกบิดเบือนโดยบุคคลบางกลุ่ม และทำให้วันนี้พี่น้องประชาชนนั้นขาดความศรัทธาในระบบพรรคการเมือง และในระบบการเลือกตั้ง 
 
หากสภาพดังกล่าวยังดำรงต่อไป นั่นหมายความว่าการเมืองไม่มีการเปลี่ยนแปลง บ้านเมืองไม่มีการปฏิรูป เราก็จะตกอยู่ในสภาพที่ปัญหาการเมืองที่ล้มเหลว ความขัดแย้ง สุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง และความสูญเสีย และการทุจริตคอร์รัปชั่น เบียดบังผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนจะดำรงไปอย่างต่อเนื่อง 
 
พรรคประชาธิปัตย์ต้องการหยุดภาวะการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแบบนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยอมรับว่าใน 8 – 9 ปี ที่ผ่านมา เราได้พยายามแก้ไขปัญหาสภาพการเมืองที่ล้มเหลวอย่างนี้ แต่วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ต้องหาแนวทางที่จะทำให้เราแก้ไขปัญหานี้ได้จริง และให้คำตอบแก่ประชาชน ประเทศไทยได้สูญเสียโอกาส มาตลอดระยะเวลาของภาวะการเมืองที่ล้มเหลวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการทุจริต คอร์รัปชั่น ทั้งในแง่ของนโยบายที่ล้มเหลว ซึ่งเป็นการตัดโอกาสของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ และเป็นการตัดโอกาสของประเทศไทยในภาพรวม ที่จะก้าวเข้าสู่การพัฒนา ที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องคนไทยทุกคนดีขึ้น 
 
พรรคประชาธิปัตย์มองว่าสภาพการเมืองที่ล้มเหลวต่อเนื่องมาในปัจจุบันนี้เป็นปัญหาซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ยังทำหน้าที่รักษาการอยู่ เป็นผู้ที่ทำให้เกิดวิกฤติ ทั้งๆ ที่มีโอกาสจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาที่จะนำพาบ้านเมืองให้พ้นจากสภาพการเมืองที่ล้มเหลว โดยอาศัยเสียงสนับสนุนของประชาชนในขณะนั้น แก้ปัญหาให้กับประชาชน พัฒนาเศรษฐกิจ กลับปรากฏว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอกย้ำให้เห็นว่า พรรคการเมือง นักการเมือง ที่เข้ามาแสวงอำนาจ เมื่อได้รับอำนาจ และความไว้วางใจนั้นไป กลับใช้ไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง ครอบครัว และพวกพ้อง 
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการยอมให้มีการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมในสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำได้กระทั่งการล้างความผิดให้กับคนที่ทุจริต คอร์รัปชั่น และได้มีการตัดสินแล้วโดยศาล รวมไปจนถึงความพยายามแก้ไขกติกาสูงสุดของประเทศ บิดเบือนโครงสร้างอำนาจ ต่างตอบแทนกับนักการเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง คือสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่ง หวังผลที่จะให้ตนเองนั้น เข้าสู่อำนาจ และครองอำนาจตลอดไป และใช้อำนาจนั้นกอบโกยผลประโยชน์ และเอื้อผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้องของตนเอง 
 
แม้เมื่อศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบได้วินิจฉัย ก็กลับแสดงท่าทีไม่ยอมรับอำนาจศาล และยังคิดแสวงหาหนทางในการที่จะบรรลุเป้าหมาย ในการแก้ไขปัญหาให้กับตนเอง ครอบครัว และในการที่จะแสวงหาอำนาจ และผลประโยชน์อย่างต่อเนื่องต่อไป 
 
พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำหน้าที่ของเราในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเต็มความสามารถ สามารถชะลอ สามารถยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นหลายอย่างที่ถ้าหากว่าไม่มีฝ่ายค้านที่เข้มแข็งแล้ว ก็คงจะทำให้บ้านเมืองในปัจจุบันนั้นอยู่ในสภาพที่เสียหายเป็นอย่างมากเช่น กฎหมายนิรโทษกรรม ก็อาจจะผ่านไปแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของสมาชิกวุฒิสภาก็อาจจะผ่านไปแล้ว หรือการกู้ยืมเงินที่จะทำให้คนไทยเป็นหนี้ถึง 50 ปี ก็อาจจะผ่านไปแล้ว 
 
แต่ในที่สุดแม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้แสดงบทบาทดังกล่าว วิกฤติศรัทธาที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ก่อขึ้นได้ส่งผลลุกลามไปสู่วิกฤติศรัทธาที่มีต่อพรรคการเมืองโดยรวม ทำให้พรรคประชาธิปัตย์มองว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะเกิดขึ้นนี้ ไม่อาจจะเป็นการเลือกตั้งที่ให้คำตอบแก่ประเทศได้ ไม่อาจจะเป็นการเลือกตั้งที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศ ให้หลุดพ้นจากวงจรดังกล่าวได้ และไม่อาจจะทำให้พี่น้องประชาชนกลับมามีศรัทธา ในระบบพรรคการเมือง และสภาผู้ราษฎรที่จะได้รับการเลือกตั้งขึ้นมาได้ 
 
ผมกราบเรียนว่าการลุกลามของวิกฤติศรัทธาที่มีต่อพรรคการเมืองในครั้งนี้ ส่งผลให้แม้พรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ไม่อาจที่จะตอบโจทย์ หรือคลายวิกฤติศรัทธาดังกล่าวไปได้ และผมเรียนอย่างตรงไปตรงมาว่า ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นต้นมา ผมและพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดว่าจะหาแนวทางอย่างไร ให้สามารถกอบกู้ศรัทธาของพี่น้องประชาชนให้มาสนับสนุนการเลือกตั้ง และรัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ 
 
ผมและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ค้นพบความจริงว่า การที่พรรคการเมืองจะลงสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ ประชาชนกลับมองว่าเป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจแบบเดิมๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ผมได้ใช้ความพยายามถึงขั้นว่าจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อพิสูจน์ว่าสภาพความรู้สึกดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ ผมได้ใช้ความพยายามครับ อาสาตนเอง อาสาว่าพรรคฯ จะเป็นเครื่องมือในการปฏิรูป เพราะผมเชื่อว่าการปฏิรูปก็ดี การต่อสู้กับระบอบทักษิณก็ดี ในขั้นสุดท้ายจะประสบความสำเร็จได้อย่างไรก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากพี่น้องประชาชนไม่ผ่านกระบวนการประชามติ ก็เป็นกระบวนการการเลือกตั้ง แต่วันนี้มันไม่สามารถเริ่มต้นได้ ภายใต้การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภา 
 
ผมได้พยายามถึงขั้นที่ว่าค้นหาบุคคลที่ผมมั่นใจว่าประชาชนให้ความเชื่อมั่นที่สุดว่าจะมาสามารถนำการปฏิรูปได้ เสนอแนวทางว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยให้บุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สามารถคัดเลือกรัฐมนตรีที่จะมาขับเคลื่อนในเรื่องการปฏิรูปได้อย่างเต็มที่ เป็นอิสระ อาสาตัวว่าพรรคประชาธิปัตย์จะทำหน้าที่เพียงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาฯ เป็นเสียงข้างมากที่จะสนับสนุนให้การปฏิรูปเกิดขึ้น ประสบความสำเร็จ และมีการคืนอำนาจให้แก่ประชาชนต่อไป 
 
แต่สุดท้ายบุคคลที่จะได้รับความเชื่อถือ ที่เราได้มีการไปพูดคุยก็ดี ความรู้สึกของประชาชนที่ผมได้ไปสอบถามก็ดี ก็ยังยืนยันว่า แม้จะกระทำการดังกล่าว ก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งได้ ผมได้เข้าไปร่วมในเวทีสานเสวนา ก็มีตัวแทนจากภาคธุรกิจ จากภาคประชาชนที่ยืนยันว่า มาถึงวันนี้การจะไปสัญญาว่าจะมีการปฏิรูปหลังการเลือกตั้งโดยพรรคการเมืองก็ดี แม้จะมีสัตยาบันก็ดี แม้จะสัญญาว่าจะไม่อยู่ครบ 4 ปีก็ดี วันนี้ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความเชื่อถือ ที่จะทำให้การปฏิรูปสำเร็จลงได้ 
 
ผมเรียนตรงไปตรงมาว่า ในฐานะพรรคการเมืองที่มีความเชื่อในเรื่องการปฏิรูป ผมก็รู้สึกเสียใจ เพราะการปฏิรูปหลักๆ หลายอย่างนั้น พรรคฯ พยายามดำเนินการมาแล้ว รัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงที่มีอำนาจ เคยเสนอกฎหมายหลักๆ ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปมาแล้ว เช่น ทำให้ความผิดทางทุจริตไม่มีอายุความ เช่น การจะปรับ ปฏิรูประบบภาษี ให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินและทรัพย์สิน รวมไปถึงข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการปฏิรูป ที่เป็นคณะกรรมการอิสระที่ตั้งขึ้นในอดีต แต่แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีประวัติของการทำงานสนับสนุนการปฏิรูปอย่างชัดเจน ถึงวันนี้ผมยอมรับความเป็นจริงว่าประชาชนไม่เชื่อว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้แล้ว จะสามารถทำให้การปฏิรูปต่างๆ เกิดขึ้นได้ 
 
เขามองว่าการปฏิรูปเกิดขึ้นไม่ได้ ระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนพยายามสนับสนุนนั้น ถูกขัดขวางโดยระบอบทักษิณ ทำให้วันนี้ตกอยู่ในสภาพที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะลงเลือกตั้งหรือไม่ ไม่สามารถไปตอบคำถามเรื่องความชอบธรรมของการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ 
 
ผมอยากให้ท่านทั้งหลายลองพิจารณาว่า ถ้าวันนี้มาบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้ง แล้วการเลือกตั้งชอบธรรม หรือพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงสมัคร แล้วการเลือกตั้งไม่ชอบธรรมนั้น ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นครับ วันนี้เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจไม่ลงเลือกตั้งแล้ว การเลือกตั้งจะชอบธรรมหรือไม่ ประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบ ถ้าผม และพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ประชาชน 7 – 80 – 90% ตัดสินใจไปเลือกตั้ง และเลือกพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง สภาชุดนี้ และรัฐบาลชุดต่อไปที่จะเกิดขึ้น ก็จะชอบธรรมครับ แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ประชาชนตัดสินใจแล้วว่า เขาไม่ไปใช้สิทธิ์ หรือเขาไปใช้สิทธิ์ไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใครเป็นจำนวนมาก สภาที่เกิดขึ้น รัฐบาลที่เกิดขึ้นก็ไม่อาจมีความชอบธรรมได้ 
 
วันนี้ประชาชนจำนวนมากแล้วครับ ผมไม่มานั่งเถียงว่า จำนวนคนกี่คนเป็นเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อย แต่ประชาชนจำนวนมากเพียงพอ ได้แสดงออกแล้วว่า เขามองว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เขาไม่อาจไปรับรองความชอบธรรมของมันได้ ทำให้ผมต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าผมลงสมัครรับเลือกตั้ง ผมไปเป็นอะไร ผมลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อไปเป็นผู้แทนราษฎรครับ แต่ถามว่า ถ้าผมลงสมัครรับเลือกตั้งวันนี้ใครคือราษฎรที่ผมจะไปเป็นตัวแทนของเขา ราษฎรที่เชื่อในระบอบทักษิณ ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เขามีตัวแทนอยู่แล้วครับ แต่ราษฎรที่ประสงค์จะเห็นการปฏิรูป วันนี้ผมลงสมัครรับเลือกตั้ง เขาไม่มองว่าผมเป็นตัวแทนของเขา เขามองว่าผมไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการต่ออายุให้กับการเมืองที่มันล้มเหลว ที่มันขัดแย้ง ที่มันไม่ตอบโจทย์ของประเทศ 
 
พวกเราจึงตัดสินใจว่าวันนี้เราจะเดินเข้าสู่เส้นทางของการเป็นพรรคการเมืองที่จะเคียงคู่ไปกับการปฏิรูปประเทศ หมายความว่า การไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้บอกว่าจะไปขัดขวางการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีจุดยืนที่จะไปขัดขวางการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีจุดยืนที่จะไปสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงใดๆ นอกรัฐธรรมนูญ แต่พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมที่จะบอกว่าเส้นทางการปฏิรูปวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ต้องลงไปทำงานกับประชาชน จะทำเป็น 3 ขั้นตอนครับ 
 
1. คือการไปให้ข้อเท็จจริง ระดมสมอง รับฟังความคิดเห็นกับประชาชนว่า ประเทศจะต้องปฏิรูปอย่างไร ซึ่งตั้งหัวข้อไว้แล้วครับ ตั้งแต่เรื่องการขจัดการทุจริต คอร์รัปชั่น การปฏิรูปการเมืองระดับชาติ ให้เป็นที่นิยม เป็นที่เชื่อถือ เป็นที่ศรัทธาของประชาชน การปฏิรูปการเมืองท้องถิ่นให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น การปฏิรูปเศรษฐกิจที่ต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูประบบภาษี ระบบการถือครองทรัพย์สิน ที่ดิน ระบบพลังงาน หรือการแก้ไขปัญหาความยากจน การปฏิรูปทางด้านการศึกษา การปฏิรูปในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมต้นน้ำ ที่ต้องไม่เป็นเครื่องมือของภาครัฐ รวมไปจนถึงการปฏิรูปสื่อ และการปฏิรูปอื่นๆ ที่มีความจำเป็น 
 
เมื่อเรารับฟังความคิดเห็นแล้ว มาขัดเกลาเป็นนโยบายแล้ว วันข้างหน้าครับ อาจจะผ่านกระบวนการประชามติ หรืออาจจะผ่านกระบวนการของการเลือกตั้งที่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวแทนของวาระการปฏิรูปอย่างนี้ เราก็จะกลับไปลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อเป็นตัวแทนของการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างแท้จริง 
 
ผมทราบดีครับว่าฝ่ายตรงกันข้ามจะกล่าวหาสารพัดว่าการตัดสินใจครั้งนี้เต็มไปด้วยเหตุผลอื่น แต่ผมกราบเรียนว่า ข้อเท็จจริงคือข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงเหล่านี้จะถูกบิดเบือนไม่ได้ บางคนบอกประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะก่อนที่ผมมาเป็นหัวหน้าพรรค ไม่เคยคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ไม่จริงครับ 
 
2495 ทำมาแล้ว หัวหน้าพรรคคนแรก เพราะเห็นสภาพการเมืองที่ล้มเหลว ไม่ต้องการไปรองรับความชอบธรรม ยุคผมเกิดขึ้นเมื่อปี 2549 พิสูจน์แล้วครับว่า ขนาดพวกผมไม่ลงเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทย แข่งกับตัวเอง ยังทุจริต จนเป็นที่มาของการยุบพรรคไทยรักไทย และศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยชัดเจนว่า สิ่งที่พรรคไทยรักไทยทำในขณะนั้น บ่อนทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอ่างไร 
 
วันนี้สภาพการเมืองไม่แตกต่างครับ พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ทรยศต่อประชาชนด้วยการผ่านกฎหมาย หรือพยายามผ่านกฎหมายนิรโทษกรรม แก้รัฐธรรมนูญเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวเอง เกิดวิกฤติคนจำนวนมากออกมาคัดค้านบนท้องถนน ไม่มีแม้แต่คำเดียวที่แสดงออกถึงความสำนึกว่าได้กระทำผิดไปแล้ว วันนี้จะมายืนยันว่า จะตั้งสภาปฏิรูป จะลงสัตยาบัน จะขอให้รัฐบาลชุดใหม่มีอำนาจอยู่เพียง 2 ปี ไม่มีความน่าเชื่อถือหลงเหลืออยู่แล้ว นอกจากผมจะพยายามหาแนวทางในการลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อให้เกิดการปฏิรูป 2 วัน 3 วัน ที่ผ่านมา ผมยังพยายามร้องขอต่อพรรคการเมืองอื่นๆ ว่า เห็นชัดอยู่แล้ว ถ้าไม่หลอกตัวเองว่าประชาชนเขาเสื่อมศรัทธาในการเมืองที่ล้มเหลวแล้ว ทำไมเราไม่มาแสวงหาหนทาง อย่างน้อยที่สุดเลื่อนการเลือกตั้งออกไป เพื่อหาคำตอบให้กับประเทศ ก็ถูกปฏิเสธ 
 
การเลือกตั้งที่จะเป็นคำตอบนั้น 1. ต้องเป็นการเลือกตั้งที่เป็นธรรม 2. ต้องเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น และ 3. ต้องเป็นการเลือกตั้งที่นำไปสู่ความหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น วันนี้ 2 กุมภา ไม่ตอบโจทย์ทั้ง 3 ข้อ รัฐบาลยังลุแก่อำนาจ ทำการเมืองเหมือนเดิม มีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว ใช้สถานะความเป็นรัฐบาลทัวร์หาเสียง ใช้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ใช้อำนาจซึ่งไม่ชอบ คุกคาม คู่แข่งขันทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรียกคณะไปหากรรมการการเลือกตั้ง เปลี่ยนเสียงคณะกรรมการเลือกตั้ง ซึ่งเดิมเปิดทางว่าน่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้งได้ มาสู่การต้องจำยอมว่า รัฐบาลยืนยันการเลือกตั้ง แม้ กกต. บอกว่าอาจจะนำไปสู่วันมหาโกลาหน สภาพอย่างนี้ ตอบโจทย์ประเทศไม่ได้ นำไปสู่การปฏิรูปประเทศไม่ได้ เรียกความศรัทธาคืนจากพี่น้องประชาชนไม่ได้ครับ 
 
ผมจึงบอกว่าเราไม่ขัดขวางการเลือกตั้ง แต่พรรคการเมืองอื่น นักการเมืองคนใดลงสมัครรับเลือกตั้งในวันนี้ ประกาศตัวท่านเองไปให้ชัดเลยครับว่า ท่านขอต่ออายุระบอบทักษิณ กับต่ออายุการเมืองที่ล้มเหลว ประกาศไปให้ชัดเลยครับ แล้วทำไปเถอะครับ ตามกติกาที่ท่านคิดว่ามันถูกต้อง เมื่อตั้งสำเร็จ มีสภา ตั้งรัฐบาล ทำไปเถอะครับ แต่พวกผมจะรอว่าพลังของการปฏิรูปเข้มแข็ง ที่จะกลับมาเอาชนะ และชะล้างสิ่งเหล่านี้ให้หมดไปจากประเทศไทย พวกผมไม่แสวงหาอำนาจใดๆ นอกรัฐธรรมนูญ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ผมไม่สนับสนุน และได้ประกาศไปแล้วว่าไม่สนับสนุน พวกผมไม่รับตำแหน่ง เลือกตั้งสำเร็จท่านก็ว่าของท่านไปครับ แต่พวกผมจะรอคอยวิถีทางประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่จะมาแข่งขันเสนอตัวเข้ามาสู่อำนาจ 
ผมสรุปสั้นๆ ว่า วันนี้การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะต้องการให้โอกาสในการกอบกู้ศรัทธาของประชาชนที่พึงจะมีต่อพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา บ้านเมืองมาถึงวันนี้ เพราะรัฐบาลทรยศต่อความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้ อย่าให้ฝ่ายค้านต้องทำเหมือนรัฐบาลเลยครับ หลังปฏิรูปต้องมีพรรคการเมือง หลังปฏิรูปต้องมีสภา ขอให้มีพรรคการเมืองสัก 1 พรรคเถอะครับ ที่พิสูจน์กับประชาชนว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่ทำเพื่อประชาชน ไม่ได้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง เห็นแก่การเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทางที่ดีขึ้น มากกว่าการช่วงชิงอำนาจ พร้อมที่จะอดทน พร้อมที่จะรับสภาพและผลที่ตามมากับการตัดสินใจที่ทำให้เรามีข้อจำกัดมากขึ้นในการเคลื่อนไหวในฐานะพรรคการเมือง แต่เชื่อว่า เรากำลังกลับไปหลอมรวมพรรคการเมืองให้เห็นหนึ่งเดียวกับประชาชนที่จะกลับมาปฏิรูปประเทศ 
 
ผมขออภัยพี่น้องประชาชน ที่อาจจะมีความตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ผมไม่ได้คิดหรอกครับว่า ถ้าผมลงเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว แปลว่าผมจะแพ้หรือเป็นฝ่ายค้าน ผมเชื่อด้วยซ้ำว่า ในสถานการณ์ ถ้าบ้านเมืองปกติ ลงเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะได้คะแนนเสียงอาจจะมากที่สุดตั้งแต่มีพรรคประชาธิปัตย์มา ผมเชื่อด้วยว่า ลงเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ก็เชื่อเช่นเดียวกันว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล ก็จะมีคนระดมคน มาคัดค้านทำให้เกิดความขัดแย้ง แล้วการเมืองก็ยังอยู่ในวังวนเดิมๆ และผมเชื่อด้วยว่า ประชาชนก็จะไม่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม เมื่อคำนึงถึงพฤติกรรม และความล้มเหลวของ 2 ปีที่ผ่านมา 
 
และแม้พรรคประชาธิปัตย์จะแพ้ ประชาธิปัตย์ไม่กลัวการแพ้การเลือกตั้ง พิสูจน์มาทุกครั้งว่า แพ้การเลือกตั้งก็ไปทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มความสามารถด้วยความเต็มใจ เราไม่ใช่พรรคการเมืองที่เห็นคุณค่าของการเลือกตั้งและระบบสภา เพียงเพื่อเป็นบันได หรือสะพาน ไปสู่อำนาจ และผลประโยชน์ พรรคเพื่อไทยไม่ต้องมาแสดงอาการคิดถึงพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ครับ คุณยิ่งลักษณ์ไม่ต้องไปแสดงอาการคิดถึงผมในสภาหรอกครับ เพราะผมเข้าไป ท่านก็ไม่มาสภา 
 
ถึงเวลานักการเมืองส่องกระจก ยอมรับว่าตัวเองจะดีจะชั่ววันนี้ พากันมาจนชาวบ้านทั่วไปเขาไม่ไว้ใจเราแล้ว ให้โอกาสประเทศเถอะครับ กลับมากอบกู้ระบบสภา กลับมากอบกู้ศรัทธาให้มันเกิดขึ้นกับวิถีทางประชาธิปไตย พวกผมชัดเจนครับว่า ยอมเลือกเส้นทางที่ยาก ยอมเลือกเส้นทางที่ยาว ในการที่จะกลับมาเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ท่านที่ตั้งใจจะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ผมกราบเรียนท่านว่า สิ่งที่ท่านต้องการจะได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยนี้ เส้นทางที่พรรคเลือก ท่านร่วมเดินทางต่อกับเราได้ และวันนั้นจะเกิดการปฏิรูปที่ยั่งยืน วันนั้นเราจะกอบกู้ศรัทธาของประชาชนให้หวนคืนมาที่ระบบรัฐสภา และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นอุดมการณ์หลักของพรรคประชาธิปัตย์ นับแต่วันก่อตั้ง พวกผมตัดสินใจชัดเจน และจะเดินหน้าในเส้นทางนี้ครับ ขอบพระคุณครับ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ